Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมาที่โรงแรมซีเอส.ปัตตานี สภาประชาสังคมชายแดนใต้จัดแถลงนโยบายยุทธศาสตร์สภาประชาสังคมชายแดนใต้ปี พ.ศ.2559 – 2561 ต่อกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมและหน่วยงานภาครัฐทีมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ โดยมีคณะกรรมการสภาฯ ที่ปรึกษา องค์กรสมาชิก องค์กรภาคประชาสังคมและภาครัฐเข้าร่วมฟังการแถลงกว่า 100 คน โดยนายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ พร้อมด้วยรองประธานอีก 4 คน ประกอบด้วย อัศว์มันต์ บินยูโซ๊ะ รักชาติ สุวรรณ โซรยา จามจุรี และมันโซร์ สาและ เป็นผู้แถลง

สังคมที่เป็นธรรมและมีสันติภาพที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน

โดย อัศว์มันต์ เป็นผู้แถลงในส่วนวิสัยทัศน์ของสภาประชาสังคมชายแดนใต้คือ สังคมที่เป็นธรรมและมีสันติภาพที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน ส่วนพันธกิจคือ หนุนเสริมการสร้างสันติภาพและกระบวนการสันติภาพอย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ส่วนเป้าหมาย คือเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดข้อตกลงสันติภาพที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน

สร้างพื้นที่กลาง-ให้ภาคประชาชนร่วมกระบวนการสันติภาพ

อัศว์มันต์ แถลงในส่วนของยุทธศาสตร์ว่า มี 3 ประการ ประกอบด้วย 1. การสร้างพื้นที่กลางและผลักดันเชิงนโยบาย (Common Space and Advocacy) คือ สร้าง/ขยายพื้นที่กลางให้กับภาคประชาชนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ได้เข้ามามีส่วนร่วมใน กระบวนการสันติภาพเพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอและผลักดันเชิงนโยบายด้วยความรู้แก่ทุกฝ่าย

2. การเสริมพลัง (Empowerment) เสริมพลัง สร้างความเข้มแข็งและอำนาจการต่อรองให้กับภาคประชาสังคมและภาคประชาชนในทุกมิติ และ 3. การขยายเครือข่าย (Networking) ขยายองค์กรสมาชิก/สมาชิกของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ รวมทั้งขยายเครือข่ายองค์กรภายในประเทศและต่างประเทศ

มุ่งขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพในชุมชน

มันโซร์ แถลงในประเด็นการขับเคลื่อนในปี พ.ศ.2559–2561 มี 4 ข้อดังนี้ 1. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายด้านกระบวนการสร้างสันติภาพในชุมชน 2. การพัฒนาศักยภาพและการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพในชุมชน

3. การเสริมสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ อาทิ ภาคราชการ ภาควิชาการ ภาคท้องถิ่นในการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพในชุมชน และ 4. ขยายสมาชิกและจัดทำฐานข้อมูลองค์กรภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพและงานพัฒนาอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นปัจจุบัน

สำหรับข้อเสนอจากองค์กรภาคีเครือข่าย รักษ์ชาติ แถลงในส่วนของข้อเสนอประเด็นการขับเคลื่อนจากองค์กรภาคีเครือข่าย มีทั้งหมด 14 ข้อ ส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอเกี่ยวกับการหนุนเสริมสันติภาพ เช่น เปิดพื้นที่กลางในการสร้างอำนาจต่อรอง พัฒนาศักยภาพภาคประชาสังคม พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ ศึกษาวิจัยและฟังความเห็นประชาชนเพื่อพัฒนารูปแบบการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่ประชาชนมีส่วนร่วมและบริหารจัดการตนเองได้จริง

รักษ์ชาติ กล่าวต่อไปว่า ส่งเสริมอัตลักษณ์ของทุกเชื้อชาติ ระบบยุติธรรม กระบวนการเจรจาเพื่อยุติความรุนแรง สนับสนุนการแก้ปัญหาเร่งด่วนโดยเฉพาะยาเสพติด สิ่งแวดล้อม อาชญากรรมและความยากจน ส่งเสริมสันติวิธี  การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุไม่สงบและความไม่เป็นธรรม พัฒนาศักยภาพเยาวชน สตรีและเครือข่ายชาวพุทธ

(อ่านรายละเอียดใน เอกสารประกอบการแถลงนโยบาย ยุทธ์ศาสตร์สภาประชาสังคมชายแดนใต้ พ.ศ.2559 – พ.ศ.2561)

จำเป็นต้องสร้างพื้นที่กลางเพื่อหนุนเสริมสันติภาพ

มูฮำหมัดอายุบ แถลงว่า สภาประชาสังคมชายแดนใต้เกิดจากนักพัฒนาเอกชนอาวุโสและนักกิจกรรมเพื่อสังคมในพื้นที่ร่วมก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2554 เพื่อเป็นองค์กรประสานงานของเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่

“ความรุนแรงในพื้นที่จำเป็นต้องสร้างพื้นที่กลางเพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ ซึ่งสภาประชาสังคมชายแดนใต้สามารถเป็นพื้นที่กลางได้ โดยสภาประชาสังคมฯ เชื่อว่าความไม่สงบในพื้นที่ต้องจบด้วยการพูดคุยสันติภาพเท่านั้น ไม่สามารถจบลงด้วยการใช้อาวุธ ดังนั้นทุกเครือข่ายของสภาฯต้องเติบโตไปด้วยกัน เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอในหลายๆด้าน รวมทั้งเป็นเครือข่ายทางสังคมที่หนุนเสริมกระบวนการสันติภาพต่อไป” มูฮำมัดอายุบ กล่าว

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ มี 4 ข้อ ประกอบด้วย 1.เพื่อเพิ่มศักยภาพขององค์กรภาคประชาชน/ภาคประชาสังคม 2.เพื่อร่วมกำหนดทิศทางการแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดสันติภาพอย่างยั่งยืน 3.เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสาน  และสนับสนุนระหว่างองค์กรที่ทำงานเพื่อสังคม 4.เพื่อสร้างพื้นที่กลางแก่ทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสันติภาพ

จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาสและอุปสรรค

โซรยา แถลงด้วยว่า ที่ผ่านมาสภาประชาสังคมชายแดนใต้ได้วิเคราะห์ ถึงจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาสและอุปสรรคในการทำงานที่ผ่านมาและการวางยุทธศาสตร์ใหม่ในปี 2559 พบว่า จุดแข็งคือสมาชิกและเครือข่ายสามารถหยิบยกประเด็นมาพูดคุยได้ทุกเรื่อง มีความหลากหลายของสมาชิกสูง ทำให้ได้รับการยอมรับที่เป็นทางการ สามารถทำงานเชื่อมต่อภาคประชาสังคมได้จริง ที่ผ่านมามีความโดดเด่นในการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพและการกระจายอำนาจ

โซรยา แถลงอีกว่า จุดอ่อนคือ การกำหนดยุทธศาสตร์ที่ผ่านมากว้างเกินไป ไม่สามารถดำเนินการได้ทุกเรื่อง ยังมีสมาชิกน้อยและไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม ยังขาดคนรุ่นใหม่ในฐานะสมาชิก ยังทำงานตั้งรับ ขาดการสื่อสารกับสังคมภายนอก

โอกาสจากการหนุนเสริมสันติภาพและนโยบายรัฐ

“ยังมีอุปสรรคบางอย่างที่ต้องคำนึงในการกำหนดยุทธศาสตร์การทำงานในอนาคตคือ ภายใต้รัฐบาลทหารอาจเป็นอุปสรรคในการทำงานเนื่องจากช่องทางทางกฎหมายบางอย่างที่จำกัดการทำงาน และองค์กรภาคประชาสังคมบางส่วนได้รับการจัดตั้งโดยฝ่ายรัฐอาจทำให้ความเป็นอิสระในการทำงานของภาคประชาสังคมหายไป” โซรยา กล่าว

โซรยา แถลงด้วยว่า ส่วนโอกาสคือ มีองค์กรภายในและภายนอกหนุนเสริมประเด็นสันติภาพมากขึ้น รวมทั้งยังมีโอกาสที่เกิดจากนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)ปี 2555 – 2557 ว่าด้วย“การบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” และคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 230/2557 ว่าด้วย“การจัดตั้งกลไกการขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้” ที่เอื้อให้เกิดการพูดคุยสันติภาพ เป็นต้น

ผู้เข้าร่วมอยากให้สื่อสารกับภายนอก-ช่วยเด็กกำพร้าด้วย

ตูแวดานียา มือรีงิง ผู้สื่อข่าวทีวีช่อง 3 มาเลเซีย กล่าวว่า สภาประชาสังคมฯ ต้องสื่อสารให้มากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อให้ประชาชนรับรู้บทบาทและหน้าของสภาประชาสังคมฯ นอกจากนี้ต้องมีบทบาทพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กกำพร้าหรือช่วยเหลือองค์กรที่ดูแลเด็กกำพร้าในพื้นที่ด้วยเนื่องจากในพื้นที่มีเด็กกำพร้าจำนวนมาก

ซิติมาเรียม บินเยาะ ที่ปรึกษากลุ่มเซากูนา กล่าวว่า คนทำงานภาคประชาสังคมในพื้นที่บางคนทำงานหลายองค์กร จึงควรเข้ามาเป็นเครือข่ายของสภาประชาสังคมฯด้วย เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้เมื่อมีปัญหา และอยากให้สภาประชาสังคมฯตั้งกองทุนช่วยเหลือเด็กกำพร้าและเด็กยากจนด้วย

ให้แก้ปัญหาคนมีรายได้น้อย-สร้างคนรุนใหม่

อับรอน มูซอ จากลุ่มพิราบขาวชายแดนใต้ เสนอว่า สภาประชาสังคมฯต้องเข้าไปแก้ปัญหาความมั่นคงของครัวเรือนคือประชาชนระดับรากหญ้ามีรายได้น้อย เพราะปัญหาความมั่นคงของครัวเรือนถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสร้างสันติภาพในพื้นที่

ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ(We Peace) กล่าวว่า 12 ปีที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่ยังไม่ค่อยพูดถึงกระบวนการสันติภาพมากนัก คนที่พูดมีเพียงองค์กรภาคประชาสังคมเท่านั้น ดังนั้นสภาประชาสังคมฯต้องปรับปรุงการทำงานด้วยโดยลงพื้นที่ให้ประชาชนได้พูดคุยเรื่องกระบวนการสันติภาพมากขึ้น

“คนทำงานภาคประชาสังคมในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นคนเดิมๆ ไม่มีคนใหม่ๆเข้ามาทำงานในองค์กร ดังนั้นสภาประชาสังคมฯต้องสร้างคนรุ่นใหม่ๆเข้ามาทำงานในองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ให้มากขึ้น” ปาตีเมาะ กล่าว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net