บุรุษศึกษากับสภาวะความเป็นชายในสังคมไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

จากกระแสข่าวเกี่ยวกับการเกณฑ์ทหารในประเทศไทยขณะนี้ที่เต็มไปด้วยคำวิจารณ์ทั้งด้านบวกและด้านลบ[1] โดยเฉพาะความคิดที่ว่าเป็นลูกผู้ชายต้องรับใช้ชาติ กับความคิดที่ว่าชายไทยก็มีช่องทางอื่นที่สามารถทำหน้าที่ช่วยชาติได้เช่นกัน ทำให้ผู้เขียนเกิดความสงสัยขึ้นว่า หากต้องการจะพิสูจน์ความเป็น “ลูกผู้ชาย” ที่แท้จริง มีหนทางเดียวที่จะทำได้ นั่นคือการเป็นทหาร อย่างนั้นหรือ หากชายไทยไปประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอื่นที่สามารถสร้างชื่อเสียงหรือช่วยพัฒนาชาติ จะถือเป็น “ลูกผู้ชาย” ที่แท้จริงได้หรือไม่ ดังนั้นบทความขนาดสั้นชิ้นนี้จึงเป็นความพยายามที่จะอธิบายความเป็นชายและการศึกษาเกี่ยวกับความเป็นชายในแวดวงวิชาการปัจจุบัน เพื่อทำความเข้าใจสังคมไทยและสร้างข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความเป็นชายไทยได้มากขึ้น

การศึกษาเกี่ยวกับ "ความเป็นชาย" (Masculinities) นั้นยังถือว่าเป็นประเด็นที่ใหม่พอสมควรแม้กระทั่งในวงการวิชาการตะวันตก R.W.Connell[2] เจ้าพ่อแห่งวงการบุรุษศึกษาได้เสนอแนวทางสำหรับการศึกษาความเป็นชายหรือบุรุษศึกษาเอาไว้ช่วงทศวรรษ 1990 คือ จะต้องพิจารณาความเป็นชายที่หลากหลาย คำว่าหลากหลายในที่นี้คือ ทั้งทางชนชั้น เชื้อชาติ สีผิว ฯลฯ และมองว่าความเป็นชายนั้นมีระดับชั้นอยู่ ดังนั้นสิ่งที่ควรจะต้องทำความเข้าใจ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างชายกับชาย ทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงในเรื่องเพศ หากเป็นเรื่องที่ว่าระหว่างผู้ชายกับผู้ชายนั้นมีการปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร และผู้ชายแต่ละกลุ่มมีการสร้างภาพลักษณ์ความเป็นชายของตนเองขึ้นมา และนำไปสู่การแข่งขันเพื่อที่จะสถาปนาอำนาจนำในสังคมเหนือชายกลุ่มอื่นๆได้อย่างไร ดังนั้นเมื่อพูดถึงความเป็นชาย จึงควรเป็นเรื่องของความเป็นชายที่มีอยู่หลายแบบ มากกว่าจะเป็นความเป็นชายแบบเดียวที่ถูกผูกขาดจากผู้ชายกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดในสังคม[3]

ขณะที่วงการสตรีนิยมบางกลุ่มพยายามเสนอความคิดเกี่ยวกับโลกของผู้หญิงที่มีประสบการณ์การถูกกดขี่จากผู้ชายร่วมกัน การศึกษาความเป็นชายกลับย้อนดูถึงความขัดแย้งภายในของเหล่าชายชาตรี ความแข็งแกร่งและกล้ามเนื้อแม้ว่าจะเป็นคุณลักษณะหนึ่งของความเป็นชายที่ผู้ชายทั่วโลกต่างยอมรับ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณสมบัติอื่นๆจะไม่ได้แสดงถึงความเป็นชาย การศึกษาความเป็นชายในสังคมยุโรปโดยเฉพาะยุคกลางแสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงถูกกีดกันออกจากการจัดแบ่งกลุ่มคนในสังคม ที่เชื่อกันว่ามีอยู่สามกลุ่ม คือ ผู้สวดภาวนา ผู้สู้รบ และผู้ทำงาน (แรงงานและชาวนา) (Those who pray, those who work, those who fight) [4] เห็นได้ชัดว่าอำนาจและการแข่งขันความเป็นชายอยู่ในมือของกลุ่มนักบวชและนักรบ อย่างไรก็ตาม ในสมัยปลายยุคกลาง การขยายตัวของการศึกษาและมหาวิทยาลัยส่งผลให้เกิดคนกลุ่มใหม่ นั่นคือปัญญาชน ชายทั้งสามกลุ่มได้พยายามนิยามความเป็นชายของตัวเองที่แตกต่างกันออกไป และเพื่อให้ความเป็นชายของตนเองนั้นเหนือกว่าสองกลุ่มที่เหลือ[5] ในสมัยยุควิคตอเรียนเป็นต้นมา แม้ว่าวัฒนธรรมแบบจักรวรรดินิยมที่เน้นอำนาจและความเป็นทหารจะทำให้ความเป็นชายถูกผูกติดกับความแข็งแกร่งและกล้ามเนื้อมากขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าฐานความคิดของความเป็นชายที่แตกต่างหลากหลาย โดยเฉพาะความเป็นชายแบบของนักบวชและปัญญาชนก็ได้รับการยอมรับไม่แพ้กัน และมุมมองเหล่านี้ยังคงดำเนินอยู่จนถึงปัจจุบัน

ตรงกันข้ามกับสังคมตะวันตก ภาพลักษณ์ของความเป็นชายในแบบไทยสัมพันธ์อย่างมากกับความเป็นทหาร การสู้รบและอำนาจ ตั้งแต่ตัวเอกในวรรณคดี จนมาถึงยุคสมัยใหม่ที่พึ่งพิงกับวัฒนธรรมแบบทหาร[6] ทำให้ความเป็นชายในแบบไทยนั้นถูกผูกขาดอยู่เพียงแบบเดียว นั่นคือความแข็งแกร่งและอำนาจ เมื่อความเป็นชายถูกจำกัดอยู่เพียงแค่นิยามเดียว แน่นอนว่าผู้ชายไทยทั้งหมดไม่สามารถหันมาเป็นทหาร หรือสามารถที่จะใช้กำลังอำนาจแสดงความเหนือกว่าผู้ชายคนอื่นหรือเพศอื่นๆได้ทั้งหมด ทำให้เกิดความตึงเครียดของการเข้าถึงความเป็นชายเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ หากพิจารณาจากปริมาณข่าวรายวันถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงระหว่างสามีภรรยา จะพบว่าผู้หญิงถูกผู้ชายที่เป็นสามีหรือแฟนทำร้ายเป็นจำนวนมาก สอดคล้องกับรายงานสถิติที่ผู้หญิงถูกทำร้ายมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นทุกปี[7] รวมถึงกระแสของการตั้งกระทู้ถามในเวปบอร์ดยอดนิยมอย่างพันทิป ตั้งแต่ประเด็นการหาคู่รักที่ไม่สนใจเรื่องเงิน, การตั้งกระทู้ถามเกี่ยวกับค่าสินสอด, และประเด็นอื่นๆที่มีนัยยะถึงความสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิงที่เหมาะสม[8]

สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องยืนยันว่า ความเป็นชายในสังคมไทยนั้นไม่ตอบรับกับสภาพความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ก้าวเข้าสู่สมัยใหม่ หรืออีกทางหนึ่ง คือ ผู้ชายไทยจำนวนมากไม่รู้ว่าตนเองควรจะต้องมีคุณสมบัติหรือลักษณะอย่างไรที่จะเรียกได้ว่าเป็น “ลูกผู้ชาย” ที่สอดคล้องกับค่านิยมของสังคม ความเป็นชายที่หมายถึงความแข็งแกร่งและอำนาจ ไม่เอื้อต่อการเปิดโอกาสให้ความเป็นชายในแบบอื่นได้แสดงออกมาอย่างในสังคมตะวันตกที่ความเป็นนักรบ ปัญญาชนและชายในร่มเงาของศาสนาต่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ดังนั้น เมื่อความเป็นชายในแบบไทยที่เชื่อกันว่ามีเพียงความแข็งแกร่งและอำนาจถูกสถาปนาให้อยู่ในลำดับเหนือสุดในสังคม จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ความรุนแรงในครอบครัว ในความสัมพันธ์ ตลอดจนในสังคมจะเกิดขึ้นเนื่องจากภาพแทนของความเป็นชายเหล่านี้

ผู้เขียนจึงต้องการเสนอว่า ไม่เพียงแต่ความเป็นจริงในสังคมที่ควรจะต้องเปิดโอกาสให้ความเป็นชายในแบบอื่นได้ถูกแสดงและได้รับการยอมรับ เพื่อทำให้ผู้ชายและความเป็นชายที่แตกต่างหลากหลายได้มีพื้นที่และมีการจัดความสัมพันธ์ทั้งระหว่างชายกับชายและชายกับหญิงขึ้นใหม่ ในด้านของวงการวิชาการ การศึกษาความเป็นชายหรือบุรุษศึกษาก็เป็นเรื่องที่ต้องเริ่มต้นเช่นเดียวกัน เพื่อเปิดมุมมองต่อความเป็นชายทั้งในอดีตและปัจจุบัน และเพื่อสร้างความเข้าใจต่อความเป็นชายของสังคมไทยมากขึ้นให้มากเท่ากับการพยายามสร้างความรู้ความเข้าใจของแวดวงสตรีศึกษา

 

เชิงอรรถ

[1] โปรดดู “ดราม่า ‘คนบันเทิง’ เกณฑ์ทหาร” ที่มา http://www.thairath.co.th/content/602527 เข้าถึงวันที่ 9 เมษายน 2559

“รอยยิ้มและน้ำตา ‘ดาราเกณฑ์ทหาร’“ ที่มา http://www.thairath.co.th/content/602077 เข้าถึงวันที่ 9 เมษายน 2559

[2] โปรดดู Connell, R. W. Masculinities. Oxford: Blackwell Publishes, 1995 , Connell, R.W. The Men and the Boys. Cambridge: Polity Press, 2000.

[3] Connell, Masculinities. หน้า 76

[4] Duby, Georges. The Three Orders: Feudal Society Imagined. (Chicago: University of Chicago Press,1980) p.13

[5] โปรดดู McNamara Jo Ann, “The Herrenfrage: The Restructuring of the Gender System, 1050-1150.” In Medieval Masculinities. Regarding Men in the Middle Ages. edited by Clare A. Lees, 3-30. (London: University of Minnesota Press, 1994), McLaughlin Megan, ‘Secular and Spiritual Fatherhood in the Eleventh Century.’ In Conflicted Identities and Multiple Masculinities Men in the Medieval West. edited by Jacqueline Murray, 25-43. (New York, 1999), Karras, Ruth Mazo. From Boys to Men: Formations of Masculinity in Late Medieval Europe. Pennsylvania: University of Pennsylvania Press, 2005.

[6] โปรดดู เทพ บุญตานนท์. การเมืองในการทหารไทย สมัยร.6. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2559, ทักษณ์ เฉลิมเตียรณ. การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2552.

[7] โปรดดู “สถิติความรุนแรงเด็ก-สตรีพุ่งทุกปี ชี้ค่านิยมชายเป็นใหญ่ เหยื่อไม่กล้าฟ้องกลัวอับอาย” ที่มา http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1447757640 เข้าถึงวันที่ 9 เมษายน 2559, รายงานสรุปจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวประจำปี ที่มา http://www.violence.in.th/violence/report/violence/report001.aspx เข้าถึงวันที่ 9 เมษายน 2559

[8] โปรดดูเพิ่มเติม “ค่าสินสอด เมื่อไหร่จะยกเลิกไปซะที” ที่มา http://pantip.com/topic/32256922 เข้าถึงวันที่ 9 เมษายน 2559, “ค่าสินสอดสมัยนี้เค้าคิดกันเท่าไหร่อ่ะครับ” ที่มา http://pantip.com/topic/30680838 เข้าถึงวันที่ 9 เมษายน 2559, “ผู้หญิงบางคนเห็นแก่ได้กันจัง” ที่มา http://pantip.com/topic/31098982 เข้าถึงวันที่ 9 เมษายน 2559, “ผู้หญิงสวยส่วนใหญ่เห็นแก่เงิน?” ที่มา http://pantip.com/topic/32044116 เข้าถึงวันที่ 9 เมษายน 2559

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท