Skip to main content
sharethis

นักวิชาการพุทธศาสนา ระบุพุทธไทยคือพุทธของรัฐชาติ มีหน้าที่รับใช้อุดมการณ์ชาติ ชี้ธรรมยุติคือจุดเริ่มต้นของการสร้างพุทธแบบไทย เผยงบประมาณกรมส่งเสริมพุทธสูงถึง 5,400 ล้านบาท เป็นเงินเดือนพระ 1,200 ล้าน ขณะที่ศาสนาอื่นๆ รวมกันได้แค่ 390 ล้านบาท

11 พ.ค. 2559 สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระด้านพุทธศาสนา อภิปรายในหัวข้อ ‘อนาคตของพุทธศาสนาในเมืองไทย: ทางเลือกและทางรอด’ ในงานเสวนาหัวข้อ ‘อนาคตประเทศไทย กับ ไทยศึกษา: โอกาส ความท้าทาย และสถานะในเวทีโลก’ ณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สมฤทธิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีข่าวบางข่าวที่ทำให้เขาต้องใคร่ครวญถึงสภาวการณ์ของพุทธไทย กรณีแรกคือกระแสรณรงค์ให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ สอง-กรณีที่มหาเถรสมาคมปฏิเสธการบวชภิกษุณีในสังคมไทย สาม-การชิงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่างฝ่ายที่มีบารมี แต่ไร้อำนาจ หรือฝ่ายมหานิกาย ธรรมกาย และอื่นๆ กับฝ่ายที่มีอำนาจ แต่ไร้บารมีคือรัฐบาล วัดบวรนิเวศวิหาร และธรรมยุตินิกาย และกรณีสุดท้ายคือการรณรงค์ให้มีการฆ่าคนอย่างถูกกฎหมายในกรณีข่มขืนและฆ่า

สมฤทธิ์ขยายความในเบื้องต้นว่า เวลาพูดว่า พุทธไทย หมายถึงพุทธที่ปรากฏ ดำรง และเป็นอยู่ในสังคมไทยขณะนี้ ไม่ใช่พุทธเทศหรือพุทธในแบบที่ต่างประเทศยึดถือปฏิบัติ และไม่ใช่พุทธแท้คือแก่นแท้ของหลักธรรม

“ในหนังสือพุทธศาสนาของไทยขึ้นต้นประโยคว่า พระพุทธศาสนาในปัจจุบันนั้นถูกวิญญาณนิยมเข้ามาแทรกแซง ผมขอเถียงประโยคนี้ ผิด พุทธศาสนาต่างหากที่เข้ามาแทรกแซงวิญญาณนิยม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่ในสุวรรณภูมิและอุษาคเนย์ พุทธเป็นฝ่ายเข้ามาและพยายามกลืนกินวิญญาณนิยม แต่ไม่สำเร็จ วิญญาณนิยมชนะ พุทธแท้จึงกลายเป็นพุทธไทย”
ธรรมยุติคือการทำให้เป็นพุทธของรัฐชาติ

ในอดีต พุทธศาสนากับรัฐแยกออกจากกัน แม้จะไม่เด็ดขาด แต่โดยโครงสร้างอำนาจแล้วแยกขาดจากกัน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าบางครั้งอาจจะมีการเชื่อมโยงในแง่ผลประโยชน์บ้าง

สมฤทธิ์ กล่าวต่อว่า จึงเกิดกรณีที่เจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสปฏิเสธไม่ให้ขบวนเสด็จรัชกาลที่ 4 ไปทอดกฐิน เนื่องจากไม่เห็นด้วยที่ต้องตัดต้นไม้หน้าวัด บอกว่าถ้าตัดไม่ต้องมา

“กรณีแบบนี้ผมเชื่อว่าปัจจุบันทำไม่ได้ กรณีสมเด็จโตถือตะเกียงเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง แล้วบอกว่ามืดจริงหนอ ทั้งที่เป็นกลางวัน จะเกิดขึ้นไม่ได้ ตำนานเหล่านี้อย่างน้อยที่สุดสะท้อนว่า ศาสนากับรัฐอิงแอบกันก็จริงบางครั้ง แต่มีลักษณะตรวจสอบถ่วงดุลกันและกัน บางครั้งควบคุมด้วยซ้ำ อันนี้คือภาวะเก่า”

แต่การเกิดขึ้นของธรรมยุติกนิกายในปี 2369 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เนื่องจากการเกิดธรรมยุตมีความสำคัญมากต่อการเกิดรัฐชาติ เพราะธรรมยุตเกิดขึ้นมาพร้อมกับชาตินิยม พร้อมกับรัฐชาติ ทุนนิยม การทำให้เป็นตะวันตก และเกิดขึ้นมาพร้อมกับความขัดแย้งอย่างรุนแรงในราชสำนัก และมีผลต่อพุทธไทยอย่างยิ่งยวด

สมฤทธิ์ อธิบายว่า การเกิดขึ้นของธรรมยุติกนิกายทำให้เกิดพุทธศาสนาของรัฐไทยขึ้น ธรรมยุตมีความหมายว่ายุติแห่งธรรมที่นิกายนี้ เป็นที่ถูกต้องแน่นอนแล้ว ดังนั้น ธรรมยุติกนิกายจึงเป็นนิกายที่เคร่งในพระวินัย เน้นศีลเป็นหลัก เป็นการสร้างพุทธศาสนาแห่งรัฐสยามขึ้น ซึ่งทำให้เกิดรัฐชาติในรัชกาลถัดไป นำมาสู่การสร้างองค์กรสงฆ์ที่เรียกว่ามหาเถรสมาคม ปี 2445 หรือ ร.ศ.121 เป็นการตั้งคณะรัฐบาลสงฆ์เพื่อปกครองสงฆ์ทั้งหมด เป็นที่มาของการที่ศาสนาที่เคยคานและตรวจสอบอำนาจรัฐกลายเป็นอยู่ใต้อำนาจรัฐทันที


งบพุทธ 5,400 ล้าน เป็นเงินเดือนพระ 1,200 ล้าน

“แต่ไม่ต้องห่วงนะครับ ถ้าดูงบประมาณปีนี้ของสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติที่ดูแลเฉพาะพุทธศาสนาตั้งงบไว้ 5,400 ล้านบาท สมเด็จพระสังฆราชมีงบประมาณใช้ส่วนพระองค์ 23 ล้านบาท เป็นเงินนิตยภัตหรือเงินเดือนของพระที่เป็นพระสังฆาธิการ เป็นเจ้าคณะ เจ้าอาวาส 1,200 ล้านบาท พุทธศาสนพิธีต่างๆ 3,000 บาท กรมการศาสนาที่ดูแลศาสนาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ศาสนาพุทธ ปีนี้มีงบแค่ 390 ล้านบาท เพราะฉะนั้นถ้าท่านเป็นพุทธที่ดีต่อรัฐไทย รัฐจะดูแลท่านอย่างดี ภิกษุณีสงฆ์ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 200 รูป มีวัดประมาณ 10 กว่าวัด ไม่มีงบประมาณแม้แต่สลึงเดียว อยู่นอกสายตาของรัฐไทย เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาที่ดำรงอยู่ในรัฐไทยจึงเป็นศาสนาที่เป็น อยู่ คือ เพื่อประโยชน์ของรัฐไทย หรือไม่”

สมฤทธิ์ ยกตัวอย่างการตีความของพุทธไทยเรื่อง กรรม ซึ่งแปลว่าการกระทำ ส่วนผลของกรรมเรียกว่าวิบาก แต่พุทธไทยตีความใหม่กรรมคือผลของการกระทำ ถ้าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แล้วอธิบายแคบๆ ว่าคนที่เกิดมาเป็นผู้นำ ร่ำรวย มียศถาบรรดาศักดิ์ เป็นเพราะคนเหล่านั้นทำกรรมดีมาในอดีต ส่วนคนจน ไม่มีความรู้ ก็เป็นกรรม ถ้าอยากรวย อยากมียศถาบรรดาศักดิ์ ก็ต้องทำบุญมากๆ ในชาตินี้ เพื่อจะชาติหน้าจะได้ร่ำรวย นี่เป็นการตีความกระแสหลักของพุทธไทย ที่ให้คนกลุ่มหนึ่งยอมรับสถานะภาพ ไม่เกิดการต่อสู้ แข่งขัน ช่วงชิงทางชนชั้น

“แต่ในแง่พุทธศาสนานั้นไม่จริง พระพุทธเจ้าดึงเอาคนชั้นล่างขึ้นมา พุทธศาสนาให้โอกาสแก่คนชั้นล่างและคนชั้นบน สังฆะคือชุมชนแห่งเสรีภาพ เอกภาพ เสมอภาค พระพุทธองค์บอกด้วยว่าเราทุกคนสามารถบรรลุสิ่งที่ต้องการได้ในชาตินี้ ไม่ต้องชาติหน้า เมื่อกรรมของรัฐไทยถูกอธิบายแบบนี้ ในทีวีจึงเต็มไปด้วยการบอกให้ทำบุญ เพราะพวกท่านไม่มีบารมี ทำบุญแล้วชาติหน้าจะมี ผู้หญิงอย่าบวชเลยครับชาตินี้ ทำบุญมากๆ ชาติหน้าจะได้เป็นผู้ชายแล้วจะได้บวช คำสอนพวกนี้มันถูกเลือกสรรนำมาใช้และถูกเลือกตีความ นี่คือพุทธไทย กระบวนการของพุทธไทยคือการ Socialization ผ่านพุทธศาสนา กล่อมเกลาคน นี่คือผลงานอันยิ่งใหญ่ของพุทธไทยที่ผ่านมา”

อย่างไรก็ตาม ในประวัติศาสตร์ก็มีกระแสต้าน เช่นกรณีพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ที่ต่อต้านการส่งกองทัพไทยไปร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 จนทำให้ถูกถอดสมณะศักดิ์ หรือกรณีครูบาศรีวิชัย ซึ่งเป็นพุทธที่ยึดตามจารีตของสังคมโบราณ ที่ถือว่าบวชสิบพรรษาสามารถเป็นอุปัชฌาย์ได้ตามที่พระวินัยระบุไว้ แต่ใน พ.ร.บ.สงฆ์ กำหนดว่าอุปัชฌาย์ต้องได้รับอนุมัติจากรัฐ นี่คือความขัดแย้งกันระหว่างพุทธดั้งเดิมกับพุทธไทย
 

พุทธไทยแบบต่างๆ

ในสังคมไทยจึงเกิดปรากฏการณ์พุทธอยู่สี่ห้ารูปแบบตามการสรุปของสมฤทธิ์ หนึ่งคือพุทธแบบจารีต เป็นแนวโบราณ โดยเฉพาะวัดป่า ซึ่งมีจำนวนน้อยมาก สอง-สมฤทธิ์เรียกว่า State Buddhism ซึ่งเป็นพุทธส่วนใหญ่ เป็นพระในเมืองหลวง กรุงเทพฯ ถือเป็นศูนย์รวมของ State Buddhism สาม-ที่กำลังมาแรงคือ Popular Buddhism พุทธแบบประชานิยม ที่เต็มไปด้วยหลวงปู่ ครูบา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่สนใจการปลดเปลื้องความขัดข้องหมองใจในชีวิตประจำวันมากกว่าหลักธรรม

สี่-เป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่พุทธทาสเป็นต้นมาคือ Intellectual Buddhism เป็นกลุ่มปัญญาชน ไม่เน้นพิธีกรรม ความเชื่อดั้งเดิม แต่เน้นหลักธรรมและการนำมาใช้ เป็นกลุ่มที่มีไม่มากในสังคมไทย ห้า-กลุ่ม Engage Buddhism ทีกำลังดัง แต่เป็นกลุ่มน้อย สมฤทธิ์ใช้คำว่าเป็นพุทธเอ็นจีโอที่ช่วยเหลือสังคม หก-กลุ่ม Radical Buddhism หรือพุทธทวนกระแส

“กลุ่มนี้คือสันติอโศก พูดง่ายๆ คือธรรมยุตภาคประชาชน วัดบวรฯ คือธรรมยุติภาคชนชั้นสูง เพราะทั้งสองกลุ่มนี้ยึดพระวินัยและศีลเหมือนกัน แต่สันติอโศกเน้นชาวบ้าน

“สุดท้ายที่มาแรงมากคือพุทธเพื่อชนชั้นกลาง น่าสนใจมาก เพราะกลุ่มนี้จะรวยครับ ทั้งผู้เทศน์และผู้ฟัง ล่าสุด ผมเขียนไปว่าเทศน์อย่างไรให้ได้กำไรสูงสุด กลุ่มนี้จะเน้นพุทธพาณิชย์ กลุ่มชนชั้นกลางไม่ได้สนใจการขัดเกลา การเปลี่ยนแปลงที่ลุ่มลึก ขอนิดหน่อย ได้แค่นุ่งขาวสักสามวัน แต่อย่าเปลี่ยนเขามาก ไม่เอา เป็นพุทธเพื่อชนชั้นกลาง ทั้งหมดที่ผมพูดมานี่คือพุทธไทย”
 


ทางรอดของพุทธในสังคมไทย

ในแง่ของทางรอด สมฤทธิ์ เห็นว่าพระไทยจะต้องหลุดออกจากกับดักเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของภาษาบาลี เพราะภาษาศักดิ์สิทธิ์ของพุทธศาสนาในโลกสมัยใหม่คือภาษาอังกฤษที่สามารถสื่อสารกับคนทั้งโลกได้ เช่นเดียวกับที่ติช นัท ฮันห์ หรือดาไล ลามะ ใช้เทศน์จนได้รับความนิยมไปทั่วโลก

สอง-เนื้อหาการเทศน์ของไทยยังเต็มไปด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ไม่สามารถสื่อสารกับคนรุ่นใหม่และโลกได้ จึงต้องคัดกรองเนื้อหาใหม่ ต้องมีเหตุมีผล ปฏิบัติจริงได้ แต่ไม่ใช่การใช้ด้วยความคาดหวังว่าทำบุญชาตินี้ ชาติหน้าจะดีขึ้น
สาม-ต้องสอดคล้องกับกระแสโลก ต้องไม่ฝืนคุณธรรมของโลก เช่น สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม เป็นต้น อย่างกรณีที่พระรูปหนึ่งรณรงค์ให้เผามัสยิด ซึ่งขัดกับกระแสโลกที่ต้องอยู่ร่วมกันได้ ใจกว้าง มีเมตตา

สี่-การเผยแผ่ศาสนาไม่ใช่หน้าที่ของพระอีกต่อไป ต้องเป็นของทุกคน

ห้า-พุทธศาสนาจะรอดได้ต้องเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มคนที่ถูกกีดกัน เช่น สตรีและผู้มีความหลากหลายทางเพศ ทุกคนต้องมีสิทธิเข้าสู่ชีวิตของศาสนา ศาสนาต้องเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้มนุษย์ทุกคน

“สุดท้าย ทางรอดที่ใหญ่มากคือต้องแยกศาสนาออกจากรัฐและเอารัฐออกจากศาสนาให้ได้ พูดอย่างไม่เกรงใจเลยนะ ยุบมหาเถรสมาคม นั่นแหละคือทางรอด”
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net