Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อสังคมเกษตรเริ่มเปลี่ยนเป็นสังคมอุตสาหกรรมระบบครอบครัวใหญ่ของไทยที่เคยอบอุ่นในอ้อมกอดของพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย เช่นในอดีตกาลได้แปลเปลี่ยนไปตามกาลและเวลา จากสังคมชนบทที่เคยพึ่งพิงวิถีชุมชนต้องก้าวเดินสู่วิถีของสังคมอุตสาหกรรมที่วุ่นวาย ทุกคนต่างแย่งกันกินแย่งกันอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด ด้วยจำนวนประชากรวัยหนุ่มสาวที่แออัดทุกคนต่างเดินทางมาด้วยความฝันอันเปี่ยมล้นในจิตใจว่าว่าอนาคตข้างหน้าจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าที่ผ่านมา

จวบจนวันเวลาผ่านไปวันแล้ววันเล่าความฝันของคนหนุ่มสาวเหล่านั้นต่างถูกหล่อหลอมเข้าเป็นเนื้อเดียวกับสังคมเมืองที่ตนเองได้ผันชีวิตเข้ามาอยู่ ทุกคนต่างออกมาพบกับสิ่งใหม่มาพบกับสังคมใหม่ จนหลายคนลืมไปแล้วว่าความฝันวันเก่า ๆ นั้นถูกกลืนกินไปแต่เมื่อไร เมื่อก้าวเข้าสู่รั้วโรงงานคนหนุ่มสาวเหล่านั้นเขาไม่มีเวลาแม้แต่จะคิดถึงครอบครัวที่อยู่ที่ชนบท ในวันเวลาที่พ่อแม่เจ็บป่วย เขาไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะกลับไปเยี่ยมหรือเป็นกำลังใจ ด้วยข้อจำกัดของระบบอุตสาหกรรมในเรื่องการลางาน และข้อจำกัดในเรื่องของระยะทางที่ห่างไกลต้องใช้เวลาในการเดินทางไม่น้อยกว่าสิบชั่วโมง เขาเหล่านั้นก็ได้แต่หวังว่าไว้ถึงวันหยุดเทศกาลมาถึงคงได้มีโอกาสกลับไปเยี่ยมครอบครัวที่จากมาบ้าง

แต่วันเวลาก็เดินไปไม่เคยหยุดนิ่งกลืนกินทุกสิ่งที่ทุกคนโหยหา ต้องอดทนฝืนยิ้มรอวันเวลาที่จะได้พบหน้าพี่น้องและมิตรสหาย เมื่อวันเวลาที่เฝ้ารอนั้นมาถึง มนุษย์อุตสาหกรรมทั้งหลายก็พยายามตะเกียกตะกายที่จะฝันฝ่าอุปสรรคต่างๆไปพบกับครอบครัวดังที่คาดหวังไว้ แต่มันก็เป็นเพียงแค่ระยะเวลาเพียงสั้น ๆ วันนี้เทศกาลสงกรานต์กำลังจะผ่านพ้นไปหลายคนกำลังร่ำไห้กับการที่จะต้องจากลาจากครอบครัวอันอบอุ่นอีกครั้ง หัวใจที่กำลังพองโตของพ่อแม่ จิตใจที่กำลังอิ่มเอิบของเด็กน้อยที่ได้พบหน้าพ่อแม่มันกำลังหมดไป ทำไมเวลาเหล่านี้มันแสนสั้นยิ่งนัก อีกไม่กี่วันข้างหน้าชนบทก็จะยังคงเงียบเหงาและอ้างว่างเหมือนเดิมเหมือนกับที่มันเคยเป็นมาเกือบตลอดทั้งปี เพียงแต่วันนี้มันถูกเติมเต็มมันถูกแต่งแต้มสีสันจากแรงงานวัยหนุ่มสาวที่ไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มหรือมูลค่าส่วนเกินให้กับนายทุนแต่ตัวเองกลับได้เพียงค่าแรงที่ถูกยิ่งกว่าราคาอาหารของสัตว์เลี้ยงของนายทุนเสียอีกหรือชีวิตของมนุษย์ในสังคมยุคใหม่มันเป็นสังคมของ “ครอบครัวชั่วคราว” ไปอย่างถาวรไปแล้ว

มันเป็นเรื่องน่าเศร้าแต่มันคือความจริงที่ทุกคนต้องยอมรับ เมื่อเราก้าวเข้าสู่รั้วโรงงานนั้นหมายถึงเราได้พร้อมแล้วที่จะละทิ้งความสุขหลายอย่างที่เคยมี หลายคนอาจจะบอกว่าโชคดีมีตำแหน่งหน้าที่การงานที่สวยหรูมีเงินเดือนที่พอซ้อบ้าน ซื้อรถ และพาครอบครัวพ่อแม่และลูกมาอยู่ด้วย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า พ่อแม่จะมีความสุขไปด้วยเพราะเมื่อมาอยู่ในสังคมอุตสาหกรรม บ้านหลังเล็ก ๆ กำแพงสี่ด้านหันไปทางไหนไม่มีใครรู้จัก มันเป็นการบั่นทอนความรู้สึกว่าครอบครัวที่อบอุ่นเป็นอย่างไร วิถีชีวิตของมนุษย์โรงงานต้องลุกออกจากบ้านไปทำงานตั้งแต่ตีห้ากลับถึงบ้านอีกทีก็สี่ถึงห้าทุ่ม มาถึงบ้านก็หมดเวลาต้องเข้านอนแล้วไม่มีเวลาแม้แต่จะคุยกัน ยิ่งทำให้รู้สึกหดหู่ยิ่งนัก

ถ้าวันนี้เราสามารถเปลี่ยนแปลงวิถีของอุตสาหกรรมได้ทำไมเราไม่ออกมาเรียกร้องสิทธิของวิถีชุมชน วิถีที่เราเคยมีความสุข เรียกร้องสิทธิในการลาต่าง ๆ ของคนงานไม่ว่าจะเป็นลาเยี่ยมพ่อแม่เมื่อคิดถึงหรือเมื่อเวลาที่เจ็บป่วย หรือลางานเยี่ยมปู่ย่า ตายาย ในวันที่ต้องการกำลังใจ แต่วันนี้เรามักจะเห็นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานขอแต่โบนัส ปรับค่าจ้าง ลาไปงานศพ จึงเกิดคำถามขึ้นมาในใจผมเสมอว่าต้องรอให้ญาติทั้งหลายเหล่านั้นเขาต้องตายไปก่อนหรือเราถึงต้องลางาน ทั้ง ๆ ที่เราสามารถทำได้ดีกว่านี้ในวันที่เขามีชีวิตอยู่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net