'ปิยบุตร-ปูนเทพ' ชำแหละร่างรัฐธรรมนูญชี้สร้าง 'ซูเปอร์ตุลาการ'

เสวนารัฐธรรมนูญกับประชามติที่เลือกได้ 'ปิยบุตร' ระบุอำนาจของ คสช. ยังคงดำรงอยู่ต่อไปแม้รัฐธรรมนูญนี้ผ่าน หวั่นมีการเลื่อนหรือพักการเลือกตั้ง ด้าน 'ปูนเทพ' ชี้ร่างมีชัยสร้าง 'ซูเปอร์ตุลาการ' และการปูทางให้สามารถฉีก รธน.โดยที่ รธน.ยังบังคับใช้ได้

ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ (ซ้าย) และปิยบุตร แสงกนกกุล (ขวา) 

คลิปการอภิปราย "ร่างรัฐธรรมนูญในทัศนะของคณะนิติราษฎร์"  ช่วงปูนเทพ ศิรินุพงศ์

คลิปการอภิปราย "ร่างรัฐธรรมนูญในทัศนะของคณะนิติราษฎร์"  ช่วงปิยบุตร แสงกนกกุล

21 พ.ค. 2559 ในงานเสวนาทางวิชาการ “รัฐธรรมนูญกับประชามติที่เลือกได้” ซึ่งจัดโดย เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ที่ห้องอเนกประสงค์ริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตอนหนึ่งนักวิชาการคณะนิติราษฎร์บรรยายพิเศษเรื่อง "ร่างรัฐธรรมนูญในทัศนะของคณะนิติราษฎร์"

 

ร่างมีชัยสร้าง 'ซูเปอร์ตุลาการ' และการปูทางให้สามารถฉีก รธน.โดยที่ รธน.ยังบังคับใช้ได้

ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ กลุ่มนิติราษฎร์และอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อภิปรายว่า อันที่จริงร่างรัฐธรรมนูญมีรายละเอียดปลีกย่อยเต็มไปหมดที่โต้แย้งได้ แต่เราเลือกเฉพาะเรื่องใหญ่ ใน 3 ประเด็นคือ 1.ภาพของโครงสร้างสถาบันการเมืองที่จะเกิดขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ว่ามันจะนำไปสู่อะไร 2. มาตรา 5 ของร่างรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาว่าอะไรคือประเพณีการปกครอง และ 3.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ประเด็นที่หนึ่ง ภาพของโครงสร้างสถาบันการเมืองที่จะเกิดขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ การแบ่งแยกอำนาจ 3 ฝ่าย ทุกองค์กรต้องตรวจสอบถ่วงดุลกันอย่างมีดุลยภาพ แต่จะวางกลไกตรวจสอบกันอย่างไรก็ออกแบบกันไป แต่ประชาชนจะเป็นผู้เป็นฐานความชอบธรรมของทั้งสามอำนาจนี้ ทั้งสามต้องเชื่อมโยงและรับผิดชอบต่อประชาชน แต่เมื่อดูฉบับปัจจุบันมีลักษณะลดทอนอำนาจตัดสินใจของประชาชน และสร้างองค์กรใหม่ขึ้นมาหรือเอาองค์กรที่มีอยู่แล้วขึ้นมาทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ ตรวจสอบเพื่อไม่ให้องค์กรที่มีฐานความชอบธรรมจากประชาชนมีอำนาจ ขอลงรายละเอียดในบางประเด็น เช่น

ระบบเลือกตั้ง เรื่องนี้ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจ ระบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ร่างนี้กำหนดไว้ พื้นฐานของมันคล้ายกับร่างของอาจารย์บวรศักดิ์ที่ยืนบนระบบสัดส่วน แต่ความต่างคือ ในขณะที่ร่างอาจารย์บวรศักดิ์หรือแบบเยอรมันนั้น ประชาชนสามารถเลือกคะแนนได้ 2 ลักษณะ คือ พรรคการเมืองและผู้แทนแบบแบ่งเขต แล้วเอาคะแนนพรรคมาเป็นฐานในการจัดสรรปันส่วน แต่ของอาจารย์มีชัยเลือกได้แบบเดียว ถ้าประชาชนอยากเลือกส.ส.คนนี้แต่เกลียดพรรคนี้ ก็ไม่มีทางออกให้ในระบบ เท่ากับเป็นการบิดเบือนเจตนารมย์ของประชาชน และยังมีปัญหารายละเอียด เช่น มันยืนบนจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต ปัญหาคือถ้าพรรคไม่มีปัญญาส่งส.ส.ลงสมัครทุกเขตทั่วประเทศจะทำอย่างไร ระบบนี้อิงคะแนนจาก ส.ส.ในเขตเลือกตั้ง ถ้าเกิดส.ส.เขตเลือกตั้งหายไป เช่น โดนใบเหลือง ใบแดง แล้วจะมีผลต่อคะแนนอย่างไร มันจะกลายเป็นระบบ “ส.ส.แบบชักเข้าชักออก” ระบบการคำนวณแบบมีชัยจึงมีปัญหาในเชิงหลักการทฤษฎีมาก มีความไม่แน่นอนของส.ส.บัญชีรายชื่ออยู่ภายใน 1 ปีแน่ๆ ว่าเขาจะพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ ถามว่าในต่างประเทศใช้ไหม มีบ้างแต่น้อยมาก

วุฒิสภา เราคุ้นเคยกับรัฐธรรมนูญ 2540 ใช้ระบบเลือกตั้ง ปี 2550 ใช้ระบบเลือกครึ่งหนึ่งแต่งตั้งครึ่งหนึ่ง โดยหลักการต้องตั้งคำถามก่อนว่าควรมี ส.ว.หรือไม่ ถ้ามี มีไว้ทำไม อำนาจควรมีมากแค่ไหน ถ้ามีอำนาจมากก็ต้องมีความเชื่อมโยงกับประชาชนมากด้วย ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญนี้ สามารถเลือกศาลรัฐธรรมนูญ เลือกองค์กรอิสระ ร่วมกับส.ส.ตรากฎหมาย แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แก้ไขพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่รัฐสภาในบางกรณี ส.ว.200 คนมากจากการเลือกกันเองของกลุ่มส.ว.รายละเอียดการเลือกที่จะเกิดในทางปฏิบัติ คุณสบัติต่างๆ จะอยู่ในพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ถามว่าการเลือกกันเองคือการเลือกตั้งไหม มองในมุมมองหลักการการเลือกตั้ง การเลือกตั้งมี 2 ประเภท คือ เลือกตั้งทางตรง คือ เราเลือกผู้ถูกเลือกโดยตรง กับเลือกตั้งทางอ้อม เราเลือกคนที่จะไปเลือกคนในตำแหน่งอีกที แต่ไม่ว่าอย่างไรทางตรงหรือทางอ้อมก็ต้องย้อนกับมาสู่ประชาชนได้ ส่วนบทเฉพาะกาลที่กำหนดให้คสช.แต่งตั้งส.ว.ทั้งหมดใน 5 ปีแรก ขอยกไว้ก่อน

นอกจากนี้ในร่างรัฐธรรมนูญมีชัยยังมีคำประหลาดให้ต้องตีความอีกหลายคำ เช่น “มาตรฐานจริยธรรม” ตอนนี้คนไม่รู้ว่าคืออะไร โดยให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระไปออกแบบมาตรฐานจริยธรรม ถ้านักการเมืองไม่ทำตาม ป.ป.ช.มีอำนาจตรวจสอบ ยื่นเรื่องให้ศาลฎีกาวินิจฉัยให้นักการเมืองนั้นๆ พ้นจากตำแหน่งและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี และเพิกถอนสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งด้วย โดยไม่กำหนดกรอบเวลา

ปูนเทพระบุว่ายิ่งกว่านั้น ยังเพิ่มคุณสมบัติของ รมต. ครม. และนายกฯ ว่าต้อง “มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” ถ้าไม่มีสิ่งนี้อาจทำให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง กลายเป็นว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ตัดสินทั้งที่เขาผ่านการเลือกตั้งของคนทั้งประเทศแล้ว นี่ยังไม่นับว่า พวกปิดทองหลังพระคนไม่รู้จักทำอย่างไร

ประเด็นที่สอง มาตรา 5 ในร่างรัฐธรรมนูญ ปูนเทพระบุว่าได้สร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาคือ องค์กรพิเศษที่จะมาวินิจฉัยว่าอะไรคือประเพณีการปกครองประชาธิปไตยแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งเรื่องนี้หากไปถามคนร่างก็น่าจะตอบไม่เหมือนกัน แต่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 5 ซึ่งกำหนดว่าเรื่องใดไม่มีบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้ใช้ตามจารีตประเพณีที่ว่า และให้ประธานศาลฎีกาจัดการประชุมร่วมหลายฝ่ายเพื่อวินิจฉัย โดยให้คำวินิจฉัยเป็นที่สุดปัญหาของมันคือ การตีความร่างธรรมนูญนั้น จะมีบทบัญญัติเป็นลายลักษณ์และบางเรื่องอาจมีประเพณีมาเสริม แต่ไม่ว่าอย่างไรส่วนเสริมนั้นก็ไม่สามารถขัดกับลายลักษณ์ได้ แต่มาตรา 5 สร้างกลไกใหม่ขึ้นมา และประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนกำหนดว่าเรื่องนั้นๆ ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญต้องใช้กลไกแล้ว แม้ว่าคนทั้งประเทศอาจเห็นว่ายังใช้รัฐธรรมนูญต่อไปได้ก็ตาม

“เราจะมีศาลรัฐธรรมนูญพิเศษเพิ่มมาเพื่อวินิจฉัยเรื่องในส่วนที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญ และผลก็ผูกพันทุกองค์กร ความชอบธรรมทางประชาธิปไตยมีน้อยมาก ในบริบทในประวัติศาสตร์ไทยมีการอ้างมาตรา 7 หลายครั้งเพื่อขอนายกฯ พระราชทาน เช่นเมื่อปี 2548 ตอนปี 2557 ก็ใช้มาตรา 7 เพื่อให้ ส.ว.เลือกนายกได้ แต่ปัญหาคือไม่มีใครมายืนยันว่าทำได้ คนอยากทำเลยไม่กล้าแต่ถ้ามีมาตรา 5 ตอนนี้ถ้ามีคนอยากให้พระมหากษัตริย์พระราชทานนายกฯ อยากให้ส.ว.เลือกนายกฯ ก็ส่งเข้าที่ประชุมร่วม และถ้าที่ประชุมร่วมบอกทำได้ ก็ทำได้ แม้ว่าจะขัดกับความเห็นคนทั้งประเทศหรือแม้แต่ขัดกับหลักในรัฐธรรมนูญเอง .. มันอาจเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญขณะที่รัฐธรรมนูญยังบังคับใช้อยู่ เราอาจได้เห็น ผบ.ทบ.เป็นนายกฯ ได้โดยไม่ต้องทำรัฐประหาร” ปูนเทพกล่าว

ประเด็นที่สาม การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นไปไม่ได้กระบวนการแก้กฎหมายสูงสุดนั้นต้องเรียกร้องเสียงในการแก้ให้มากและยากกว่ากฎหมายอื่นนั้นถูกต้อง แต่ไม่ใช่แก้ไม่ได้ เพราะโดยสภาพเราต้องปรับรัฐธรรมนูญให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง การออกแบบการแก้ไขเพิ่มเติมต้องให้ได้สมดุลระหว่าง “แก้ไขยากกับแก้ไขได้” แต่ร่างรัฐธรรมนูญมีชัยนั้นแก้ไขยากมาก ๆ มาตรา 255 บอกว่าไม่ว่าจะยังไงก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือรูปของรัฐได้ ซึ่งคนวินิจฉัยคือ ศาลรัฐธรรมนูญ

โดยกระบวนการแก้ไขก็ยากมาก วาระที่หนึ่ง คะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งทั้งสภา (เหมือนเดิม) แต่ส.ว.ต้องเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ซึ่งส.ว.มาจาก คสช.แต่งตั้งใน 5 ปีแรก หลังจากนั้นมาจากการคัดเลือกกันเอง ถ้าส.ว.ไม่เอา ต่อให้ส.ส.จับมือกันทุกพรรคก็แก้ไม่ได้ วาระที่สอง ให้ใช้เสียงข้างมากเป็นประมาณ วาระที่สาม ต้องเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่ง โดยต้องมีส.ส.จากฝ่ายค้านไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 (เพิ่มจากร่างแรกคือร้อยละ 10) ของทุกพรรคด้วย พูดง่ายๆ พรรคเสียงข้างมากต่อให้คุณมีเสียงข้างมาก ร้อยละ 75-80 แต่ถ้าคนในพรรคฝ่ายค้านไม่เอาด้วย ไม่ถึงเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญเขียนก็ไม่มีทางแก้ไขได้ ไม่มีที่ไหนในโลกเขียนแบบนี้ เป็นกลไกเขียนขึ้นมาใหม่

"ต่อให้คุณผ่านกระบวนการรัฐสภาไปได้หมด ก็ยังมีด่านต่อไป ถ้าร่างนี้แก้หมวด 1,2,15 หรือหน้าที่ของศาลหรือองค์กรอิสระ รัฐธรรมนูญกำหนดว่าก่อนขึ้นทูลเกล้าฯ ก็ต้องให้ออกเสียงประชามติก่อน แม้จะผ่านสภาแล้วและผ่านประชามติแล้ว คนก็ยังส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญได้อีก ตามมาตรา 55 .. ถ้าไม่เปิดโอกาสให้ผลักดันการเปลี่ยนแปลงตามระบบ มันจะนำไปสู่ความขัดแย้ง บังคับให้คนออกไปสู่การใช้กำลังเข้าสถาปนารัฐธรรมนูญ โดยสภาพอาจนำไปสู่จุดนั้น ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญเราแก้ยาก เมื่อแก้ไม่ได้ก็ใช้วัฒนธรรมนแบบไทยคือ ฉีกแล้วร่างใหม่ตลอด แต่คนที่เขาเคารพกติกามาตลอด 30 ปีแล้วยังต้องอยู่ภายในรัฐธรรมนูญนี้เขาอาจทนไม่ไหวต่อไปอีกก็ได้” ปูนเทพกล่าว

 

ปิยบุตรชี้บทเฉพาะกาลเปิดช่องให้อำนาจ คสช. สืบต่อไป - ไขโจทย์ 'รัฐธรรมนูญปราบโกง' จริงหรือ

ปิยบุตร แสงกนกกุล กลุ่มนิติราษฎร์และอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้บรรยายโดยแบ่งเป็นสองส่วน หนึ่ง บทเฉพาะกาล ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอำนาจของ คสช. ยังคงดำรงอยู่ต่อไปแม้รัฐธรรมนูญนี้ผ่าน และ สอง การโต้ฝ่ายสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ

โดยส่วนที่หนึ่งเรื่องบทเฉพาะกาลนั้น ปิยบุตรระบุว่าลองพิจารณาประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทย จะพบว่ารัฐธรรมนูญไทยมีหลายฉบับ สืบเนื่องจากการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญบ่อย ๆ แบ่งกลุ่มได้เป็นรัฐธรรมนูญถาวรกับชั่วคราวรัฐธรรมนูญชั่วคราว เกิดหลังการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญถาวรแล้วทำรัฐธรรมนูญชั่วคราวขึ้น ก่อนจะมีรัฐธรรมนูญถาวรอันใหม่ขึ้น เลือกตั้งเข้าระบบ คณะรัฐประหารถอนตัวไป

เมื่อพูดถึงรัฐธรรมนูญชั่วคราว โดยความหมายต้องอยู่แป๊บเดียว แต่ในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทยพบว่ามีรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่อยู่นาน ได้แก่ สมัยจอมพลสฤษดิ์ ปี 2502 อยู่จนปี 2511 สมัยจอมพลถนอม อยู่เกือบสองปี จนเกิดเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516

มีข้อสังเกตว่าระยะหลังเมื่อมีรัฐประหาร รัฐธรรมนูญชั่วคราวจะสั้นขึ้น เช่น ปี 2534 รสช. รัฐประหาร อยู่ไม่ถึงปี ก็มีรัฐธรรมนูญถาวร หรือ คปค. อยู่เกือบปีก็มีรัฐธรรมนูญ 2550 น่าสนใจว่าถ้าเรามองรัฐประหารแต่ละครั้งของไทย ดูความตั้งใจของคณะรัฐประหารแต่ละชุด จะมีชุดที่อยากอยู่ยาวกับอยากอยู่สั้น คนที่อยากอยู่ยาว เช่น สฤษดิ์ และธานินทร์ หลัง 6 ต.ค. ตามแผน 4+4+4 แต่มีรัฐประหารก่อน ส่วนคณะรัฐประหารมาแล้วก็ไป เช่น รสช. (2534) คปค. (2549)

สาเหตุของพวกที่อยากอยู่สั้นคือต้องการไล่รัฐบาลจากการเลือกตั้งขณะนั้นออกไปเพราะขัดแย้งกัน เช่น ไม่พอใจที่มีการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร ส่วนพวกที่อยากอยู่ยาวเพราะประเมินว่ามีการคุกคาม เป็นอันตรายต่อระบอบของพวกเขา พลังประชาธิปไตยเริ่มคุกคาม อำนาจเริ่มเป็นของประชาชนมากขึ้น จึงรัฐประหารเพื่อต้องการดึงกลับไป

ถามว่าชุดปัจจุบันอยากอยู่สั้นหรือยาว ชุดปัจจุบันนั้นพรุ่งนี้จะครบสองปี ดูเหมือนสั้น แต่ถ้าคิดว่าศตวรรษที่ 21 เผด็จการทหารที่อยู่ได้สองปีถือว่านานมาก โลกนี้แทบไม่เหลือประเทศไหนที่เป็นรัฐบาลเผด็จการทหาร เมื่อเราอยู่คนเดียวไม่ได้ ถ้าเราไม่พร้อมปิดประเทศ จึงต้องออกแบบรัฐธรรมนูญถาวรขึ้น เพื่อบอกว่าเดี๋ยวเราจะกลับสู่การเลือกตั้ง รัฐประหารจะไม่อยู่แล้วเรากลับไปคบค้ากับชาวโลกได้

โจทย์คือ ทำอย่างไรให้องค์กรแบบคณะรัฐประหารซ่อนตัวอยู่ในรัฐธรรมนูญถาวร เพื่อบอกประชาคมโลกว่ามีรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว เลือกตั้งแล้ว ออกแล้วเราต้องดูรัฐธรรมนูญ จะต้องอ่านจากมาตราสุดท้าย เพราะของไม่ดีอยู่ท้าย ๆ ในบทเฉพาะกาล ทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญชั่วคราวแปลงอยู่ในรัฐธรรมนูญถาร ถ้าผ่านได้เราจะได้ "รัฐธรรมนูญชั่ว(คราว)ถาวร"

มาตรา 265 บทเฉพาะกาล นี่เป็นครั้งแรกที่องค์กรที่ทำรัฐประหารยังตามอยู่ต่อแม้รับรัฐธรรมนูญแล้ว โดยเขียนให้อำนาจของหัวหน้า คสช. ที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ยังมีอยู่ต่อไป จนกว่า ครม.ชุดใหม่จากการเลือกตั้งเข้ารับตำแหน่ง ซึ่งนั่นก็คืออำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 นั่นเอง เท่ากับถ้าร่างนี้ผ่าน ไม่ใช่แค่ 279 มาตรา แต่บวกมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวไปด้วย

ทั้งนี้จากสถานการณ์การเมืองที่ผ่านมาทำให้ไม่อาจแน่ใจได้เลยว่าจะมีเลือกตั้งเมื่อไหร่จะได้รัฐบาลไหม จะโดนใบเหลืองใบแดง หรือเลือกตั้งโมฆะไหม นอกจากนี้การออกคำสั่งตามมาตรา 44 ที่ผ่านมา กว่า 70 ฉบับ ยังเป็นการออกแบบกว้างขวางในทุกเรื่อง ซึ่งอาจมีการเลื่อนเลือกตั้งหรือพักการเลือกตั้งก็ได้ นอกจากมาตรา 44 แล้วยังมีมาตรา 269 ที่พูดเรื่อง ส.ว.ชุดที่มีข้าราชการ เหล่าทัพ เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง ที่เหลือ คสช. เลือก โดย ส.ว.ชุดนี้ มีบทบาทเลือกองค์กรอิสระ และพัวพันกับการตรากฎหมายปฏิรูป เท่ากับจะมีสภาหนึ่งชุดที่มีความสัมพันธ์กับ คสช. แน่ ๆ

นอกจากนี้ยังมีมาตรา 272 ที่เปิดช่องให้มีนายกฯ จากคนนอก และหมวดปฏิรูประบุว่าถ้าใช้รัฐธรรมนูญใหม่จะต้องเอาแพคเกจนี้ไปด้วย ถ้าไม่ทำมีมาตรการลงโทษตามมาอีก และสุดท้าย มาตรา 279 ที่รับรองว่าสิ่งที่ คสช. ทำมาทั้งหมด สิ่งใด ๆ ก็ตามที่ คสช. ทำมา ตั้งแต่รัฐประหารจนถึงวันนี้ ให้ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญใหม่ทุกประการ มาตรานี้คล้ายมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญ 2550 แต่แรงกว่าเดิม เพราะมาตรา 265 ทำให้รัฐธรรมนูญของมีชัยมีมาตรา 44

ในประเด็นที่สองเรื่องโต้แย้งกับสิ่งที่ฝ่ายสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญประชาสัมพันธ์ ปิยบุตรระบุว่า ในเรื่อง "รัฐธรรมนูญปราบโกง" นั้นเมื่อชูธงว่ารัฐธรรมนูญปราบโกงใครก็เชียร์ ถามว่าปราบโกงจริงไหม รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ว่าด้วยการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจ พูดถึงที่มาของ ส.ส. ส.ว. ความสัมพันธ์ของสถาบันการเมือง รับรองสิทธิเสรีภาพของบุคคล ไม่ได้มีฟังก์ชันเพื่อปราบโกง การปราบคอร์รัปชันไม่มีทางใช้รัฐธรรมนูญปราบได้ ถ้าใช้ได้ ประเทศนี้คงใช้เสร็จไปเรียบร้อยแล้ว เพราะทำมาหลายครั้งแล้ว แต่ทำกี่ทีก็ไม่สำเร็จ

การปราบโกงเป็นโฆษณาชวนเชื่อ พอขายไอเดียว่ารัฐธรรมนูญปราบโกงคนเฮหมด แต่จริงๆ แล้วการปราบโกงขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยในระบอบเผด็จการอาจจะเห็นว่าไม่มีการโกงเลยก็ได้ เพราะไม่มีระบบตรวจสอบ แต่ระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง มีกลไกตรวจสอบ อนุญาตให้แสดงความเห็นจึงทำให้เห็นว่ามีการคอร์รัปชันเกิดขึ้นเพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยเท่านั้นจึงจะปราบคอร์รัปชันได้

นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่า ระบบตรวจสอบคอร์รัปชันนั้นมีมาตรฐานไม่เสมอกัน โดยเอียงไปทางตรวจสอบนักการเมืองจากการเลือกตั้งมากกว่าคนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เช่น ศาล กองทัพ ข้าราชการประจำ องค์กรอิสระต่างๆในวิธีคิดของคนร่าง ดูเหมือนคนโกงมีแค่นักการเมืองจากการเลือกตั้งเท่านั้น

ประเด็น "รัฐธรรมนูญนี้เชิดชูรับรองสิทธิเสรีภาพไว้จำนวนมาก" ปิยบุตรระบุว่ามาตรา 26 บอกว่า การตรากฎหมายจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนต้องทำตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ กรณีไม่บัญญัติไว้ต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ถามว่า หลักนิติธรรมคืออะไรยกตัวอย่างให้ดูเวลาศาลรัฐธรรมนูญใช้ "หลักนิติรรม" ว่าใช้ในลักษณะใด เช่น คดีสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญว่า มาตรา 112 ขัดรัฐธรรมนูญจำกัดเสรีภาพการแสดงความเห็น และมีโทษไม่ได้สัดส่วน ผลคือ ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย 9-0 บอกว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ชอบด้วยหลักนิติธรรมแล้ว

"คุณเขียนรัฐธรรมนูญแบบกังวลใจมากว่าคนจะเอาสิทธิเสรีภาพไปใช้แบบไหน" ปิยบุตรกล่าว

มาตรา 34 บุคคลมีเสรีภาพในการแสดงความเห็น เสรีภาพทางวิชาการได้รับการคุ้มครองแต่ต้องไม่ขัดหน้าที่ปวงชนชาวไทย ศีลธรรมอันดี และต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของประชาชน ขณะที่เมื่อดูมาตราที่ว่าด้วยหน้าที่ปวงชนชาวไทย ระบุว่าห้ามกระทำการในลักษณะปลุกระดมสร้างความเกลียดชัง ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม หรือเรื่องสิทธิเลือกตั้งและประชามติ ก็ระบุให้คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ รวม ๆ แล้วเป็นการรับรองสิทธิไว้ แต่แนะนำด้วยว่าจะต้องใช้สิทธิอย่างไร ดังนั้น แม้เขียนรับรองสิทธิไว้ ถ้าประชาชนรู้สึกว่ารัฐละเมิดสิทธิ และโต้แย้งไปที่ศาล ศาลจะแปลความตามที่ศาลต้องการ

นอกจากนี้ แม้จะรับรองสิทธิทั้งหมด แต่วันหนึ่ง ประชาชนอยากยันกับประกาศหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 เช่น กรณียกเว้นกฎหมายผังเมือง ประมง เด็กแว้น ถ้าเห็นว่าคำสั่งเหล่านี้ละเมิดเสรีภาพประกอบอาชีพ จึงต้องการโต้แย้ง ถามว่าอ้างได้ไหม ตอบว่าไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญรับรองความชอบไว้แล้วตลอดกาล รวมทั้งการที่บอกว่า เป็นการปฏิรูปหรือปรองดอง นั้นเป็นการปฏิรูป-ปรองดองข้างเดียว เพราะรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้แพ็คเกจปฏิรูปทั้งหมด ที่รัฐบาล สนช. สปท. เป็นคนทำ ให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งทำต่อรัฐบาลจากการเลือกตั้งในอนาคตทำได้แค่เป็น "ม้าใช้" เอาแพคเกจไปใช้ต่อ

หลายคนรับรัฐธรรมนูญเพราะอยากเลือกตั้ง รับเพราะไม่ชอบรัฐบาล คสช. เลย อยากมีรัฐบาลพลเรือนเร็วๆ จะได้ค้าขายต่อ สำหรับคนที่คิดแบบนี้อาจไม่จริง เพราะถ้าผ่านประชามติ ก็อาจยังไม่ได้เลือกตั้ง โรดแมป 15 เดือน อาจยืดได้หดได้ เพราะหัวหน้า คสช. ยังมีอำนาจตาม มาตรา 44 ยังไม่นับว่าต้องร่างกฎหมายลูก 4 ฉบับ เรื่องเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. ซึ่งไม่รู้ว่า สนช.จะเห็นด้วยหรือไม่ รัฐธรรมนูญที่ทำกันอยู่ เป็นเทคนิคการเขียนสิ่งที่อยู่ชั่วคราวเป็นถาวร แปลงระบอบรัฐประหารให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญใหม่ให้หมด นำสิ่งที่ผิดรัฐธรรมนูญในสมัยก่อน ให้ถูกรัฐธรรมนูญหมด ด้วยการใส่ในรัฐธรรมนูญ นำองค์กรนอกรัฐธรรมนูญมาใส่ เขียนถ้อยคำกว้าง ๆ ให้องค์กรอิสระ ศาลเข้ามาตีความ

ท้ายสุดปิยบุตรระบุว่าคณะนิติราษฎร์จึงไม่รับร่างนี้ เพราะรับแล้วเท่ากับเรายอมรับให้สิ่งผิดปกติ กลายเป็นสิ่งปกติ ทำให้สภาวะยกเว้นกลายเป็นสภาวะปกติ ทำให้เรื่องชั่วคราวกลายเป็นถาวร ทำความจำเป็นสองปีให้กลายเป็นถาวรตลอดกาลถ้าร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ผ่าน ผู้ทรงอำนาจในความเป็นจริงควรยุติบทบาททำร่างรัฐธรรมนูญและคืนอำนาจสูงสุดให้ประชาชน กลับไปกำหนดชะตาชีวิตว่าจะออกแบบบรัฐธรรมนูญตามที่ต้องการอย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท