วัฒนธรรมการคัดลอก

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

กรณีการคัดลอกวิทยานิพนธ์  ที่กำลังเป็นข่าวอยู่นี้  ทำให้คิดถึงประเด็นหนึ่ง  ที่เคยทำค้างเอาไว้  เกี่ยวกับการแพร่หลายของวรรณกรรมของกลุ่มชนตระกูลไท-ลาว   อย่างเช่นเรื่องท้าวฮุ่งท้าวเจือง  ผมพบว่ารูปแบบการแพร่หลายแบบนี้มิได้มีอยู่แต่เรื่องท้าวฮุ่งท้าวเจือง  เรื่องอื่นๆ ของวรรณกรรมสมัยจารีต  ก็ล้วนมีรูปแบบการแพร่หลายในลักษณะคล้ายคลึงกัน 

ตอนแรกผมนึกไม่ออก  ว่าจะอธิบายหรือเข้าใจมันยังไง  จนกระทั่งได้อ่านงานของ Peter Koret  ที่ทำเกี่ยวกับการแพร่หลายของวรรณกรรมเรื่อง “สานลืบพะสูน” (San Leup Phasun) ในแถบอีสานและ สปป.ลาว  Koret สรุปว่าการที่วรรณกรรมเรื่องนี้แพร่หลายในหมู่คนพูดภาษาลาวหรือใช้ตัวอักษรไทน้อย  เพราะการคัดลอก  ซึ่งเป็นรูปแบบการถ่ายทอดวรรณกรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยจารีต 

การคัดลอกในที่นี้มิได้หมายถึงเฉพาะการคัดลอกตัวบทหรือคัดลายมือเอาไปเท่านั้น  หากยังรวมถึงการท่องจำแล้วถ่ายทอดปากต่อปากแบบที่เรียกโก้หรูว่า “มุขปาฐะ”  วรรณกรรมชิ้นนี้เลยไม่มีชื่อผู้แต่ง  ไม่มีผู้อ้างสิทธิในฐานะผู้ประพันธ์  แล้วก็จึงนำมาสู่กระบวนการตีความหลากหลาย

ตัวอย่างเช่น นักวิชาการลาวตีความว่า เป็นวรรณกรรมต่อต้านสยามโดยกลุ่มเจ้าอนุวงศ์  เช่นเดียวกับเอกสารพื้นเวียง  บางท่านก็เห็นว่าเป็นพระราชนิพนธ์ของเจ้าอนุวงศ์เลยทีเดียว  บางท่านก็เห็นว่ามันเป็นแต่เพียงกลอนลำเพราะมีบทรำพันรักมากมายอยู่ในนั้น  บางท่านก็ว่าเป็นการแต่งในลักษณะนิราศ ได้รับอิทธิพลจากกวีสยาม ฯลฯ          

จากแง่มุมของ Koret ก็มามองอย่างพระราชพงศาวดาร  การทำซ้ำคัดลอก  ไม่ได้หมายความว่าต้องคัดกันอย่างเคร่งทุกตัวบทอักษร  จึงเปิดโอกาสสำหรับการแก้ไขที่รู้จักกันในหมู่นักศึกษาประวัติศาสตร์ว่า “การชำระ”  ทั้งๆ ที่การชำระบางกรณี  เทียบเท่ากับการแต่งขึ้นใหม่  เพราะมีการแก้ไขส่วนสำคัญจนผิดแผกแตกต่างไปกว่าฉบับเดิมมโหฬาร  แต่เรื่องที่แต่งขึ้นใหม่นั้นก็ยังอ้างความเป็นของเก่า หรือเป็นเหมือนฉบับเก่า  เพราะความเป็นฉบับเก่าและหรือตัวมันเองก็เพียงคัดลอกมาถ่ายทอดอีกต่อหนึ่งเท่านั้น  เป็นเครดิตของฉบับใหม่ที่ดัดแปลงแต่งเติมไปมากแล้ว 

จะว่าไปมันก็เหมือนความเชื่ออันหนึ่งที่สังคมไทยสยามมีต่อพระไตรปิฎก  มีต่อพระธรรมคำสั่งสอน  คือคนไทยเป็นมนุษย์จำพวกที่เชื่อว่า สัจจะ ความจริงสูงสุดนั้นมีอยู่แล้วในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า  เราเพียงแต่ต้องเรียนหรือท่องจำให้ได้  แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์นั้น  ในแง่นี้การเรียนก็คือต้องท่องจำอย่างเดียว  ไม่ต้องไปคิดไปค้นหา  ยิ่งการอีดิตแก้ไข  ยิ่งไม่บังควร  แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นไปไม่ได้  ที่จะไม่เกิดกระบวนการตัดต่อดัดแปลงในขณะที่ท่องจำเอาไปใช้หรือคัดลอกไปบอกต่อ  หรืออย่างคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ไม่มีอะไรเป็นหลักฐานยืนยันได้มั่นคงว่า  เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าจริง  เพราะหลักฐานล้วนแต่ผ่านการชำระสังคายนามาแล้วทั้งสิ้น   

กล่าวอย่างนี้ผมไม่ได้กำลังให้ความชอบธรรมหรือดีเฟนด์ให้กับกรณีการลอกวิทยานิพนธ์  แต่ผมกำลังคิดถึงเรื่องที่มันมากกว่านั้น  ว่ามันมีกระบวนการปะทะกันระหว่างขนบการประพันธ์แบบตะวันตก (ซึ่งกลายเป็นอย่างเดียวกับขนบการประพันธ์แบบสมัยใหม่ในสังคมไทยสยามไป) กับขนบการคัดลอกแบบไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เพราะเดิมเราไม่ได้มีขนบการเขียนการประพันธ์  เราเน้นการทำซ้ำ  การเขียนวิทยานิพนธ์เลยเป็นเรื่องใหม่ในสังคมประเทศนี้  ท่ามกลางวิธีคิดทางวัฒนธรรมแบบคัดลอกที่ต่อเนื่องมาจากขนบของพุทธศาสนา  ที่เชื่อเรื่องสัจจะสูงสุดจากพระบรมศาสดา  ใครคัดลอกไปเผยแพร่มาก  ก็ถือว่าได้บุญ  เป็น “วิทยาทาน” (ความรู้เป็นการให้ทานชนิดหนึ่ง?)

วรรณคดีสำคัญๆ หลายเรื่องของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ที่เรายกย่องกันภายหลัง  มันมีที่มาจากกระบวนการอย่างหลังนี้นะครับ  แต่มันเกิดปัญหาตรงที่ปัจจุบันมันจะเป็นการคัดลอกโดยที่เอาของคนอื่น  มาเมคว่าเป็นของตนเอง  การคัดลอกในอดีตไม่ถือว่าละเมิด  เพราะเป็นวิทยาทานไง  คือเป็นของทำบุญทำทานกันมา  เอาไปเผื่อแผ่ผู้อื่นต่อ  ก็ได้บุญ  แต่ปัจจุบันมันจะมีค่าเท่ากับทำร้ายคนที่ไปคัดลอกมา  และตัวผู้คัดลอกกลับได้เครดิตไป (ในกรณีที่จับไม่ได้ว่าได้ไปคัดลอกมา) 

ส่วนหนึ่งมันคงเพราะผู้คัดลอกกับผู้ถูกคัดลอก อยู่ในระดับฐานะทางสังคมเดียวกัน และสามารถใช้ประโยชน์จากตัวบทนั้นในแบบเดียวกัน จึงไม่ต้องการเคารพยกย่องผู้ถูกคัดลอก จะเอาเครดิตแต่ไม่ทำงานเอง สังคมนี้มีคนหลายประเภทที่คิดและทำแบบเดียวกันนี้

ต่างกันลิบ ถ้าผู้ถูกคัดลอก ได้ชื่อเป็นปราชญ์ ศาสดา ปัญญาชน นักคิดผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ถูกคัดลอกก็จะถูกเรียกแทนที่ว่า "ผู้อ้าง" (ถึง) ยิ่งเป็นนักคิดใหญ่บิ๊กเนม เซเลบคนดัง ก็จะชอบอ้างกัน การอ้างแบบนี้ก็สะท้อนระบอบเครือข่ายอุปถัมภ์ทางวิชาการแบบไทยๆ  วัฒนธรรมการเคารพในตัวผลงานยังไม่เกิดจริงๆ สำหรับในสังคมนี้ ตราบใดที่เรายังสนใจว่าใครเป็นผู้เขียน มากกว่าสาระตัวบทอย่างที่เป็นอยู่

ในงานเขียนทางประวัติศาสตร์  การคัดลอก  บางกรณีเป็นเรื่องเนียนกว่านั้น  และเด็กประวัติศาสตร์  ก็จะมีไม้เด็ดไว้จัดการคนมาลอก อย่างเช่น อาจมีการอ้างหลักฐานชิ้นเดียวกัน  โดยไม่ใส่ว่า “อ้างใน...” แต่ยกข้อความและอ้างเอกสารชิ้นนั้นๆ เลย  เสมือนหนึ่งว่าผู้อ้างเป็นผู้เข้าถึงหรือได้ไปใช้เอกสารชิ้นนั้นมาเหมือนกัน  แต่คนแรกที่ใช้มันจะรู้  เพราะส่วนใหญ่ตัวบทที่โควทเอามา  มีการคัดลอกคลาดเคลื่อน  ซึ่งเป็นเทคนิคที่ทำไว้  มีไม่กี่คนที่ทำงานตรวจเชคเอกสารที่ต้นขั้วแบบนั้นได้  เมื่อคนแรกแกล้งทำคลาดเคลื่อนเอาไว้นิดหน่อย  แล้วคนหลังมาใช้อ้างทุกตัวอักษร  คนแรกก็จะรู้โดยทันทีว่า  คนอ้างต่อจากเขานั้น  ไม่ได้เข้าถึงเอกสารจริง  กลายเป็นว่าคนแรกจะต้องทำความผิดพลาดคลาดเคลื่อนทิ้งเอาไว้  เพื่อให้ตัวเองสามารถโปรเทคผลงานตัวเองได้ในภายหลัง 

ปกติเอกสารหอจดหมายเหตุแห่งชาติ (หจช.) จะมีผู้อ่านตรวจก่อนว่า  ผู้ที่มาใช้นั้นจะใช้หรือได้อะไรไปบ้าง  ถ้าเรื่องไหนเป็นประเด็นอ่อนไหว  ก็เอาออกจากรายการบัญชี  จัดประเภทเป็น “เอกสารต้องห้าม” เสร็จสรรพ  อย่างเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่องชายแดน เรื่องคอมมิวนิสต์  เรื่องกบฏ  นักศึกษาประวัติศาสตร์ในชั้นหลังจะไม่สามารถอ้างว่าได้เข้าถึงเอกสารเช่นเดียวกับคนเมื่อยี่สิบสามสิบปีก่อน 

ผมรู้เรื่องนี้เพราะเคยทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับกบฏ  แล้วคนที่เคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับหลวงพระบางสมัยรัชกาลที่ 5  อ้างถึงเอกสารจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับกบฏข่าและโควทเอาไว้ชัด  แต่เมื่อผมพยายามสอบถามเกี่ยวกับเอกสารดังกล่าว  และสืบถามไปเรื่อยๆ  ก็เลยทราบเรื่องนี้โดยบังเอิญ 

ทำให้รู้สึกผิดหวังและกลับมาได้คิดว่า  หน่วยงานอย่างหอจดหมายเหตุแห่งชาติก็ของรัฐ  ย่อมปกป้องรัฐ รับใช้ชนชั้นนำ  ยิ่งเมื่อรัฐเป็นเผด็จการฝ่ายขวา  ก็ยิ่งมีเรื่องปิดลับเป็นอันมาก ยิ่งสังคมมีชนชั้นนำเก่าแก่ดั้งเดิมที่มีมากด้วยความลับและอ่อนไหวเปราะบางกับความรู้อะไรใหม่ๆ ก็ยิ่งต้องปิดลับให้ตามอำนาจหน้าที่   

เอกสาร หจช.จึงไม่ใช่หลักฐานชั้นต้นที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง  รอนักศึกษาประวัติศาสตร์ไปเปิดซิงมันเหมือนอย่างที่หลายคนเข้าใจแต่อย่างใด  แต่มันเป็นหลักฐานที่ถูกกระทำชำเรา (ภาษาของอาจารย์นิธิ)  โดยรัฐไปก่อนเราแล้วเรียบร้อย 

ไม่มีเรื่องออริจินอลข้อมูลชั้นต้นให้เราค้นหาในนั้น  และเราควรจะให้เครดิตแก่เอกสารที่มีเจ้าของแบบนี้แค่ไหน  เป็นเรื่องที่ผมอยากฝากไว้พิจารณา  ขอบคุณครับ 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท