คนข้ามเพศสะท้อน ขอบริการสุขภาพแบบอิงเพศสภาพ

เปิดตัวคลิป-แลกเปลี่ยนปัญหาการเลือกปฏิบัติในกลุ่มคนข้ามเพศ ชี้ การรับบริการสุขภาพต้องอิงเพศสภาพ เหตุแบ่งเฉพาะชาย-หญิงสร้างความอึดอัด รู้สึกเป็น ‘ตัวประหลาด’

4 เม.ย.2559 มูลนิธิเอเชียแปซิฟิกทรานเจนเดอร์ เน็ตเวิร์ค (APTN) เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย (Thai TGA) และมูลนิธิซิสเตอร์ พัทยา จัดงาน ‘หยุดการเลือกปฏิบัติต่อคนข้ามเพศ’: Demanding Care Transgender Health Discrimination in Thailand ณ โรงแรมโนโวเทล เพลินจิต สุขุมวิท, วงเสวนา ‘เมื่อคนข้ามเพศถูกละเมิด’ และเปิดตัววิดีโอ และแผนงานสุขภาพคนข้ามเพศ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Trans Health Blueprint) โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสุขภาพ และสร้างความตระหนักถึงปัญหาอื่นๆ ที่คนข้ามเพศต้องเผชิญ เช่น การประกอบอาชีพ ฯลฯ

ไฮไลท์ของงานนี้คือ คลิปวิดีโอความยาว 7 นาที ที่รวบรวมเรื่องราวประสบการณ์ที่หลากหลายของคนข้ามเพศ และเสียงสะท้อนต่อการบริการทางสาธารณสุขที่พวกเขาพบเจอ เช่น การถูกเลือกปฏิบัติในโรงพยาบาล การถูกล้อเลียนในสถานศึกษา รวมไปถึงปัญหาในชีวิตประจำวันอย่างการเข้าห้องน้ำของกลุ่มสาวข้ามเพศ

คลิปวิดีโอ Stories of Transgender Healthcare Discrimination in Thailand

เจษฎา แต้สมบัติ เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยกล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ความรุนแรง และการเลือกปฏิบัติต่อคนข้ามเพศนั้นดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก เช่น ในเรื่องของการเกณฑ์ทหารที่กำลังเกิดขึ้นในวันที่ 1- 12 เม.ย.นี้ ก็พบว่า เจ้าหน้าที่ที่ประจำหน่วย หรือผู้เกี่ยวข้องนั้นให้เกียรติ มีความละเอียดอ่อน และเข้าใจกลุ่มคนข้ามเพศมากขึ้น และมีการเปลี่ยนข้อความในใบรับรองการตรวจเลือกทหารกองเกินจากเป็น ‘โรคจิตถาวร’ เป็น ‘ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด’ ก่อนหน้านี้ได้มีการจัดทำคลิป-คู่มือ ‘เมื่อดิฉันต้องไปเกณฑ์ทหาร’ เพื่อสร้างความเข้าใจแก่สาวข้ามเพศ และทหารไปแล้วในเบื้องต้น

ทั้งนี้เธอกล่าวว่า ถึงแม้สถานการณ์การเลือกปฏิบัติในเรื่องต่างๆ จะดีขึ้น รวมทั้งมีการออก พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 แล้วนั้น ก็ยังพบว่ามีความหละหลวม และไม่ครบถ้วน เช่น ยังไม่มีการออกกฎหมายคู่ชีวิต  ฯลฯ จึงทำให้กลุ่มคนข้ามเพศยังคงถูกเลือกปฏิบัติ และไม่เข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างแท้จริง

เธอกล่าวว่า ปัจจุบันคนข้ามเพศร้อยละ 38 ยังเผชิญกับความรุนแรง ในครอบครัว สถานศึกษา และที่ทำงานตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของคำพูด ทั้งการแซว เสียดสี ด่าทอ หรือล้อเลียนอัตลักษณ์ทางเพศ รวมทั้งรูปแบบที่ร้ายแรงที่สุดคือการคุกคาม และล่วงละเมิดทางเพศ

เธอสะท้อนว่า การคุกคาม และเลือกปฏิบัติดังกล่าว อาจไม่ใช่สิ่งที่มองเห็นได้ในทางรูปธรรมนัก จึงส่งผลให้กลุ่มคนข้ามเพศจำนวนมากเลือกที่จะไม่ต่อสู้ และไม่สื่อสารให้สังคมได้รับรู้ จนทำให้ข่าวสารที่มีไม่ถูกขยายสู่วงกว้าง จึงทำให้เกิดความพยายามในการผลักดันการสื่อสารใน 2 รูปแบบ หนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายต่างๆ โดยสร้างการมีส่วนร่วมของทุกส่วน เช่น มีการเก็บข้อมูล แสวงหาความต้องการ และสะท้อนเสียงของผู้ได้รับผลกระทบ สองคือการรณรงค์ และสื่อสารสาธารณะที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะเสียงของกลุ่มคนข้ามเพศเท่านั้น แต่รวมถึงกลุ่มคนไม่ข้ามเพศโดยอาจจะเริ่มจากคนใกล้ชิดอย่าง พ่อ แม่ และเพื่อน ของกลุ่มคนข้ามเพศ จนค่อยๆ ขยายออกออกสู่การมีส่วนร่วมของสังคมในวงกว้าง

พญ.นิตยา พึ่งพาพงศ์  จากศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทยกล่าวว่า การบริการในโรงพยาบาลที่เป็นมิตรต่อคนข้ามเพศ จะช่วยตอบสนองต่อเสียงสะท้อนของชุมชน แต่เรื่องนี้ยังเป็นสิ่งที่ขาดอยู่ อีกทั้งยังไม่มีความหลากหลายในชุดชนิดบริการ ที่จะต้องมองถึงความแตกต่างในแต่ละตัวบุคคลเป็นหลัก เพราะการใช้หลักบริการสุขภาพแบบทั่วๆ ไปที่มีความตายตัว และไม่ได้คำนึงถึงความต้องการพิเศษนั้นจะไม่ตอบสนองความต้องการที่แท้จริง เช่น ห้องพักที่แยกแบบชาย-หญิง จนทำให้คนข้ามเพศบางคนต้องเลือกที่จะไปอยู่ห้องพักพิเศษ, ความต้องการที่จะใช้ฮอร์โมนเพื่อเปลี่ยนเพศสภาพ หรือบางครั้งก็มีความต้องการสุขภาวะทางเพศเฉพาะที่ เช่น การเสริมหน้าอกร่วมด้วย

เธอกล่าวถึงคลินิกแทนเจอรีน  ซึ่งเป็นคลีนิกสุขภาพเฉพาะสำหรับคนข้ามเพศแห่งแรกในประเทศไทย  ที่ให้บริการชุดบริการแบบบูรณาการ และตอบสนองความต้องการของคนข้ามเพศ โดยมุ่งให้บริการ 4 บริการหลัก ได้แก่ ฮอร์โมนบำบัด กำจัดขน ฉีดโบท็อกซ์ และตรวจคัดกรองป้องกันเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์  นอกจากคลินิกแห่งนี้จะให้บริการอย่างครบวงจรแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มคนข้ามเพศต้องการการบริการที่เฉพาะเจาะจง เช่น การเสริมหน้าอก การควบคุมปริมาณฮอร์โมน หรือแม้แต่การตรวจภายใน ซึ่งอาจทำให้เกิดความลำบากใจหากหญิงข้ามเพศ หรือชายข้ามเพศต้องใช้บริการในแผนกสูตินรีเวชในโรงพยาบาลทั่วๆ ไป โดยเฉพาะในกลุ่มชายข้ามเพศ ที่มักรู้สึกแปลกแยก หากต้องนั่งรอในห้องตรวจที่แวดล้อมไปด้วยผู้หญิง โดยในปีที่ผ่านมาแทนเจอรีนมีผู้เข้ารับบริการกว่า 200 คน และในจำนวนนี้เป็นกลุ่มชายข้ามเพศกว่า 50 คน

ขณะที่คาณัสนันท์ ดอกพุฒ จากเอฟทีเอ็มแบงคอก หรือกลุ่มผู้ชายข้ามเพศ กล่าวว่า 5 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยยังไม่รู้จักชายข้ามเพศ มักนึกว่าผู้หญิงที่มีลักษณะห้าวก็คือทอม แต่ในปัจจุบัน การเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ชายข้ามเพศ เหมือนกับเป็นการให้เกียรติในฐานะผู้ชายคนหนึ่ง ไม่ว่าจะแปลงเพศแล้วหรือไม่ก็ตาม

“สังคมเราให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ รูปลักษณ์ภายนอกมากกว่าจิตใจ” เขากล่าวและว่า นั่นจึงทำให้คนข้ามเพศหลายคนเอาตัวเองไปผูกอยู่กับอัตลักษณ์เหล่านั้น และต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้มีอัตลักษณ์ตามที่สังคมคาดหวัง
เขากล่าวว่าในกลุ่มชายข้ามเพศ การใช้ฮอร์โมนนั้นได้ผลค่อนข้างสูง จึงทำให้หากเขาเดินอยู่ตามท้องถนน หรือดำเนินชีวิตประจำวัน น้อยคนนักที่จะรู้ว่าเขาเป็นชายข้ามเพศ แต่เมื่อต้องดำเนินกิจกรรมทางการ หรือแสดงบัตรประชาชน ก็มักรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนประหลาด และอึดอัดอย่างมาก เช่น การทำธุรกรรมธนาคาร ซึ่งต้องให้ผู้จัดการสาขานั้นๆ มาเซ็นรับรองเนื่องจากรูปลักษณ์นั้นขัดกับคำนำหน้านามอย่างนางสาว

ฐิติญานันท์ หนักป้อจากมูลนิธิซิสเตอร์ และรณภูมิ สามัคคีคารมย์ อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเป็นห่วงในเรื่องการประกอบอาชีพของกลุ่มคนข้ามเพศ ที่ผ่านมากลุ่มคนข้ามเพศโดยเฉพาะกะเทยยังไม่สามารถเข้าถึงการจ้างงานที่มีลักษณะเป็นทางการ เช่น ครู ได้มากนัก จึงทำให้หันเหไปทำงานที่ใช้รูปลักษณ์ในการหากิน เช่น คาบาเร่ หรือขายบริการ อย่างในพัทยากลุ่มสาวประเภทสองจากอีสานกว่าร้อยละ 75 ก็เลือกที่จะขายบริการทางเพศ และร้อยละ 20 แสดงคาบาเร่

รณภูมิทิ้งท้ายว่า การจัดการปัญหาเหล่านี้จึงต้องเริ่มต้นจากการเก็บข้อมูล สถิติที่มีการแยกเพศที่ไม่ใช่เพียงแค่หญิงหรือชาย เปิดให้กลุ่มคนข้ามเพศได้แสดงความต้องการ และต้องผลักดันให้กฎหมายต่างๆ ดำเนินการล้อไปกับพ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศให้ได้มากที่สุด

นอกจากกิจกรรมเสวนา ภายในงานยังมีนิทรรศการภาพถ่ายที่ให้กลุ่มคนข้ามเพศ เขียนแสดงความคิดเห็น ความต้องการ หรือสะท้อนความรู้สึกเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติที่มีต่อคนข้ามเพศจัดแสดงอยู่ด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท