Skip to main content
sharethis

ที่มาภาพ เว็บไซต์สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

4 พ.ค.2559 เมื่อวัน 2 พ.ค. ที่ผ่านมา iLaw ได้รายงาน ราชดำเนินสนทนา หัวข้อ “ประชามติ” อะไรทำได้-ไม่ได้ ซึ่งจัดโดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศ โดย สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรรมการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า ในการออกประกาศ กกต.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ กกต.คำนึงถึงหลักการสำคัญคือหลักเสรีภาพส่วนบุคคลเป็นสำคัญตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ทั้งนี้ต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย คือ ถ้าจะโพสต์ เขียน หรืออภิปรายวิชาการ ต้องไม่นำความเท็จเกี่ยวกับสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งต้องไม่พูดจาหยาบคาย รุนแรง และต้องไม่นำไปสู่การปลุกระดม

กกต.พยายามคิดสถานการณ์ที่เป็นรูปธรรม คือ ถ้าใส่เสื้อโหวต Yes หรือ No ทำได้ เป็นเรืองส่วนบุคคล แต่ถ้าใส่พร้อมกันหลายคน เดินแถวราชประสงค์ หรือ แถวมหาวิทยาลัยแห่งใดแห่งหนึ่ง ทำไม่ได้เท่ากับเป็นการรณรงค์ อย่างไรก็ตาม สมชัย เพิ่มเติมว่า ถึงการกระทำดังกล่าว ไม่ผิด พ.ร.บ.ประชามติฯ ก็อาจผิดกฎหมายความมั่นคงอื่นให้ระวัง

สมชัย อธิบายต่อว่า การขายเสื้อถือว่าเป็นความผิด ถ้าขายอยู่ขอความกรุณาให้เอาออกจากเพจ การแจกก็ถือความเป็นความผิดเช่นกัน เพราะทำให้ประชาชนคิดเหมือนกัน ส่วนการสัมภาษณ์สื่อทำได้ ถ้าไม่สัมภาษณ์เป็นเท็จ และการจัดอภิปรายวิชาการทำได้ แต่ต้องมีเจ้าภาพ เป็นสถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ องค์กรสื่อ ซึ่งถ้าจัดเราจะไม่เซ็นเซอร์ ไม่สนใจว่าจะเชิญใคร เนื้อหาเป็นอย่างไร ให้ท่านรับผิดชอบกันเอง แต่ถ้าเป็นกลุ่มการเมืองทำไม่ได้ เพราะติดประกาศ คสช.ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไป

"เราไม่อ่อนไหวขนาดนั้น เราอ่อนไหวกับการแชร์ข้อความเท็จ การปลุกระดม ดังนั้นก่อนแชร์ต้องพิจารณาก่อนว่าเป็นข้อความเท็จหรือไม่ กรณีที่จังหวัดขอนแก่นเป็นการแชร์จากหนังสือพิมพ์การแชร์นั้นไม่ผิด แต่พอท่านโพสต์เพิ่ม เป็นข้อความที่หยาบคายและนำไปสู่การชี้นำให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เป็นความผิด ถ้าเป็นบุคคลกระทำ ผมอาจจะเฉยๆ แต่นี่เป็นกลุ่มหรือองค์กร" สมชัย ตอบคำถามที่ว่าการกดไลค์ข้อความเท็จผิดหรือไม่  

พล.ร.อ.ชุมนุม อาจวงษ์ สมาชิก สนช. กล่าวว่า พ.ร.บ.ประชามติฯ มีจุดประสงค์อยากให้ประชาชนมาใช้สิทธิให้มากที่สุด เราเน้นการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้การออกเสียงเป็นไปด้วยความสุจริต ไม่สร้างความขัดแย้งใหม่ ใช้เหตุผลในการออกความคิดเห็น ต้องการให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน

ต่อกรณีคำถามว่าทำไม สนช.ตัดคำว่ารณรงค์ออก พล.ร.อ.ชุมนุม ชี้แจงว่า เราทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญน่าจะไม่ต้องรณรงค์เพื่อแบ่งฝ่ายกัน

ไพโรจน์ ชี้ประชามติควรเปิดให้สองฝ่ายรณรงค์อย่างเต็ม

ขณะที่ ไพโรจน์ พลเพชร จากสมาคมนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน เห็นว่า การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญควรเปิดให้สองฝ่ายรณรงค์อย่างเต็ม ถ้าต้องการให้การลงประชามติน่าเชื่อถือ และนำไปสู่การยอมรับ แต่ปัจจุบันฝ่ายไม่เห็นด้วยมีข้อจำกัดถูกควบคุมควบเนื้อหา รวมถึงวิธีการ เช่น การจัดเวทีต่างๆ องค์กรอื่นที่นอกจากหน่วยงานรัฐและสถาบันการศึกษาไม่สามารถจัดได้

ไพโรจน์ ชี้ให้เห็นว่า มาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ ที่ระบุว่า ถ้า กรธ.กระทำเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ให้ถือเป็นการจูงใจ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่ กรธ.จะพูดด้านลบของร่างรัฐธรรมนูญของตน เรากำลังสร้างบรรยากาศที่ไม่เป็นที่ยอมรับ การลงประชามติต้องอิสระ การใช้หน่วยงานรัฐไปชี้จะให้ลงมติอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างนี้ไม่อิสระ ต้องให้ประชาชนได้ข้อมูลที่ทั่วถึงเพียงพอ เพราะประชาชนต้องได้ข้อมูลสองด้าน เช่น ถ้า กมธ.บอกร่างรัฐธรรมนูญดีแล้ว อีกฝ่ายก็ต้องบอกได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่อะไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net