ฟังความอีกข้าง นักเศรษฐศาสตร์ยันไทยไม่เสียประโยชน์ แม้ไม่เข้าทีพีพี


ภาพจากเว็บไซต์ สกว.

ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ ‘ทีพีพี’ หรือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกของรัฐบาลกำลังจะมีความคืบหน้าอีกครั้ง เมื่อการศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมทีพีพีของกระทรวงพาณิชย์จะถูกนำเสนอนายกรัฐมนตรีในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศในวันที่ 29 เมษายนนี้

กระแสก่อนหน้านี้เป็นการปะทะกันระหว่างผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจกับผลกระทบด้านสังคม โดยเฉพาะผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจนั้น มีภาคเอกชนและสถาบันวิชาการบางแห่งให้การสนับสนุน โดยให้เหตุผลว่าการเข้าร่วมทีพีพีจะช่วยเพิ่มการส่งออกและเพิ่มการลงทุนจากต่างประเทศ และหากไทยไม่เข้าร่วมก็อาจทำให้ต่างประเทศถอนการลงทุนไปยังประเทศสมาชิกทีพีพีอย่างเวียดนาม ซึ่งจะช่วยให้มีแต้มต่อด้านภาษี และทำให้ไทยหลุดออกจากห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าบางประเภท

ประชาไทสัมภาษณ์ รศ.อาชนัน เกาะไพบูลย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ทำการศึกษาผลกระทบของ Global Supply Chain จากการเจรจาความตกลงการค้าเสรีทวิภาคีและพหุภาคีต่ออุตสาหกรรมไทย มีข้อมูลอีกด้านที่น่าสนใจที่จะแสดงให้เห็นว่า ผลประโยชน์ที่ไทยคาดว่าจะได้จากทีพีพีอาจไม่ได้เป็นอย่างที่คิด และความพยายามโน้มน้าวของญี่ปุ่นก็อาจไม่ใช่เพราะต้องการให้ไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์อย่างที่เข้าใจ

ไม่ร่วมทีพีพีอุตฯ รถยนต์ไทยไม่กระทบ-เชื่อญี่ปุ่นอยากได้กลไกระงับข้อพิพาทเฉพาะ

หากไทยไม่เข้าร่วมทีพีพี จากที่เราเคยอยู่ในห่วงโซ่อุปทาน เคยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของญี่ปุ่น ก็จะได้รับผลกระทบ ญี่ปุ่นจะย้ายฐานไปยังเวียดนามที่เป็นหนึ่งในสมาชิกทีพีพี ซึ่งจะช่วยให้ได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากกฎแหล่งกำเนิดสินค้า นี่คือประเด็นหลักที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเหตุผลว่าไทยควรเข้าร่วมทีพีพี

แต่อาชนันกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง เขาอธิบายว่าการจัดการด้านห่วงโซ่อุปทานของแต่ละอุตสาหกรรมมีลักษณะเป็นเครือข่ายการผลิต เช่น ในอุตสาหกรรมรถยนต์จะมีโรงงานผลิตชิ้นส่วนกระจายอยู่รอบๆ โรงงานประกอบที่ตั้งอยู่ตรงกลาง ยกตัวอย่างในอดีตที่น้ำมันราคาแพง ผู้ผลิตต้องการเปลี่ยนถังน้ำมันเพื่อรองรับก๊าซโซฮอล์ ซึ่งการเปลี่ยนนี้ไม่สามารถทำได้ชั่วข้ามคืน แต่เป็นการคุยกันระหว่างซัพพลายเออร์กับโรงงานรถยนต์ที่ใช้เวลาเป็นปี

อาชนันยังให้เหตุผลประกอบถึงลักษณะจำเพาะของอุตสาหกรรมรถยนต์เพิ่มเติมว่า ประการแรก รถยนต์เป็นสินค้าที่ไม่ค้าข้ามเขต เช่น ในภูมิภาคอาเซียน ไทยและอินโดนีเซียถูกเลือกเป็นฮับ สองฮับนี้จะผลิตเพื่อขายในเขตอาเซียน รวมออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ถ้าขยับไปทางอเมริกาก็จะมีฮับใหญ่ที่เม็กซิโก บราซิล อาร์เจนตินา โรงงานเหล่านี้ไม่ได้ขายแข่งกัน เพราะโรงงานในเม็กซิโกจะขายในอเมริกา โรงงานที่อยู่ในบราซิลและอาร์เจนตินาก็ขายในละตินอเมริกา

“ดังนั้น ถึงแม้เราจะเซ็นทีพีพี รถยนต์ก็ไม่ไปอเมริกาอยู่ดี ถ้ารถยนต์ไม่ไปอเมริกา ทำไมผู้ประกอบการต้องเปลี่ยนซัพพลาย เชน เพื่อให้เป็นไปตามกฎแหล่งกำเนิดสินค้าภายใต้ทีพีพีซึ่งไม่มีความจำเป็น”

ประการที่ 2 ธรรมชาติของอุตสาหกรรมรถยนต์มีลักษณะเป็นคลัสเตอร์ทั่วโลก ณ วันที่ถูกเลือกเป็นฮับ การผลิตจะมีลักษณะคลัสเตอร์ที่อยู่ติดๆ กัน รถยนต์คันหนึ่งจะใช้ชิ้นส่วนในคลัสเตอร์นั้นๆ สูงมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ การย้ายฐานการประกอบรถยนต์จึงมีต้นทุนที่สูงกว่าการได้สิทธิทางภาษีมาก อาชนันจึงมองว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดการย้ายฐาน

ประการที่ 3 การตัดสินใจลงทุนซัพพลาย เชน ไม่ใช่การตัดสินใจระยะสั้น อาชนันยกตัวอย่างการตั้งฐานการผลิตของอีซูซุในตุรกี ที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าผู้นำตุรกีเดินทางไปพบประธานอีซูซุเพื่อขอให้ไปตั้งฐานการผลิตที่นั่น แต่ในความเป็นจริงแล้วอีซูซุมีแผนนี้ตั้งแต่ปี 2546 หรือ 13 ปีที่แล้ว และเริ่มดำเนินการจริงเมื่อปี 2558

“กฎแหล่งกำเนิดสินค้าบางประเภทก็รุนแรงขนาดที่ผู้ประกอบการไม่ทำตาม ไม่ใช่สิทธิพิเศษทางภาษีที่ได้ เนื่องจากไม่คุ้มที่จะไปเปลี่ยนแปลงทุกอย่างเพื่อให้ได้สิทธิห้าเปอร์เซ็นต์ สิบเปอร์เซ็นต์ เพราะอาจไม่คุ้ม มันมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นมันไม่ได้สรุปง่ายๆ ว่า ถ้าเราไม่เข้าทีพีพีแล้วซัพพลาย เชน จะต้องเปลี่ยนเสมอไป มันอาจจะเปลี่ยน แต่ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนถ้าจะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่น่าจะเป็นผลจากเอฟทีเอเพียงอย่างเดียว มันไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ”

หากประเด็นห่วงโซ่อุปทานไม่ใช่ข้อกังวลหลักซึ่งญี่ปุ่นน่าจะรู้เรื่องนี้ดีที่สุด เหตุใดญี่ปุ่นจึงต้องการให้ไทยเข้าร่วมทีพีพี อาชนัน กล่าวว่า ข้อสันนิษฐานที่สมเหตุสมผลที่สุดคือญี่ปุ่นต้องการกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนหรือไอเอสดีเอส (Investor-State Dispute Settlement: ISDS) เพราะภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองเช่นนี้ นักลงทุนญี่ปุ่นย่อมมีความวิตกกังวล

ทั้งนี้ กลุ่มเอฟทีเอ วอชท์เคยอธิบายไว้ว่า หัวใจของ ISDS คือ การเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือยกเลิกนโยบายสาธารณะของประเทศนั้นๆ ได้ โดยผ่านกลไกอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เช่น   ICSID (International Centre for Settlement of Investment Disputes) ของธนาคารโลก ซึ่งมีเงื่อนไขว่าการตัดสินของ ICSID ถือเป็นที่สิ้นสุด 

เป็นความเชื่อบนฐานอารมณ์ที่ว่านักลงทุนจะย้ายฐาน

อีกประเด็นที่ต่อเนื่องกันคือความกังวลต่อปริมาณการลงทุนในไทยที่ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง และหากไทยไม่เข้าร่วมทีพีพีแรงดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศก็จะยิ่งน้อยลง

“การลงทุน การย้ายการลงทุน ผมเรียกว่าเป็นอารมณ์ตื่นตระหนก ไม่ใช่เรื่องใหม่ ตอนจีนเปิดประเทศใหม่ๆ ทุกคนก็คิดอย่างนั้น จีนจะเอาไปหมดทุกอย่าง เราจะไม่เหลืออะไรเลย ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้นมากมายขนาดนั้น ถ้าปัจจัยพื้นฐานของเราดีอยู่”

อาชนันยอมรับว่า ปัจจุบันการลงทุนไทยลดลงจริง แต่ส่วนหนึ่งเขาคิดว่าเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความไม่แน่นอน จึงทำให้นักลงทุนระมัดระวังและชะลอการลงทุน

“บางคนบอกว่าเห็นมั้ย แอลจี ซัมซุงของเกาหลีย้ายฐานการผลิตทีวีไปที่เวียดนาม เป็นตัวชี้วัดว่าเรากำลังสูญเสียอะไรสักอย่าง ผมพูดได้เลยว่าเป็นความเข้าใจผิด ถ้าไปดูข้อมูล ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับกรณีแอลจี ซัมซุง เขาประกาศค่อนข้างนานแล้วว่าเตรียมตัวจะย้ายไป เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตทีวีเปลี่ยน และโลจิสติกส์ของทั้งสองบริษัทนี้ ถ้าตั้งโรงงานทางเหนือของเวียดนามจะมีประสิทธิภาพที่สุด เพราะเขารับชิ้นส่วนจากสองที่คือจีนและเกาหลี

“แล้ววันนี้การผลิตทีวีคือการขันน็อต เพราะหลักๆ คือจอที่ผลิตได้แค่ 4 ที่ในโลกคือจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน เนื่องจากต้องลงทุนมหาศาล ไม่สามารถลงทุนกระจายได้ จึงตั้งได้แค่ 4 ที่ เขาจึงย้ายไป แต่สิ่งที่เราได้คืออะไร ของบางอย่างเราก็ได้เยอะขึ้น เช่นใช้ที่นี่เป็นฐานผลิตเครื่องซักผ้า แอร์ มันคือการแบ่งงานกันทำ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาเวลาโลกมันเปิด การแข่งขันรุนแรง ทุกคนไม่สามารถตั้งโรงงานกระจัดกระจาย ต้องหาจุดที่ดีที่สุด เป็นกระบวนการปรับตัวทั่วๆ ไป ไม่ใช่สัญญาณเตือนอะไร ผมคิดว่าเป็นความเข้าใจผิดอย่างแรง”

อุตสาหกรรมสิ่งทอ คาดไทยไม่เสียประโยชน์ให้เวียดนามมากเท่าที่คิด

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นอีกหนึ่งภาคส่วนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการย้ายฐานการลงทุนไปเวียดนาม ซึ่งเป็นคู่แข่งหลักในอุตสาหกรรมนี้หากไทยไม่เข้าร่วมทีพีพี อาชนันยอมรับว่ามีการทยอยย้ายการลงทุนไปจริง เพราะธรรมชาติของอุตสาหกรรมนี้ต้องใช้แรงงานผลิต ซึ่งปัจจุบันไทยมีปัญหาเรื่องแรงงานจากการเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและคนไทยเลือกงานมากขึ้น อุตสาหกรรมนี้ของเราจึงเล็กลง แต่สัดส่วนการส่งออกก็ไม่ได้ต่ำ คิดเป็นประมาณร้อยละ 5-6 ของยอดส่งออกรวม ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการส่งออกของประเทศ

“ถามว่าทีพีพีมีผลมั้ย ขณะนี้ผมยังไม่ได้อ่านเท็กซ์ละเอียด แต่ผมว่าเรามีโอกาสที่จะเสียประโยชน์บ้าง แต่ถามว่ากระทบแรงมั้ย คงต้องถามว่าอะไรจะแรงกว่ากันระหว่างแต้มต่อภาษีกับการหาคนงานมาทำงาน สมมติว่าเราไม่เข้าทีพีพี ไม่มีแต้มต่อภาษี เราอาจจะสูญเสียให้เวียดนาม แต่นั่นคืออยู่บนสมมติฐานที่ว่าเรามีแรงงานพอที่จะรองรับออเดอร์จากอเมริกา เราทำได้เต็มที่ แต่ถ้ากลับกันล่ะ เรามีคนงานจำกัด มีไม่พอ เราก็จะรับออเดอร์ได้แค่นี้ ถึงแม้เราเข้าทีพีพี มีคนเทออร์เดอร์มา แต่เราอาจทำได้เท่าที่เรามีแรงงานก็ได้ อะไรแรงกว่ากัน ตรงนี้ไม่ชัดเจน”

ประเด็นต่อมา ปัจจุบัน ไทยกับเวียดนามมีสินค้าในอุตสาหกรรมนี้ที่เหลื่อมทับกันน้อยลงในตลาดอเมริกาตั้งแต่ปี 2548 หมายความว่าผลิตภัณฑ์ที่ไทยกับเวียดนามผลิตได้มีความแตกต่างกันชัดเจนมากขึ้น ดังนั้น การที่เวียดนามได้สิทธิพิเศษทางภาษี ก็ไม่ได้หมายความว่าไทยจะสูญเสียโอกาสเสมอไป เพราะยังขึ้นกับว่าของที่ส่งออกนั้นสามารถทดแทนกันได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งอาชนันเชื่อว่าผลกระทบในจุดนี้ไม่มากนัก

ถ้าจะขึ้นรถไฟเสรีการค้า ต้องเตรียมตัว-กำหนดวาระของตนเอง

ถึงแม้ในมุมมองของอาชนัน ทีพีพีจะไม่ได้ให้ประโยชน์แก่ไทยมากเท่าที่มีการป่าวประกาศ แต่หากรถไฟเอฟทีเอหรือการค้าเสรีโลกยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง ถึงที่สุดแล้วไทยย่อมไม่มีทางหลีกเลี่ยงการขึ้นรถไฟขบวนนี้ การปฏิเสธการค้าเสรีจึงไม่ใช่คำตอบในอนาคต อาชนัน มองว่า ถ้าเชื่อว่าเอฟทีเอจะเป็นเสาหลักหนึ่งที่กำหนดกติกาการค้าโลก สักวันหนึ่งไทยก็ต้องเข้าร่วม สิ่งที่ไทยจะต้องเริ่มทำคือการเตรียมความพร้อม

“เราพร้อมที่จะลดภาษีหรือยัง ที่ผ่านมาเราเอาแต่จะลดภาษีเขา เกมแบบนี้มันเล่นได้รอบเดียว เราไปเจรจากับเขา บอกว่าเราแย่อยู่ คุณช่วยลดให้เราก่อนได้มั้ย เขาก็ลดให้ พอถึงเวลาลดตาม เราก็ยึกยื้อ แล้วก็มาเจรจากรอบซ้อน เขาก็รู้แล้วว่าเราจะผัดผ่อน เขาก็พยายามัดเรามากขึ้นๆ คำถามคือเราพร้อมหรือยังถ้าเราจะเข้า เราต้องเตรียมความพร้อมก่อน วันนี้เรายังมีภาษีอยู่เยอะ ในประเทศสมาชิกอาเซียนดั้งเดิม เราเป็นประเทศที่มีภาษีสูงที่สุด ถ้าเราไม่รู้ว่าจะลดอะไร ยังพะวงว่าจะลดหรือไม่ลดภาษี เราไม่มีทางเจรจากับเขาได้ดี เราจะเหมือนไปขอเขาตลอดเวลา ซึ่งคงทำยากขึ้นเรื่อยๆ”

ประการที่ 2 อาชนันกล่าวว่า ทีพีพีสร้างมาตรฐานใหม่ๆ ด้านมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เช่น เรื่องแรงงาน สิ่งแวดล้อม ธรรมาภิบาล เป็นต้น ดังนั้น ไทยควรใส่ใจกับประเด็นเหล่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำโดยไม่ต้องรอเอฟทีเอ เพราะเท่ากับเราจะสามารถกำหนดวาระของเราเองได้ แทนที่จะให้ผู้อื่นเป็นผู้กำหนดวาระให้เรา

“เราก็เดินหน้าบนวาระของเรา ถึงเวลาเข้าเราจะได้ไม่มีปัญหา แต่ขณะนี้เราไม่มีอะไรสักอย่าง เราอยากเซ็นอย่างเดียว” อาชนัน กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท