Skip to main content
sharethis

ขณะที่ประธานาธิบดีดิลมา รุสเซฟฟ์ ของบราซิลกำลังพยายามบอกทั่วโลกว่า เธอถูกทำ 'รัฐประหาร' หลังถูกสภาล่างลงมติถอดถอนสำเร็จ เหลือเพียงขั้นตอนสภาบน แต่ก็มีการตั้งคำถามว่ากระบวนการเช่นนี้นับเป็นรัฐประหารจริงหรือ และแรงจูงใจเบื้องหลังการถอดถอนครั้งนี้ใช่การปราบทุจริตดังที่อ้างจริงหรือไม่

จากกรณีที่สภาล่างของบราซิลส่วนใหญ่ลงมติสนับสนุนให้มีการถอดถอน ดิลมา รุสเซฟฟ์ ประธานาธิบดีบราซิล ตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา ด้วยคะแนนสนับสนุนจำนวน 367 เสียง ต่อคะแนนคัดค้าน 137 เสียง งดออกเสียง 7 เสียงและไม่เข้าร่วมประชุม 2 ราย เนื่องจากรุสเซฟฟ์ถูกกล่าวหาเรื่องกรณีทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึงมีการประท้วงต่อต้านเป็นครั้งคราวระหว่างปี 2558-2559

รุสเซฟฟ์ถูกกล่าวหาจากชนชั้นนำในบราซิลว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ รวมถึงยังเป็นคนที่ดำรงตำแหน่งเป็นประธานบอร์ดของ 'เปโตรบราส' (petrobras) รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของบราซิลในช่วงที่เกิดเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริตเรื่องเงินสินบนหลังการสืบสวนสอบสวนของตำรวจบราซิลในช่วงปี 2557 โดยถึงแม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานว่ารุสเซฟฟ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับแผนการเหล่านี้ด้วยแต่ชาวบราซิลบางส่วนก็รู้สึกไม่พอใจและประท้วงเรียกร้องให้มีการถอดถอนรุสเซฟฟ์ นอกจากนี้สำนักข่าวแห่งชาติบราซิลยังเคยสัมภาษณ์ "ผู้เชี่ยวชาญ" ซึ่งบอกว่ารุสเซฟฟ์ขาดความสามารถในการเจรจาหารือกับสภาทำให้สูญเสียอำนาจในการบริหาร

อย่างไรก็ตามเดวิด มิแรนดา นักกิจกรรมชาวบราซิลผู้ก่อตั้งองค์กรคุ้มครองผู้เปิดโปงชื่อองค์กร 'สโนว์เดนเทรียตตี' เขียนบทความไว้ในเว็บไซต์เดอะการ์เดียนชวนมองอีกมุมหนึ่ง มิแรนดาระบุว่าการพยายามถอดถอนรุสเซฟฟ์ในครั้งนี้เป็นฝีมือของกลุ่มคนร่ำรวยและกลุ่มอนุรักษ์นิยมในบราซิลที่ไม่สามารถชนะการเลือกตั้งได้ โดยมีการใข้สื่อของรัฐและสื่อใหญ่ๆ ในบราซิลในการสร้างภาพที่นำเสนอการเล่าเรื่อง (narrative) ลักษณะที่ว่าผู้คนต่างโกรธแค้นรัฐบาลในกรณีทุจริตคอร์รัชั่นจนพยายามเรียกร้องให้โค่นล้มประธานาธิบดีหญิงคนแรก 

บทความของมิแรนดาระบุว่าสื่อใหญ่สุดในบราซิลคือ 'เครือโกลโบ' เคยเป็นพวกที่สนับสนุนการรัฐประหารโดยกองทัพเมื่อปี 2507 มาก่อน จนทำให้ประเทศบราซิลตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝ่ายขวามากว่าสองทศวรรษและรุสเซฟฟ์ก็เคยถูกจับขังในช่วงนั้นแต่สื่อในเครือโกลโบหลายแห่งก็นำเสนอว่าการรัฐประหารในครั้งนั้นเป็นการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ "ฟังดูคุ้นๆ" สำหรับมิแรนดา

ถือเป็นรัฐประหารหรือไม่?

หลังจากที่รุสเซฟฟ์ถูกโหวตถอดถอนในขั้นแรกและในตอนนี้ก็กำลังรอให้มีการโหวตในระดับวุฒิสภาเป็นขั้นตอนต่อไป รุสเซฟฟ์ก็เปลี่ยนแผนการเดินทางไปร่วมลงนาม "ความตกลงปารีส" ซึ่งเป็นความตกลงเรื่องการรับมือปัญหาโลกร้อน แล้วเบนเข็มไปสู่นิวยอร์กเพื่อเข้าร่วมงานของสหประชาชาติ ผู้ช่วยของรุสเซฟฟ์ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อต่างประเทศในงานว่าการพยายามถอดถอนรุสเซฟฟ์ในครั้งนี้เป็น "การรัฐประหารโดยไร้อาวุธ" ต่อความชอบธรรมของรัฐบาลประชาธิปไตย

ในขณที่รุสเซฟฟ์ฟ้องต่อองค์การสหประชาชาติว่าเธอตกเป็นเหยื่อของ "การเหยียดเพศ" และ "การรัฐประหารที่มีความซับซ้อน" แต่บทความโดย เคนเนธ ราโปซา ผู้เขียนเรื่องธุรกิจและการลงทุนในเว็บไซต์ฟอร์บก็ระบุว่าเรื่องนี้รุสเซฟฟ์พูดถูกแค่ครึ่งเดียว 

ราโปซาชี้ว่า ถึงแม้การพยายามถอดถอนรุสเซฟฟ์ในครั้งนี้อาจจะมีแรงจูงใจเบื้องหลัง แต่ลักษณะการถอดถอนก็เป็นไปตามกระบวนการและไม่นับว่าเป็น "การรัฐประหาร" อีกทั้งก่อนหน้านี้รุสเซฟฟ์ก็พยายามใช้ศาลสูงสุดในการสกัดกั้นไม่ให้มีการโหวตถอดถอนเธอ อีกทั้งรุสเซฟฟ์ยังเคยถูกกล่าวหาว่าบิดเบือนเรื่องการขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ 2557 เพื่อทำให้เศรษฐกิจดูดีเกินจริง ทำให้รัฐสภาพยายามถอดถอนเธอจากการกระทำผิดในเรื่องนี้ด้วย

แรงจูงใจสกปรกเพื่อยับยั้งการสืบสวนทุจริต?

อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีความชอบธรรมตามกระบวนการ แต่ราโปซาเชื่อว่าการพยายามถอดถอนรุสเซฟฟ์ในครั้งนี้มีแรงจูงใจสกปรกอยู่เบื้องหลังจากที่ถูกทรยศจากนักการเมืองพรรคอื่นที่ต้องการใช้การถอดถอนรุสเซฟฟ์เป็นการยับยั้งไม่ให้ศาลสูงสุดของบราซิลทำการสืบสวนในกรณีการทุจริตเปโตรบราสต่อไป ด้วยเหตุที่ส.ส. ในสภาบราซิลมากกว่าครึ่งหนึ่งอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีอื้อฉาวเปโตรบราสทั้งสิ้น และที่ผ่านมาดิลมา รุสเซฟฟ์ ก็ไม่สามารถปกป้องนักการเมืองที่มีเอี่ยวกับการทุจริตเหล่านี้ได้ ราโปซา ตั้งข้อสังเกตอีกว่าในช่วงที่มีการลงมติถอดถอนรุสเซฟฟ์ ไม่มีการอ้างถึงความผิดในการพูดถึงงบประมาณประจำปีหรือการปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตเปโตรบราสเลย แต่ส.ส. เหล่านี้กลับแสดงออกในลักษณะของการเฉลิมฉลอง

ดิลมา รุสเซฟฟ์ เป็นตัวแทนจากพรรคแรงงานของบราซิล (PT) เธอชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2 สมัย ในปี 2553 และ 2557 โดยที่ก่อนหน้านี้เธอเคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเหมืองแร่และพลังงานรวมถึงเสนาธิการประจำทำเนียบประธานาธิบดีในสมัยของประธานาธิบดีลุลา ดา ซิลวา ผู้ก่อตั้งพรรคแรงงานที่ในตอนนี้ก็กำลังเผชิญกับการถูกสอบสวนเรื่องการทุจริตเช่นกัน

บทสัมภาษณ์ของไอแซค โชติเนอร์ ผู้เขียนให้กับนิตยสารออนไลน์ 'สเลท' นำเสนอไปในทำนองเดียวกับราโปซา จากการสัมภาษณ์นักข่าวบราซิลแดเนียลลา พินเยโร โดยในบทนำการสัมภาษณ์ระบุไว้ว่าแม้แต่ฝ่ายค้านหรือฝ่ายตุลาการที่พยายามไล่ล่าพรรคแรงงานบราซิลในเรื่องนี้ก็มี "เรื่องปกปิดแอบซ่อน" ของตัวเองเหมือนกัน

พินเยโรกล่าวว่าเขามองว่าการถอดถอนรุสเซฟฟ์ในครั้งนี้เข้าข่ายการรัฐประหาร และเขาก็เชื่อว่าชาวบราซิลจำนวนมากคงจะรู้สึกแย่กับเหตุการณ์ ถึงแม้รุสเซฟฟ์จะถูกกล่าวหาเรื่องการใช้เงินจากธนาคารสาธารณะของบราซิลมากลบบัญชีการขาดดุลงบประมาณ แต่เธอกลับถูกตัดสินในข้อกล่าวหาอื่นคือเรื่องการคอร์รัปชัน

ทั้งบทความและบทสัมภาษณ์ของสื่อหลายแห่งระบุไปในทำนองเดียวกันว่ากลุ่มชนชั้นนำในบราซิลมีความไม่พอใจสะสมมาตั้งแต่สมัยของลุลา ดา ซิลวา เป็นประธานาธิบดีแล้วเนื่องจากทำให้พลวัตทางสังคมของบราซิลเปลี่ยนไป ทำให้คนยากจนเข้าถึงส่วนที่เดิมสงวนไว้เฉพาะผู้มีอภิสิทธิ์ ทำให้คนเท่าเทียมกันมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ชนชั้นนำรับไม่ได้

อย่างไรก็ตามพินเยโรก็กล่าวว่าตัวรุสเซฟฟ์เองก็เป็นนักการเมืองที่แย่ มีความหยิ่งไม่ฟังใคร คิดว่าตัวเองรู้มากกว่าคนอื่น ไม่ยอมพูดคุยกับนักการเมืองคนอื่น ทำผิดพลาดหลายเรื่องในนโยบายเศรษฐกิจ และไม่เคยยอมรับว่าตัวเองทำอะไรผิดพลาด ทำให้แม้แต่ในตอนนี้รุสเซฟฟ์ก็มีโอกาสสูญเสียฐานคะแนนเสียงจากชนชั้นแรงงานที่ลุลาเคยสร้างไว้

ถึงแม้ว่าพินเยโรจะเป็นผู้ที่เคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับการทุจริตของลุลาและคนในพรรคแรงงานบราซิลบางส่วนแต่เขาก็บอกว่าการลงมติปลดรุสเซฟฟ์ในครั้งนี้ไม่ใช่เพราะมีแรงจูงใจต้องการขจัดการคอร์รัปชั่นแต่อย่างใด เพราะจริงๆ แล้ว ส.ส. ที่ลงมติถอดถอนเธอหลายคนก็มีหลักฐานว่าพวกเขาเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่นเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ เอดูอาร์โด คุนยา โฆษกสภาล่างของบราซิล ผู้ที่เคยอยู่ข้างเดียวกับรุสเซฟฟ์ก่อนจะแปรพักตร์

พินเยโรมองว่ารุสเซฟฟ์ซึ่งมีคะแนนความนิยมต่ำมากในสภาตอนนี้น่าจะรอดพ้นจากการถูกถอดถอนได้ยากในขณะเดียวกันบราซิลก็ต้องเตรียมการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิคอีกภายใน 4 เดือนข้างหน้า และนักการเมืองเหล่านี้ก็จะแสร้งทำเหมือนกับว่าไม่ได้มีปัญหาอะไร พินเยโรยังกล่าวไปในทำนองเดียวกับบทความของราโปซาว่ากลุ่มที่จะขึ้นมามีอำนาจต่อจากนี้จะพยายามทุกวิถีทางในการยับยั้งการสืบสวนคดีการทุจริตเนื่องจากพวกเขาเองก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับมันด้วย

 

เรียบเรียงจาก

The real reason Dilma Rousseff’s enemies want her impeached, David Miranda, 21-04-2016
http://www.theguardian.com/commentisfree/2016/apr/21/dilma-rousseff-enemies-impeached-brazil


Dilma Rousseff takes fight against impeachment to UN's global stage, The Guardian, 20-04-2016
http://www.theguardian.com/world/2016/apr/20/dilma-rousseff-fight-against-impeachment-united-nations-event

“A Very Dangerous Thing for Democracy”, Isaac Chotiner, 19-04-2016
http://www.slate.com/articles/news_and_politics/interrogation/2016/04/dilma_rousseff_impeachment_and_the_democracy_crisis_in_brazil.html

The Motive Behind The Impeachment Of Brazil's President Dilma Rousseff, Kenneth Rapoza, Forbe, 21-04-2016
http://www.forbes.com/sites/kenrapoza/2016/04/21/the-real-reason-behind-the-impeachment-of-brazils-president-dilma-rousseff/#5d0dd61d6759

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Impeachment_process_against_Dilma_Rousseff
https://en.wikipedia.org/wiki/Dilma_Rousseff

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net