Skip to main content
sharethis

เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy Movement - NDM) เสนอ 8 เหตุผลที่ผู้ใช้แรงงานควรไปลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย

 
1 พ.ค. 2559 เพจ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ New Democracy Movement - NDM ได้โพสต์เนื้อหาเนื่องในโอกาสวันแรงงาน ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ขอเสนอ 8 เหตุผลที่ผู้ใช้แรงงานควรไปลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ใน โดยระบุทั้ง 8 เหตุผลดังนี้
 

1. ความกังวลเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ

 
รัฐบาลถูกควบคุม จากองค์กรอิสระและ ส.ว. มีอำนาจควบคุมรัฐบาลได้ นโยบายค่าแรงอาจถูกตีกรอบ ไม่มีการระบุเรื่อง “ค่าจ้างที่เป็นธรรม” นี้ไว้ อีกทั้งการใช้คำว่า “[รายได้] ที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ” (มาตรา 74) สุ่มเสี่ยงที่จะตีความได้ว่าการดำรงชีพในแต่ละพื้นที่มีค่าครองชีพที่ไม่เท่ากัน ดังนั้น “อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ” ของผู้ใช้แรงงานแต่ละพื้นที่ก็ควรไม่เท่ากันด้วย ยิ่งจะสร้างความไม่เป็นธรรมให้ผู้ใช้แรงงานมากยิ่งขึ้น เนื่องจากโดยข้อเท็จจริงแล้วราคาสินค้าในทุกพื้นที่มีราคาไม่แตกต่างกัน
 

2. ความกังวลต่อการคงอยู่ของสหภาพแรงงาน

 
ตัดคำว่า “สหพันธ์” “กลุ่มเกษตรกร” และ “องค์การภาคเอกชน” ออกไป จากรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการตัดคำว่า “องค์การภาคประชาสังคม” ที่เพิ่มเติมเข้ามาในสมัยร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ออกไป ปัญหาคือการรวมตัวเป็นองค์กรเหล่านี้ อาจไม่ถือว่าเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของบุคคลต่างๆ ตามความหมายของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อีกทั้งคำว่า “หมู่คณะอื่น” (มาตรา 42) ก็ยังไม่ชัดเจนว่าหมายถึงกลุ่มใดบ้าง เฉพาะกลุ่มที่เป็นนิติบุคคลหรือไม่ อย่างไร ที่จักต้องมีการตีความต่อไป
 

3. สวัสดิการการศึกษาของบุตร (ข้อเสียของการลดเพดานให้ฟรีทางการศึกษาลง)

 
รัฐธรรมนูญให้รัฐรับรองแค่ ม.3 (มาตรา 54) ต่างจากเมื่อก่อน ที่ให้ถึง ม.6 และอาชีวศึกษา นั่นหมายความว่า รัฐผลักภาระการศึกษาในช่วงมัธยมปลายไปที่ประชาชน
 

4. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 
แก้ไขยากมาก ไม่ว่าจะเรื่องอะไร รวมถึงถ้ารัฐบาลจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้คุ้มครองแรงงานมากกว่าเดิม ก็แก้ไขยาก เพราะต้องผ่านด่าน ส.ว. ส.ส. และ ศาลรัฐธรรมนูญ
 

5. สิทธิแรงงานกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ในรัฐธรรมนูญ

 
เนื่องจากภายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมีการมอบสิทธิพิเศษต่างๆ แก่ผู้ประกอบการไว้อย่างมากมายโดยเฉพาะสิทธิทางการเงิน สิทธิทางภาษี การกำหนดค่าจ้างแรงงาน แต่กลับไม่มีบทบัญญัติข้อใดที่เป็นไปในทางคุ้มครองแรงงานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเลย ซึ่งแรงงานดังกล่าวก็มักจะเป็นประชาชนในพื้นที่ที่อยู่ภายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรือบางกรณีก็อาจมีแรงงานอพยพข้ามถิ่นเข้ามาหารายได้ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเป็นการแย่งรายได้ที่ประชาชนในพื้นที่เดิมพึงได้รับ เพราะไม่มีบทบัญญัติใดๆ เลยที่กำหนดให้เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต้องกระจายความมั่งคั่งแก่คนในพื้นที่โดยการเลือกจ้างคนในพื้นที่ก่อน ยิ่งไปกว่านั้นยังมีแนวโน้มให้ใช้แรงงานต่างด้าว 100% ดังนั้นเมื่อคนในพื้นที่เดิมถูกกันออกจากแหล่งทรัพยากรที่เคยใช้สอยมาเป็นเวลาชั่วอายุคน จึงถูกบีบคั้นจากปัญหาที่ทำกินเดิมและการจ้างแรงงานที่ไม่เป็นธรรมย่อมกลายเป็นปัญหาต่อสังคมได้หากไม่ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม
 

6. พ.ร.บ. ชุมนุมกับแรงงาน

 
สิทธิเสรีภาพตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยสามารถถูกจำกัดได้โดยง่าย โดยอ้างเรื่องความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย และไม่มีหลักการเหมือนรัฐธรรมนูญในอดีต คือ การจำกัดสิทธิต้องเป็นไปเท่าที่จำเป็น และไม่กระทบสาระสำคัญของสิทธิเสรีภาพ เพราะฉะนั้นรัฐอาจจำกัดเท่าไร อย่างไรก็ได้ ซึ่งส่งผลต่อแรงงานโดยตรง เพราะการชุมนุมคือเครื่องมือสำคัญของแรงงานในการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐและผู้ประกอบการ และในปัจจุบันที่การใช้ พ.ร.บ. ชุมนุม ที่มีหลักเกณฑ์ที่ขัดขวางการชุมนุมโดยเสรีของประชาชน ไม่นับแนวปฏิบัติของรัฐที่ลิดรอนเสรีภาพในการชุมนุม
 

7. มาตรา 44 และร่างรัฐธรรมนูญส่งผลกระทบต่อแรงงานอย่างไร

 
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยรองรับอำนาจ คสช. ไว้โดยสมบูรณ์ กล่าวคือ คสช. ยังมีอำนาจตาม ม.44 ได้ และ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยยังรับรองความชอบด้วยกฎหมาย ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หาก คสช. มีคำสั่งตามมาตรา 44 ที่เกี่ยวกับแรงงานแล้วมีผลร้ายอย่างกรณี ยกเลิก EIA หรือยกเลิกการใช้ผังเมือง นอกจากจะกระทบต่อแรงงานแล้ว แรงงานยังไม่สามารถต่อสู้อะไรได้เลย อีกทั้งคำสั่งเหล่านี้ยังได้รับการรับรองความชอบด้วยกฎหมายผ่านร่างมีชัยด้วย
 

8. รัฐบาลในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยกับการดำเนินนโยบาย

 
รัฐบาลที่เข้ามาจะเจอปัญหาในการทำงานและการวางนโยบาย เพราะในช่วงระยะแรก นอกจากจะเจอ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง ของ คสช. แล้ว ยังมีกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติอีกมากมาย ที่รัฐต้องทำตาม ผ่านกลไกควบคุมจาก ส.ว. และ มีองค์กรอิสระที่ควบคุมรัฐบาลอีกชั้น อีกทั้งนโยบายด้านการศึกษาและการสาธารณสุขภายใต้ร่างมีชัยก็ไม่ดีเท่าแต่ก่อน
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net