Skip to main content
sharethis
องค์กรวิชาชีพสื่อ ประชุมร่วมตัวแทนกอง บ.ก.-สื่อทีวี หารือกรณีถ่ายทอดสดอาจารย์มหาวิทยาลัยยิงตัวตาย ชี้รายงานด้วยความระมัดระวังแล้ว แต่ก็มีข้อผิดพลาดจากสถานการณ์ที่แปรผัน-เหนือการควบคุม ทำให้เผยแพร่ภาพไม่เหมาะสมบางช่วง ยันทำหน้าที่ตามหลักการรายงานข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ-มีคุณค่าข่าว ด้าน ไทยพีบีเอส แจงการรายงานสด ยันรายงานในกรอบจริยธรรม-กฎหมาย เนชั่นทีวีแจง ทีวี 4 ช่องคุยคณะอนุ กสทช. รับหลุดภาพสุ่มเสี่ยง พร้อมหาทางป้องกันในอนาคต

24 พ.ค. 2559 สืบเนื่องจากการถ่ายทอดสดและเสนอข่าวเหตุการณ์ล้อมจับผู้ต้องหาในคดีฆาตกรรมเมื่อ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา เพจเฟซบุ๊กของสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย รายงานว่า วันนี้ (24 พ.ค.2559) สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้เชิญตัวแทนบรรณาธิการและตัวแทนจากสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ร่วมประชุมหารือถึงเสียงสะท้อนและการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมต่อการทำหน้าที่และบทบาทของสื่อในกรณีดังกล่าว

โดยที่ประชุมยอมรับว่าถึงแม้สถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ที่รายงานข่าวและถ่ายทอดสดเหตุการณ์อย่างต่อเนื่องได้พยายามทำหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพในการรายงานเหตุการณ์ด้วยความระมัดระวังแล้วก็ตาม แต่ก็มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นเนื่องจากสถานการณ์ที่แปรผันและอยู่เหนือการควบคุมตลอดเวลาและทำให้เผยแพร่ภาพบางช่วงที่ไม่เหมาะสมและสร้างความตื่นตระหนก จนทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนจากสังคม

ที่ประชุมยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของสื่อมวลชน แต่ทั้งนี้ก็ยืนยันว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการทำหน้าที่ตามหลักการการรายงานข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและมีความสำคัญในเชิงคุณค่าข่าว เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากกรณีฆาตกรรมที่สะเทือนความรู้สึกของคนในสังคมก่อนหน้านี้

ที่ประชุมเห็นร่วมกันที่จะยกกรณีดังกล่าวขึ้นมาถอดบทเรียนและหารือร่วมกัน เพื่อสร้างมาตรฐานในการปฏิบัติหน้าที่ โดยคำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคล ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่สร้างความตื่นตระหนกและความหวาดกลัวเกิดขึ้นในสังคม

ในเบื้องต้นที่ประชุมเห็นชอบที่นำแนวปฏิบัติจริยธรรมการรายงานข่าวที่ 5 องค์กรสื่อได้ร่างขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการรายงานที่ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าว เป็นแนวทางในการปฏิบัติ นอกจากนั้นในแต่ละกองบรรณาธิการของสถานีโทรทัศน์จะกลับไปทบทวนกระบวนการทำงานในกรณีที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การยกระดับการทำหน้าที่ตามมาตรฐานจริยธรรมสื่อมวลชนต่อไป พร้อมๆ กับที่จะหารือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อหาแนวทางในการสร้างการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำหน้าที่สื่อมวลชน

ที่ประชุม ระบุว่า ขอแสดงความขอบคุณต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อบทบาทการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ซึ่งถือว่าเป็นกระจกสะท้อนการทำงานของสื่อมวลชนให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น และสร้างความตระหนักให้กับสื่อมวลชนในการรายงานเหตุการณ์ โดยเฉพาะการเสนอภาพข่าวที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงและการเลียนแบบ

ที่ประชุมตัวแทนกองบรรณาธิการและตัวแทนของสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ มีความเชื่อมั่นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีส่วนสำคัญที่ทำให้สื่อมวลชนได้ทบทวนบทบาทตนเองเพื่อนำไปสู่การทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สูงสุดของสังคมต่อไป

 


ไทยพีบีเอส แจงการรายงานสด ยันรายงานในกรอบจริยธรรม-กฎหมาย

วันเดียวกัน องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) เผยแพร่คำชี้แจงการรายงานสดเหตุการณ์ดังกล่าว ระบุว่า สืบเนื่องจากการรายงานข่าวเหตุการณ์ดังกล่าวทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 19 พฤษภาคม ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของไทยพีบีเอสว่าไม่เหมาะสมและอาจขัดต่อพ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ (ส.ส.ท.) 

ส.ส.ท.ขอชี้แจงการทำหน้าที่ในวันดังกล่าวดังนี้
1. สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เริ่มรายงานเหตุการณ์ดังกล่าวในช่วงทันข่าว เวลา 15.00 น. ใช้เวลา 4.10 นาที หลังจากนั้นได้ตัดเข้ารายงานข่าวด่วนอีก 2 ครั้ง ช่วงเวลา 15.36 น. ใช้เวลา 6 นาที และช่วงเวลา 15.45 น.ใช้เวลา 8 นาที

2. ต่อมาสำนักข่าวได้ประเมินสถานการณ์ว่า มีความพยายามจะจับกุมตัวผู้ต้องหาเพื่อยุติเหตุการณ์โดยเร็ว สำนักข่าวจึงได้ขออนุมัติรองผู้อำนวยการส.ส.ท. เพื่อถ่ายทอดสด โดยที่รองผู้อำนวยการส.ส.ท. ได้กำชับให้ระมัดระวังการนำเสนอไม่ให้มีภาพความรุนแรง เช่น ภาพผู้ต้องหาถือปืน รวมทั้งให้หลีกเลี่ยงการรายงานภาพผู้ต้องหา

การรายงานสดช่วงนี้ เริ่มเมื่อเวลาประมาณ 16.00 น.ใช้เวลาประมาณ 1.02 ชั่วโมง และมีการรายงานทาง Facebook Live ในช่วงเวลาเดียวกันใช้เวลาประมาณ 51 นาที

การรายงานสดเหตุการณ์นี้ตัดสินใจบนเหตุผลว่า เป็นการติดตามจับกุมผู้ต้องหาคดีอุกฉกรรจ์ที่อยู่ในความสนใจของสาธารณะ โดยที่ผู้ปฏิบัติงานได้ถูกกำชับให้ระมัดระวังมิให้เผยแพร่ภาพความรุนแรงและละเมิดสิทธิผู้ต้องหา และไม่ได้มีเจตนาต้องการถ่ายทอดเหตุการณ์ผู้ต้องหาพยายามฆ่าตัวตายแต่อย่างใด ตรงกันข้ามในระหว่างการรายงานสดได้มีการสัมภาษณ์นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน จิตแพทย์เพื่อหาทางออกเหตุการณ์นี้อย่างสันติวิธี

อย่างไรก็ตามเมื่อเหตุการณ์มีแนวโน้มยืดเยื้อ อาจเกิดเหตุรุนแรงที่ไม่คาดคิด รองผู้อำนวยการส.ส.ท.ก็ได้สั่งการให้ยุติการถ่ายทอดสดเมื่อเวลาประมาณ 17.02 น.

คณะผู้บริหารส.ส.ท.มีความตระหนักและน้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ และขออภัยต่อการปฏิบัติหน้าที่ที่ก่อให้เกิดความไม่สบายใจต่อสาธารณะ

บทเรียนอันมีค่าจากกรณีนี้ นอกจากจากการขออภัยต่อสาธารณะแล้ว ฝ่ายบริหารได้เน้นย้ำในแนวทางการรายงานข่าวเหตุการณ์รุนแรงหรือมีแนวโน้มที่จะเกิดความรุนแรง ให้มีความระมัดระวังอยู่ในกรอบจริยธรรมและกฏหมาย รวมทั้งจะเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษหากจำเป็นต้องมีการรายงานข่าวเหตุการณ์สำคัญในช่วงเวลาที่มีการออกอากาศรายการที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กและเยาวชน ส.ส.ท. ขอยืนยันว่า จะยึดมั่นในหลักจริยธรรมของสื่อสาธารณะ และพร้อมจะเป็นกลไกหนึ่งของความร่วมมือพัฒนามาตรฐานวิชาชีพสื่อในสังคมต่อไป อีกทั้งจะมีการประชุมถอดบทเรียนการรายงานข่าวเหตุการณ์นี้ เพื่อให้การทำงานมีมาตรฐานที่ดียิ่งขึ้น

 

เนชั่นทีวีแจง ทีวี 4 ช่องคุยคณะอนุ กสทช. รับหลุดภาพสุ่มเสี่ยง พร้อมหาทางป้องกันในอนาคต
ด้านเนชั่นทีวี โดย วีระศักดิ์ พงศ์อักษร บรรณาธิการบริหาร เนชั่นทีวี เขียนถึงผู้ชมเนชั่นทีวี โดยระบุว่า วานนี้ เวลา 14.30 น. เนชั่นทีวี และสื่อทีวีอีก 3 ช่อง ได้แก่ ไทยรัฐ-สปริงนิวส์ -ทีเอ็นเอ็น24 เข้าชี้แจงกับ คณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ กสทช. กรณี Breaking News เกาะติดสถานการณ์และถ่ายทอดสด อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ผู้ต้องหาฆ่า 2 อาจารย์เอาปืนจ่อหัวตัวเองและฆ่าตัวตายในที่สุด

วีระศักดิ์ ระบุว่า คณะอนุกรรมการฯ เปิดโอกาส ให้แต่ละช่องชี้แจง โดยประเด็นหลักที่กรรมการหลายท่านติดใจ คือ 1.ข่าวนี้มีประโยชน์ต่อสาธารณชนมากน้อยแค่ไหน เพราะกรรมการหลายท่านมองเป็นเรื่องส่วนตัวของอาจารย์ มากกว่าที่จะเป็นประโยชน์โดยรวม 2.ทำไมต้องถ่ายทอดสด กินระยะเวลายาวนาน 4-5 ชั่วโมง แค่ Breaking News สั้นๆ ก็พอ 3.กดดันอาจารย์ จนต้องฆ่าตัวตายหรือไม่

วีระศักดิ์ ระบุว่า บรรยากาศการพูดคุยหารือ ทั้ง 4 ช่อง "ยอมรับความผิด" ว่าระหว่างที่ถ่ายทอดยาวนาน มีหลายครั้งที่ภาพสุ่มเสี่ยง ที่จะละเมิดและไม่เหมาะสม น้อมรับที่จะหาช่องทางป้องกันในอนาคต แม้ว่าจะใช้วิธีเบลอภาพ/บิดบังภาพที่ไม่เหมาะสม/ภาพระยะไกล เป็นต้น

วีระศักดิ์ ระบุด้วยว่า ทั้งนี้ ประธานในที่ประชุม พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ จะรวบรวมคำถามของกรรมการแต่ละท่าน ซึ่งประมาณ 10-15 คำถาม จัดส่งมายังทั้ง 4 ช่อง เพื่อให้ตอบกลับมาอย่างเป็นทางการ เพื่อประกอบพิจารณาว่า มีความเหมาะสมในการถ่ายทอดมากน้อยแค่ไหน รวมถึงขอข้อเสนอแนะจากทั้ง 4 ช่องและอีกหลายช่องที่จะเชิญมาชี้หลังจากนี้ ว่ามีข้อเสนอแนวทาง หรือวางกติการ่วมกันอย่างไร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net