กต.แจง UN เหตุออกพ.ร.บ.ประชามติฯ เพื่อให้สาธารณชนพิจารณาร่างรธน.โดยสงบ

รมว.ต่างประเทศแจง UN ยันไทยเคารพสิทธิฯ แต่ต้องคำนึงถึงความสงบ-ป้องกันความแตกแยกด้วย ระบุคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2559 เพื่อให้นโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพลมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ชี้หาก จนท.ใช้อำนาจมิชอบ ผู้เสียหายฟ้องร้องได้ 

ดอน ปรมัตถ์วินัย ที่มา กระทรวงการต่างประเทศ

23 เม.ย.2559 จากกรณีที่วานนี้ (22 เม.ย.59) ไซอิด รา’เอด อัล ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อบทบาทของทหารที่เพิ่มขึ้นในการปกครองโดยรัฐบาลพลเรือนของไทย รวมทั้งการลิดรอนสิทธิผู้คัดค้านอย่างเข้มงวดในขณะที่ประเทศไทยเตรียมลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้าย (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ล่าสุดช่วงค่ำวันเดียวกัน เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศได้เผยแพร่คำชี้แจงที่ ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ได้มีหนังสือถึงข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รวมทั้งคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้ประสานงานกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติอย่างใกล้ชิด พร้อมรัฐบาลไทยให้ความสำคัญต่อข้อห่วงกังวลของข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยได้ชี้แจงในประเด็นสำคัญ

1. ประเทศไทยเคารพหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในฐานะที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญของสังคมประชาธิปไตย อย่างไรก็ดี มีความจำเป็นต้องคำนึงถึงการรักษาความสงบเรียบร้อยและการป้องกันความแตกแยกในสังคมด้วย เนื่องจากขณะนี้ ประเทศไทยอยู่ในช่วงของการปฏิรูปเพื่อนำสู่ความสามัคคีภายในชาติและประชาธิปไตยที่มั่นคงและยั่งยืน

2. คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2559 เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายปราบปรามอาชญากรรมและผู้มีอิทธิพลซึ่งเป็นปัญหาที่สั่งสมมานานในสังคมไทย โดยมุ่งหวังให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตอย่างสงบสุข ปราศจากการข่มขู่ คุกคามของผู้มีอิทธิพล โดยได้ให้อำนาจแต่งตั้งนายทหารเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการกระทำความผิดทางอาญาโดยในการดำเนินคดี เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นพนักงานสอบสวนและทำสำนวนยื่นฟ้องดำเนินคดีในศาลพลเรือน คำสั่งดังกล่าวจะทำให้การดำเนินการตามนโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพลมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจในทางมิชอบ ผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องพฤติกรรมดังกล่าวได้

3. คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 14/2559 เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมแนวทางการดำเนินงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งด้านความมั่นคงและการพัฒนาพื้นที่ให้มีการบูรณาการและมีเอกภาพมากยิ่งขึ้น

4. การร่างรัฐธรรมนูญเป็นกระบวนการที่เปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างครอบคลุม โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้รับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่าง ๆ ในการปรับแก้ รวมถึงข้อเสนอแนะของกระทรวงการต่างประเทศเกี่ยวกับประเด็นสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งมีส่วนที่สอดคล้องกับข้อคิดเห็นของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติด้วย ซึ่งเป็นประเด็นที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติแสดงความชื่นชมไทย

5. พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญโดยสาธารณชนเป็นไปโดยสงบเรียบร้อยในช่วงก่อนการลงประชามติ ในวันที่ 7 ส.ค. 2559 โดยประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย ทั้งนี้ ผลการลงประชามติย่อมขึ้นอยู่กับดุลพินิจของประชาชน

ในการนี้ รัฐบาลไทยพร้อมที่จะมีปฏิสัมพันธ์และร่วมมือกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศและภาคส่วนต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์และต่อเนื่องต่อไป

ยันไทยมุ่งมั่นแก้ปัญหา IUU เตรียมหารือ EU รอบต่อไป

โดยวันที่ 21 เม.ย. ที่ผ่านมา เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศยังเผยแพร่คำชี้แจงของรัฐบาลไทยด้วยว่า ได้รับทราบแถลงการณ์ของนาย Karmenu Vella กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเล และการประมงของสหภาพยุโรป (EU) เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายของไทย ซึ่งออกในวันนี้ (21 เม.ย.59)  โดยรัฐบาลไทยยินดีที่คณะกรรมาธิการยุโรปยืนยันที่จะมีกระบวนการการหารือกับไทยในเดือน พ.ค.59 ที่กรุงบรัสเซลส์ต่อไป โดยจะเร่งติดตามและแจ้งผลการแก้ไขปัญหาสำคัญต่างๆ ให้คณะกรรมาธิการยุโรปทราบต่อไป 
 
รัฐบาลไทยตระหนักถึงความสำคัญของกระบวนการหารือกับคณะกรรมาธิการยุโรปเพื่อให้คำแนะนำและร่วมกันแก้ไขปัญหา อันจะนำไปสู่การดำเนินการต่างๆ ในการขจัดการทำประมงผิดกฎหมายและการละเมิดสิทธิแรงงานในภาคประมงตามมาตรฐานสากล 
 
รัฐบาลไทยให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นต่อการดำเนินนโยบายปฏิรูปภาคประมงไทยทั้งระบบ และมีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เป็นรูปธรรมในช่วงปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในการปรับปรุงกรอบกฎหมายและกรอบนโยบายด้านการประมง แม้ว่ายังมีประเด็นปัญหาต่างๆ อีกหลายเรื่องที่จะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขต่อไป 
 
รัฐบาลไทยมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะเอาชนะความท้าทายของปัญหาประมงที่หมักหมมมานานด้วยการบังคับใช้กฎหมาย เพิ่มขีดความสามารถของหน่วยงานรัฐ และส่งเสริมความร่วมมือกับพันธมิตรทุกภาคส่วน และประเทศต่างๆ ในภูมิภาค 
 
ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อปรับปรุงการปฏิบัติตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 แผนบริหารจัดการการประมง และมาตรการควบคุมต่าง ๆ  
ด้วยมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างไทยและ EU ที่ดำเนินมาช้านาน รัฐบาลไทยมุ่งมั่นที่จะรักษากระบวนการการหารือที่สร้างสรรค์กับคณะกรรมาธิการยุโรป เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการส่งเสริมในการทำประมงที่ยั่งยืน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท