Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ภาพจาก (2556) Sexy Pancake วงแตก! แพนเค้กแยกออกมาเปิดสาขาสอง ออนไลน์, 
http://faceblog.in.th/2013/09/sexy-pancake/

ภาพของการแสดงพฤติกรรมที่สังคมมองว่า “ตลก น่ารังเกียจ ขยะแขยง”  ของเหล่าบุคคลที่เรียกตัวเองว่า “กะเทย” ผ่านกิจกรรมเพื่อความบันเทิง การเต้นในท่วงท่าที่แปลก ๆ พิศดารหน้าเวทีดนตรีอย่าง เวทีหมอลำของอีสานแล้วมีผู้คน ตลกขำขัน, หรือตัวละครที่ไม่ได้เป็นกะเทยโดยนำเอานักแสดงชาย มารับบทบาทกะเทยในเรื่องซึ่งทั้งการแต่งตัว, คำพูด, อากัปกิริยา, พฤติกรรม มักเกินความเป็นจริงผ่านภาพยนตร์, ละครโทรทัศน์ เช่น บทบาทในละครสั้นบางตอนนำเสนอภาพลักษณ์ของกะเทยในลักษณะเสียงดัง เห็นผู้ชายไม่ได้ต้องกรี๊ดกราดและแสดงพฤติกรรมที่ส่อเสียดไปในทางเพศเป็นส่วนใหญ่ หรือไม่ก็ตัวละครในเรื่อง เวลาเห็นกะเทยหรือตื่นมารู้ว่าตัวเองนอนกับกะเทยก็รู้สึกขยะแขยง รังเกียจ รีบหนีไปให้ไกล เพราะอับอาย หรือภาพของกะเทยที่เป็นชายแต่งหญิงมีหนวดเครา แต่งตัวดูแล้วน่าสลดใจ เช่นโฆษณาก๊อกน้ำ ยี่ห้อหนึ่งในโฆษณา เพราะการนำไปเปรียบเทียบกับพริตตี้สาวสวยแล้ว มีคำถามตามหลังให้คุณเลือกเอาว่าจะเอาแบบไหนถึงมีความสุขกว่า ดังนั้นชัดเจนเลยว่าไม่ว่าจะละคร ภาพยนตร์ โฆษณา กี่เรื่องกี่ช่อง มีการนำเสนอภาพลักษณ์ของ “กะเทย” ในลักษณะแบบเดียวกันหมด[1]

ทำให้สังคมมองและเข้าใจ “กะเทย” ผ่านภาพลักษณ์ด้านลบมากกว่าด้านบวก เช่น กะเทยเป็นได้แค่ตัวตลก ไม่มีความสามารถ มีความผิดปกติทางเพศ น่ารังเกียจ ถูกล้อเลียนในสังคมและนำมาสู่การจัดแบ่งพื้นที่ทางสังคมให้กับ “กะเทย” จนทำให้พื้นที่ทางสังคมของพวกเขามีลักษณะเล็กและแคบเมื่อเทียบกับสังคมของบุคคลที่มีเพศภาวะชาย หญิงปกติ

ถึงแม้ในปัจจุบันกระแสการยอบรับความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยโดยเฉพาะ “กะเทย” หรือ การข้ามเพศภาวะ (Cross-Gender) ที่มีการแสดงเพศภาวะของชาย หญิงที่ไม่สอดคล้องกับเพศสรีระนั้นค่อนข้างมีเพิ่มมากขึ้น อาจเป็นเพราะปรากฏการณ์ของบุคคลที่เรียกตัวเองว่าเป็น “กะเทย”  นั้นพยายามที่จะออกมาแสดงตัวตนและความปรารถนาทางเพศของตนเองในพื้นที่สาธารณะเพิ่มมากขึ้นแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีสังคมบางส่วนที่ไม่เปิดใจยอมรับพฤติกรรมข้ามเพศของเหล่า “กะเทย” นี้ ซึ่งนั่นอาจเป็นเพราะการสังคมฉายภาพซ้ำในด้านลบผ่านสื่อไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกผ่านสื่อโทรทัศน์ ละคร รายการโชว์ รายการตลก ภาพยนตร์ ส่วนมากจะเป็นกิจกรรมความบันเทิง โดยทำให้สังคมเข้าใจมาตลอดว่า “กะเทย” คือตัวตลกน่ารังเกียจขยะแขยง ลามก หรือในพื้นที่สังคมของเหล่า “กะเทย” ตามสถานบันเทิงเริงรมย์ ผับ บาร์ เวทีการแสดงดนตรี เช่น หมอลำในอีสาน หรือแม้กระทั้งการแสดงออกผ่านการแสดงกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ ที่เหล่า “กะเทย” จะเน้นการแสดงตัวตนผ่านกิจกรรมหรือการกระทำที่ผิดแปลกจากสังคมทั่วไป เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่สังคมบางส่วนยังคงไม่ยอมรับ เป็นต้น


ภาพจาก เว็ปไซต์ Postjung (2558) "ใครก็ไม่เท่านางจริงๆ.. กับแฟชั่นชุดใหม่ของนาง" ออนไลน์, http://picpost.postjung.com/228618.html เข้าถึงเมื่อ 24 เม.ษ 59.

สิ่งเหล่านี้จึงเป็นผลทำให้เกิดการจัดแบ่งบุคคลที่ถูกเรียกว่า “กะเทย” ให้อยู่อีกพื้นที่หนึ่งในสังคมและส่งผลต่อวิถีชีวิตของชุมชนกะเทย เช่น กะเทยมักถูกกีดกันทำให้ใช้ชีวิตอยากลำบาก กะเทยหลายคนไม่ได้รับการยอมรับในอาชีพเหมือนคนทั่วไป ทำให้พวกเขาอาจถูกผลักให้ทำอาชีพที่เสี่ยงต่อการติดโรคต่างๆ เช่น ขายบริการทางเพศ เต้นอะโกโก้ เป็นต้น[2]

กระแสการเรียกร้องความเท่าเทียมทุกด้านทางสังคม ของเหล่า กะเทย และบุคคลข้ามเพศได้เกิดขึ้นหลายลักษณะไม่ว่าจะเป็น การรณรงค์ให้สังคมยอมรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเพื่อที่มุ่งให้สังคมเข้าใจถึงตัวตนของบุคคลเหล่านี้ เช่น การจัดตั้งกลุ่มฟ้าสีรุ้ง เพื่อรณรงค์เรื่องการป้องกันโรคเอดส์ในกลุ่มชายผู้รักร่วมเพศ เรียกร้องสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ และความเท่าเทียมในสังคม สิทธิความเท่าเทียมทางด้านกฎหมายต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ  สร้างความเข้าใจอันดีในกลุ่มรักร่วมเพศต่อสังคม ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย (Rainbow Sky Organization of Thailand) อันถือได้ว่า เป็นสมาคมของคนรักร่วมเพศแห่งแรก แห่งเดียวในประเทศไทยและในปัจจุบันได้ขยับขยายประเด็นครอบคลุมถึงบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ กะเทย เลสเปี้ยน ทอม ดี้  เป็นต้น[3]

จึงทำให้เหล่า “กะเทย” พยายามที่จะต่อสู้เพื่อทำลายอคติของสังคมที่มีต่อพวกเขา เพื่อสร้างพื้นที่ให้พวกเขาได้แสดงตนในสังคมและทำให้สังคมเข้าใจ “ความเป็นกะเทย” ของพวกเขาเพิ่มมากขึ้นโดยการแสดงออกและสร้างอัตลักษณ์ (Identity) ผ่านพฤติกรรมที่สามารถบ่งบอกถึงความเป็นตัวตนของพวกเขา

ถ้าหากมองในมุมการวิเคราะห์เชิงทฤษฏีเกี่ยวกับการแสดงอัตลักษณ์และอำนาจเชิงสัญลักษณ์ ของเหล่า “กะเทย” ไม่ว่าจะเป็นการแสดงพฤติกรรมที่บ่งบอกถึงตัวตนผ่านกิจกรรมทางสังคม สื่ออย่าง โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ตในยุคโลกาภิวัตน์ เป็นต้นเพราะบุคคลเหล่านี้เพียงเพื่อต้องการพื้นที่ทางสังคมและทำลายอคติ ความเชื่อเดิม ๆ ด้านลบและทำให้เกิดการยอมรับตัวตนของพวกเขาทางสังคมเพิ่มมากขึ้น นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ (2556) อธิบายเกี่ยวกับการเมืองของอัตลักษณ์ของเพศนอกกรอบที่เชื่อมโยงกับโลกาภิวัตน์ ไว้ว่า สำนึกเชิงการเมืองและการสร้างอัตลักษณ์ร่วมของเกย์ กะเทย ทอมดี้ในสังคมไทย ต้องเผชิญกับวัฒนธรรมบริโภค วัฒนธรรมบันเทิง และการไหลบ่าของข้อมูลข่าวสารในยุคโลกาภิวัตน์ การเคลื่อนไหวเชิงการเมืองที่ปรากฏขึ้นเป็นผลพลอยได้จากการเจริญเติบโตของวัฒนธรรมเกย์ กะเทย ทอมดี้ กระแสหลักที่พบเห็นในเขตเมืองและพึ่งพาวัฒนธรรมบริโภคเป็นหลัก ในช่วงปลายทศวรรษ 2540 ถึงกลางทศวรรษ 2550 การเคลื่อนไหวเชิงการเมืองของเกย์ กะเทย ทอมดี้ได้อาศัยกระแสโลกาภิวัตน์ของขบวนการเรียกร้องสิทธิเกย์ เลสเบี้ยนในระดับสากล ซึ่งแกนนำเกย์ กะเทย ทอมดี้ที่มีการศึกษาและเป็นชนชั้นกลางจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในกระแสเหล่านี้ เป็นต้น


ภาพจาก เว็ปไซต์ Postjung (2558) "ใครก็ไม่เท่านางจริงๆ.. กับแฟชั่นชุดใหม่ของนาง" ออนไลน์, http://picpost.postjung.com/228618.html เข้าถึงเมื่อ 24 เม.ษ 59.

Sexy pancake”  เป็นชื่อเพจในเฟซบุ๊กที่ผ่านตาชาวโลกออนไลน์ในฐานะ “ของแปลก”  มีจุดเด่นด้วยการฉายภาพ “ฉากชนบท” ผ่านตัวนางแบบกะเทยคนแรกชื่อ “เหน่ง” หรืออีกชื่อคือ “แพนเค้ก” ตามฉายาที่ “สุ” ซึ่งเป็นแอดมินเพจและเป็นกระเทยรุ่นพี่ของเหน่งเป็นผู้ตั้งชื่อให้[4]

เพจนี้เป็นการฉายภาพของ “กะเทย” อีสานที่มีเอกลักษณ์การแต่งกายและการแสดงในลักษณะท่าทางเป็นของตัวเอง จะขายความเซ็กซี่ด้วยการแสดงพฤติกรรมที่ตลก หรือการโพสท่าถ่ายภาพ การแต่งกาย เสื้อผ้า หน้าผมที่น่าสนใจและเป็นที่น่าดึงดูด ปนความน่าขบขัน ท่ามกลางฉากหลังที่เป็นท้องไร่ ท้องนา และแสดงผ่านวิถีชีวิตชนบทอีสาน และในปัจจุบันมีเหล่า “กะเทยอีสาน” ทุกวัยถูกนำเสนอผ่านเพจนี้เพิ่มมากขึ้น ทำให้ใครผ่านมาเห็นเป็นต้อง ตลก ขบขันต่อพฤติกรรมที่แสดงออก บ้างก็ชื่นชมในความกล้า บ้างก็วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม จึงทำให้มีผู้กดถูกใจและติดตามเป็นจำนวนมาก เป็นต้น                         

ปรากฏการณ์การแสดงออกของเหล่าบุคคลข้ามเพศ (Cross-Gender) หรือ กะเทยอีสาน ผ่านเพจ “Sexy Pancake”นี้ผู้เขียนมองว่าเป็นการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ของ “ความเป็นกะเทย (อีสาน)” ที่ต่อพื้นที่ในการแสดงตัวตนและความปรารถนาทางเพศของพวกเขาในอีกช่องทางหนึ่ง เพราะสังคมชนบทอีสานพื้นที่การแสดงออกของบุคคลคนข้ามเพศ อย่างกะเทยยังมีน้อย จึงอาจจะต้องอาศัยช่องทางอื่นในการนำเสนอตัวตนของพวกเขา แล้วยิ่งในพื้นที่ห่างไกลพื้นที่ในการแสดงออกยิ่งแถบจะไม่มี ส่วนมากต้องรองานบุญเทศกาลเพื่อเป็นโอกาสในการแสดงออกถึงอัตลักษณ์และตัวตน เป็นต้น

งานศึกษาของ พรเทพ แพรขาว (2556) อธิบายถึงกะเทยอีสานกับพื้นที่การแสดงออกของกะเทยชนบทว่า หมอลำเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งวัฒนธรรมอีสาน กะเทยอีสานให้ความหมายต่อหมอลำว่าเป็น “ความสุขสนุก” การได้ปลดปล่อยตัวเอง และได้สัมผัสผู้ชาย ข้อค้นพบที่น่าสนใจคือ หน้าฮ้านหมอลำ (หน้าเวที) เป็นพื้นที่พิเศษที่ให้อิสระในการแสดงออกทางเพศโดยไม่มีกฎเกณฑ์ทางสังคมมากำกับ ซึ่งเห็นได้จากการแต่งตัว “ฟ้าขาด” (การแต่งตัวของกะเทยที่ออกไปเที่ยวหมอลำที่มีลักษณะผืนผ้าใบที่ห่อหุ้มโลกแล้วมันขาดทะลุออกไป หรือมีคามหมายว่าเกินจริง)  กะเทยบางคนบอกว่า “เทศกาลแต่งหญิง” เพราะหลายคนที่เป็นกะเทยมีอาชีพรับจ้างหาเช้ากินค่ำ อาชีพใช้แรงงานและออกแรง ทำให้รูปร่างกำยำ มีกล้าม แต่กะเทยจะไว้ผมยาวเพื่อให้คนอื่นรู้ว่าตนเองไม่ใช่ผู้ชาย ในขณะที่กะเทยในเมืองหลายคนมีรูปร่างคล้ายหญิงเพราะอาศัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ แต่ในชนบทอีสานกะเทยจะมีรูปร่างคล้ายผู้ชายและไว้ผมยาว

กะเทยชนบทอีสานมองว่า การมีอาชีพเป็นเกษตรกรของตนเองทำให้ตนไม่มี “ความสวย” แต่ยังเชื่อว่าการแต่งหญิงไปเที่ยวหมอลำทำให้ตนเองสวยได้ ดังคำพูดที่ว่า “กลางคืนเหมือนฝัน กลางวันเหมือนผี”  กลางคืนเหมือนฝันคือการได้แต่งตัวที่สวยงามเหมือนฝันได้สัมผัสผู้ชายและผู้ชายจะเห็นคุณค่าของกะเทย กลางวันเหมือนผีคือต้องใช้แรงงานที่ไม่เอื้อให้แต่งสวยงาม เช่น เลี้ยงวันเลี้ยงควาย ทำนาทำไร่ เป็นต้น พื้นที่หมอลำจึงเปิดโอกาสให้กะเทยอีสานแต่งสวย รวมตัวและพบปะกันของเหล่ากะเทย เป็นต้น[5]

จะเห็นได้ว่าปัจจัยหลายอย่างในสังคมอีสานที่มีผลต่อการแสดงอัตลักษณ์ของเหล่าคนข้ามเพศ อย่าง “กะเทย” จนทำให้พื้นที่การแสดงออกนั้นมีลักษณะแคบและจำกัด เป็นผลให้ต้องหาพื้นที่การในแสดงตัวตนและความปรารถนาทางเพศผ่านกิจกรรมอย่าง งานบุญประจำปี คอนเสิร์ตหมอลำ เป็นต้น

สำหรับผู้เขียนมองว่าอิทธิพลของเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) ที่มีผลต่อการสร้างพื้นที่ทางการเมืองใหม่ให้กับคนบางกลุ่ม (คนชายของของสังคม, เพศที่สาม, คนจน, คนไร้บ้าน ฯลฯ) ผ่านช่องทางการสื่อสารรูปแบบใหม่เพื่อปะทะสังสรรค์และต่อต้านพื้นที่ทางสังคมที่อยู่ภายใต้โครงสร้างอำนาจทางสังคมการเมืองแบบเก่าที่พยายามครอบงำ/จัดระเบียบ/สร้างวิถีปฏิบัติให้กับคนในสังคม จนกลายเป็นกระแสหลักที่มีอิทธิพลต่อความคิด ความเชื่อ ส่งผลต่อพฤติกรรมการรับรู้และการแสดงออกของคนในสังคมและรวมถึงยังปิดกั้นการเข้าถึงผลประโยชน์ทางการเมืองของคนบางกลุ่มอย่างเข้มข้นอีกด้วย เครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) นั้นทำให้คนบางกลุ่มซึ่งในอดีตขาดช่องทางการสร้างอำนาจทางการเมืองผ่านการสื่อสารทางการเมืองเพื่อต่อรอง/ต่อต้านและเรียกร้องความต้องการในผลประโยชน์ทางด้านวัตถุไปจนถึงผลประโยชน์ทางด้านจิตใจ ความรู้สึก ซึ่งเป็นผลประโยชน์ที่สำคัญต่อการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมเพื่อให้เกิดสังคมที่สงบสุข เท่าเทียมและเป็นธรรม

ดังนั้นในปัจจุบันพื้นที่สาธารณะอย่างสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก (Facebook) ที่กระจายและได้รับความสนใจจากคนทุกพื้นที่ทั่วโลกได้กลายเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการให้เหล่าคนข้ามเพศ (Cross – Gender) หรือ “กะเทยอีสาน” ในเพจ (Sexy Pancake) ได้แสดงออกทางอัตลักษณ์และตัวตนของพวกเขา โดยจะเน้นการนำเสนอจุดขายคือการแต่งกาย เสื้อผ้าที่เน้นใส่ชุดที่วับ ๆ แวม ๆ ค่อนข้างเซ็กส์ซี่  แสดงพฤติกรรมท่าทางที่ตลก พิสดาร ซึ่งแตกต่างจากภาพของ “กะเทยในเมือง” ที่เน้นการแต่งชุดที่สวยงาม หน้าตาดี เป็นต้น จึงเป็นการต่อสู้เชิงอำนาจทางการเมืองในเรื่องพื้นที่ทางสังคมที่เหล่า “กะเทยอีสาน” ถูกสังคมมองว่า บ้านนอก ไม่มีความสามรถ ไม่สวยเหมือนกะเทยในเมือง ฯลฯ และสังคมอาจจะให้ค่า “กะเทยชนบท” ต่ำกว่า “กะเทยในเมือง”ก็เป็นได้  และที่สำคัญในสังคมชนบทอีสานพื้นที่การแสดงออกของบุคคลคนข้ามเพศ อย่างกะเทยยังมีน้อย จึงอาจจะต้องอาศัยช่องทางอื่นในการนำเสนอตัวตนของพวกเขา ไม่เพียงแต่ เพจ “sexy pancake” แต่ยังรวมไปถึงเพจสังคมกะเทยอีกมากมาย เช่น  เพจกะเทยสวยแห่งประเทศไทย,  สมาคมนิยมกะเทย สมาคมกะเทยสวย สมาคมคนรักกะเทย สมาคมนิยมสาวประเภทสอง - กะเทย แห่งประเทศไทย เป็นต้น


ข้อสังเกตที่สำคัญในบทความนี้ 

ผู้เขียนขอทิ้งท้ายไว้ให้ผู้ที่สนใจช่วยอธิบายเพื่อตอบทำความเข้าใจความเป็นกะเทยกับการยอมรับของสังคมไทยในปัจจุบันได้หรือไม่

- การแสดงออกทางอัตลักษณ์ของคนข้ามเพศ หรือ “กะเทย” โดยเฉพาะ “กะเทยอีสาน” ที่แสดงผ่านสื่อออนไลน์อย่าง เฟซบุ๊ค (Facebook) ในเพจ Sexy Pancake เป็นการกระทำที่ตรงกันข้ามกับกระแสการเคลื่อนไหวเพื่อต้องการการยอมรับจากสังคม เช่น การรณรงค์ให้สื่อนำเสนอภาพของกะเทยในด้านบวกมากยิ่งขึ้น หรือการรณรงค์ให้สังคมลดการดูถูกเหยียบหยามความเป็นกะเทย เป็นต้น

- พฤติกรรมที่แสดงออก ทั้งท่าทาง การแต่งกายของกะเทยในเพจ sexy pancake ที่ล้วนแล้วแต่เป็นพฤติกรรมที่สังคมไทยมองว่า “ไม่เหมาะสม” ถึงแม้จะเพื่อความบันเทิงก็ตาม เพราะภาพและเข้าใจของ “ความเป็นกะเทย” ในสายตาของคนส่วนใหญ่ในสังคม ยังมีอคติต่อ “ความเป็นกะเทย” ในแง่ลบมากกว่าแง่บวกและยิ่งเกิดภาพการแสดงออกของกะเทยในลักษณะนี้ก็ยิ่งทำให้สังคมไทยให้ค่ากับกะเทยน้อยลงไปกว่าเดิม

ข้อโต้แย้งในข้อสังเกตนี้ คือ ช่วงแรกผู้เขียนพยายามให้ความสำคัญกับการเสริมอำนาจ (Empowerment) ให้กับความเป็นกะเทยในสังคมไทยและอีสาน โดยการสนับสนุนการสร้างพื้นที่ใหม่ ๆ เพื่อแสดงออกถึงความเป็นกะเทยและให้ความสำคัญกับเพศที่สามซึ่งพวกเขาก็คือมนุษย์ที่มีความต้องการเหมือนอย่างเรา ๆ ทุกคน

แต่ในที่สุดก็เกิดความขัดแย้งในข้อถกเถียง (Argument) ของผู้เขียนเอง ซึ่งอาจารย์ปรึกษาแนะนำว่าการอธิบายนี้ติดกับดักการมองความเป็นกะเทยกับการยอมรับของสังคมไทยในเชิงกระแสหลักโดยอิงอยู่กับการมีมารยาทดี/พฤติกรรมที่ดีตามแบบความเป็นไทย (Thainess) ที่สังคมกระแสหลักให้การยอมรับและทำให้บุคคลเหล่านั้นสามารถมีพื้นที่ในการเรียกร้องต่อรองกับผลประโยชน์ของสังคมได้มากกว่าผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติผู้ดีในสายตาของผู้ดี จึงทำให้การอธิบายนี้ไม่หลุดพ้นจากกรอบ/ข้อจำกัด/กฎเกณฑ์ตามโครงสร้างอำนาจทางสังคมการเมืองแบบเก่าที่มาพร้อมชุดระบบความคิดความเชื่อที่มีอำนาจในการกดขี่/ปิดกั้นการแสดงออกถึงข้อเรียกร้องของตนเพื่อให้ได้มาถึงพื้นที่ต่อรองทางการเมืองใหม่ได้อย่างเสรีแท้จริง

 

บรรณานุกรม:

- นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ (2556).“พื้นที่ของเพศนอกกรอบในสังคมไทย ในมิติการเมืองและวัฒนธรรม” บทความศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

-  ฐิติญานันท์ หนักป้อ (2554) . “สื่อไม่สุข... การนำเสนอที่ไม่แฟร์กับกะเทยไทย” บทควา  เครือข่ายเพื่อนกระเทยไทย.

- บทเสวนา“สื่อมวลชนมีส่วนหนุนเสริมสิทธิมนุษยชนของกะเทย” เรื่อง “กะเทยไทย ความแปลก-ตัวตลก-นางงาม-ผู้ขายบริการทางเพศ”  : มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพหญิง ออนไลน์ แหล่งที่มา :http://www.whaf.or.th/?p=1186 เข้าถึงเมื่อ 9 ก.พ. 57.

- วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย”  ออนไลน์ แหล่งที่มา http://th.wikipedia.org/wiki/ เข้าถึงเมื่อ 9 ก.พ. 57.

- แอดมิน “sexy pancake” เปิดใจในวันที่นางแบบคู่หูแยกทางไป แต่ทำไมเพจยังอยู่บทสัมภาษณ์ : ออนไลน์เว็บประชาไทย แหล่งที่มาhttp://prachatai.com/journal/2013/09/48937เข้าถึงเมื่อ 10 ก.พ. 57

-  พรเทพ แพรขาว (2556) .”ผู้สาวหน้าฮ้านหมอลำความสัมพันธ์ระหว่างกะเทยและผุ้ชายในคอมเสิร์ตหมอลำอีสาน”  หน้า 66 -67.

 

                                                                                                 




[1]ฐิติญานันท์ หนักป้อ (2554) . “สื่อไม่สุข... การนำเสนอที่ไม่แฟร์กับกะเทยไทย” บทความ  เครือข่ายเพื่อนกระเทยไทย.

[2]บทเสวนา“สื่อมวลชนมีส่วนหนุนเสริมสิทธิมนุษยชนของกะเทย” เรื่อง “กะเทยไทย ความแปลก-ตัวตลก-นางงาม-ผู้ขายบริการทางเพศ”  : มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพหญิง ออนไลน์ แหล่งที่มา :http://www.whaf.or.th/?p=1186 เข้าถึงเมื่อ 9 ก.พ. 57

[3]วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย”  ออนไลน์ แหล่งที่มา http://th.wikipedia.org/wiki/ เข้าถึงเมื่อ 9 ก.พ. 57

[4]แอดมิน “sexy pancake” เปิดใจในวันที่นางแบบคู่หูแยกทางไป แต่ทำไมเพจยังอยู่บทสัมภาษณ์ : ออนไลน์เว็บประชาไทย แหล่งที่มาhttp://prachatai.com/journal/2013/09/48937เข้าถึงเมื่อ 10 ก.พ. 57

[5]พรเทพ แพรขาว (2556) .”ผู้สาวหน้าฮ้านหมอลำความสัมพันธ์ระหว่างกะเทยและผุ้ชายในคอมเสิร์ตหมอลำอีสาน”  หน้า 66 -67 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net