Skip to main content
sharethis

เก็บความเสวนาสาธารณะหัวข้อ “เศรษฐศาสตร์ทองคำ คุ้ม ไม่คุ้ม เหมืองทองไทย” ภาครัฐชี้เลิกส่งเสริมการลงทุนกับเหมืองทองแล้ว สองนักวิชาการชี้ปมปัญหาหลัก สังคมไทยอยู่ในวัฒนธรรมปกปิดความจริงเรื่องผลกระทบ สุดท้ายได้ไม่คุ้มเสีย

22 เม.ย. 2559 ที่ห้องเอนกประสงค์ 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้มีการจัดงานเสวนาวิชาการหัวข้อ “เศรษฐศาสตร์ทองคำ คุ้ม ไม่คุ้ม เหมืองทองไทย” โดยมีวิทยากรประกอบด้วย กฤษฎา เวชวิทยาขลัง, นักวิชาการส่งเสริมการลงทุน ระดับชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) , อดิษฐ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษาด้านการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), สมิทธ์ ตุงคะสมิต วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และสัญชัย สูติพันธ์วิหาร คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการเสวนาโดย วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

กฤษฎา เวชวิทยาขลัง

เทรนด์ส่งเสริมการลงทุนเปลี่ยนทิศ ไม่หนุนการทำเหมืองทอง เน้นส่งเสริมกิจการเพื่อสิ่งแวดล้อมแทน

กฤษฎา เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึง การส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาว่า ภาครัฐมองถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจเช่น การลงทุนนั้นจะต้องก่อให้เกิดการจ้างงาน การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สำหรับกรณีการส่งเสริมการลงทุนเหมืองแร่ทองคำในอดีตที่ผ่านมา มีสาเหตุมาจากเห็นว่าทองคำเป็นแร่ที่มีมูลค่าสูง ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการนำเข้าทองคำปีละหลายล้านบาท ฉะนั้นการส่งเสริมการลงทุนที่ผ่านมาเกิดจากการมองว่า จะทำอย่างไรที่จะทำให้แร่ทองคำที่มีอยู่ในประเทศ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้

กฤษฎา กล่าวต่อว่า การส่งเสริมการลงทุนที่ผ่านมา มีเงื่อนไขว่า การลงทุนจะต้องมีการสร้างงาน สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และก่อนที่จะยื่นขอการส่งเสริมการลงทุนจะต้องมีการขอประทานบัตร หากไม่มีใบอนุญาตดังกล่าวก็จะไม่มีการให้การส่งเสริมการลงทุน นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขในมิติเรื่องสิ่งแวดล้อมคือ จะต้องได้ความเห็นชอบในรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือรายงานผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หากบริษัทที่มาขอการส่งเสริมการลงทุน ไม่สามารถทำได้ หรือทำผิดเงื่อนไขก็อาจจะถูกยกเลิกเพิกถอนการส่งเสริมการลงทุน

กฤษฎา กล่าวต่อไปว่า หากมีโครงการหรือกิจการใดที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน และก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ประชาชนสามารถที่จะแจ้งมาที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้เข้าไปตรวจสอบ และยกเลิกเพิกถอนการส่งเสริมการลงทุนได้

สำหรับเรื่องการทำเหมืองทองคำ กฤษฎา ระบุว่า ทางสำนักงานฯ ได้มีนโยบายเปลี่ยนแปลงการส่งเสริมการลงทุนไปแล้วว่า ปัจจุบันได้ยกเลิกประเภทกิจกรรมการทำเหมืองทองคำในการส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่ 1 ม.ค. 2558 โดยไม่ให้การส่งเสริมการลงทุนการทำเหมืองทองคำอีกเลย สำหรับนโยบายปัจจุบัน ซึ่งเป็นนโยบาย 7 ปี เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2558 จะมีการเน้นการมูลค้าเพิ่มทางการเกษตร การยกระดับการผลิตทางการเกษตร การรักษาสิ่งแวดล้อม และการใช้พลังงานทดแทน รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีระดับสูง เช่นการทำวิจัยเพื่อการพัฒนา

อดิษฐ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา

ผลประโยชน์ทางเศรฐกิจ และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมไม่ควรคิดแยกออกจากกัน

 “เราไม่ได้เชื่อมเอาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ กับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ให้มาอยู่ในเรื่องเดียวกัน เราตักตวงในเชิงเศรษฐกิจ แต่สิ่งแวดล้อมเราปล่อยให้คนอื่นค่อยดูแล” อดิษฐ์กล่าว

อดิษฐ์ กล่าวถึงปัญหาใหญ่ในเรื่องในผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ว่าถูกมองแยกออกจากกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ไม่ได้มีเพียงปัญหาของเหมืองทองพิจิตรเท่านั้น แต่ปัญหาเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น กรณีเหมืองดีบุก ร่อนพิบูล, เหมืองสังกะสี แม่ตาว,โรงไฟฟ้าถ่านหิน แม่เมาะ, เหมืองตะกั่ว ห้วยคลิตี้ เป็นต้น

สิ่งที่ อดิษฐ์ เห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือ วัฒนธรรมการปกปิดความจริง สังคมไทยมีนักวิจัยที่มากความสามารถ เป็นสังคมที่มีความรู้แต่กลับอยู่ในวัฒนธรรมที่พยายามปกปิด ไม่อยากเปิดเผยความจริงที่จะทำให้ผู้มีอำนาจได้รับผลกระทบ และแก้ปัญหากันหลังเวที โดยการต่อรองกันเพื่อให้เหมืองต่างๆ ยังคงดำเนินการต่อไปได้

นอกจากนี้ อดิษฐ์ชี้ให้ถึงปัญหาอีกประการหนึ่งของสังคมไทย คือการที่ผู้มีหน้าที่พิสูจน์ความจริงอย่างหมอ ไม่กล้าที่จะฟันธงว่าความเจ็บป่วยของชาวบ้านเกิดจากสาเหตุใด

“อย่างที่ญี่ปุน กรณีมินามาตะ แต่ที่นั่นเขาเคลียร์ได้เพราะเขาเคารพการตัดสินใจของหมอ ถ้าหมอวินิจฉัยว่า คนคนนี้ป่วยเพราะได้รับผลกระทบจากโรงงาน โรงงานก็จะต้องจ่ายค่าชดเชย แต่ถ้าหมอชี้ว่าไม่ใช้ ป่วยเองด้วยสาเหตุอื่นโรงงานก็ไม่ต้องชดเชย แต่บ้านเรา ไม่นิยมทำกันแบบนี้”อดิษฐ์กล่าว

สมิทธ์ ตุงคะสมิต

เด็กกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ มีสารโลหะหนักเกินค่ามาตรฐาน แต่อธิบดี กพร. ชี้ยังไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการ

“สองปีที่แล้ว ผมไม่ค่อยอินกับปัญหานี้ แต่พอผมลงไปในพื้นที่ ผมอินเลยคือ มีคนเจ็บคนตายให้เห็นต่อหน้า มันชัดกับลูกกะตา เดี๋ยวคนนั้นตาย คนนี้ตาย และก่อนที่เขาจะตาย เขาไม่ได้อยู่ดีๆ เป็นลมตาย เขาจะเดินเป๋ๆ ปากเบี้ยวๆ และก็สั่นๆ สักพักหนึ่งเขาก็จะตาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ไม่มีแพทย์สักคนเดียวที่กล้าบอกว่าชาวบ้านที่ตายอยู่เห็นๆ ทุกวัน ตอนนี้ 70 รายแล้ว (กรณีเหมืองทองคำพิจิตร) ตายเพราะอะไร” สมิทธ์กล่าว

สมิทธ์ เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงประสบการณ์ในการลงพื้นที่ทำวิจัยในพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ จังหวัดพิจิตร พร้อมสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในการชันสูตรศพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมปกปิดความจริง สำหรับในส่วนของงานวิจัยนั้น เขาระบุว่า จากการลงพื้นที่มาสองปี มีการพบสารแมกกานีสปนเปื้อนอยู่ในดิน พืช และน้ำ อีกทั้งยังมีผลการตรวจเลือดชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งพบว่าปีล่าสุด 2558 กว่าครึ่งหนึ่งของชาวบ้านกว่า 1,000 คนที่มาตรวเลือด มีสารโลหะหนักที่เกินมาตรฐาน

“มันเป็นไปได้อย่างไรที่คนที่อาศัยอยู่อย่างปกติสุข จะมีค่าโลหะหนักเกินมาตรฐาน เกินไปกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ และอีกอย่างที่น่าตกใจคือเด็ก เราเอาข้อมูลเกี่ยวกับเด็กมาดู 60 กว่าเปอร์เซ็นต์มีโลหะหนักในเลือดสูงกว่าค่ามาตรฐาน”สมิทธ์กล่าว

สมิทธ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่การวิจัยค้นพบคือข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ แต่ล่าสุดเมื่อวานนี้ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กลับออกมาบอกว่า การจะดำเนินการต่ออายุการประกอบกิจการการทำเหมืองแร่นั้น จะต้องทำไปตามที่กฎหมายกำหนด และขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นทางการว่า มีผู้ป่วย และผู้เสียชีวิต จากอุตสาหกรรมเหมืองแร่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net