วิวาทะ 'สมศักดิ์-พิชิต' จะปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญทางไหนดี Vote No หรือ No Vote

'สมศักดิ์' อัดประชามติเก๊ สมควรบอยคอต มองเป็นตลกร้ายแม้ออกเสียงภายใต้กระบอกปืน กลับไม่มีการบอยคอต ย้อนถามถ้าไปร่วมสังฆกรรมแล้วเปิดผ่าน จะเอาเหตุผลอะไรไปปฏิเสธ รธน. นี้  ด้าน 'พิชิต' ย้ำจุดยืนโหวตโน ชี้แม้ร่างฯ ผ่าน แต่มีคนไม่รับเป็นล้านก็ไม่ชอบธรรม อัดการโนโหวตจะไม่มีผลสะเทือนทางการเมือง ยกพันธมิตรเป็นตัวอย่าง ระบุยิ่งโนโหวตยิ่งทำให้ร่างรธน.จะผ่านง่ายขึ้น

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

สำหรับคนที่คัดค้านการรัฐประหารแล้ว คำถามและการถกเถียงใหญ่ของการปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติถูกจุดขึ้นมาก่อน ก.ย.ปีที่ผ่านมา ช่วง ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เข้าสู่ สปช. ก่อนที่จะถูกคว่ำไป คือคำถามที่ว่าจะ Vote No หรือ No Vote ดี เพื่อปฏิเสธหรือไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหารนี้ และเมื่อร่างใหม่ที่นำโดย ประธาน กมธ. อย่าง มีชัย ฤชุพันธุ์ ร่างเสร็จและนำเสนอเพื่อเตรียมลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค.นี้ กระแสการถกเถียงดังกล่าวก็กลับมาอีกครั้งว่าจะไปทางไหนกันดีระว่า ไปลงประชามติกาช่องไม่รับ(Vote No) ซึ่งมีพรรคการเมืองอย่างพรรคเพื่อไทย และกลุ่มต่อต้านการรัฐประหารหลายกลุ่มร่วมชูธงนี้ หรือบอยคอตการทำประชามติ (No Vote) ไปเลย

คู่ถกเถียงที่น่าสนใจในวันนี้คงหนีไม่พ้น พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ที่ออกมาย้ำจุดเยืนเดิมว่า โหวตโนไม่รับ (Vote No) ขณะที่ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มธ. ซึ่งปัจจุบันต้องลี้ภัยการเมืองอยู่ต่างประเทศหลังรัฐประหาร ย้ำจุดยืนเดิมก่อนหน้านี้ด้วยการเสนอว่าสมควรบอยคอตประชามตินี้

สมศักดิ์ อัดประชามติเก๊ สมควรบอยคอต

โดย สมศักดิ์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Somsak Jeamteerasakul' ในลักษณะสาธารณะ 31 มี.ค.59 เวลาในไทยประมาณ 17.14 น. ในหัวข้อ ว่าด้วยการ "ประชามติ" รัฐธรรมนูญ คสช.

โดยสมศักด์ กล่าวว่า ถ้าพูดแบบ ideally หรืออย่างดีที่สุดนะ ความจริง คนที่ไม่เอาระบอบรัฐประหาร ตั้งแต่ระดับแอ๊กติวิสต์ ถึงนักการเมือง ถึงประชาชน ทั่วไป สมควรบอยคอตทั้งหมดตั้งแต่สิ่งที่เรียกว่าประชามติเลย คือปฏิเสธไม่สังฆกรรมด้วย ไม่ไปลง และเรียกร้องให้ประชาชนไม่ไปลงด้วย เพราะสิ่งที่เรียกว่าประชามติ ที่กำลังเกิดขึ้น มันเป็นอะไรที่เก๊ ขัดกับการทำประชามติที่แท้จริง

"เอาเข้าจริง การที่ใครเอาปืนมายึดอำนาจ แล้วเขียนรัฐธรรมนูญมายัดให้คนลงประชามติ มันก็ผิดแล้ว ไม่ต้องพูดถึงไอ้พวกระเบียบและการปฏิบัติต่างๆในการลงประชามติที่ว่านี้" สมศักดิ์ กล่าวขยายความ

ชี้ในทางปฏิบัติคงทำไม่ได้  เพราะเพื่อไทยเองก็ยังไปโหวตโน แม้แต่แอ๊กติวิสต์ไม่เคยชินกับวิธีการอื่น
 
สมศักดิ์ ระบุว่า ปัญหาคือ ในทางปฏิบัติ คงทำไม่ได้ ตั้งแต่พรรคการเมืองเอง แม้แต่พรรคที่ปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญอย่างเพื่อไทย  ก็ไม่เอาด้วย คือยังไงก็จะใช้วิธีเข้าร่วม แล้วให้ไปโหวตโน ระดับแอ๊กติวิสต์ไปถึงระดับประชาชนทั่วไป ก็ไม่เคยชินกับวิธีอื่นนอกจากไปลงคะแนน  โดยสมศักดิ์ ขยายความด้วยว่า  มันเป็นเรื่องเชิงวัฒนธรรมการเมือง ที่มาจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มีข้อบังคับให้ทุกคนไปลงคะแนนเลือกตั้ง จนสิบกว่าปีที่ผ่านมา การไปลงคะแนนเป็นวัฒนธรรมที่เคยชิน และถ้าไม่ไปลง เกิดเป็นความรู้สึกว่าไม่นับคือไม่ถือเป็นเสียงในเชิงประท้วงเหมือนกัน
 
มองเป็นตลกร้ายแม้ออกเสียงภายใต้กระบอกปืน กลับไม่มีการบอยคอต
 
"เป็น sad irony หรือตลกร้ายน่าเศร้าเหมือนกัน ที่ในประวัติศาสตร์ยุคใกล้นี้ เรามีแต่การบอยคอตการเลือกตั้ง แต่การให้ไปออกเสียงภายใต้กระบอกปืนแบบนี้ กลับไม่มีการบอยคอตกัน" สมศักดิ์กล่าว พร้อมกล่าวด้วยว่า พรรคประชาธิปัตย์และประชาชนที่เคยร่วมบอยคอตเลือกตั้ง อันที่จริง ถ้าซื่อตรงต่อสิ่งที่ตัวเองเคยประกาศ ที่ว่า บอยคอตไม่ไปเลือกตั้ง เพราะไม่เป็นประชาธิปไตย ควรมีพันธะทางคุณธรรม ที่ควรต้องเป็นตัวออกมาชูโรงให้บอยคอต "ประชามติ" ครั้งนี้ด้วยซ้ำ แต่นี่ก็คงเป็นอะไรที่ไม่เกิดขึ้น
 
ย้อนถามถ้าไปร่วมสังฆกรรมแล้วเปิดผ่าน จะเอาเหตุผลอะไรไปปฏิเสธ รธน. นี้
 
สำหรับอีกปัญหาปัญหาใหญ่ สมศักดิ์ กล่าวว่า จากการเข้าร่วมกับประชามติคือไปโหวตโน ที่ไม่ใช่บอยคอต คือ หนึ่ง สมมุติผลของสิ่งที่เรียกว่าประชามติออกมาผ่านล่ะ(คำถาม) ฝ่ายที่ไม่เอารัฐประหารจะอาศัยเหตุผลอะไรในอนาคต ที่จะปฏิเสธรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านประชามตินี้
 
โดยสมศักดิ์ ยังอ้างถึงแกนนำระดับสูงของเสื้อแดงและเพื่อไทยให้ความเห็นกับตนมาหลายเดือนแล้วว่า ประชามติจะ "ผ่าน" เพราะเขามองว่า ภาคใต้ สุเทพ เทือกสุบรรณ คุมได้ บวกกับถ้าประชาธิปัตย์ส่วนอื่นๆ ไม่ทุ่มเต็มที่ในการโหวตโน บวกกับการใช้กลไกรัฐทั้งในเชิงบังคับและหว่านล้อม แม้แต่ในภาคอีสานหรือภาคเหนือเอง ก็จะมีประชาชนส่วนหนึ่งไปโหวตรับ (Vote Yes) รวมๆ แล้ว ถ้ามีประชามติ แสดงว่า คสช มั่นใจว่าต้องผ่าน สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ตนไม่แน่ใจว่าการประเมินแบบนี้ ถูกต้องแค่ไหน แต่คิดว่า มันมีความเป็นไปได้เสมอ ที่เสียงจะออกมาว่าผ่านปัจจัยอืนๆ เช่นประชาชนกลางๆ หรือคนทำมาค้าขาย อยากให้เรื่องจบเร็วๆ คือกลับสู่ภาวะปกติ ที่จะมีการทำมาค้าขายกับต่างประเทศ เป็นต้น ก็อาจจะไปลงโวตรับกันไม่น้อย ล่าสุดตนดูคลิปสัมภาษณ์คุณธนกร ศรียากูล หัวหน้าพรรคคนธรรมดา โดยคุณจอม เพ็ชรประดับ สัมภาษณ์ นั้น คุณธนพร ก็ดูเหมือนคิดว่า คงผ่านประชามติ
 
ไปโหวตโนเสียโอกาสที่จะบอกว่าประชามติครั้งนี้จอมปลอม
 
สมศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า ปัญหาอีกประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกันคือ การรณรงค์ให้ไปโหวตโน โดยไม่บอยคอต นี้ คนที่รณรงค์ ตั้งแต่พรรคเพื่อไทย ถึงแอ๊คติวิสต์ พลาดโอกาส หรือไม่มีโอกาส หรือไม่พูด ถึงประเด็นสำคัญที่ว่า ประชามติครั้งนี้เป็นอะไรที่จอมปลอม ในแถลงการณ์ของทั้งพรรคเพื่อไทย และของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy Movement - NDM)  เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่มีการวิพากษ์ตัวการประชามติ โดยแถลงการณ์ของ NDM นี่ไม่มีเลยโดยสิ้นเชิง ของพรรคเพื่อไทย ยังอาจจะบอกว่า มีการแตะประเด็นนี้นิดหน่อย โดยเฉพาะเสนอให้ คสช. แก้ไข "ช้อยส์" หรือตัวเลือกในการประชามติว่า ถ้าไม่ผ่าน จะเอา รัฐธรรมนูญ 2540 มาแทน ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งทีสะท้อนว่าประชามติ นี้เป็นของเก๊ เพราะจริงๆ ไม่เคยมีตัวเลือกให้ประชาชนจริงๆ ถ้าโน แล้วจะมีอะไรแทน แต่พรรคเพื่อไทยเอง ก็ไม่ได้บอกว่า ถ้า คสช. ไม่ยอมแก้เพิ่มช้อยส์ลงไปตามที่เสนอล่ะ พรรคเพื่อไทยจะเอายังไง นอกจาก "ขอให้พี่น้องประชาชนร่วมกันออกมาลงประชามติ..."
 
พิชิต ย้ำจุดยืนโหวตโน ชี้แม้ร่างฯ ผ่าน แต่มีคนไม่รับเป็นล้าน รธน.ก็ไม่ชอบธรรมอยู่ดี
 
ขณะที่พิชิต ก็ได้โพสต์สนับสนุนการโหวตโน พร้อมวิพากษ์การโนโหวตหรือบอยคอตผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวด้วยเช่นกันเมื่อ 31 มี.ค. 59 เวลา 20.00 น. ที่ผ่านมา ว่า ตนเคยพูดไปแล้วครั้งหนึ่งเรื่อง โหวตโนไม่รับ หรือ โนโหวตบอยคอต ไม่ใช้สิทธิ์ ก็ขอย้ำอีกทีว่า ตนเสนอให้ไปใช้สิทธิ์ไม่รับร่างรธน. ด้วยการโหวตโน
 
โดย พิชิต วิพากษณ์การบอยคอตประชามติว่า การบอยคอต แล้วอ้างว่า ต้องรณรงค์ให้คนไม่ไปใช้สิทธิ์ คว่ำบาตรประชามติไปเลย แม้ร่างรธน.จะผ่าน แต่ถ้าคนงดออกเสียง "โนโหวต" เยอะมากเป็นล้านเสียง รธน.นั้นก็จะ "ไม่ชอบธรรม" อยู่ดี ฟังเผิน ๆ ดูเหมือนเข้าท่า เป็นอุดมคติสวยหรู ความถูกต้องทางการเมือง (Political correctness) ไม่เกลือกกลั้วกับประชามติจอมปลอม ไม่เตะหมูเข้าปากนักการเมือง เป็นต้น
 
อัดการโนโหวตจะไม่มีผลสะเทือนทางการเมืองใด ๆ เลย ยกพันธมิตรเป็นตัวอย่าง
 
"แต่ความจริงคือ ถ้าพวกคุณบอยคอตไม่ไปใช้สิทธิ์ เขาก็นับรวมพวกคุณไปกับพวกไม่ใช้สิทธิ์อื่น ๆ นั่นแหละ แยกไม่ออกว่า ใครบอยคอต ใครนอนหลับทับสิทธิ์ เช่น ประชามติปี 2550 มีคนไม่ใช้สิทธิ์ 20 ล้านคน ถ้าเป็นปี 2559 คุณจะอ้างหรือว่า ทั้ง 20 ล้านคนที่ไม่ใช้สิทธิ์เป็นโนโหวต คว่ำบาตรการลงประชามติ ใครจะไปเชื่อคุณ" พิชิต กล่าว พร้อมกล่าวด้วยว่า "ผลสุดท้ายการรณรงค์โนโหวต จะไม่มีผลสะเทือนทางการเมืองใด ๆ เลย ขอให้ดูผลงานพวกพันธมิตรเสื้อเหลืองที่เคยบอยคอต "โนโหวต" เลือกตั้งปี 2554 แล้วล้มเหลว" 
 
การโหวตโน เห็นผลชัดเจนกว่า และยังเป็นช่องทางอธิบายปัญหารธน. 
 
สำหรับการรณรงค์โหวตโนนั้น พิชิต มองว่า การรณรงค์โหวตโน ไม่รับ ยังเป็นช่องทางให้อธิบายทั้งที่มาและเนื้อหาของร่างรธน. ได้เสนอโรดแมปทางเลือก และกิจกรรมอื่นๆ แม้ผลประชามติออกมาโหวตโน อาจจะแพ้เหมือนปี 2550 และรธน. ผ่าน เพราะคนส่วนใหญ่อยากเลือกตั้งเร็ว แต่เราก็ยังมีคะแนนไม่รับร่างชัดเจนกว่า อย่างน้อยเป็นเท่าใด เหมือนปี 2550 ที่คนไม่รับถึง 10 ล้านเสียง เป็นผลสะเทือนทางการเมืองอยู่ดี
 
ชี้ยิ่งโนโหวตยิ่งทำให้ร่างรธน.จะผ่านง่ายขึ้น
 
พิชิต กล่าวอีกว่า พวกที่โนโหวตคว่ำบาตร โดยอ้างว่าพวกมันโกง เปลี่ยนหีบบัตร เป็นต้น นั้นขัดแย้งตัวเอง เพราะการโนโหวตนั่นแหละจะทำให้เขายิ่งโกงง่ายขึ้น และชนะประชามติง่ายขึ้น แม้สุดท้ายร่างรธน.จะผ่าน เขาก็จะยังไม่ให้เลือกตั้งอยู่ดี อย่างน้อยถึงปลายปี 2560 และอาจเลื่อนไปถึงปี 61-62 เราก็ยังเคลื่อนไหวต่อไปได้ เช่นเดียวกับประชามติปี 2550
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท