Skip to main content
sharethis

11 พ.ค. 2559 กลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทย (ดูรายชื่อด้านล่าง) ออกแถลงการณ์หลังการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนรอบสองของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กรณีประเทศไทย ที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยอมรับปฏิบัติตามข้อเสนอแนะทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออก การวิพากษ์วิจารณ์ การแสดงความเห็น การชุมนุมโดยสงบ รวมทั้งการประท้วง และเสรีภาพของสื่อ

รวมถึงเรียกร้องให้รัฐภาคีทุกแห่งขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะ 11 ประเทศซึ่งได้แสดงข้อกังวลเกี่ยวกับการคุ้มครองและเสรีภาพของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่จะดำเนินงานของตน เพื่อประกันไม่ให้มีการตอบโต้แก้แค้นกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รัฐภาคีต้องร่วมมือกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเพื่อดูแลให้มีการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่มีต่อรัฐบาลไทย

 

รายละเอียดแถลงการณ์ มีดังนี้

 

เมื่อวาน รัฐภาคีขององค์การสหประชาชาติได้ประชุมกันที่กรุงเจนีวา เพื่อทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนรอบสองของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Universal Periodic Review - UPR) กรณีประเทศไทย

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับชุมชนและหน่วยงานภาคประชาสังคม ยินดีกับถ้อยแถลงของผู้แทนไทยที่นำโดยกระทรวงยุติธรรม โดยมีการยอมรับว่า “เป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยที่จะดูแลให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและทนายความสามารถปฏิบัติหน้าที่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเกื้อหนุน”

เราขอตั้งข้อสังเกตว่ามีอย่างน้อย 11 ประเทศรวมทั้งออสเตรเลีย เบลเยียม บอตสวานา สาธารณรัฐเช็ก ไอซ์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ โรมาเนีย สวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร มีข้อเสนอแนะโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
       
สาธารณรัฐเช็กเสนอให้ไทยประกันให้มี “การยุติการคุกคามและข่มขู่ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคน และดำเนินการตามมาตรการอย่างเป็นผล เพื่อป้องกันความรุนแรงและอาชญากรรมต่อพวกเขา”

โบลิเวียเสนอเป็นการเฉพาะให้คุ้มครองสิทธิของเกษตรกรและผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท

นิวซีแลนด์แสดงความเห็นว่า “....มีข้อกังวลอย่างหนักแน่นว่าการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิทางพลเรือนและทางการเมือง อ่อนแอลงในประเทศไทย ภายหลังการทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557...”
       
ไม่มีประเทศใดเสนอแนะเป็นการเฉพาะต่อกรณีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง ซึ่งมีบทบาทอย่างสำคัญในการต่อสู้กับความอยุติธรรมด้านสิทธิมนุษยชนในไทย มีแต่สเปนที่เสนอให้บังคับใช้ตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 โดยไม่มีข้อยกเว้นทั้งด้วยเหตุผลด้านศาสนาหรือความมั่นคงในราชอาณาจักรอย่างที่กฎหมายบัญญัติอยู่ในขณะนี้
      
แม้ว่าเจตจำนงที่มีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องดี แต่รัฐบาลไทยต้องเปลี่ยนเจตจำนงนั้นให้เป็นการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมโดยทันที
       
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างน้อย 60 คนถูกสังหาร โดยไม่มีการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ
บอตสวานาเสนอว่า รัฐบาลไทยต้อง “สอบสวนและประกันให้เกิดความยุติธรรมต่อกรณีการข่มขู่คุกคามและทำร้ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและผู้สื่อข่าวตามที่มีการรายงานข่าว...”

โรมาเนียเสนอว่า “ต้องนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ”

ในแง่การใช้เสรีภาพในการแสดงออก นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายคนได้ตกเป็นเป้าหมายโจมตี พวกเขาถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาททางอาญา “ถูกบังคับให้เข้ารับการปรับทัศนคติ” ในค่ายทหาร และมีทหารไปพบถึงที่บ้าน ในการปรับทัศนคติยังมีการควบคุมตัวบุคคลโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก และเป็น “การล้างสมอง” และ/หรือถูกบังคับให้ประกาศต่อสาธารณะว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมืองอีกต่อไป เป็นเหตุให้พวกเขาต้องยุติการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน
       
สหราชอาณาจักรเสนอให้ไทยประกันว่าจะ “ไม่มีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก โดยเฉพาะสำหรับสื่อมวลชนและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และต้องไม่มีการข่มขู่และคุกคามบุคคลใดที่แสดงความเห็นของตน รวมทั้งการเรียกตัวไปปรับทัศนคติ...และประกันให้กฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออกมีเนื้อหาสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ ตามข้อเสนอแนะของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในปี 2559”
       
นิวซีแลนด์ยังเรียกร้องให้ “ยุติการใช้วิธีเรียกตัวไปปรับทัศนคติและการจัดตั้งค่ายเพื่อฝึกอบรม”
       
เบลเยียมเสนอว่ารัฐบาลไทย “ต้องนำข้อเสนอแนะของผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออกไปปฏิบัติ...”

ในขณะที่รัฐภาคีอื่นๆ ได้เรียกร้องแบบเดียวกันให้มีเสรีภาพด้านความเห็นการแสดงออก การชุมนุมโดยสงบ และเสรีภาพของสื่อ
       
สหรัฐอเมริกา เรียกร้องเป็นการเฉพาะให้ยกเลิกมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งให้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จกับรัฐบาลทหารและเป็นเหตุให้ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ กรณีที่กระทำผิดต่อเสรีภาพและอิสรภาพในขั้นพื้นฐาน
       
นายสมชาย นีละไพจิตร นายพอละจี รักจงเจริญ (“บิลลี่”) และนายเด่น คำหล้า (ซึ่งหายตัวไปตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2559 เป็นตัวอย่างของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกบังคับให้สูญหาย สมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) และนายสวาท อุปฮาด นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิในที่ดินจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็ถูกคุกคามซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยทหารที่ขู่ว่าจะอุ้มหายตั้งแต่ภายหลังรัฐประหารปี 2557

ประเทศส่วนใหญ่เสนอให้ปฏิบัติตามอย่างเต็มที่ เมื่อคำนึงถึงอนุสัญญาต่อต้านการบังคับบุคคลให้สูญหาย รวมทั้งการออกกฎหมายระดับประเทศเพื่อเอาผิดกับการบังคับบุคคลให้สูญหายและการทรมาน และการยอมรับสิทธิของครอบครัวผู้เสียหายที่จะเรียกร้องความยุติธรรม นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทยทั้งหญิงและชาย ซึ่งต่อสู้อย่างกล้าหาญเพื่อปกป้องความยุติธรรมโดยไม่หวาดกลัวหรือไม่เข้าข้างฝ่ายใด ต่างยินดีกับข้อกังวลที่รัฐภาคีสหประชาชาติได้แสดงออก แสดงว่าประเทศเหล่านี้ได้ยินเสียงของพวกเขา

เราเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ยอมรับปฏิบัติตามข้อเสนอแนะทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออก การวิพากษ์วิจารณ์ การแสดงความเห็น การชุมนุมโดยสงบ รวมทั้งการประท้วง และเสรีภาพของสื่อ

เราเรียกร้องให้รัฐภาคีทุกแห่งขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะ 11 ประเทศซึ่งได้แสดงข้อกังวลเกี่ยวกับการคุ้มครองและเสรีภาพของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่จะดำเนินงานของตน เพื่อประกันไม่ให้มีการตอบโต้แก้แค้นกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รัฐภาคีต้องร่วมมือกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเพื่อดูแลให้มีการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่มีต่อรัฐบาลไทย


ผู้ลงนาม:

Protection International (PI)
สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) 
ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน (ศสส.)
Front Line Defenders
MADPET (Malaysians Against Death Penalty and Torture)
Franciscans International
Legal Action for Women, London & US  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net