Skip to main content
sharethis

นักข่าวอะซาฮีชิมบุนเขียนถึงเรื่อง 2 ปีหลังการรัฐประหาร เผด็จการทหารใช้อำนาจข่มขู่ปราบปรามประชาชนหนักขึ้นโดยเพาะช่วงใกล้ลงประชามติรัฐธรรมนูญใหม่ที่ถือเป็นการลงประชามติในสภาพที่ไม่เป็นธรรม ทั้งหมดนี้เป็นความพยายามของชนชั้นนำที่จะขจัดอิทธิพลของทักษิณและบีบเค้นกลุ่มเสื้อแดงเพื่อรักษาอภิสิทธิ์ของตนเองไว้

นักข่าวหนังสือพิมพ์อะซาฮีชิมบุน เขียนถึงเรื่องครบรอบ 2 ปีการรัฐประหารครั้งล่าสุดในไทยลงบนเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยระบุว่าหลังจากที่มีการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ช่วงสองปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้กองทัพทำการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหนักขึ้นเพื่อจำกัดฝ่ายที่ต่อต้านพวกเขา

ในข่าวของอะซาฮีชิมบุนระบุถึงเหตุการณืช่วงเปิดเทอมใหม่ของนักเรียนในโรงเรียนอาชีวศึกษาแห่งหนึ่งของจังหวัดมหาสารคาม ในขณะที่นักเรียนกำลังเข้าพิธีปฐมนิเทศในโรงเรียนก็มีทหารสองนายในชุดเครื่องแบบแอบเข้าไปในอาคารแล้วก็ถ่ายรูปด้วยสมาร์ทโฟนก่อนจะออกไป

สื่อญี่ปุ่นรายงานว่าในภาคอีสานเป็นพื้นที่การเกษตรที่ผู้คนยังคงยากจนและเป็นภูมิภาคสำคัญของกลุ่มคนเสื้อแดง แล้วก็เล่าถึง สุทิน คลังแสง เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนอาชีวศึกษาแห่งนี้และเคยเป็นอดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย เขาถูกกล่าวหาจากรัฐบาลเผด็จการทหารอยู่เสมอนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อสองปีที่แล้ว เขาเคยถูกจับเข้าค่ายทหารเพื่อ "ปรับทัศนคติ" เป็นเวลา 4 ครั้ง มีทหารคอยไปเยี่ยมเขาที่บ้านแทบทุกอาทิตย์ ไม่ว่าสุทินจะเดินทางภายในจังหวัดหรือไปในส่วนอื่นของประเทศทหารก็จะรู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน สุทินให้สัมภาษณ์ว่าในช่วงที่ใกล้มีการลงประชามติรัฐธรรมนูญใหม่เผด็จการทหารก็ลิดรอนเสรีภาพของพวกเขาหนักขึ้น โดยมีการเรียกคนที่ถูกมองว่าน่าจะเข้าข้างกลุ่มเสื้อแดงให้ลงนามว่าจะไม่ขัดขวางกระบวนการประชามติ

ในข่าวของอะซาฮียังระบุถึงกรณีหมู่บ้านบัวบานที่มีรถฮัมวีของทหารติดอาวุธเต็มรูปแบบเคลื่อนพลไปตามหมู่บ้านทุกวันอาทิตย์เป็นเวลา 2 ปีแล้ว ชาวบ้านอายุ 62 ปี กล่าวให้สัมภาษณ์ว่าทหารพวกนี้กำลังข่มขู่พวกเขาว่ากำลังจับตาดูพวกเขาอยู่ตลอดเวลา

สื่อญี่ปุ่นยังระบุถึงเรื่องการที่ทักษิณได้รับการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจากคนไทยในชนบทที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายของเขา แต่กลุ่มชนชั้นนำอย่างกองทัพ อำมาตย์ และชนชั้นสูงในเมืองมองว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายต่ออภิสิทธิ์ที่พวกเขามี ทำให้มีการรัฐประหารโค่นล้มทักษิณ แต่พรรคฝ่ายทักษิณก้ยังคงชนะการเลือกตั้งได้เสมอมาการรัฐประหารในปี 2557 จึงเป็นความพยายามครั้งสุดท้ายอย่างเด็ดขาดในการขจัดความเป็นทักษิณออกไปจากประเทศ

เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีตส.ส. และผู้ช่วยศาตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นกล่าวว่าเผด็จการทหารพยายามกดดันแกนนำเสื้อแดงในท้องถิ่นหนักขึ้นเพราะกลัวว่าแกนนำเหล่านี้จะขับเคลื่อนกลุ่มคนรากหญ้าได้ ทั้งการสั่งห้ามกิจกรรม การสั่งปิดวิทยุชุมชน ปิดสำนักงานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) สาขาขอนแก่น สถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่แย่ลงในไทยต่างทำให้สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ต่างก็แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ในไทยมากขึ้นไปด้วย

ผู้สื่อข่าวยังเขียนถึงการที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีการพยายามทำให้อิทธิพลของทักษิณและเสื้อแดงอ่อนแอลงในขณะที่พยายามรักษาอภิสิทธิ์และอำนาจตามจารีตของชนชั้นนำไว้ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ถุกวิจารณ์ว่ามีลักษณะไม่เป็นประชาธิปไตยเพราะลดอำนาจของ ส.ส.และคณะรัฐมนตรี เหลืออยู่แค่เล็กน้อยแต่ให้อำนาจกับกลุ่มองค์กรแต่งตั้งอย่างศาลรัฐธรรมนูญมาก ให้อำนาจทหารในการแต่งตั้ง ส.ว. ในช่วง 5 ปีหลังจากการเลือกตั้ง ทำให้กองทัพมีอำนาจทางอ้อมในการแทรกแซงรัฐบาลใหม่ รวมถึงมีการออกพระราชบัญญัติการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเพื่อห้ามรณรงค์สนับสนุนหรือต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ถึงแม้รัฐบาลเผด็จการทหารจะเชื่อว่าถ้าสามารถทำให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์สงบลงแล้วจะสามารถทำให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่นี้ผ่านประชามติ แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงกลาโหมกล่าวต่ออะซาฮีซิมบุนว่า "ยังคงประชาชนก็อยากจะเลือกตั้ง ถ้าให้เลือกระหว่างเนื้อหาแบบในรัฐธรรมนูญกับการที่รัฐบาลเผด็จการทหารจะคงอยู่ต่อไปพวกเขาคงเลือกอย่างแรก"

อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวระบุว่าในสถานการณ์ปัจจุบันทำให้ผู้มีสิทธิลงประชามติรับรู้ข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ยากและไม่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างฯ เมื่อการลงประชามติในครั้งนี้ไม่ได้เป็นอิสระและมีความยุติธรรมมันก็อาจจะทำให้ผลลัพธ์ขาดความชอบธรรมได้

ในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกปกิเสธมันจะกลายเป็นการทำลายความมั่นใจในตัวเองของ คสช. อย่างหนัก ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการวางขั้นตอนกระบวนการว่าจะทำอย่างไรต่อไปถ้าหากร่างถูกปฏิเสธ ก็มีความเป็นไปได้ที่การเลือกตั้งจะล่าช้าออกไปอีก ถึงแม้ว่าภาคธุรกิจที่สนับสนุนรัฐบาลเผด็จการชุดนี้จะสนับสนุนเพราะอ้างว่ามีบรรยากาศที่สงบขึ้นกว่าช่วงความวุ่นวายทางการเมือง แต่มาตรการที่ คสช. นำมาใช้ในนามของความมั่นคงและความปรองดองนั้นก็มีแต่การนำมาใช้กับฝ่ายสนับสนุนทักษิณเพียงอย่างเดียว ในสองปีที่ผ่านมาความแตกแยกในสังคมและการเผชิญหน้าทางการเมืองมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น

 

เรียบเรียงจาก

Two years after, heavier hand on liberties, The Asahi Shimbun, 20-05-201 http://www.asahi.com/articles/DA3S12366334.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net