ปลูกเลย! โจอี้บอย ตอบ บ.ก.ลายจุด "แนะนำตรงใจกับพวกเราเกือบทุกเรื่อง"

หลังจาก บ.ก.ลายจุด โพสต์วิจารณ์พร้อมเสนอแนะมาตรการปลูกป่า ในหัวข้อ 'อย่าปลูกเลย' หัวเรือใหญ่รณรงค์ปลูกเลย อย่าง โจอี้บอย เข้ามาตอบ "แนะนำตรงใจกับพวกเราเกือบทุกเรื่อง" พร้อมระบุจะนำข้อเสนอไปคุยและเดินหน้ากิจกรรมต่อ

เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ปลูกเลย

22 พ.ค. 2559 หลังจากวานนี้ สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด แกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง และอดีตประธานกรรมการมูลนิธิกระจกเงา ได้โพสต์วิจารณ์พร้มเสนอแนะการปลูกป่าการรณรงค์ 'ปลูกเลย' ที่นำโดย โจอี้ บอย (อภิสิทธิ์ โอภาสเอี่ยมลิขิต) นักร้องชื่อดัง โดย สมบัติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ในหัวข้อว่า 'อย่าปลูกเลย' พร้อมระบุว่า ข่าวที่นักร้องดังโจอี้บอยเอาจริงที่จะระดมคนไปปลูกป่าที่ จ.น่าน และได้ตั้งเพจ "ปลูกเลย" ขึ้นมา ผมรู้สึกดีที่มีคนกรุงเทพอยากเห็นสิ่งแวดล้อมที่ดีกลับมา แต่ผมอยากบอกว่า "อย่าปลูกเลย" 

โดย สมบัติ ให้เหตุผลพร้อมข้อเสนอแนะไว้ดังนี้

ผมไม่เคยเห็นการปลูกป่าจริง ๆ ส่วนใหญ่ปลูกแค่ต้นไม้ เอาแค่เลือกต้นไม้ก็มักออกมาเป็นรูปแบบของไม้เศรษฐกิจ หรือไม้ที่พวกเราเรียนหนังสือกันว่าในป่าต้องมีต้นสักอะไรทำนองนี้ แต่ในความจริงป่ามีต้นไม้นับร้อยนับพันชนิด ป่าที่สมบูรณ์มีเรือนไม้ 7 ชั้น (7ระดับ)

ภูเขาหัวโล้นที่คุณเห็นแล้วเกิดความสะเทือนใจนั้น รากของปัญหามาจากปัญหาความยากจน พวกเขาต้องปลูกพืชเศรษฐกิจระยะสั้นที่เก็บเกี่ยวภายใน 3 เดือน และถึงแม้เขาปลูกต้นไม้ที่อายุยืนขึ้นหน่อย อย่างต้นยางพารา ภูเขาคงไม่หัวโล้นแต่มันก็ไม่ใช่ป่าอยู่ดี ไม่มีแนวต้นไม้เกาะผิวดินที่จะชะลอการกัดเซาะ

คุณเคยไปดูสวนสักของ ออป หรือป่าไม้ปลูกไว้มั๊ย ?
เขาปลูกต้นไม้เชิงเดี่ยว ยืนเข้าแถวเหมือนเด็กนักเรียนเคารพเสาธง ทุกฤดูแล้งต้นสักจะผลัดใบจนหมด เมื่อฝนมาเม็ดฝนจะกระทบดินและงัดเอาหน้าดินไปกับน้ำ หลายพื้นที่คุณไม่สามารถเดินเท้าเปล่าในสวนสักบนเขาได้ เพราะมันมีแต่หิน

ป่าไม่ต้องปลูกครับ เพียงมนุษย์เราไม่ไปรบกวนมัน ภูเขาหัวโล้นที่คุณเห็นจะฟื้นฟูตัวเองด้วยเริ่มจากไม้เบิกนำ ซึ่งได้แก่ หญ้า ไผ่ และ กล้วย ภายในฤดูฝนเดียวภูเขาทั้งลูกก็จะเขียวขจี หลังจากนั้นต้นไม้ชนิดต่าง ๆ ก็จะกลับคืนมา ลองคำนวนว่าถ้าคุณต้องไปปลูกต้นไม้บนเขาสักลูกหนึ่งให้ได้เท่ากับที่ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเองใน 1 ปี คุณต้องใช้กำลังคนและทรัพยากรเท่าไหร่เพื่อการนี้

คำตอบที่ถูกต้องคือ ช่วยสนับสนุนชาวบ้านให้มีกินและมีป่าอยู่ไปด้วยกัน อย่าให้พวกเขาหิวโหยในขณะที่นั่งดูต้นไม้เขียวๆ แบบที่คนกรุงเทพอยากให้เห็น

ในอินโดนีเซียมีปัญหาเรื่องการทำลายป่าพรุ ก็ที่เป็นข่าวเรื่องควันไฟปลิวมาที่มาเลเซียและภาคใต้ตอนล่างเราทุกปีนั่นแหละ มีองค์กรแห่งหนึ่งคิดวิธีการระดมทุนเพื่อให้ชาวบ้านช่วยกันดูแลป่าไม้ จ่ายกันเป็นพื้นที่เลย เหมือนเฝ้ายาม ชาวบ้านเข้าป่าแทนที่จะไปเผาหรือถางป่าก็ไปตรวจดูสุขภาพและความเป็นอยู่ของป่าไม้ แถมยังสร้างจิตสำนึกไปพร้อม ๆ กัน

จริง ๆ มีวิธีการอีกมากที่ชาวบ้านจะอยู่กับป่าได้โดยไม่รุกรานกัน แต่ผมรับประกันว่าไม่ใช่การไปปลูกป่าแล้วตะโกนให้ชาวบ้านตรงนั้นช่วยกันอนุรักษ์เพียงฝ่ายเดียว

อย่าได้ตีความข้อความนี้เป็นการต่อต้านหรือหมิ่นความปราถนาดีที่คุณโจอี้บอยมีต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม ผมเพียงอยากร่วมกับคุณเพื่อให้สิ่งนี้ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด

 

ภายหลัง โจอี้ บอย ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นท้ายโพสต์ของสมบัติ ผ่านเฟซบุ๊ก 'Apisit Joeyboy Opasaimlikit' ด้วยว่า  เรื่องที่พี่แนะนำตรงใจกับพวกเราเกือบทุกเรื่อง เป็นข้อมูลเดียวกันกับที่พวกเราได้รับรู้และหาหนทางแก้ไขร่วมกับทางพื้นที่ซึ่งทางจังหวัดมีแผนดูแลความเป็นอยู่ของชาวบ้านทั้งปลูกทั้งสร้างฝายและเกษตรรองรับถึง 14 โมเดล ส่วนสิ่งที่เราทำเป็นโมเดลนึงในพื้นที่เล็กๆ เท่าที่กำลังเราทำไหว

"เราเลือกจะ "ปลูกเลย!" บนพื้นที่เขาที่บอบช้ำจากยาฆ่าแมลงที่ทำลายลึกลงไปในชั้นดิน กว่าจะรอมันเติบโตเองคงใช้เวลาพอสมควร บางพื้นที่ปล่อยขึ้นเองได้ครับ แต่พื้นที่เราเจอ เราอยากกระตุ้นให้คนเข้าช่วยพยาบาลธรรมชาติอีกแรง ดังเช่นที่อาจต้องขอแรงพี่อีกแรงช่วยพวกเรา "ปลูกเลย!" ครับ" โจอี้ บอย แสดงความเห็น

ขณะที่ สุหฤท สยามวาลา  นักจัดรายการวิทยุ ซึ่งร่วมในการรณรงค์ปลูกป่าด้วยกัน ได้เข้ามาขอบคุณพร้อมแสดงความเห็นด้วยว่า จะนำไปคุยกันในกลุ่ม มันก็เกิดหลายคำถามในสเตตัสสมบัติ แต่ตนจะจดไปคุยกันเพื่อหาทางออก ฝากรอติดตามวิธีการนิดนึง พรุ่งนี้ 22 พวกตนจะประชุมกัน

จากนั้นวันนี้ สมบัติ ได้นำความเห็นของ โจอี้ บอย และสุหฤท มาโพสต์โดยระบุว่า ขอบคุณท่าทีในการรับฟังของทั้งคุณสุหฤท และคุณโจอี้บอย 
 
"ผมทำงานชาวเขาอยู่ 7 ปีที่เชียงราย เห็นทั้งวิถีของผู้คนและวิถีของธรรมชาติ ต้องขออภัยที่ข้อเขียนก่อนหน้านี้อาจบั่นทอนความปรารถนาดีของบางท่าน ผมขอให้ภาระกิจที่ท่านทั้งหลายได้ตั้งใจไว้จงบรรลุเป้าหมายและประสบความสำเร็จ" สมบัติ กล่าว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท