Skip to main content
sharethis

จากการสำรวจสุขภาวะและคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ ของกลุ่มชนพื้นเมืองและชนเผ่าเกือบครึ่งหนึ่งของโลกทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาพบว่าพวกเขาล้วนมีสภาพความเป็นอยู่แย่กว่าประชากรทั่วไป จึงมีการเสนอให้กลุ่มชนพื้นเมืองมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายด้านสุขภาพด้วย

22 เม.ย. 2559 วารสารทางการแพทย์แลนเซทและสถาบันโลวิตจาของออสเตรเลียซึ่งเป็นสถาบันวิจัยสุขภาวะกลุ่มชนพื้นเมืองเผยแพร่รายงานระบุว่ากลุ่มชนพื้นเมืองในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างออสเตรเลีย, สหรัฐฯ และแคนาดา ไม่ได้มีสุขภาพดีมากไปกว่ากลุ่มชนพื้นเมืองที่อาศัยในประเทศที่มีการพัฒนาน้อยกว่าเลย

รายงานของทั้งสององค์กรนี้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลกลุ่มประชากรชนพื้นเมืองและชนเผ่าเกือบครึ่งหนึ่งของโลกซึ่งถือเป็นรายงานสุขภาวะชนพื้นเมืองที่มีเนื้อหาครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยพวกเขาทำการเก็บข้อมูลประชากร 154 ล้านคน จาก 23 ประเทศรวมถึงประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีประเทศอื่นๆ ได้แก่ ออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, นิวซีแลนด์, สวีเดน, นอร์เวย์, เดนมาร์ก, รัสเซีย, จีน, อินเดีย, ปากีสถาน, บราซิล, โคลัมเบีย, ชิลี, พม่า, เคนยา, เปรู, ปานามา, เวเนซุเอลา, แคเมอรูน และไนจีเรีย

ทั้งสององค์กรระบุว่ารายงานของพวกเขาควรถูกนำไปใช้เป็นแนวทางสำหรับการปฏิรูปนโยบายต่างประเทศเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มชนพื้นเมืองทั่วโลก โดยนักวิจัยได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมุลพื้นฐานของประชากรตั้งแต่ เรื่องอายุขัยนับตั้งแต่เกิด, อัตราการเสียชีวิตของทารก, น้ำหนักแรกคลอด, อัตราการเสียชีวิตของมารดาช่วงตั้งครรภ์หรือหลังตั้งครรภ์ไม่นาน, สภาพด้านโภชนาการ, ความสำเร็จด้านการศึกษา, ความยากจนและสถานะทางเศรษฐกิจ

ในขณะที่ข้อมูลเปิดเผยว่าชนเผ่าและชนพื้นเมืองแทบจะในทุกพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่แย่กว่าประชากรอื่นๆ แต่ระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาก็แย่ในระดับที่ต่างกันมากเมื่อเทียบกันในแต่ละประเทศโดยที่แม้แต่ในประเทศร่ำรวยก็ไม่ได้หมายความว่าคุณภาพชีวิตของประชากรชนพื้นเมืองจะดีกว่า

ส่วนหนึ่งของรายงานระบุว่ากลุ่มชนพื้นเมืองในหลายประเทศที่มีทั้งประเทศพัฒนาแล้วอย่างออสเตรเลีย, แคนาดา, นิวซีแลนด์ และประเทศกำลังพัฒนาอย่างแคเมอรูน, เคนยา ต่างก็มีอายุขัยต่ำกว่าประชากรอื่น 5 ปีขึ้นไป มีอัตราการเสียชีวิตของทารกมากเป็นสองเท่าในประเทศอย่างบราซิล, โคลอมเบีย, กรีนแลนด์, รัสเซีย มีสัดส่วนเด็กขาดสารอาหารและโรคอ้วนในปริมาณสูง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่ว่าจะเป็นชนพื้นเมืองในประเทศพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนาก็ยังประสบปัญหาด้านคุณภาพชีวิตเช่นกัน

ทั้งนี้ กลับมีชนเผ่าบางกลุ่มในประเทศกำลังพัฒนาเช่น ชาวมอญในพม่า ที่ได้รับความสำเร็จด้านการศึกษาและมีสถานะทางเศรษฐกิจดีกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มชนพื้นเมืองในโคลัมเบียและสหรัฐฯ (ชาวอินเดียนแดงและชนพื้นเมืองอลาสกา) นอกจากนี้ส่วนหนึ่งจากรายงานยังระบุอีกว่ากลุ่มประชากรชนพื้นเมืองในประเทศที่มีรายได้ต่ำมักจะมีสุขภาพที่แย่กว่าตามไปด้วย

เอียน แอนเดอร์สัน ประธานชนพื้นเมืองศึกษาจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นผู้นำการเขียนรายงานชิ้นนี้กล่าวว่าวัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้ไม่ได้ต้องการเปรียบเทียบผลการสำรวจด้านสุขภาวะของกลุ่มชนพื้นเมืองเพื่อจัดอันดับประเทศแต่อย่างใด แต่พวกเขาสำรวจเพื่อเป็นการขยายผลการทำงานสำหรับสหประชาชาติเมื่อบรรลุเป้าหมายการขจัดความยากจนและความไม่เท่าเทียมภายในปี 2573 โดยเป็นการเรียกร้องให้ยูเอ็นรวมประชากรชนเผ่าและชนพื้นเมืองเข้าไปในการหารือด้านแนวทางนโยบายของพวกเขาด้วย

อย่างไรก็ตามงานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้มีข้อมูลหรือกำหนดขอบเขตการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องรากฐานของปัญหาที่ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมและปัญหาสุขภาวะของกลุ่มชนพื้นเมืองเอาไว้ด้วย

แต่แอนเดอร์สันก็กล่าวว่าต้นเหตุของปัญหาเหล่านี้คือปัญหาความยากจน การขาดโอกาสในการเข้าถึงการจ้างงาน การขาดโอกาสด้านการศึกษา การถูกเหยียดเชื้อชาติและการกีดกันจากสังคม ดังนั้นแล้วแอนเดอร์สันจึงเสนอว่าการให้กลุ่มชนพื้นเมืองมีส่วนร่วมทางการเมืองและมีส่วนร่วมในการลงทุนทางการเงินด้านการประกันสุขภาพจึงถือเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าการลงทุนในสายงานบริการสุขภาพอย่างเดียว

รอมลี โมกัก ผู้อำนวยการบริหารสถาบันโลวิตจากล่าวว่างานวิจัยนี้เป็นผลงานที่เปิดให้เห็นภาพรวมว่ากลุ่มชนพื้นเมืองทั่วโลกมีคุณภาพชีวิตที่แย่กว่าประชากรในเกณฑ์มาตรฐาน จึงควรทำให้กลุ่มประชากรชนพื้นเมืองมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายระดับโลกและร่วมออกแบบหนทางแก้ไขปัญหาร่วมกับองค์กรในระดับโลกด้วยมิเช่นนั้นแล้วพวกเขาจะประสบความเหลื่อมล้ำนี้ต่อไป

โจนาธาน รูดิน ผู้อำนวยการโครงการบริการด้านกฎหมายแก่ชนพื้นเมืองในโตรอนโต แคนาดา กล่าวว่าผลการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่ากลุ่มชนพื้นเมืองเป็นประชากรที่มีความเสียเปรียบและเป็นกลุ่มประชากรที่ถูกผลักให้เป็นคนชายขอบไม่ว่าจะเป็นที่ใดในโลก

 

เรียบเรียงจาก

Indigenous health: wealthy nations not always better than developing countries, The Guardian, 20-04-2016 http://www.theguardian.com/world/2016/apr/20/indigenous-health-wealthy-nations-not-always-better-than-developing-countries

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net