Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

1. ผีกับวิถีชีวิตความเชื่อคนเมือง (ล้านนา)

 

ความเชื่อของผู้คนสังคมล้านนาเกี่ยวกับ “ผี” เป็นความเชื่อแบบดั้งเดิม ที่นับถือกันมาและเชื่อว่า ผีมีอยู่ในทุกๆที่ แม้ผีดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ลึกลับเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติ แต่ผีในเชิงมานุษยวิทยาก็คือหรือถือเป็น “อำนาจศักดิ์สิทธิ์”ที่สามารถให้ทั้งคุณและโทษแก่ผู้คนได้ ถ้าผู้คนมีความเคารพผีและไม่ทำให้ผีโกรธหรือทำผิดประเพณี   ผีก็จะให้คุณโดยการปกป้องคุ้มครองดูแล แต่หากทำให้ผีโกรธหรือไม่พอใจ โดยการไม่ปฏิบัติตามประเพณีหรือที่เรียกทางภาคเหนือว่า “ผิดผี” ผีก็จะให้โทษแก่ผู้นั้นทำให้ผู้นั้นเจ็บป่วยไม่สบายหรือญาติผู้ใหญ่ต้องเจ็บป่วยไม่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ นอกจากนั้น ผียังมีความเกี่ยวพันกับความเป็นไปในสังคมชาวนาภาคเหนือได้อย่างสลับซับซ้อนอีกด้วย

ชุมชนต่างๆในสังคมล้านนาถือเป็นสังคมแบบเครือญาติ ที่มักอาศัยอยู่ร่วมกัน มีการนับถือผีบรรพบุรุษร่วมกันและจะมีการทำพิธีเซ่นไหว้ ซึ่ง “เสื้อบ้าน”(เป็นภาษาท้องถิ่นล้านนา)ถือเป็นผีบรรพบุรุษของชุมชนที่คอยปกป้องดูแลคนในชุมชนชาวนาภาคเหนือ  แม้ปัจจุบันที่สังคมชนบทจะเปลี่ยนแปลงไปทั้งในด้านวัตถุ ความคิด จิตใจ แต่ความเชื่อเรื่อง “ผี” หรือการถือ “เสื้อบ้าน”ก็ยังคงดำรงอยู่ในสังคมหมู่บ้านล้านนา โดยเฉพาะตามชุมชนรอบนอกที่ห่างไกลจากตัวเมืองใหญ่ออกไป ทั้งนี้ความเชื่อเรื่องเสื้อบ้านสังเกตเห็นได้โดยส่วนหนึ่งแสดงออกผ่านการสร้างหอผีและการประกอบพิธีกรรม(ประจำปี)ของผู้คนในชุมชน ซึ่งเรียกว่า “พิธีเลี้ยงผีเสื้อบ้าน”

ชุมชนแม่ทา[2] เป็นชุมชนเล็กๆที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมืองการบริหารงานของเชียงใหม่ ด้วยความที่ถูกละเลยจากรัฐจึงทำให้ชุมชนแห่งนี้ต้องพยายามพึ่งพาและช่วยเหลือตนเอง จนได้กลายมาเป็นชุมชนเข้มแข็ง แต่ในขณะเดียวกันชุมชนแห่งนี้ก็ยังคงรักษาประเพณีวัฒนธรรมเดิมไว้ และพิธีกรรมการเลี้ยงผีเสื้อบ้านก็เป็นพิธีกรรมหนึ่งที่ถูกรักษาเอาไว้  ดังนั้นผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาถึงความเชื่อ เรื่อง ผีเสื้อบ้าน การนับถือเสื้อบ้าน เครือข่ายความสัมพันธ์ของชุมชนในบริบทของการเปลี่ยนแปลงยุคปัจจุบันของชุมชนแม่ทา


2. เสื้อบ้านของชุมชนแม่ทา

เสื้อบ้าน ตามความเชื่อของคนในหมู่บ้าน คือ ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษที่จะคอยดูแลปกปักรักษาให้หมู่บ้านมีความสงบสุข ปัดป้องภัยพิบัติเพื่อให้คนในหมู่บ้านใช้ชีวิตอย่างร่มเย็นเป็นสุข การเดินทางและการประกอบอาชีพเป็นไปอย่างราบรื่น ประสบความสำเร็จ ในแต่ละพื้นที่ก็จะมีวิญญาณของบรรพบุรุษของหมู่บ้านตนเอง โดยบริเวณหมู่ที่ 2 บ้านท่าข้าม , หมู่ที่ 3 บ้านค้อกลาง และหมู่ที่ 4 บ้านห้วยทราย ของตำบลแม่ทา จะมีหอผีเสื้อบ้านเดียวกัน เมื่อถึงเวลาเลี้ยงผีเสื้อบ้าน ชาวบ้านทั้งสามหมู่บ้านก็จะมาร่วมกันทำความสะอาดพื้นที่บริเวณหอเสื้อบ้านร่วมกัน มีการเก็บเงินทุกหลังคาเรือนและมีการมาร่วมพิธีเลี้ยงผีเสื้อบ้าน เสื้อบ้านที่ชาวบ้านทั้งสามหมู่บ้านนับถือ มีทั้งหมด 7 องค์ บริเวณหอผีเสื้อบ้านจึงมีทั้งหมด 7 หลัง ในหอผีเสื้อบ้านชาวบ้านมีความเชื่อว่า ผีเสื้อบ้านหรือผีบรรพบุรุษที่อาศัยอยู่ในบริเวณหอเสื้อบ้าน ชาวบ้านเรียกว่า ผีเจ้านาย

ผีเจ้านาย คือผีบรรพบุรุษที่คอยปกปักรักษา ดูแลหมู่บ้านและทุกคนในหมู่บ้านให้อยู่อย่างมีความสุข ท่านเป็นเจ้านายหรือมีเชื้อสายเจ้าผู้ปกครองเมืองที่ปกป้องคุ้มครองรักษาพื้นที่แห่งนี้มาตั้งแต่อดีต โดยผีเจ้านายที่คนทั้งสามหมู่บ้านให้ความเคารพนับถือ มี 7 ตน คือ ผีเจ้าพ่อขุนตาน ผีเจ้าหมอกมุงเมือง ผีเจ้าอาจญาวิน ผีเจ้าที่ ผีเจ้าแสนฟ้างาม ผีเจ้าหงส์ขาว และผีเจ้าเสื้อบ้าน เรื่องราวของผีเจ้านายจะถูกถ่ายทอดมาโดยผู้เฒ่าผู้แก่ บรรพบุรุษของชาวบ้านสืบต่อๆกันมาหลายรุ่น และการมีตัวตนของผีเสื้อบ้านก็ยังคงถูกทำให้เสมือนว่ามีตัวตนอยู่จริงผ่านการบอกเล่าสืบทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลานโดยผู้เฒ่าผู้แก่หรือผู้อาวุโสของหมู่บ้าน

หอเสื้อบ้าน ตั้งอยู่ ณ ทุ่งโฮ่ง หมู่ที่ 3  บริเวณกลางทุ่งนา  รอบบริเวณหอผีเสื้อบ้านเป็นต้นไม้ใหญ่ประมาณ 10 ต้น โอบล้อมรอบบริเวณหอผีและจะมีต้นไม้ต้นเล็กๆปลูกใกล้ๆบริเวณหอผีทั้ง 7 หอ ตรงบันไดทางขึ้นหอผีแต่ละหอ มีถนนสายเล็กที่ยังไม่ได้ลาดยางและพอจะสามารถใช้เป็นเส้นทางให้รถจักรยานยนต์สามารถขับสวนทางกันได้ทอดเข้ามาสู่หอเสื้อบ้าน บริเวณหอเสื้อบ้านจะมีหอผี ทั้งหมด 7 หลัง ซึ่งมีลักษณะเป็นศาลเป็นบ้านเล็กๆทำด้วยไม้ที่หาได้จากในหมู่บ้าน หลังคามุงด้วยสังกะสี   มีบันไดไม้ขึ้นไปในหอเพื่อให้ผู้ทำพิธีเลี้ยงผีใช้ขึ้นไปยังหอผีเพื่อประกอบพิธีกรรม ในหอผีจะมี คนโทใส่น้ำ จาน ชาม แก้วน้ำ ธูปเทียน และอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผีเสื้อบ้าน หน้าหอผีจะมีชื่อของเจ้านายตนต่างๆเขียนบอกไว้ บริเวณตรงกลางของหอผีทั้ง7หอจะมีลักษณะคล้ายแคร่ไม้ใหญ่ เป็นเสาสี่ต้นและมีหลังคามุง มีขนาดใหญ่กว่าหอผี ซึ่งจะใช้สำหรับวางสำรับและอาหารต่างๆเมื่อมีการประกอบพิธีกรรม บริเวณด้านตะวันตกของหอผีจะมีโรงอาหารที่สร้างด้วยปูนใช้สำหรับประกอบอาหารร่วมกันของคนทั้งสามหมู่บ้านเมื่อมีการประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผีเสื้อบ้าน

ประวัติความเป็นมาส่วนนี้มาจากการสันนิษฐานคาดเดาและเรื่องเล่าจากคนในชุมชนถึงเรื่องราวความเป็นมาของผีเสื้อบ้าน โดยชุมชนมีการสร้างป้าย “ข้อมูลจุดเรียนรู้ ผีเจ้านายป่าหอ” ซึ่งเป็นป้ายขนาดใหญ่เขียนบอกเล่าประวัติความเป็นมา เพื่อให้คนในชุมชนและบุคคลอื่นได้รู้ถึงพิธีกรรมของชุมชนแห่งนี้ โดยป้ายนี้จะตั้งอยู่บริเวณปากทางเข้าสู่ถนนเส้นเล็กของเส้นทางที่ไปยังหอผีเสื้อบ้าน มีเนื้อความว่า

“พิธีกรรมการเลี้ยงผีเจ้านายป่าหอก่อกำเนิดขึ้นมาตามฮีตฮอยประเพณีดั้งเดิมที่ชาวบ้านจะมีผีเจ้านายประจำหมู่บ้านเพื่อคอยปกป้องรักษาให้คนและสัตว์เลี้ยงในชุมชนอยู่เย็นเป็นสุข โดยเริ่มสร้างป่าหอขึ้นในปี พ.ศ.2400 ณ ทุ่งโฮ่ง บ้านหมู่ที่ 3 ซึ่งสถานที่เดิมเป็นดงป่าต้นไม้ใหญ่ เป็นที่สาธารณะของหมู่บ้าน วันเลี้ยงผีเจ้านายป่าหอกำหนดไว้ตั้งแต่เริ่ม คือ วันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 เหนือ ของทุกๆปี ชาวบ้านทั้งตำบลจะมารวมตัวกันเลี้ยงผี ปีแรกๆมีการเก็บเงินหลังคาละ 1 สตางค์ เพื่อนำเงินมาจัดซื้อหมู 1 ตัว เหล้า 1 ขวด สำหรับประกอบพิธี

ต่อมาในปี พ.ศ.2503-2505 มีการเปลี่ยนแปลงเครื่องเซ่นไหว้มาเป็นไก่อยู่ 3 ปี โดยจะให้แต่ละหมู่บ้านนำไก่มารวมกัน มีเท่าไหร่ก็เลี้ยงเท่านั้น แต่ปีต่อมาหลังจากนั้นจนถึงปัจจุบันได้กลับมาใช้หมูในการประกอบพิธีกรรมตลอดมาโดยจะเอาเงินมารวมกันหลังคาละ 1-2 สตางค์ เพื่อซื้อหมู 1 ตัวและ เหล้า 1 ขวด และในช่วงฤดูแล้งของทุกปี ชาวบ้านจะทำตำมดแดงมาเลี้ยงผีเจ้านายพร้อมกับการแสดงพื้นบ้าน อย่าง ซอ พื้นเมืองมาแสดงที่ป่าหอ เนื่องจากเป็นช่วงหยุดยาวที่ไม่ต้องทำไร่ทำสวนกัน อดีตช่วงปี  พ.ศ.24902504 ชาวบ้านเคยละเลยการเลี้ยงผีเจ้านายป่าหอทำให้เกิดภัยพิบัติขึ้นมากมาย สัตว์เลี้ยงล้มตาย เพราะลบหลู่ความเชื่อที่มีต่อผีเจ้านาย หลังจากนั้นไม่มีใครกล้าลบหลู่ผีเจ้านายอีกเลยและยังพัฒนาสืบทอดสถานตลอดจนพิธีกรรมการเลี้ยงผีเจ้านายป่าหอสืบมา และแต่เดิมก่อนช่วงปี พ.ศ.2504 จนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านได้บูชาผีเจ้านายป่าหอ มี 1ตน/หลัง แต่หลัง พ.ศ.2504 จนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านได้บูชาผีเจ้านายป่าหอเพิ่มอีก 6  หลัง/ตน รวมแล้วมีจำนวน 7ตน คือ ผีเจ้าเสื้อบ้าน ผีเจ้าหงส์ขาว ผีเจ้าแสนฟ้างาม ผีเจ้าที่ ผีเจ้าอาจญาวิน ผีเจ้าหมอกมุงเมือง ผีเจ้าพ่อขุนตาน ซึ่งแต่ละหอแต่ละหลังของผีเจ้านายจะมีผู้ประกอบพิธีเลี้ยงผี 1คนต่อหอ และต้องมาประกอบพิธีกรรมทุกปีเช่นกัน ปัจจุบันพิธีการเลี้ยงผีเจ้านายป่าหอมีการจัดเลี้ยงทุกปีในวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 เหนือ โดยจะเก็บเงินชาวบ้าน หมู่ที่ 2,3,4 หลังคาละ 15 บาท เพื่อนำเงินมาหมูจำนวน 2-3 ตัว และเหล้า ส่วนเงินที่เหลือก็จะนำมาปรับป่าหอหรือถนนหนทางที่ชำรุดเสียหาย พิธีกรรมนี้ทำเพื่อสืบสานประเพณีวัฒนธรรมของปู่ย่าตายายมาหลายชั่วอายุคน เพื่อชุมชนอยู่อย่างสงบสุขจะละเลยไม่ได้เด็ดขาด” (ที่มา ป้าย “ข้อมูลจุดเรียนรู้ ผีเจ้านายป่าหอ” ณ บริเวณถนนเข้าไปสู่ หอเสื้อบ้าน)


3. พิธีกรรมความหมายนัยยะทางสังคมที่ถูกซ่อนไว้ในพิธีกรรมการเลี้ยงผีเสื้อบ้าน

การรวมเงินกันทุกหลังคาเรือนเพื่อนำมาซื้อหมูและวัสดุอุปกรณ์อื่นๆที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม  ชาวบ้านทุกหลังคาเรือนจะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีเพราะเชื่อว่าหากไม่ให้ความร่วมมืออาจทำให้ตนเองและคนในครอบครัวเจ็บป่วยไม่สบายได้และอีกนัยหนึ่ง การที่ตัวแทนมาเก็บเงินทุกหลังคาเรือนเป็นการแฝงไว้ด้วยรูปแบบของการบังคับ เป็นเสมือนกฎเกณฑ์ธรรมเนียมปฏิบัติร่วมกันของผู้คนทั้งสามหมู่บ้านซึ่งการให้เงินนี้เป็นไปในรูปแบบของการแลกเปลี่ยน  คือเป็นการจ่ายเงินเพื่อแลกเปลี่ยนกับความสบายใจ แลกกับการจะไม่ถูกชาวบ้านติฉินนินทาและ ได้รับการยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้านเสมือนได้รับคุ้มครองดูแลจากผีเสื้อบ้าน 

การทำความสะอาดและการประกอบอาหารร่วมกันเป็นการร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างชาวบ้านทั้งสามหมู่บ้านช่วงก่อนถึงวันเลี้ยงผีเสื้อบ้าน โดยมีการซ่อมแซมหอผีที่ผุพัง มีการทำความสะอาดสถานที่  ส่วนวันเลี้ยงผีเสื้อบ้านก็จะมีแม่บ้าน(ชาวบ้านผู้หญิงวัยกลางคน) ก็จะมาช่วยกันทำอาหาร ผู้ที่มีฝีมือในการทำอาหารก็จะมาทำอาหารด้วยกันเพื่อที่จะใช้ในการทำพิธีกรรมและชาวบ้านบางคนก็จะนำอุปกรณ์เครื่องครัวมาด้วยและจะมีการประกอบอาหารขึ้นในบริเวณศาลาโรงอาหาร ก่อเกิดเป็นความสมัครสมานสามัคคีกันขึ้นระหว่างชาวบ้านทั้งสามหมู่บ้าน

การรับประทานอาหารร่วมกัน  เมื่อเสร็จขั้นตอนพิธีกรรมเซ่นไหว้ผีเสื้อบ้าน ชาวบ้านก็จะยกสำรับอาหารที่ใช้ประกอบพิธีลงมาจากหอผีและนำมารับประทานร่วมกันกับผู้ที่มาเข้าร่วมพิธีกรรมทั้งหมด ณ หอเสื้อบ้าน ทำให้ชาวบ้านได้พบปะพูดคุยกันเกิดความสัมพันธ์ที่แนบแน่น แม้จะไม่ค่อยได้พบหน้าญาติพี่น้องหรือคนในหมู่บ้านหรือคนต่างหมู่บ้าน เนื่องจากทุกคนก็ต้องทำงานทำหน้าที่ของแต่ละคน แต่การมาร่วมพิธีกรรมเลี้ยงผีเสื้อบ้านทำให้ชาวบ้านได้สานความสัมพันธ์ที่เริ่มห่างเหินกันไปให้แนบแน่นมากขึ้น

การเลี้ยงผี แท้จริงแล้วเป็นการเลี้ยงร่วมกันระหว่างชาวบ้าน เนื่องจากผีเสื้อบ้านและผีเจ้านายไม่ได้มีตัวตนอยู่ในโลกของความเป็นจริง เป็นไปไม่ได้ที่ท่านจะรับประทานอาหาร คนที่ได้รับประทานอาหารจริงๆคือชาวบ้าน

การเลี้ยงผีเป็นกุศโลบายในการแบ่งปันอาหารระหว่างชาวบ้านด้วยกันเองเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันซึ่งอยู่บนฐานของความเท่าเทียมกัน เนื่องจากบ้านทุกหลังคาเรือนแม้จะมีฐานะที่ดีหรือไม่ดี ก็จะต้องมีการจ่ายเงินในการประกอบพิธีกรรมเท่าเทียมกัน  เงินที่ได้นี้จึงนำมาซื้อวัตถุดิบทำอาหาร เมื่อเสร็จพิธีกรรมจะมีการรับประทานอาหารร่วมกัน การเลี้ยงอาหารนี้ไม่ใช่เฉพาะแค่ผู้มาร่วมพิธีเท่านั้นที่จะได้รับประทาน แต่ชาวบ้านยังมีการห่ออาหารกลับไปที่บ้านให้คนในครอบครัวซึ่งชาวบ้านเชื่อว่า อาหารที่ทำขึ้นในงานพิธีเมื่อรับประทานเข้าไปก็จะเป็นสิริมงคลแก่ผู้นั้น ความเชื่อนี้เป็นเสมือนการอ้างและสร้างความชอบธรรมให้แก่นำอาหารกลับบ้านเพื่อจุนเจือครอบครัว

พิธีกรรมการเลี้ยงผีเสื้อบ้านจึงเป็นกลไกในการควบคุมดูแล จัดระเบียบกฎเกณฑ์ของชุมชนผีเสื้อบ้านและพิธีกรรมนี้แฝงไว้ด้วยกลไกในการควบคุมดูแลและจัดการหมู่บ้าน จัดระเบียบคนในชุมชนหรือเป็นเสมือนโครงสร้างหนึ่งที่ทำหน้าที่จัดระบบความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ให้ชาวบ้านประพฤติปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เพื่อการดำรงชีวิตร่วมกันในสังคมหมู่บ้านแห่งนี้


4. เสื้อบ้านกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความสัมพันธ์ในชนบท

การประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผีเสื้อบ้านยังคงเป็นไปในรูปแบบขั้นตอนพิธีกรรมแบบเดิมที่สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่โบราณ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ชาวบ้านยังคงยึดถือตามแบบที่เคยปฏิบัติมา แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป คือ การเข้าร่วมงานพิธีกรรมของคนในชุมชนมีการเข้าร่วมที่ลดลงไป  โดยผู้คนส่วนใหญ่ที่ยังไปเข้าร่วม คือ ชาวบ้านวัยผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และคนในวัยอื่นก็มีบ้างเล็กน้อย เนื่องจากการที่สังคมได้เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้การประกอบอาชีพมีการเปลี่ยนแปลงไป คือมีการประกอบอาชีพที่หลากหลายมากขึ้นแตกต่างจากเดิมที่คนในหมู่บ้านประกอบอาชีพ เกษตรกรรม ทำนา ทำสวน ทำไร่ ในพื้นที่ของหมู่บ้าน ในปัจจุบันพื้นที่ ลักษณะของงานได้เปลี่ยนแปลงและขยายออกไปสู่พื้นที่อื่นมากขึ้น ชาวบ้านมีการไปทำงานหรือศึกษาในต่างอำเภอ ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศทำให้การเข้าร่วมพิธีของชาวบ้านลดน้อยลง

แม้ว่าคนในชุมชนจะไม่ได้เข้าร่วมประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผีเสื้อบ้าน  แต่ทว่าการไม่ได้เข้าร่วมพิธีกรรมนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า ความเชื่อ ความเคารพนับถือที่มีต่อผีเสื้อบ้านของชาวบ้านจะลดน้อยลงไปหรือเลิกเชื่อเลิกนับถือ เพราะบ้านทุกหลังคาเรือนก็ยังคงให้เงินในทุกๆปีก่อนถึงวันเลี้ยงเสื้อบ้าน ดังนั้นเงินที่เก็บจากทุกหลังคาเรือนจึงเป็นภาพตัวแทนของจิตศรัทธา การเคารพบูชา ความกตัญญูที่มีต่อผีเสื้อบ้าน เงินที่จ่ายสำหรับการประกอบพิธีกรรมเป็นเสมือนตัวแทนของบุคคลไปร่วมพิธี  เสมือนได้เป็นส่วนหนึ่งของการทำพิธีกรรมเลี้ยงผีเสื้อบ้านด้วย ดังนั้นการไม่เข้าร่วมพิธีกรรมจึงไม่ได้หมายความว่าความเชื่อและศรัทธาต่อเสื้อบ้านลดน้อยลงไป

เรื่องเล่าตำนานต่างๆเกี่ยวกับเสื้อบ้านถูกถ่ายทอดเล่าสืบต่อๆกันมาโดยผู้อาวุโส รวมถึงเรื่องเล่าต่างๆที่เกี่ยวกับความอัศจรรย์ เหตุการณ์เหนือธรรมชาติ ที่เกี่ยวข้องกับผีเสื้อบ้านหรือผีเจ้านาย ความเชื่อผีเสื้อบ้านจึงเกิดการผลิตซ้ำในสังคมหมู่บ้านแห่งนี้ ความเชื่อผีเสื้อบ้านของสังคมล้านนามีความคล้ายคลึง กับ ความเชื่อผีปู่ตาของสังคมอีสาน จาก หนังสือ หมู่บ้านอีสานยุค “สงครามเย็น” สังคมวิทยา ของ หมู่บ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดย สุเทพ สุนทรเภสัช กล่าวว่า ผีปู่ตา คือบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วของชาวบ้าน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “เจ้าปู่”จะคอยคุ้มครองรักษาคนในหมู่บ้านให้อยู่กันอย่างมีความสุขปราศจากภัยอันตรายต่างๆ รวมทั้งคุ้มครองสัตว์เลี้ยงของคนในหมู่บ้าน  เจ้าปู่จะแสดงอำนาจศักดิ์สิทธิ์ให้ปรากฏโดยบันดาลให้สิ่งต่างๆเป็นไปตามความปรารถนาของชาวบ้านผู้บนบาน พิธีเลี้ยงผีปู่ตา เป็นพิธีเลี้ยงเพื่อขอขมา แก้บน การจัดพิธีขึ้นเป็นการร่วมมือของคนในชุมชน ถึงแม้ระหว่างหมู่บ้านจะมีความขัดแย้งกัน พิธีกรรมจึงเป็นสิ่งที่มาผสานความสามัคคีของคนในชุมชน ความเชื่อของสังคมหมู่บ้านของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีลักษณะที่คล้ายคลึงกันมาก เสื้อบ้านคือผีปู่ตาเป็นบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ผีเจ้านายคือ เจ้าปู่ผู้คุ้มครองหมู่บ้าน จ้ำคือตั้งข้าวผู้ประกอบพิธีกรรม ล้านนาจะมีการเลี้ยงด้วยหมูแต่อีสานจะเลี้ยงด้วยไก่  กล่าวได้ว่า ความเชื่อผีเป็นความเชื่อพื้นฐานของสังคมและยังคงดำรงอยู่ได้สืบเรื่อยมาในสังคมหมู่บ้านของไทย

กิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมนี้ ล้วนส่งผลให้ชาวบ้านมีความร่วมมือ ร่วมใจ และเกิดความสนิทสนมมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันอย่างแนบแน่นขึ้น เมื่อคนชาวบ้านต้องอยู่ร่วมกันดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ กติกาของสังคม ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านตามที่ได้มีมาตั้งแต่เดิม ตรงกับ แนวคิดโครงสร้าง-หน้าที่ของ Emile Durkheim ซึ่งมีแนวความคิดว่า หน้าที่ของสังคมคือ ส่วนที่สนับสนุนให้สังคมสามารถดำรงอยู่ มองว่า หน้าที่ทางสังคม เป็นส่วนสนับสนุนให้โครงสร้างสังคมคงอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะสังคมมีกระบวนการทางสังคมที่ทำให้สังคมเกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่น บรรทัดฐาน ค่านิยม ความเชื่อ วัฒนธรรม และประเพณี พิธีกรรมการเลี้ยงผีเสื้อบ้านเป็นผลมาจากความเชื่อและศรัทธาของชาวบ้านที่ยังคงมีต่อความเชื่อ “เสื้อบ้าน”ในปัจจุบัน พิธีกรรมการเลี้ยงผีเสื้อบ้านนี้จึงสามารถดำรงอยู่ได้และเป็นส่วนที่ช่วยพยุงหรือสนับสนุนโครงสร้างทางสังคมของหมู่บ้าน ให้หมู่บ้านดำรงอยู่ได้ ผู้คนในหมู่บ้านสามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้ ก่อให้เกิดความสงบสุขแก่ชุมชน พิธีกรรมนี้จึงเป็นอุบายในการขัดเกลาให้คนในหมู่บ้านสามารถดำรงอยู่ภายใต้กฎระเบียบ กติกา แบบเดียวกัน ความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับ “เสื้อบ้าน” จึงมีบทบาทในการหลอมรวมคนในชุมชนเข้าไว้ด้วยกัน


5. สรุปส่งประเด็น

การที่ความเชื่อเรื่อง ผีเสื้อบ้าน ยังคงดำรงอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ มีสาเหตุเนื่องจากว่าความเชื่อนี้สามารถที่จะตอบสนองต่อความต้องการทางด้านจิตใจความรู้สึกของชาวบ้าน ทั้งในลักษณะที่ให้ประโยชน์แก่ชุมชนและปัจเจกบุคคล ในด้านประโยชน์ร่วมกันของชุมชนซึ่งเป็นการแก้ไขเยียวยาวิกฤติระดับชุมชน คือ การที่ผีเสื้อบ้านดูแลปกปักรักษาให้คนในหมู่บ้านให้อยู่กันอย่างสงบสุข ไม่ให้มีภัยพิบัติหรือปรากฏการณ์ภัยทางธรรมชาติเกิดขึ้นในหมู่บ้าน  ดินน้ำป่าหรือธรรมชาติมีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้สามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างสะดวกราบรื่น ไม่เกิดความขัดข้อง ซึ่งตรงกับ “แนวความคิดของนักมานุษยวิทยาสำนักหน้าที่นิยม  บรอนิสลอว์ มาลินอว์สกี้ (Brownislow Malinowski) ที่วิเคราะห์ศาสนาว่า มีหน้าที่ในด้านการสนับสนุนให้พลังใจในกรณีวิกฤตการณ์ต่างๆที่มนุษย์รู้สึกว่าตนไม่อาจควบคุมได้ วิกฤตกาลเหล่านี้อาจเป็นวิกฤตกาลทางธรรมชาติหรือทางสังคมก็ได้ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของปัจเจกชน” ความเชื่อผีเสื้อบ้านนี้จึงเป็นศาสนาแบบชาวบ้านที่เป็นที่พึ่งทางจิตใจให้แก่ชาวบ้าน เสมือนเป็นการลดความรู้สึกหวาดเกรงต่อวิกฤตกาลที่มนุษย์หรือปัจเจกชนไม่สามารถจะควบคุมหรือจัดการได้ ในส่วนของการที่ความเชื่อผีเสื้อบ้านที่สามารถตอบสนองด้านจิตใจต่อปัจเจกบุคคลได้เป็นอย่างดี คือ ชาวบ้านมีความเชื่อในอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของผีเจ้านาย เมื่อรู้สึกถึงความไม่มั่นคงของชีวิต รู้สึกไม่สบายใจ เป็นทุกข์กังวล ชาวบ้านจะมาบนบานต่อผีเจ้านาย ขอให้ผีเจ้านายช่วยดลบันดาลสิ่งที่ตนเองต้องการปรารถนา ดังนั้น ความเชื่อความศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อความเชื่อเรื่องผีเสื้อบ้านที่อาจถูกมองว่าลดน้อยลงไปบ้าง เนื่องจากปัจจัยทางสังคมหรือความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นหากมองในมุมของการเข้าร่วมพิธีกรรมในระดับชุมชน แต่หากมองในมุมของการที่ความเชื่อสามารถตอบสนองต่อด้านจิตใจระดับปัจเจก ชาวบ้านก็ยังคงมีความเชื่อจิตศรัทธาอย่างเข้มข้นต่อความเชื่อผีเสื้อบ้าน ดังนั้นการที่ความเชื่อผีเสื้อบ้านสามารถจะตอบสนองต่อความต้องการด้านจิตใจของชาวบ้านทั้งในลักษณะที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชนและปัจเจกบุคคลจึงส่งผลให้ความเชื่อเรื่องผีเสื้อบ้านจึงยังคงฝังอยู่ในจิตใจและดำรงอยู่อย่างสอดคล้องกับวิถีการดำรงชีวิตของคนในชุมชนรวมถึงวิถีการคงอยู่ของชุมชนแม่ทาแห่งนี้ ณ บริบทของความเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยปัจจุบัน

 

เชิงอรรถ

[1] อาจารย์ที่ปรึกษา  อ.ดร.วสันต์  ปัญญาแก้ว เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยวิชาสัมมนา

[2] พื้นที่ที่ศึกษาของงานวิจัย คือ หมู่ที่ 2 บ้านท่าข้าม  หมู่ที่ 3 บ้านค้อกลางและหมู่ที่ 4 บ้านห้วยทราย ตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ปัจจุบัน นฤมล  ดวงสุวรรณ เป็นนักศึกษา ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net