พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง: กางแผนพูดคุยสันติสุข เผยความคืบหน้า แจงข้อท้าทาย

พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง กางแผนยุทธศาสตร์พูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ในเวทีกัมปงตักวา ระบุว่าคืบหน้าสู่ขั้นที่ 6 จากทั้งหมด 10 ขั้นตอนของการสร้างความไว้วางใจ กับข้อท้าทายที่ต้องดำเนินตามแผนให้สำเร็จในอีก 2 ปีที่เหลือตามที่รัฐบาลต้องการ ความต่อเนื่องในนโยบายและการดึงเสียงสนับสนุนจากคนตรงกลาง

 

เส้นทางสู่สันติภาพภายใต้กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนใต้ของรัฐจะเดินไปอย่างไร ท่ามกลางเสียงสนับสนุน เสียงคัดค้านและความรุนแรงรายวัน สิ่งสำคัญที่สุดส่วนหนึ่งน่าจะเป็นความต่อเนื่องในนโยบายรัฐบาลและการดำเนินไปตามแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้

พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง เลขาธิการพูดคณะคุยสันติสุขเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ภาคใต้ที่มี พล.อ.อักษรา เกิดผล เป็นหัวหน้าคณะ พล.ท.นักรบได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เขียนแผนยุทธศาสตร์การพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ขึ้นมาแล้วเร่งดำเนินการตามแผนให้สำเร็จภายในปี 2560

การดำเนินตามแผนนี้จะสำเร็จมากน้อยแค่ไหนและอย่างไรกับระยะที่เหลืออีก 2 ปีนั้น ลองมาดูก่อนว่าในแผนยุทธศาสตร์นี้มีอะไรบ้าง พล.ท.นักรบ ได้บรรยายเรื่องนี้ในการสัมมนาที่จัดขึ้นโดยเครือข่ายชุมชนศรัทธา “กัมปงตักวา” ในหัวข้อ “ทางรอดกระบวนการสร้างสันติภาพปาตานี” เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี ให้สมาชิกเครือข่ายของชุมชนศรัทธาในจังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 50 คนได้รับฟังโดยสรุปดังนี้

กางแผนยุทธศาสตร์พูดคุยสันติสุขชายแดนใต้

พล.ท.นักรบ กล่าวนำว่า การแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นที่สองซึ่งก็คือ “การปฏิบัติการเชิงรุกควบคู่การพัฒนา” ที่เริ่มมาตั้งแต่ 2554 ซึ่งชี้วัดว่าสถานการณ์กำลังดีขึ้นเป็นลำดับ การพูดคุยเพื่อสันติสุขเป็นหนึ่งในแนวทางการบริหารจัดการความขัดแย้งของรัฐบาล ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยในพื้นที่และงานพัฒนาในมิติต่างๆ ยืนยันการพูดคุยนั้นมีมาโดยตลอดหลายปีก่อนหน้านี้ แต่รัฐเริ่มมีเอกภาพทางความคิดมากขึ้นหลังจากที่มีการระบุเอาไว้ใน “นโยบายการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” จนกระทั่งมามาลงนามในปี 2556 และมีการพูดคุยกันอย่างเป็นทางการ แต่ปัญหาที่พบก็คือเรายังไม่มียุทธศาสตร์ในการพูดคุยและการเตรียมความพร้อมที่ดีพอ การพูดคุยในรัฐบาลที่แล้วจึงประสบกับข้อจำกัดมากมาย

พล.ท.นักรบ กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลนี้สานต่อการพูดคุย ตนได้รับมอบหมายให้ยกร่างแผนยุทธศาสตร์การพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมา โดยมีขั้นตอน 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 คือการสร้างความไว้วางใจ ประกอบด้วย 10 ขั้นตอน ระยะที่ 2 คือ การลงนามในสัตยาบัน และระยะที่ 3 คือการจัดทำแผนที่เดินทางหรือ Road Map เพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยันยืน

ในการทำแผนยุทธศาสตร์การพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ นั้นได้มาจากการระดมสมองและสรรพกำลังจากหลายภาคส่วน รวมไปถึงการศึกษาตัวอย่างในอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย และในมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ รวมไปถึงบทเรียนที่ได้รับจากกรณีของไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งแต่ละที่ก็แตกต่างกัน แต่เราก็ปรับให้สอดคล้องกับประเทศไทย โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นมา

10 ขั้นตอนการสร้างความไว้วางใจ

พล.ท.นักรบ กล่าวต่อไปว่า สำหรับขึ้นตอนการสร้างความไว้วางใจนั้น ตนขอย้ำว่าเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด เพราะคนที่ขัดแย้งกันจะไว้วางใจกันนั้นไม่ง่าย อย่างไรก็ตาม การดำเนินการ 1 ปี กับอีก 3 เดือนที่ผ่านมาก็มีความคืบหน้า ซึ่งสอดคล้องตาม 10 ขั้นตอนในแผนยุทธศาสตร์การพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ดังต่อไปนี้

ขั้นตอนที่ 1 การสร้างความสัมพันธ์กับมาเลเซีย

เริ่มต้นตั้งแต่วันแรก เนื่องจากคณะของฝ่ายทางการไทยไม่เคยรู้จักผุ้อำนวยความสะดวกกันมาก่อน ความไม่ไว้วางใจต่อมาเลเซียก็มีอยู่สูง ดังนั้นตนต้องทำความรู้จักกับดาโต๊ะสรี อาห์หมัด ซัมซามิน ฮาซิม ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติสุขด้วยการเดินทางไปเจอเขาที่ประเทศมาเลเซีย ทานอาหารด้วยกัน ตีกอล์ฟด้วยกัน และบางครั้งก็พามาเที่ยวเมืองไทย ทางเขาก็พาเราไปพูดคุยและทานอาหารด้วยกันที่มาเลเซีย เพื่อสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน ใช้เวลาในการสร้างความไว้วางใจในช่วงนี้ถึง 3 เดือนด้วยกัน

ขั้นตอนที่ 2 จัดบัญชีรายชื่อกลุ่มผู้คิดเห็นต่างจากรัฐ

เมื่อมีความไว้วางใจต่อกันแล้ว ทางฝ่ายรัฐก็ได้จัดบัญชีรายชื่อกลุ่มผู้คิดเห็นต่างจากรัฐ จำนวน 32 คนที่อยู่ในประเทศมาเลเซีย เป็นกลุ่มที่รัฐอยากคุยด้วยและยืนยันว่าเป็นตัวจริงโดยความเห็นชอบของหน่วยงานทางด้านการข่าวว่าเป็นกลุ่มผู้เห็นต่างซึงอยู่ฝ่ายตรงกันข้ามจริงๆ เราส่งรายชื่อให้รัฐบาลมาเลเซียเพื่อรวบรวมบุคคลเหล่านี้และเชิญมาพูดคุยกัน บัญชีรายชื่อเหล่านี้ได้รับความเห็นชอบจากกองอำนวยรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กองบัญชาการตำรวจสันติบาล สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 3 การสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ

หลังจากส่งทั้ง 32 รายชื่อให้มาเลเซียแล้ว ทางฝ่ายมาเลเซียก็ต้องไปสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายคือฝ่ายไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐเกิดความไว้วางใจต่อมาเลเซียแล้ว ทางมาเลเซียก็จะเชิญทั้ง 2 ฝ่าย เข้ามาพูดคุยกันโดยมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งที่ผ่านมามีการพูดคุยกันแล้ว 4 ครั้งในระยะเวลา 1 ปี

ขั้นตอนที่ 4 ทดสอบเบื้องต้น

ที่จริงได้มีการทดสอบเบื้องไปแล้วเมื่อช่วงเดือนรอมฎอนปี 2558 ที่ผ่านมา โดยมีการพูดคุยในทางลับว่าขอให้เดือนรอมฎอนปี 2558 เป็นเดือนรอมฎอนแห่งสันติสุขและเป็นเดือนแห่งการประกอบศาสนากิจ ผลออกมาปรากฏว่าเป็นเดือนรอมฎอนที่มีเหตุการณ์ต่ำที่สุดนับแต่ปี 2547 – 2559

อย่างไรก็ตามเดือนรอมฎอนปี 2558 ก็ยังมีเหตุการณ์เกิดขึ้นบริเวณชายแดน เช่น ในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส อ.ธารโต จ.ยะลา อ.ปาดังเบซาร์ จ.สงขลา เป็นต้น นี่คือบททดสอบเบื้องต้นที่เราทำกันมาแล้วและที่สำคัญเป็นบททดสอบที่ผ่าน

ขั้นตอนที่ 5 ตั้งคณะทำงานเทคนิคร่วม

 คณะทำงานเทคนิคร่วมเป็นคณะทำงานชุดเล็กของทั้งสองฝ่าย มีหน้าที่พูดคุยรายละเอียดในประเด็นต่างๆได้ และสามารถพูดคุยได้หลายวันติดต่อกัน สามารถนอนคุย นั่งคุย คุยระหว่างกินข้าวได้  เพราะคณะพูดคุยชุดใหญ่ไม่สามารถที่จะพูดคุยรายละเอียดได้ เพราะบนโต๊ะการพูดคุยชุดใหญ่นั้นบางครั้งไม่อาจหาข้อยุติกันได้โดยง่าย อีกทั้งยังต้องมีการแปลภาษาถึง 3 ภาษา การจัดตั้งคณะทำงานชุดเล็กเป็นวิธีการหนึ่งในการแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งในกระบวนการพูดคุยที่อื่นก็ถือปฏิบัติกันเป็นปกติ

คณะทำงานชุดนี้มีตนซึ่งนอกจากจะทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะพูดคุยชุดใหญ่แล้ว ยังเป็นหัวหน้าคณะทำงานชุดเล็กของฝ่ายรัฐบาลอีกด้วย ส่วนคณะทำงานนั้นมาจากเจ้าหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรม, กระทรวงการต่างประเทศ, กองทัพบก, กอ.รมน.. เป็นต้น ที่ผ่านมาคณะทำงานเทคนิคร่วม ซึ่งมีทั้งฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มผู้คิดต่างได้มีการพบปะกันแล้ว 3 ครั้งที่ประเทศมาเลเซีย คือที่เมืองปีนัง 1 ครั้ง และที่กัวลาลัมเปอร์ 2 ครั้ง จนกระทั่งได้มาซึ่งกรอบกติกาทางธุรการในการพูดคุยซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่ 6

ขั้นตอนที่ 6 การจัดทำกรอบกติกาทางธุรการในการพูดคุย

ขณะนี้การดำเนินงานทั้งหมดอยู่ในขั้นตอนนี้ คือ การกำหนดกรอบกติกาทางธุรการในการพูดคุย ซึ่งร่วมกันจัดทำเสร็จเป็นที่เรียกบร้อยแล้วจากการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐเมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ถามว่าทำไมต้องมีกรอบกติกาในการพูดคุยสันติสุข คำตอบก็คือเป็นเรื่องที่คล้ายกับเล่นฟุตบอล หากไม่มีกติกาก็เล่นฟุตบอลไม่ได้ เป็นต้น การพูดคุยสันติสุขก็เหมือนกัน ต้องมีกรอบในการพูดคุยสันติสุขด้วยเช่นกัน

หากไม่มีกติกาพูดคุยสันติสุข ก็เหมือนกับการพูดคุยสันติภาพในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่เมื่อพูดคุยครั้งที่ 2 ก็มีการยื่นข้อเสนอ 5 ข้อ จากฝ่ายบีอาร์เอ็น ทำให้การพูดคุยเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ซึ่งในความเป็นจริงข้อเสนอ 5 ข้อนั้น ถ้าเทียบตอนนี้ก็อยู่ในขั้นตอนที่ 9 หรือ 10 ตามแผนยุทธศาสตร์การพูดคุยฯ ฉบับนี้

กรอบกติกาทำให้การพูดคุยสันติสุขเดินหน้าได้ เพราะมีการพูดคุยอย่างเป็นขั้นตอน ซึ่งกรอบกติกานี้จะนำขึ้นบนโต๊ะพูดคุยสันติสุขระหว่างคณะพูดคุยฝ่ายไทยกับฝ่ายกลุ่มผู้เห็นต่างในเดือนเมษายน 2559 นี้

ขั้นตอนที่ 7 การทดสอบขั้นก้าวหน้า

การทดสอบขั้นก้าวหน้า ความสำคัญอยู่ที่การพูดคุยเรื่องกำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วมกัน หรือ Safety Zone ซึ่งเรื่องนี้ได้บรรจุเป็นวาระในการพูดคุยสันติสุขเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้คณะพูดคุยสันติสุขชุดใหญ่เห็นชอบก่อนจึงจะสามารถดำเนินการต่อได้

เมื่อโต๊ะพูดคุยสันติสุขเห็นชอบเรื่องนี้แล้ว ก็จะโยนให้คณะทำงานชุดเล็กไปดำเนินการต่อ โดยตนจะให้ทางกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐเป็นผู้เลือกพื้นที่

พื้นที่ปลอดภัยนี้เป็นการทำงานร่วมกันของ 3 ฝ่าย คือ รัฐ ประชาชนและกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ซึ่งต่างจากอำเภอสันติสุขที่กำลังดำเนินการอยู่ในพื้นที่ตอนนี้ เพราะเป็นการทำงานร่วมระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ไม่มีกลุ่มผู้คิดต่างจากรัฐทำงานด้วย ทำให้ยังมีเหตุไม่สงบอยู่

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าพื้นที่ปลอดภัยจะไม่มีเหตุไม่สงบเลย เพราะในพื้นที่ยังมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยสันติสุขอยู่ และยังพวกค้าของเถื่อน น้ำมันเถื่อนและยาเสพติดอยู่

ขั้นตอนที่ 8 การพูดคุยเรื่องปัญหา

การพูดคุยเรื่องปัญหา เป็นการรับทราบปัญหาจากกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐว่า เขามีปัญหาอะไรถึงต้องใช้อาวุธ เช่น การศึกษาในพื้นที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ซึ่งหากตนมีข้อมูลผมก็จะให้คำตอบบนโต๊ะการพูดคุยสันติสุขไปเลยว่ารัฐได้ทำอะไรบ้างเกี่ยวกับการศึกษาในพื้นที่ แต่หากไม่มีข้อมูล ก็นำประเด็นนี้ไปเปิดเวทีถามประชาชนว่าต้องการการศึกษารูปแบบใด

หรือเรื่องการเมืองปกครอง เช่น ประชาชนต้องการเขตปกครองพิเศษหรือต้องการเลือกผู้ว่าราชการจังหวัด ตนก็จะลงมาเปิดเวทีในพื้นที่ถามประชาชน จากนั้นก็จะนำข้อเสนอของประชาชนมานำเสนอบนโต๊ะพูดคุย แต่ต้องนำไปเสนอรัฐบาลก่อนว่ามีความเห็นอย่างไร จะต้องแก้ไขเพิ่มเติมตรงไหน ผมจะทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ข้อเสนอ

ขั้นตอนที่ 9 การประเมินและทบทวน

ขั้นตอนที่ 10 การจัดทำข้อตกลงฉบับสมบูรณ์

ระยะที่ 2, 3 ทำอย่างที่ทั่วโลกทำกัน

พล.ท.นักรบ กล่าวอีกว่า ข้ามไประยะที่ 2 คือ การลงนามสันตาบัน โดยมีการระบุอย่างชัดเจนว่าจะต้องแก้อะไรบ้าง ซึ่งการแก้ปัญหาเหล่านี้ กลุ่มผู้คิดเห็นต่างจากรัฐต้องยกเลิกก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่ โดยดำเนินการควบคู่กับกระบวนการยุติธรรม คือ ทำอย่างไรให้กลุ่มคนที่มีความคิดเห็นต่างรัฐกลับมาในประเทศสำหรับคนที่อยากกลับ นักโทษในเรือนจำจะดำเนินการนิรโทษกรรมหรือไม่ คนที่มีหมายจับจะยกเลิกหรือไม่ รูปแบบอย่างนี้ทำกันทั่วโลก

ระยะที่ 3 การจัดทำ Road Map เพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยนำหมวดการศึกษา การเมืองการปกครอง มาตั้งคณะทำงานศึกษาอย่างจริงจัง ตั้งระยะเวลาในการแก้ไข กี่เดือน กี่ปี เพื่อกำหนดให้เป็น Road Map ในระหว่างนี้มีการตั้งคณะกรรมการหยุดยิงและถอนกำลังทหารออกพื้นที่ ซึ่งในกระบวนการสันติภาพทั่วโลกก็ทำกันอย่างนี้

สิ่งท้าทายของทั้ง 2 ฝ่าย

พล.ท.นักรบกล่าวด้วยว่า สำหรับสิ่งท้าทายต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนใต้มี 4 ข้อหลักๆ ดังนี้

เรื่องแรก ความต่อเนื่องของนโยบาย เนื่องจากประเทศไทยเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย และอนาคตประเทศไทยไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนอีกกี่รัฐบาล แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันให้ตนยกร่างยุทธศาสตร์การพูดคุยฯ ให้สำเร็จในปี 2560 นั้น ในความเป็นจริงแล้วตนคิดว่าในปี 2560 น่าจะอยู่ขั้นตอนของการลงนามสัตยาบันเท่านั้นเอง เพราะกระบวนการสันติภาพต้องใช้ระยะเวลานาน ตัวอย่างในประเทศฟิลิปปินส์ก็ใช้เวลา 17 ปี ไอร์แลนด์เหนือ 30 ปี แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลนี้ก็ได้บรรจุวาระการพูดคุยสันติสุขไว้ในนโยบายการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ฉบับใหม่ ซึ่งยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้วในขณะนี้และกำลังจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

เรื่องที่สอง ความไว้วางใจระหว่างปาร์ตี้ A (ฝ่ายรัฐบาล), ปาร์ตี้ B (ฝายมาราปาตานี) และผู้อำนวยความสะดวก ขั้นตอนในการสร้างความไว้วางใจใช้เวลานาน อย่างไรก็ตามภายในระยะเวลา 1 ปี 3 เดือนที่ผ่านมา มีการพบเจอกันแล้วเพียง 7 ครั้ง เป็นคณะทำงานชุดใหญ่ 4 ครั้งและคณะเทคนิคร่วม 3 ครั้ง ทำให้ยังไม่สามารถสร้างความไว้วางใจได้อย่างเต็มที่มากนัก แต่ก็สามารถสร้างความไว้วางใจได้เรื่อยๆ

เรื่องที่สาม การโน้มน้าวและชักจูงกลุ่มที่ตรงกลางระหว่างเห็นด้วยกับไม่เห็นของทั้ง 2 ฝ่ายทั้ง Party A และ Party B ให้มาสนับสนุนการพูดคุย โดยเฉพาะประชาชนที่ต้องสนับสนุนการพูดคุยสันติสุข เนื่องจากช่วงนี้ได้เปิดโอกาสให้มีการพูดคุยแล้ว

เรื่องสุดท้าย การสนับสนุนจากภาคประชาสังคม (Track 2) และประชาชนระดับรากหญ้า และคนส่วนใหญ่ของประเทศ (Track 3) สนับสนุนการพูดคุยสันติสุข

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท