iLaw วิเคราะห์ 7 ประเด็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ

6 เม.ย. 2559 หลังจากเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่จะนำลงไปทำประชามติ กันเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งมีกำหนดการทำประชามติในวันที่ 7 ส.ค.นี้ โดยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ได้เลือกประเด็นที่น่าสนใจจากร่างรัฐธรรมนูญ มาสรุป วิเคราะห์ เปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ และทำเป็นภาพ Info Graphic เพื่อเผยแพร่ 7 หัวข้อ ดังนี้

 

1. โรดแมปสู่การเลือกตั้ง สิ้นปี 60

ร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดขั้นตอนไปสู่การเลือกตั้งว่า หลังจากวันออกเสียงประชามติที่คาดว่าจะเป็น 7 สิงหาคม 2559 หากผล คือ เห็นชอบ นายกรัฐมนตรีจะนำร่างรัฐธรรมนูญทูลเกล้าฯ ถวายภายใน 30 วัน เมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้แล้ว คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญ (พรป.) ภายใน 240 วัน และส่งร่าง พรป. ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาภายใน 60 วัน และดำเนินการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรภายใน 150 วัน นับแต่วันที่ พรป. 4 ฉบับ มีผลบังคับใช้ 
 
รวม ความแล้ว หลังวันออกเสียงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 30+240+60+150 = 480 วัน หรือ 16 เดือน กว่าจะถึงวันเลือกตั้ง คาดว่าจะได้เลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรอย่างเร็วประมาณเดือนธันวาคม 2560
[อ่านต่อที่ http://ilaw.or.th/node/4070]
 

2. ร่างรัฐธรรมนูญเปิดทาง "นายกฯ คนนอก"

ร่างรัฐธรรมนูญเปิดทางให้รัฐสภาตั้ง 'นายกฯ คนนอก' ได้ ในมาตรา 272 สำหรับการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงครั้งเดียว และต้องอาศัย
 
1) ส.ส.ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 250 คน เสนอต่อประธานรัฐสภาว่าจะเลือกนายกรัฐมนตรีนอกเหนือจากรายชื่อที่พรรคการเองแจ้งไว้า
2) รัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย ส.ส. และ ส.ว.ทั้งหมด ลงมติด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 หรือ 500 คนจาก 750 คน อนุมัติ
3) ส.ส. เข้าชื่อกัน 1 ใน 10 หรือ 50 คนเสนอชื่อบุคคลใดก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 251 คน
[อ่านต่อที่ http://ilaw.or.th/node/4068]
 

3. ให้คสช. มีอำนาจเลือก ส.ว. 250 คนแรก

บทเฉพาะกาล ของร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในวาระเริ่มแรกมี 250 คน มาจาการคัดลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเกือบทั้งหมด และมี ส.ว.โดยตำแหน่งที่เป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆ อีก 6 คน ด้วยเหตุว่าจะเข้ามาประคับประคองประเทศไทยในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ซึ่งเป็นการร่างแทบจะตามข้อเสนอที่ คสช. ขอมา
[อ่านต่อที่ http://ilaw.or.th/node/4069
 

4. ไม่เขียน "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" แต่สั่งรัฐสนับสนุนเฉพาะพุทธเถรวาท

ร่างรัฐธรรมนูญ ไม่เขียนให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ตัดหน้าที่ของรัฐที่จต้องเสริมสร้างความสมานฉันท์ระหว่างศาสนาออก ตัดเรื่องห้ามลิดรอนสิทธิเพราะเหตุการนับถือศาสนาออก และเขียนนวัตกรรมใหม่ให้รัฐต้องส่งเสริมและเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท เพิ่มข้อยกเว้นเสรีภาพในการนับถือศาสนาต้อง "ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ"
[อ่านต่อที่ http://ilaw.or.th/node/4080]
 

5. อำนาจใหม่ และที่มาใหม่ ของศาลรัฐธรรมนูญ

ร่างรัฐธรรมนูญห้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันเขียน "มาตรฐานทางจริยธรรม" ขึ้น ให้อำนาจวินิจฉัยให้ รมต. ที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตหรือฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงพ้นจากตำแหน่ง ให้อำนาจเรียกประชุมฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ และองค์กรอิสระเพื่อหาช่องทางแก้วิกฤติการเมือง และเปลี่ยนที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้มีผู้ทรงคุณวุฒิจากส่วนราชการ 2 คน
[อ่านต่อที่ http://ilaw.or.th/node/4071
 

6. รีวิว ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม

ร่างรัฐธรรมนูญยังคงยืนในระบบเลือกตั้งที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ คือ ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม (MMA) ประชาชนจะกาบัตรใบเดียวเลือกได้ทั้งคน ได้ทั้งพรรค ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 คน ยังคงใช้ระบบเลือกตั้งเสียงข้างมาก หนึ่งคนหนึ่งเขต
 
ส่วน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ไม่เกิน 150 คน คิดคำนวนจาก นำคะแนนทั้งประเทศที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับจะ ไปคำนวณเพื่อให้ได้จำนวน ส.ส. ที่พรรคนั้นควรจะมี และเมื่อได้จำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคควรจะมีแล้ว ก็นำมาหักลบกับจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต จะได้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค
[อ่านต่อที่ http://ilaw.or.th/node/4079]
 

7. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยากขึ้นอีก

ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดตั้งแต่วาระแรกเลยว่า นอกจากจะต้องได้เสียงเห็นชอบเกินครึ่ง หนึ่งของทั้งสองสภาแล้ว ยังต้องมี ส.ว. เห็นชอบ ไม่น้อยกว่า 1 ใน  3 และในวาระ 3เพิ่มเงื่อนไขอีกว่า ต้องมี ส.ส. จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี  ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน ซึ่งยากกว่าของเดิมที่แก้ไขยากมากอยู่แล้ว พร้อมกับเสียงส.ว. 1 ใน 3
 
หากจะแก้ไขเกี่ยวกับหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ให้จัดทำประชามติก่อน 
[อ่านต่อที่ http://ilaw.or.th/node/4076]

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท