Skip to main content
sharethis

อะไรที่บอกว่าสถานการณ์ในชายแดนใต้/ปาตานีช่วงนี้แรง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้จึงรวบรวมเหตุการณ์สำคัญๆ ในพื้นที่ตั้งแต่ต้นปี 59 ถึงต้นเดือนเมษา พบว่ามีถึง 27 เหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ในพื้นที่ร้อนแรงจริงๆ

ตั้งแต่เริ่มต้นปี 2559 ซึ่งเป็นปีที่ 12 ของเหตุไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือปาตานีและครบรอบปีที่ 3 ของกระบวนการพูดคุยสันติภาพจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 3 เดือนเศษ แต่กลับมีเหตุการณ์สำคัญๆ รวมทั้งประเด็นร้อนแรงที่ทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ร้อนแรงต่อเนื่องตามไปด้วย

จากการรวบรวมของกองบรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมกระทั่งล่าสุดวันที่ 5 เมษายน 2559 มีเหตุการณ์สำคัญๆ รวม 27 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเหตุใดในสถานการณ์ในพื้นที่จึงร้อนแรงมาก เรียงตามลำดับวันดังนี้

5 ม.ค. 2559 วันครบรอบ 12 ปี เหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายกองพันธ์ทหารพัฒนาที่ 4 ค่ายปิเหล็ง ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุไม่สงบที่มีมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

10 ม.ค. 2559 อิยาด อามีน มาดานิ เลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี (OIC) ประชุมพบปะกลุ่มมาร่าปาตานี (MARA Patani) องค์กรร่มของขบวนการชาตินิยมมลายูปาตานีจำนวน 10 คน นำโดยนายอาวัง ยาบะ ประธานมาราปาตานี และยังพบปะกับตัวแทนภาคประชาสังคมจากปาตานี/ชายแดนใต้ 5 คน ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับการกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างมาร่าปาตานีกับตัวแทนรัฐบาลไทยที่มีฝ่ายมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก

12 ม.ค. 2559 อิยาร์ด อามีน มาดานี เลขาธิการโอไอซีเข้าเยี่ยมคารวะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล

22 ม.ค. 2559 นักศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 1,000 คนร่วมกับภาคประชาสังคมและนักวิชาการร่วมกิจกรรมปลุกพลังนักศึกษา หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พร้อมเดินรณรงค์แสดงการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาไปจนถึงหน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานี

2 ก.พ. 2559 โสภณ ทิพย์บำรุง อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 2 รองอัยการจังหวัดปัตตานีได้ชี้แจงข้อกฎหมายกรณีศาลแพ่งมีคำพิพากษาริบทรัพย์สินที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งโรงเรียนญีฮาดวิทยา หรือปอเนาะบ้านท่าด่าน ม.3 ต.ตะโล๊ะกาโปร์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เนื้อที่ 14 ไร่เศษ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งฐานก่อการร้ายตามกฎหมายว่าด้วยคดีแพ่งและกฎหมายการฟอกเงินของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

โสภณ ระบุว่า คดีนี้ศาลมีคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2558 เนื่องจากมีพยานยืนยันว่ามีการใช้ที่ดินเป็นฝึกการก่อการร้าย จึงถือเป็นทรัพย์สินที่ใช้กระทำความผิด แต่รัฐก็ยังให้ปรับปรุงเป็นสถานศึกษาให้กับชุมชน เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้บริจาค โดยให้เจ้าของที่เดิมเป็นผู้บริหารต่อไป

10 ก.พ. 2559 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานีและกลุ่มด้วยใจ เปิดตัว“รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย้ำยีศักดิ์ศรีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้”อย่างเป็นทางการ หลังเก็บข้อมูลมา 4 ปี โดยรวบรวมบทสัมภาษณ์ผู้เสียหาย 54 ราย ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อเหยื่อการทรมานแห่งสหประชาชาติ และได้ส่งรายงานฉบับนี้ให้ พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2559

12 ก.พ. 2559 พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.)ได้แถลงตอบโต้การเปิดเผยรายงานสถานการณ์การทรมานดังกล่าวที่อ้างว่าเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับการซ้อมทรมานผู้ถูกควบคุมตัว 54 คนว่า เป็นการนำข้อมูลเก่ามาอ้างทำให้ต่างประเทศเข้าใจผิด และเป็นการจงใจทำลายความหน้าเชื่อถือของรัฐ ส่วน พล.ต.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ก็ได้ออกมาตอบโต้กรณีนี้ด้วยเช่นกัน

13 ก.พ. 2559 ทหารสั่งระงับการจัดเวทีเสวนาหัวข้อ "สันติภาพปาตานี ทำไมต้องประชาชน!" ของสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือ PerMAS ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

14 ก.พ. 2559 ครอบครัวแวมะนอทั้งหมด 14 คน ซึ่งเป็นเจ้าของโรงเรียนญีฮาดวิทยาเก็บข้าวของทั้งหมดย้ายออกจากบ้านในอยู่ในบริเวณโรงเรียนไปอาศัยอยู่ที่มัสยิดและโรงเรียนตาดีกา และตัดสินใจไม่ยื่นอุทธรณ์เพื่อสู้คดี

15 ก.พ. 2559 ประชาชนจากที่ต่างๆ เริ่มหลั่งไหลเข้าไปเยี่ยมครอบครัวของนางยาวาฮี แวมะนอ และมีการตั้งศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือครอบครัวโรงเรียนปอเนาะญิฮาดวิทยาที่มัสยิดบ้านท่าด่าน

18 ก.พ. 2559 ชาวบ้านท่าด่านได้รวมตัวกันที่มัสยิดประมาณ 200 คน เพื่อตั้งคณะทำงานศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือครอบครัวโรงเรียนปอเนาะญิฮาดวิทยา

26 ก.พ. 2559 คณะผู้นำองค์กรศาสนาประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ 8 องค์กรได้แถลงแนวทางการแก้ปัญหาการยึดที่ดินโรงเรียนญีฮาดวิทยานำโดย แวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี โดยจะตั้งคณะกรรมการพิเศษพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน และตอบสนองเจตนารมณ์เดิมของเจ้าของที่ดิน โดย พล.ต.ชินวัฒน์ แม้นเดช รองแม่ทัพภาคที่ 4/รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เข้าร่วมฟังการแถลงด้วย แต่ด้านนายบันยาล ยืนยันว่าที่ดินทั้ง 14 ไร่ของโรงเรียนญีฮาดวิทยาตกเป็นของรัฐแล้ว จึงไม่เกี่ยวกับครอบครัวของตน และทางศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือฯก็จะจัดงานเลี้ยงน้ำชาเพื่อสมทบทุนหาเงินซื้อที่ดิน 10 ไร่สร้างโรงเรียนแห่งใหม่ในวันที่ 19 มีนาคม 2559

27 ก.พ. 2559 เกิดเหตุคาร์บอมบ์บริเวณลานจอดรถร้านอาหารมีตติ้ง ชานเมืองปัตตานี ถ.หนองจิก อ.เมืองปัตตานี ที่ติดกับฐานปฏิบัติการพิเศษ (นปพ.) ใกล้บริษัท ปัตตานีคอนกรีต จำกัด แรงระเบิดทำให้เกิดเพลิงไหม้ที่พักของเจ้าหน้าที่ทั้งหมด มีตำรวจได้รับบาดเจ็บ 6 นาย ประชาชนได้รับบาดเจ็บ 4 ราย

28 ก.พ. 2559 เป็นวันครบรอบ 3 ปีของกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็นที่นำโดยนายฮัสซัน ตอยิบ กับตัวแทนรัฐบาลไทยที่นำโดย พล.ท.ภารดร พัฒนาถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในขณะนั้น

ในวันเดียวกัน หลายองค์กรภาคประชาสังคมและภาควิชาการร่วมกันจัดงานวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีครั้งที่ 3 และสมัชชาสันติภาพ 2016 ที่ ม.อ.ปัตตานี โดยมีตัวแทนจาก 3 ฝ่ายมารายงานสถานการณ์สันติภาพในพื้นที่สาธารณะ ได้แก่ นายอาวัง ยาบะ ประธานมาร่าปาตานีที่กล่าวปาฐกถาผ่านวิดีโอ ดาโต๊ะ อะหมัด ซัมซามิน ฮาซิม ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขชายแดนใต้/ปาตานีจากฝ่ายมาเลเซียได้กล่าวปาฐกถาผ่านวิดีโอเช่นกัน และพล.ท.นักรบ บุญบัวทอง เลขานุการคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้มากล่าวปาฐกถาด้วยตัวเอง

ขณะเดียวกันมีตัวแทนองค์กรต่างๆในพื้นที่รวม 22 องค์กร ได้นำเสนอวาระสันติภาพจากพื้นที่ให้คู่ขัดแย้งทุกฝ่ายด้วย

2 - 4 มี.ค. 2559 เกิดเหตุไม่สงบ 8 เหตุการณ์ต่อเนื่องกันมีผู้เสียชีวิต 6 คนซึ่งเป็นราษฎร 4 คนโดยมี 2 คนที่ถูกฆ่าแล้วเผา

13 มี.ค. 2559 เกิดเหตุไม่สงบในพื้นที่ อ.เจาะไอร้อง, อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส กว่า 10 จุดและในพื้นที่ จ.ยะลาอีก 5 จุด ทั้งการยิงใส่ฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่และเหตุลอบวางระเบิด แต่เหตุการณ์ที่เป็นข่าวใหญ่มาก คือเหตุกลุ่มชายฉกรรจ์ประมาณ 50 คนบุกเข้าไปในโรงพยาบาลเจาะไอ้ร้องแล้วยิงถล่มใส่ฐานทหารพรานที่ 4816 ที่อยู่ติดกับโรงพยาบาลเจาะไอร้องโดยมีการจับมัดมือเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลด้วย

แม้เหตุการณ์นี้ส่งผลให้ทหารพรานได้รับบาดเจ็บ 7 ราย แต่ก็ทำให้หลายองค์กรออกมาประณามการบุกยึดโรงพยาบาลดังกล่าวด้วยเช่นกัน เพราะเห็นว่าโรงพยาบาลเป็นพื้นที่มนุษยธรรมไม่ใช่พื้นที่สู้รบ โดยมีการพูดถึงว่าเป็นการทำผิดหลักกฎหมายมนุษยธรรมและเป็นประเด็นที่สื่อนำเสนออยู่นานกว่าสัปดาห์

16 มี.ค. 2559 พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้พร้อมคณะได้ประชุมกับนักวิชาการสันติวิธีจาก 5 มหาวิทยาลัยที่โรงแรมเซนจูรี่ ปาร์ค กรุงเทพมหานคร เพื่อพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพหรือการพูคุยสันติสุข

19 มี.ค. 2559 หลายองค์กรร่วมจัดงานกินข้าวยำน้ำชาเพื่อสมทบทุนช่วยเหลือครอบครัวปอเนาะญีฮาดวิทยาและพัฒนาชุมชนท่าด่าน ณ สนามฟุตบอลท่าด่าน ต.ตะโละกาโปร์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 50,000 คน และมียอดบริจาคมากกว่า 3.9 ล้านบาท

29 มี.ค. 2559 เกิดเหตุลอบวางระเบิดและซุ่มยิงตำรวจชุดสืบสวนของสถานีตำรวจภูธรจะแนะ จ.นราธิวาส ใน ต.บองอ อ.ระแงะ ทำให้ตำรวจเสียชีวิต 3 นาย ได้แก่ ร.ต.อ.เอกชัย นิเซ็ง, จ.ส.ต.อนุวัติ กอราปาหลง และ ส.ต.ต.ราชกฤกษ์ อาแว และมีตำรวจบาดเจ็บอีก 6 นาย

31 มี.ค. 2559 เกิดเหตุระเบิด  6 จุด ภายในเทศบาลตำบลยะหริ่ง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เป็นเหตุให้ตำรวจได้รับบาดเจ็บ 5 นาย

1 เม.ย. 2559 เกิดเหตุคนร้ายไม่ทราบจำนวนขับรถกระบะสีบรอนซ์แบบสี่ประตูไม่ทราบยี่ห้อและหมายเลขทะเบียนเป็นพาหนะ ขับโฉบไปจอดใกล้ร้านน้ำชาบริเวณสามแยกทางเข้าหมู่บ้านดุซงตาวา ม.5 ต.บือมัง อ.รามัน จ.ยะลา จากนั้นใช้อาวุธสงครามกราดยิงเข้าไปในร้านแล้วเร่งเครื่องรถหลบหนีไป ส่งผลให้คนที่อยู่ในร้านเสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บอีก 1 ราย

2 เม.ย. 2559 พล.ต.ชินวัฒน์ แม้นเดช รองแม่ทัพภาคที่ 4/รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าพูดถึงกรณีโรงเรียนญีฮาดวิทยาต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกในงานสัมมนาเพื่อประมวลองค์ความรู้การพัฒนาสังคมชายแดนใต้ที่ม.อ.ปัตตานี โดยชี้ว่าคำตัดสินของศาลไม่ใช่ประเด็นที่ดินวากัฟและย้ำว่ารัฐไม่ได้มุ่งทำลายปอเนาะแต่ให้ดูว่ามีกี่ร้อยปอเนาะที่รัฐสนับสนุน

ในวันเดียวกันนั้นก็มีหลายกิจกรรมที่ถูกจัดขึ้น เช่น งานสัมมนาทางวิชาการ“วรรณกรรมมลายูในโลกอิสลาม”ครั้งที่ 1 เรื่อง “ปาตานีในโลกมลายู ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม และโลกอิสลามร่วมสมัย” ที่ม.อ.ปัตตานี มีนักวิชาการชื่อดังในโลกมลายูเข้าร่วมหลายคน

วันเดียวกันมีรายงานว่า พลทหารทรงธรรม หมุดหมัด อายุ 23 ปี พลทหารสังกัด ร.152 พัน 1 ค่ายพยัคฆ์ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ถูกทำโทษจนได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

4 เม.ย. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ออกคำสั่งโละสภาที่ปรึกษา ศอ.บต.ที่มาจากการเลือกกันเองของประชาชนกลุ่มต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วตั้งใหม่ 60 คน โดยให้อำนาจ กอ.รมน.ร่วมสรรหา 45 คน พร้อมออกข้อกำหนดให้ ศอ.บต.ต้องทำงานตามข้อเสนอแนะของ กอ.รมน.

5 เม.ย. 2559 เวลา 05:10 น. คนร้ายไม่ทราบจำนวนแต่งกายเลียนแบบทหารตั้งจุดตรวจจุดสกัดบริเวณบ้านนิคมกือลอง ม.2 ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา จ.ยะลา ได้ปล้นรถยนต์กระบะโตโยต้าของสองสามีภรรยา โดยจับภรรยาเป็นตัวประกันและบังคับให้สามีขับรถที่ถูกประกอบระเบิดขนาด 160 กิโลกรัมแล้วไปจอดในตัวเมืองยะลา แต่เจ้าหน้าที่กู้ระเบิดไว้ได้ทันส่วนสองสามีภรรยาปลอดภัยทั้งคู่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net