Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


           
เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างทฤษฏีทางการเมือง และผลลัพธ์ของการพยากรณ์ผลลัพธ์ของความรุนแรงจากเศรษฐกิจการเมือง นั้นมีระยะห่างมากขึ้น ด้วยตัวแปรที่มากขึ้น และพลวัตของสังคมจากโลกาวิวัฒน์ที่ไหลเวียนเร็วขึ้นอยู่เสมอ ทำให้ผู้เขียนกลับมาตั้งคำถามใหม่เกี่ยวกับทฤษฎีมหภาค( Grand theory) ที่นำความคิดชุดใหญ่มาอธิบายทุกอย่างได้ครอบคลุมทั้งหมด โดยหันมาวิเคราะห์ปรากฏการณ์และบริบททางสังคมและวัฒนธรรมในชีวิตประจำวัน  โดยจะขอพูดความเป็นการเมืองผ่านสถาบันศึกษา
                  
ด้วยโครงสร้างสังคมไทย ที่การจัดโครงสร้างสถาบันวางอยู่บน ”ความเป็นเครือญาติ”  แม้กระทั่งในชีวิตประจำวัน เราย่อมสัมผัสได้ถึงการดูดกลืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้ ก็ต้องผ่านการคิดแบบระบบเครือญาติ โดยแสดงออกผ่านภาษา เช่น การนับถือพี่-น้อง  และเมื่อวัฒนธรรม-จารีตนิยมเหล่านี้ถูกรวมเข้ากับสถาบันศึกษาที่เป็นหน่วยการผลิตปัจเจกบุคคล  ก็ย่อมส่งผลให้เกิดการจัดวางสถาบันทางการเมืองแบบฟาสซิสต์ ซึ่งปฏิเสธความเท่าเทียมของมนุษย์และปฏิเสธหลักเหตุผล รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยสะท้อนจากการมีกฎของจารีต (ชื่อเรียกที่คนทั่วไปรับรู้คือ “ระบบ SOTUS”) เพื่อการบูรณาการณ์และดูดกลืนจิตสำนึกของสถาบัน และคณะ เช่นเดียวกับกระบวนการสร้างชาติโดยใช้ประวัติศาสตร์ชาตินิยมเป็นตัวกำหนดจิตสำนึก กับการเป็นส่วนหนึ่งในชุมชนจินตกรรม(Imagined Community) ในขณะเดียวที่ความเป็นส่วนรวมของสถาบันศึกษาก็เปรียบได้กับการสร้างพรมแดนทางจินตนาการของรัฐชาติ เช่นนั้น ความเป็นคณะและภาควิชาก็ย่อมหมายถึงสถาบันครอบครัวที่เป็นหน่วยย่อยที่ผลิตประชากรให้ตอบสนองกับอุดมการณ์ของรัฐเช่นกัน  
        
แม้ในอุดมคติของแนวคิดแบบสถาบันนิยมที่กล่าวไปจะเชิดชูความเป็นปึกแผ่น แต่ในทางปฏิบัตินั้น ก็ยังเชิดชูการใช้ความรุนแรงอีกด้วย  ซึ่งในบทความนี้จะขอนำเสนอความรุนแรงภววิสัยเป็นหลัก ซึ่งประกอบด้วย ความรุนแรงเชิงระบบ และเชิงสัญลักษณ์   ซึ่งจะขอพูดถึงความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ก่อนที่จะนำไปสู่ความรุนแรงเชิงระบบ  โดยกล่าวสั้นๆว่า ความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์เกิดจากการยัดเยียดความหมายชุดหนึ่งให้เกิดทัศนะคติด้านลบกับความเป็นอื่น (การกีดกัน) โดยการทำงานของระบบโซตัส จะสร้างความเป็นอื่น ให้กับกลุ่มคนที่ไม่สามารถจัดประเภทได้ เช่น กลุ่มคนที่ไม่เอารุ่น  ไม่เข้าห้องเชียร์ เช่นเดียวกับชาตินิยมที่จำเป็นต้องสร้าง”ศัตรู”(เพื่อนบ้าน)ขึ้นมาเพื่อปลุกความเป็นปึกแผ่นแบบชาตินิยมผ่านการมีศัตรูร่วมกัน   ยิ่งไปกว่านั้นความเป็นครอบครัวหน่วยย่อยที่เรียกกันว่า”คณะ”ต่างก็มีพิธีกรรมเป็นสัญลักษณ์เฉพาะตัว แต่ต่างมีเป้าหมายในการนำเสนออัตลักษณ์ของกลุ่มตนเอง คือ “การแย่งชิงความเป็นใหญ่”  พิจารณาได้จากงาน Sport Day ที่ต่างทุ่มทุน และแรงงานลงไปกับพิธีกรรม เพียงเพื่อต้องการตำแหน่งและความมั่นคงในสถานะของกลุ่มอัตลักษณ์ตนเอง ว่าสามารถสร้างค่านิยม และความหมายที่เหนือกว่าได้อย่างไร  เปรียบได้กับรัฐต่างๆที่ต่างสะสมอาวุธ และปลุกปั่นอุดมการณ์กับประชาชน เพื่อสร้างแรงผลักดันให้เกิดจินตนาการความเป็นใหญ่เหล่านี้ 
     
อีกประเด็นที่ควรพิจารณาคือ การเมืองภายในมหาลัย ที่ใช้คำพร่ำเพรื่อไปกับการสร้างอุดมการณ์ประชาธิปไตย  ในขณะที่อุดมการณ์ที่จัดตั้งขึ้นมา ไม่ได้สนับสนุนให้เกิดประชาธิปไตย แต่ทำเพื่อพร่ำบอกกับกลุ่มคนส่วนใหญ่ว่าเราเองก็มีประชาธิปไตยอยู่แล้ว หรือภาษาทั่วไปก็คือ เลือกที่จำทำอย่างหนึ่ง เพื่อที่จะปฏิเสธอย่างอื่น  แม้สถาบันศึกษาจะสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งก็ตาม แต่นักศึกษาเองก็ไม่ได้มีจิตสำนึกทางการเมือง พิจารณาได้จากความสัมพันธ์แบบเครือญาตินับพี่นับน้องที่เกิดขึ้นภายในอยู่แล้ว ทำให้เกิดระบบอุปถัมป์ในการเลือกตั้ง เพราะต่างไม่ได้สนใจนโยบายการพัฒนาและการตรวจสอบ แต่ความสนใจอยู่ที่การทำให้คนรู้จักของเรา พี่น้องของเรามาเลือกเราผ่านปฏิสัมพันธ์แบบเครือญาติที่มีอยู่แล้ว  หากใครมีทุนทางสังคมสูงย่อมเป็นข้อต่อรองให้กับพรรคการเมืองภายใน อีกทั้งการพูดเรียกคะแนนเสียงก็มีวิธีปฏิบัติราวกับโฆษณาสินค้าตามสื่อในภาคประชาสังคมทั่วไป โดยใช้ตัวแทนที่มีทุนทางวัฒนธรรมที่มีสัญญะจากรูปลักษณ์ภายนอกตรงกับค่านิยมความงามแบบบริโภคนิยมอยู่แล้ว 
     
ดังนั้นหากวิเคราะห์จากความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เกิดขึ้นในรั้วมหาลัยทั้งหมด เราควรจะตั้งคำถามในเชิงลบเกี่ยวกับสังคมที่อยู่รอบตัวเราเสียก่อน เพื่อสร้างความคิดสร้างสรรที่นอกเหนือไปจากนี้หรือไม่ ?  อีกทั้งการเรียกร้องหาประชาธิปไตยของกลุ่มปัญญาชน ชนชั้นกลางที่คิดว่าตนเองมีอุดมการณ์ในการเรียกร้องความยุติธรรมทางสังคมผ่านประชาธิปไตย กลับติดอยู่ในกรงขังแบบจารีตนิยม-อนุรักษ์นิยม กับแค่สถาบันศึกษา เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจการเมืองในระดับมหภาคเลยอย่างนั้นหรือ ?  สิ่งที่ปัญญาชนเหล่านี้เชื่อหรือกระทำอยู่ภายใต้โครงสร้างสังคมนี้ จะไม่นำไปสู่วงจรการเกิดขึ้นของลัทธิฟาสซิสต์อีกได้อย่างไร?  อีกทั้งการผลิตซ้ำค่านิยมกับบริโภคนิยมจากโฆษณาก็ยิ่งกลายเป็นแรงผลักดันให้ระบบทุนนิยม และรัฐใช้ภาพลักษณ์ที่ดูเป็นมิตรกับชีวิตประจำวันมากขึ้น เข้ามาครอบงำมากขึ้นด้วยไหม?

เราควรเริ่มตั้งคำถามในเชิงวิพากษ์กับสิ่งรอบตัว ว่าสิ่งที่เป็นอยู่นั้น ปัญหาไม่ได้มาจากสิ่งที่เราผลิตอยู่ทุกวัน ในฐานะความรุนแรงบ้างหรือ? เนื่องจากความรุนแรงของเศรษฐกิจการเมืองไม่ได้นำไปสู่การต่อสู้กับอำนาจนำที่เป็นคู่ตรงข้ามเสมอไป แต่กลับกลายเป็นการถูกใช้เป็นเครื่องมือจากการโดนเบี่ยงเบนจิตสำนึกทางชนชั้น ให้มองความเป็นอื่นจากความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์เป็นศัตรูแทน จึงหวังว่า การจำลองโลกทางการเมืองในชีวิตประจำวันเช่นสถานศึกษาจะสามารถช่วยให้ผู้อ่านเกิดมโนทัศน์ และทฤษฏีวิพากษ์ใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อแย่งชิงพื้นที่ทางความคิดคืนจากอำนาจนำที่ทำงานอยู่จนถึงทุกวันนี้    

 

     
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net