Skip to main content
sharethis

รำลึก 36 ปีการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเกาหลีใต้-มอบรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2016 แก่ (1) นพ.เหงียนตันคี ผู้ถูกขังลืม/ส่งไปใช้แรงงานหนัก เหตุเรียกร้องการเลือกตั้งเสรีในเวียดนาม และ (2) พันธมิตรเพื่อการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม 'เบอเซะ 2.0' จากมาเลเซีย ด้านรัฐบาลเวียดนามทำหนังสือประท้วง ส่วน ตม.มาเลเซียสกัด 'มาเรีย ชิน อับดุลลา' ประธานเบอเซะ 2.0 ไม่ให้เดินทางมารับรางวัล

18 พ.ค. 2559 มีรายงานเมื่อวันที่ 15 พ.ค. ว่า มาเรีย ชิน อับดุลลา ประธานพันธมิตรเพื่อการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม หรือ เบอเซะ 2.0 (BERSIH 2.0) ซึ่งเตรียมเดินทางไปเมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ เพื่อรับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2016 (2016 Gwangju Prize for Human Rights) ในนามของกลุ่มเบอเซะ 2.0 นั้น ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ที่สนามบินนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ห้ามไม่ให้ประธานเบอเซะ 2.0 เดินทางออกนอกประเทศ

 

 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 16 พ.ค. ในเว็บไซต์ Freemalaysiatoday รมช.กระทรวงมหาดไทยมาเลเซีย นุร์ จัชลัน โมฮัมหมัด (Nur Jazlan Mohamed) ได้ชี้แจงเหตุดังกล่าวว่า ตามกฎหมายคนเข้าเมือง แผนกตรวจคนเข้าเมืองมีอำนาจห้ามไม่ให้บุคคลใดออกนอกประเทศโดยไม่ต้องให้คำอธิบายก็ได้

 

รางวัลกวางจูปี 2016 มอบให้แพทย์ชาวเวียดนามและองค์กรมาเลเซียที่รณรงค์เลือกตั้งเสรีและยุติธรรม

ผู้ได้รับรางวัล "กวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน" ประจำปี 2016 (ซ้าย) นพ.เหงียนตันคี ชาวเวียดนาม และ (ขวา) ส่วนหนึ่งของผู้ชุมนุมเบอเซะ ที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเลือกตั้งของมาเลเซีย ในภาพเป็นการชุมนุมในกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2555 โดยเป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุมเบอเซะทั่วโลก คู่ขนานไปกับการชุมุนมในมาเลเซีย (ที่มา: truongsahoangsa.info/ประชาไท)

 

ทั้งนี้นับตั้งแต่ปี 2543 มูลนิธิอนุสรณ์สถาน 18 พฤษภาคม (May18 Memorial Foundation) ของเกาหลีใต้ได้เริ่มมอบ “รางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน” (Gwangju Prize for Human Rights) แก่ นักสิทธิมนุษยชนเพื่อเป็นการรำลึกและสืบทอดอุดมการณ์การต่อสู้เพื่อ ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของประชาชนชาวเกาหลีที่ต่อสู้กับเผด็จการทหาร เป็นระยะเวลายาวนาน และเผชิญกับการปรามปรามอย่างโหดเหี้ยมทารุณจากกองทัพ

โดยเมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา คณะกรรมการมอบรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ประกาศว่าผู้ได้รับ "รางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน" ประจำปี 2016 มี 2 ตำแหน่ง ได้แก่ 1. นพ.เหงียนตันคี (Nguyen Dan Que) และ 2. พันธมิตรเพื่อการเลือกตั้งเสรีและยุติธรรม หรือ เบอเซะ 2.0 (Bersih 2.0) (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

แพทย์เวียดนาม-นักโทษทางความคิดผู้เรียกร้องให้รัฐบาลคอมมิวนิสต์จัดการเลือกตั้งเสรี

สำหรับ นพ.เหงียนตันคี เป็นชาวเวียดนามผู้เรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2495 ที่ไซ่ง่อน ปัจจุบันถูกเปลี่ยนชื่อเป็นโฮจิมินห์ซิตี ในปี พ.ศ. 2519 โดยเขาถูกรัฐบาลคอมมิวนิสต์เวียดนามจับและขังลืมโดยไม่มีการสอบสวนหรือตั้งข้อหา ก่อนได้รับการปล่อยตัวในปี พ.ศ. 2531

เมื่อถูกปล่อยตัวก็ นพ.เหงียนตันคี ก็รณรงค์ให้ประชาชนเวียดนามมีเสรีภาพในการเลือกรูปแบบรัฐบาล ผ่านการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม จึงถูกจับกุมตัวอีกครั้งในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2533  โดยในช่วงที่ถูกจับกุมตัว นพ.เหงียนตันคี ถูกทรมานและถูกจองจำโดยไม่มีการตั้งข้อหา จนในเดือนพฤศจิกายน 2534 เขาถูกนำตัวขึ้นศาลในข้อหาพยายามโค่นล้มรัฐบาลเวียดนาม และถูกตัดสินให้ใช้แรงงานหนัก 20 ปี และกักบริเวณ 5 ปี โดยในช่วงถูกใช้แรงงานหนักมีวุฒิสมาชิกของสหรัฐอเมริกาพยายามเข้าพบเขาแต่ถูกรัฐบาลเวียดนามปฏิเสธ อย่างไรก็ตามในปี 2541 เขาได้รับการปล่อยตัว

ในเดือนพฤษภาคม 2542 เขาออกแถลงการณ์เรียกร้องการเลือกตั้งเสรีเพื่อให้มีการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และในเดือนมีนาคม 2546 เขาถูกจับกุมเนื่องจากเขียนบทความเกี่ยวกับการปิดกั้นสื่อในเวียดนาม โดยรัฐบาลกล่าวหาว่าเขาทำการจารกรรม ในเดือนมกราคม 2547 ศาลประชาชนโฮจิมินห์ตัดสินว่าเขาละเมิดสิทธิประชาธิปไตยด้วยการบ่อนทำลาย ผลประโยชน์แห่งชาติ สิทธิอันชอบธรรม และผลประโยชน์ขององค์กรทางสังคมและพลเมือง โดยถูกตัดสินจำคุก 30 เดือน และในเดือนกันยายน 2547 เขาถูกส่งไปใช้แรงงานหนักในค่ายกักกันต่างจังหวัด และต่อมาได้รับการอภัยโทษในเดือนมกราคม 2548

ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2554 เขาได้โพสต์ข้อความในอินเทอร์เน็ตเรียกร้องให้ชาวเวียดนามออกมาเดินขบวนเหมือนอาหรับสปริง เรียกร้องให้มีการ "กวาดล้าง" เผด็จการคอมมิวนิสต์ และสร้างเวียดนามที่มีเสรี ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และมีความก้าวหน้า ทำให้เขาถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว บุกค้นบ้านโดยเจ้าหน้าที่อ้างว่ายึดเอกสารต่อต้านรัฐบาลได้นับพันฉบับ โดยเขาถูกควบคุมตัวนับแต่นั้น

 

รัฐบาลเวียดนามทำหนังสือค้านการรับรางวัล ระบุเป็นผู้ละเมิดกฎหมาย

ทั้งนี้ในช่วงที่ นพ.เหงียนตันคี ได้รับอิสรภาพ เขาไม่เคยคิดเลิกล้มการต่อสู้ เขาได้ก่อตั้ง "เครือข่ายบล็อกเกอร์เวียดนาม" และ "สมาคมสตรีเวียดนามเพื่อสิทธิมนุษยชน" ในปี 2556 และในช่วงเริ่มต้นปี 2557 นพ.เหงียนตันคี ได้เรียกร้องนักโทษทางความคิดทั้งหมดในเวียดนามให้รวมกันเป็นหนึ่งเพื่อรณรงค์สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยเวียดนาม โดยเขาและเพื่อนได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมอดีตนักโทษทางความคิด

ทั้งนี้รัฐบาลเวียดนามได้ทำหนังสือคัดค้านการได้รับรางวัลดังกล่าว โดยระบุว่าไม่มีเหตุผลที่จะมอบรางวัลให้กับผู้ละเมิดกฎหมาย โดยเฉพาะละเมิดกฎหมายความมั่นคงของเวียดนาม (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

ขบวนชุมนุมใหญ่ในมาเลเซียหนุนปฏิรูปการเลือกตั้งให้เสรีและยุติธรรม

ส่วนพันธมิตรเพื่อการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม (BERSIH 2.0) หรือ เบอเซะ 2.0 (BERSIH แปลว่า สะอาด ในภาษามลายู) ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2549 เรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการเลือกตั้งในมาเลเซีย 8 ข้อเช่น ให้ปรับปรุงระเบียบการเลือกตั้ง ให้ปฏิรูประบบลงคะแนนทางไปรษณีย์ เนื่องจากเกรงว่าจะไม่โปร่งใส เรียกร้องให้ใช้หมึกที่ลบไม่ออกในการลงคะแนน อนุญาตให้ทุกพรรคการเมืองเข้าถึงสื่อสารมวลชน ยุติการเมืองสกปรก ฯลฯ

โดยการชุมนุม BERSIH เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อ 10 พ.ย. 2550 และมีการชุมนุม "BERSIH 2.0" เมื่อ 9 ก.ค. ปี 2554 ส่วนการชุมนุม "BERSIH 3.0" เกิดขึ้นเมื่อ 28 เม.ย. 2555 โดยทุกครั้งจบลงด้วยการสลายการชุมนุมโดยตำรวจมาเลเซีย

อย่างไรก็ตามการชุมนุมในเดือนสิงหาคมปี 2558 ที่ผ่านมา ที่กลุ่มเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นาจิบ ราซัก ลาออก หลังถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงินกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ จากกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจของมาเลเซีย "วันมาเลเซียเดเวลอปเมนท์ เบอรฮาด" หรือ 1MDB ผู้ชุมนุมสามารถชุมนุมในกรุงกัวลาลัมเปอร์ได้โดยไม่ถูกสลายการชุมนุมแต่อย่างใด

 

มอบรางวัลให้ นพ.เหงียนตันคี และเบอเซะ 2.0 เพราะทำให้คุณค่าสิทธิมนุษยชนและสันติภาพเป็นจริง

โดยคณะกรรมการมอบรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน แถลงว่า กลุ่มเบอเซะ 2.0 เป็นตัวอย่างหนึ่งของพลังของประเทศที่เผชิญกับสิ่งท้าทายที่ก่อตัวขึ้นในรัฐ กลุ่มเบอเซะ 2.0 ได้เรียกร้องการปฏิรูปการเลือกตั้งและทำให้สิ่งนี้เป็นวาระแห่งชาติ สิ่งนี้ทำให้พวกเขารวมตัวกันบนท้องถนนเพื่อข้อเรียกร้องร่วมกันคือ การเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม การชุมนุมขนาดใหญ่ได้หยิบยกประเด็นทางการเมืองขึ้นมา รวมไปถึงลดช่องว่างทางวัฒนธรรม ศาสนา และช่องว่างระหว่างชาติพันธุ์ การชุมนุมเบอเซะได้สร้างความตระหนักของพลเมืองมาเลเซีย ต่อสิ่งที่ไม่ชอบมาพากลและสิ่งที่เป็นที่วิพากษ์ในระบบเลือกตั้ง ทำให้พวกเขามีความหวังที่จะรวมชาติเป็นหนึ่ง

"คณะกรรมการพบว่าคุณค่าของสิทธิมนุษชนและสันติภาพถูกทำให้เป็นจริงโดย นพ.เหงียนตันคี และเบอเซะ 2.0 พวกเรายกย่องการทำงานของ นพ.เหงียน แม้ภายหลังจะถูกจองจำอย่างโหดร้าย ซึ่งสิ่งนั่นสร้างแรงบันดาลใจส่งต่อไปยังภูมิภาคเอเชีย มากไปกว่านั้นคณะกรรมการก็เห็นชอบที่จะเลือกให้เบอเซะ 2.0 เป็นผู้ได้รับรางวัลร่วมกันในปีนี้กับ นพ.เหงียนตันคี ด้วยคาดหวังว่าพวกเขาจะร่วมมือกับเราในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสันติภาพในภูมิภาคเอเชีย"

"มูลนิธิอนุสรณ์สถาน 18 พฤษภาคมเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า การตัดสินใจในวันนี้จะสานความสมานฉันท์ให้ลึกซึ้งและสร้างความร่วมมือในภูมิภาคเอเชีย และทำให้พวกเรามีโอกาสยิ่งใหญ่ที่จะส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ" แถลงการณ์ตอนหนึ่งของคณะกรรมการมอบรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุ

36 ปีเหตุการณ์ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกวางจู ก่อนนำตัวผู้บงการขึ้นศาลในปี 2539

สำหรับขบวนการประชาธิปไตยกวางจู หรือเหตุการณ์ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2523 เป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุมต่อต้าน นายพลชุน ดูฮวาน ที่ทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลชอย คูฮาในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2522 โดยท้ายที่สุดทหารเกาหลีใต้สามารถยึดเมืองกวางจูคืนจากผู้ประท้วงได้ในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2523 มีผู้เสียชีวิต 165 ราย สูญหาย 76 ราย บาดเจ็บสามพันห้าร้อยราย ขณะที่ทหารและตำรวจเสียชีวิต 13 ราย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 ศาลอาญาประจำโซล มีคำตัดสินประหารชีวิตนายพลชุน ดูฮวาน จำเลยที่หนึ่ง และจำคุกนายพลโน แทอู จำเลยที่สอง 22 ปี 6 เดือน และจำคุกนายพลอื่นๆ อีก 13 คน

รายชื่อผู้ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนนับตั้งแต่ปี 2543

ปี 2543 ซานานา กุสเมา ประธานาธิบดีติมอร์ตะวันตก
ปี 2544 บาซิล เฟอร์นันโด ประธานคณะกรรมการสิทธมนุษยชนแห่งเอเชีย
ปี 2545 Korean Association Bereaved Families for Democracy
ปี 2546 แดนานียา กามาช จายันติ (Dandaneya Gamage Jayanti) อนุสรณ์สถานผู้สูญหาย ศรีลังกา
ปี 2547 อองซาน ซูจี ประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย พม่า
ปี 2548 วาดาห์ ฮาฟิด ผู้อำนวยการ สมาพันธ์คนจนเมือง (Urban Poor Consortium - UPC) อินโดนีเซีย
ปี 2549 อังคณา นีละไพจิตร นักสิทธิมนุษยชนจากประเทศไทย ภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร
และมาลาไล โจยา สมาชิกวุฒิสภา ปากีสถาน
ปี 2550 ชา มีล่า อีรอม ผู้อดอาหารเรียกร้องสันติภาพให้กับรัฐมณีปุระ ตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย
และเลนิน รากูวานชิ นักกิจกรรมที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในอินเดียตอนเหนือ

ปี 2551  มุนีร์ มาลิก ทนายชาวปากีสถาน
ปี 2552 มิน โก นาย อดีตแกนนำนักศึกษายุค 1988 และผู้ก่อตั้งสหพันธ์ของสหภาพนักศึกษาพม่าทั้งมวล All Burma Federation of Student Unions (ABFSU)
ปี 2553 สุชิล พยะคุเรล อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนเนปาล และประธานคณะกรรมการจับตาภาระความรับผิด (AWC)
ปี 2554 นพ.บิยานาค เสน ทำงานด้านกุมารแพทย์ชนบทในพื้นที่รัฐฉัตติสครห์ ประเทศอินเดีย ต่อมาถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตในข้อกล่าวหาร่วมมือกับกลุ่มติดอาวุธ Naxalite ก่อนที่จะได้รับการประกันตัวในการต่อสู้ชั้นศาลฎีกา
ปี 2555 มุน จองยอน บาทหลวงชาวเกาหลีใต้ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในยุคเผด็จการทหาร และมีบทบาทต่อต้านฐานทัพสหรัฐอเมริกาในเกาหลีใต้
ปี 2556 องค์กร H.I.J.O.S (บุตรและธิดาผู้ต่อสู้เพื่ออัตลักษณ์ ความยุติธรรม และต่อต้านการถูกลืมและความเงียบ) จากอาร์เจนตินา และนิตยสารรายสัปดาห์ Tempo จากประเทศอินโดนีเซีย

ปี 2557 อดิลู รามาน ข่าน ชาวบังกลาเทศผู้ต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน การฆ่านอกกระบวนการยุติธรรม การบังคับสูญหาย การซ้อมทรมาน ในภูมิภาคเอเชียใต้
และกลุ่มแม่แห่งคาวาราน (The Mothers of Khavaran) จากอิหร่าน ที่เรียกร้องให้ทางการอิหร่านสอบสวนและลงโทษเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องกับการล่าสังหารในช่วงปฏิวัติอิหร่านในทศวรรษที่ 1980

ปี 2558 ละติฟา อะนัม สิเรกา ทนายความสิทธิมนุษยชนที่ว่าความให้กับผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิทางการเมืองในภูมิภาคปาปัวตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย และสมบัดิ สมพอน นักพัฒนาชาวลาว ผู้ถูกทำให้หายตัวไปในปี 2555

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Nguyen Dan Que, Wikipedia

Vietnamese Gov’t Requests Nguyen Dan Que be Denied Human Rights Award, GFN, 2016-05-05 http://www.gfn.or.kr/bbs/board.php?bo_table=news_gfn&wr_id=4780

The Announcement of 2016 Gwangju Prize for Human Rights Recipients, 21 April 2016 http://eng.518.org/ease/board.es?mid=a50501000000&bid=0028&list_no=845&act=view

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net