Skip to main content
sharethis

กลุ่มพลเรียน ยื่นจม.เปิดผนึกแสดงความกังวลต่อร่างรัฐธรรมนูญ ให้รมช.ศึกษาธิการ ชี้ร่างฯนี้ลดทอนโอกาส-คุณภาพการศึกษา ลดทอนสิทธิอำนาจและการมีส่วนร่วมจัดการศึกษาจากภาคส่วนต่างๆ ลดทอนการเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษาอย่างวิทยุชุมชน

22 เม.ย. 2559 รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 21 เม.ย. ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 13.00 น. กลุ่มพลเรียนได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หลังการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “นโยบายการศึกษาไทยในรัฐบาลปัจจุบัน” ณ ศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สำหรับหนังสือดังกล่าวเป็นการยื่นข้อกังวลใจในเรื่อง การลดทอนสิทธิทางการศึกษาในรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ เช่น การลดทอนโอกาสทางการศึกษา การลดทอนคุณภาพการศึกษา  การลดทอนสิทธิ อำนาจและการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาจากภาคส่วนต่างๆ ในภาคสังคมที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้ง การลดทอนการเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษาในส่วนของคลื่นความถี่หรือวิทยุชุมชน ซึ่งนับแต่มีการก่อตั้ง “วิทยุชุมชน” ก็ถูกใช้เป็นทรัพยากรที่สำคัญในการส่งเสริมการศึกษา โดยเฉพาะในส่วนของการเรียนรู้ด้วยตนเองที่เหมาะสมกับบริบทเฉพาะของผู้เรียน 

กลุ่มพลเรียน ยังมีอีกหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ไม่ใช่แค่ประเด็นการลดทอนสิทธิทางการศึกษาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นแนวนโยบายและรูปแบบการปฏิบัติทางการศึกษาของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปการศึกษา ระบบการผลิตครู การใช้มาตรา 44 ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคและการบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค และยังมีเรื่องอื่นๆ อีกมากที่ยังไม่ได้กล่าวถึง

 

 

จดหมายของกลุ่มพลเรียน :

เนื่องด้วยร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามที่ระบุไว้ในความตามหมวด 5 มาตรา 50 ของร่างรัฐธรรมนูญในฉบับที่ได้มีการยกร่างขึ้นมานั้น ทางกลุ่มพลเรียนได้มีความเห็นว่าความที่ระบุไว้ตามมาตราดังกล่าวนั้นจะนำไปสู่การ “ลดทอนสิทธิทางการศึกษา” ในมิติต่างๆ ดังที่เคยระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี 2540 และ 2550 โดยจะส่งผลกระทบต่อ “แนวนโยบายและรูปแบบการปฏิบัติทางการศึกษา” ดังต่อไปนี้

1. นำไปสู่การลดทอนโอกาสทางการศึกษา โดยเฉพาะเด็กที่มาจากครอบครัวที่ยากจนหรือมีรายได้ในระดับต่ำ เด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เด็กพิการ เด็กเร่รอนและเด็กผลัดถิ่น ทั้งนี้ความในมาตรา 50 ของร่างรัฐธรรมนูญที่ได้ระบุว่า “การจัดการศึกษาให้ฟรีอย่างทั่วถึงจะครอบคลุมเฉพาะการศึกษาภาคบังคับ (ซึ่งหมายถึงระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้น)” เท่านั้น ก็หมายความว่าเด็กที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและต้องการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทางการศึกษา ได้แก่ ค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าหนังสือและตำราเรียน ค่าชุดเครื่องแบบนักเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเดินทางไปเรียนและค่าอาหาร เป็นต้น ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวนับวันก็ยิ่งมีราคาที่สูงขึ้น ฉะนั้นโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งในสายสามัญและสายอาชีวศึกษาของเด็กชายขอบและเด็กที่ครอบครัวมีฐานะยากจนก็จะถูกลิดรอนหรือลดทอนลง ทั้งนี้ก็เป็นปัญหาที่อาจจะนำไปสู่วิกฤติทางการศึกษาของชาติได้

2. นำไปสู่การลดทอนสิทธิ อำนาจและการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาจากภาคส่วนต่างๆ ในภาคสังคมที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรวิชาชีพ องค์กรเอกชนและสถาบันศาสนา ทั้งนี้ความตามในมาตรา 50 ได้กำหนดให้การจัดการศึกษาให้เป็น “หน้าที่ของรัฐ” ซึ่งหมายถึงว่าให้รัฐมีสิทธิ์ “ผูกขาด” ในการจัดการศึกษาเท่านั้น การจัดการศึกษาจึงไม่ถือว่าเป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเหมือนในทศวรรษที่ผ่านมา

3. นำไปสู่การลดทอนคุณภาพการศึกษา ดังที่กล่าวมาข้างต้น ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด บทบาทในการจัดการศึกษาจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ถูกลดทอนลง โดยกำหนดให้รัฐเป็นผู้ผูกขาดการจัดการศึกษาผ่านนโยบายรวมศูนย์ที่จัดระบบการศึกษาให้เหมือนๆ กันกับทุกโรงเรียนและกับผู้เรียนทุกกลุ่ม โดยไม่คำถึงบริบทความหลากหลายทางวัฒนธรรมของผู้เรียน โดยเฉพาะผู้เรียนที่อยู่บนพื้นที่สูงประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ หรือแม้แต่ผู้เรียนที่อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ สังคม ภาษา ศาสนา วัฒนธรรมและวิถีชีวิตเฉพาะ การออกแบบและใช้นโยบายการศึกษาและหลักสูตรการศึกษาที่มองข้ามบริบทเฉพาะและการขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากพื้นที่นั้นๆ ก็จะนำมาซึ่งปัญหาในการจัดการศึกษา ปัญหาผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียนและปัญหาความเหลื่อมล้ำคุณภาพการศึกษา

4. นำไปสู่การลดทอนการเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษาในส่วนของคลื่นความถี่หรือวิทยุชุมชน ซึ่งนับแต่มีการก่อตั้ง “วิทยุชุมชน” ก็ถูกใช้เป็นทรัพยากรที่สำคัญในการส่งเสริมการศึกษา โดยเฉพาะในส่วนของการเรียนรู้ด้วยตนเองที่เหมาะสมกับบริบทเฉพาะของผู้เรียน เช่น พื้นที่ ภาษา วัฒนธรรม เป็นต้น การจัดการและการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่เพื่อการศึกษาจึงถือเป็นสิทธิและหน้าที่ของปวงชน แต่ทว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐและไม่ได้ระบุว่าคลื่นความถี่หรือวิทยุชุมชนสามารถนำไปใช้เพื่อประโยชน์ในด้านการศึกษา 
ดังนั้น ทางกลุ่มพลเรียนจึงมีความเห็นว่าแนวนโยบายและรูปแบบการปฏิบัติทางการศึกษาของรัฐบาล ควรมีการจัดการศึกษาที่ไม่เก็บค่าใช้จ่ายใดๆ ที่มีคุณภาพไม่น้อยกว่าสิบสองปีและเปิดโอกาสให้ “ประชาชนในทุกภาคส่วน” ได้เข้ามามีส่วนร่วม เพราะการศึกษาเป็นเรื่องของประชาชนทุกคนและเป็นสิทธิของประชาชนทุกคนในการมีส่วนร่วมและออกแบบการศึกษา

และทางกลุ่มพลเรียนยังมีอีกหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ไม่ใช่แค่ประเด็นการลดทอนสิทธิทางการศึกษาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นแนวนโยบายและรูปแบบการปฏิบัติทางการศึกษาของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปการศึกษา ระบบการผลิตครู การใช้มาตรา 44 ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคและการบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค และยังมีเรื่องอื่นๆ อีกมากที่ยังไม่ได้กล่าวถึง

สุดท้ายทางกลุ่มพลเรียนจะยังติดตามประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอยู่ต่อไปและหวังที่จะเห็นการศึกษาของไทยก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง เพราะ "การศึกษาเป็นเรื่องของประชาชนทุกคน"

สำหรับ กลุ่มพลเรียนนั้น เป็นการรวมตัวของนักศึกษาใน จ.เชียงใหม่ เพื่อสร้างเป็นพื้นที่ของการรวมตัว พูดคุย วิพากษ์ วิจารณ์การศึกษา ตลอดจนนำไปสู่การปฏิบัติ โดยมีกิจกรรมหลักที่ผ่านมา เช่น การเสวนาทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา สร้างวง talk เพื่อแลกเปลี่ยนในกลุ่มสมาชิกและคนภายนอก  พัฒนาศักยภาพและกระบวนการในการทำงานในเชิงพื้นที่ การออกค่ายเรียนรู้การจัดการศึกษาในชุมชน และการจัดทำสื่อเผยแพร่ประเด็นทางการศึกษา 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net