Skip to main content
sharethis

กฤษกร ศิลารักษ์ ถูกเรียกเข้าค่ายเหตุโพสต์ปมพิพาทที่ทำกิน-ส่อต้านคสช. ชี้ปลุกปั่นเป็นอันตรายต่อความมั่นคง อาจมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมฯ ขณะที่ก่อนหน้านี้ถูกเรียกมาแล้ว 3 ครั้ง จากการโพสต์จัดกิจกรรมสมัชชาคนจน ทหารแนะหากมีปัญหาอะไรแจ้งโดยตรง ขออย่าโพสต์พาดพิง คสช.อีก

ที่มาภาพเฟซบุ๊ก 'กฤษกร ศิลารักษ์

4 พ.ค. 2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดอุบลราชธานี เรียกตัว กฤษกร ศิลารักษ์ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล เข้ารายงานตัวที่กองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ 22 (มทบ.22) ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ โดยในเบื้องต้นแจ้งว่า เป็นการพูดคุยเรื่องประชามติ

ที่มาภาพเฟซบุ๊ก 'กฤษกร ศิลารักษ์
 
อย่างไรก็ตาม กฤษกรได้รับจดหมายเรียกตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดินทางไปถึง มทบ.22 ตามนัดหมายในเวลา 09.00 น. ในจดหมายระบุว่า เป็นการเชิญเข้าพบเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจ เนื่องจากเฟซบุ๊กส่วนตัวของกฤษกร มีการโพสต์ข้อความพร้อมภาพที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม ส่อไปในเชิงต่อต้านการทำงานของรัฐบาลและ คสช. และมีลักษณะเป็นการยั่วยุ ปลุกปั่นประชาชน ซึ่งก่อให้เกิดความไม่สงบและเป็นอันตรายต่อความมั่นคงอย่างร้ายแรง พร้อมทั้งอาจมีความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) มาตรา 14 ทั้งนี้ ได้อ้างถึงคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558
ที่มาภาพเฟซบุ๊ก 'กฤษกร ศิลารักษ์

กฤษกร ให้ข้อมูลว่า พล.ต.อชิร์ฉัตร โรจนะภิรมย์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 22 (ผบ.มทบ.22) เป็นผู้มาพูดคุยด้วยตัวเอง พร้อมทั้ง เสธ.มทบ.22, รองเสธ.มทบ.22, รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลฯ (รอง ผบก.ภ.จว.อุบลฯ), ผู้ช่วยป้องกันจังหวัด, หัวหน้าฝ่ายข่าว, หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย และเจ้าหน้าที่อื่นๆ รวมแล้วกว่า 10 คน

ต้นเหตุที่ถูกเรียกมาพบ กฤษกรเล่าว่า เป็นการโพสต์เฟซบุ๊ก กรณีดอนคำพวง ซึ่งเป็นเกาะกลางแม่น้ำมูล ในอำเภอพิบูลมังสาหาร เป็นกรณีพิพาทระหว่างชาวบ้านกับนายทุนมานานกว่า 10 ปี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีการตัดต้นยางนา ซึ่งเป็นไม้สงวนหวงห้าม เพื่อเตรียมออกเอกสารสิทธิ์ ชาวบ้านได้เข้าแจ้งความ มีการตรวจยึดไม้ แต่ตอนนี้ไม้หายไป และคดีไม่มีความคืบหน้า

“มันเป็นประเด็นเพราะเราแสดงความเห็นพาดพิง คสช. ว่า คสช.หายไปไหน ทียางพารา ชาวบ้านปลูก เจ้าหน้าที่ไปตัด แต่ไม้ป่า นายทุนตัดได้ ยังไม่มีความผิด ท่าน ผบ.มทบ.22 ก็บอกว่า อยากทราบเจตนารมย์ในการโพสต์เช่นนั้นว่าทำไปเพื่ออะไร โดยท่านก็ได้ให้ฝ่ายกฎหมายของ มทบ.22 แจ้งด้วยว่า ข้อความที่ผมโพสต์ไปนั้น สุ่มเสี่ยงผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ, (3) นำเข้าข้อมูลที่เป็นความผิดต่อความมั่นคง และกฎหมายอาญามาตรา 116 (2) ทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวิธีใดๆ โดยมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เราก็ชี้แจงว่า กรณีนี้เราพยายามยับยั้งการตัดไม้ทุกวิถีทางแล้ว ไม่เป็นผล ไม้ยางนาถูกตัด 15 ต้น มีการตรวจยึด 11 ต้น แต่ของกลางก็หายไป เราประสานส่วนที่เกี่ยวข้องก็ไม่มีการดำเนินการ บ่ายเบี่ยง ก็เลยโพสต์เฟซบุ๊ก เผื่อจะช่วยกระตุ้นเจ้าหน้าที่ให้ติดตามผู้กระทำผิด” กฤษกร เล่าถึงการพูดคุยในห้องประชุมของ มทบ.22

“ผบ.มทบ.22 ท่านยอมรับว่า ข้อมูลที่เราโพสต์เป็นประโยชน์ ส่วนตัวท่านเองก็ชอบที่มีคนทำหน้าที่แบบนี้ รอง ผบก.ภ.จว.อุบลฯ กับหัวหน้ากองข่าว มทบ.22 ก็บอกว่า เพิ่งทราบรายละเอียดเรื่องนี้ แต่ท่าน ผบ. กับลูกน้องของท่านก็ย้ำเรื่อยๆ ในที่ประชุมว่า เรามีความผิด ทำให้เกิดความไม่สงบ มีแรงกระเพื่อมตามมา สรุปคือ หากมีข้อมูลในลักษณะเช่นนี้อีก พบการกระทำผิด เจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติงาน ให้เราแจ้งข้อมูลโดยตรง อย่าโพสต์เฟซบุ๊กพาดพิง คสช. อีก ส่วนทางเจ้าหน้าที่ก็รับปากว่า จะเร่งรัดดำเนินการกรณีดอนคำพวง” กฤษกรกล่าวถึงข้อสรุปในการถูกเรียกรายงานตัวในครั้งนี้ หลังการพูดคุยกว่า 1 ชั่วโมง เขาเพิ่มเติมด้วยว่า เจ้าหน้าที่ขอให้ลบข้อความที่พาดพิง คสช.ออก และสุดท้ายให้เขาลงชื่อในแบบรายงานตัวและเงื่อนไขแนบท้ายประกาศ คสช. แต่เนื่องจากเขาเคยลงชื่อมาครั้งหนึ่งแล้ว จึงขอลงชื่อในแบบรายงานตัวเท่านั้น

“ทางเราเองได้แสดงความเห็นด้วยว่า ท่านก็ยอมรับว่าข้อมูลเราเป็นประโยชน์ แต่ท่านใช้วิธีการเรียกมาพบในค่ายทหาร มีเจ้าหน้าที่มาพูดคุย 10 คน อย่างนี้ สร้างความหวาดกลัว เป็นการคุกคามประชาชน อยากให้ท่านปรับรูปแบบเชิญคุยในร้านกาแฟสบายๆ แล้วการดูเฟซบุ๊กของประชาชนก็ดูที่เนื้อหาว่า ประชาชนต้องการสื่ออะไร มีข้อมูลอะไรที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่คอยแต่ดูว่า ประชาชนจะผิดกฎหมายมาตราไหน ตรงนี้ท่านก็บอกว่า การปรับทัศนคติต้องเป็นแบบนี้” กฤษกร ทิ้งท้าย

ก่อนหน้านี้ กฤษกร ถูก มทบ.22 เรียกรายงานตัวมาแล้ว 3 ครั้ง จากการโพสต์เฟซบุ๊ก จัดกิจกรรม และชุมนุม ของสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล

 

ข้อมูลประกอบ

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 มาตรา 14 (2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน,         (3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต (2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net