สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 19-25 พ.ค. 2559

ก.แรงงาน เตรียมแผนรองรับ หลัง ขสมก.ปรับโครงสร้างองค์กรเล็งลดพนักงาน 4 พันคน/เอ็นจีโอจี้ รบ.เกลี่ยงบรายหัวรักษาพยาบาล ขรก.เท่าเทียมประชาชน/5 หน่วยงาน ภาครัฐ-เอกชนร่วมเปิดศูนย์แรงงานประมงแห่งแรกของไทย/"กรมสรรพากร" พร้อมลดหย่อนภาษีให้บริษัทเอกชนรับคนเกษียณเข้าทำงาน/เตือนคนที่จะไปทำงานสิงคโปร์ต้องทำสัญญาการจ้างงานกับนายจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร
 
กฏหมายใหม่ คุมเข้มปั๊มน้ำมันส่งพนักงานอบรมความปลอดภัยภายใน 2 ปี
 
นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ออกกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดคุณสมบัติและการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ 29 พ.ค.นี้ โดยบังคับให้สถานประกอบการปั๊มน้ำมัน ปั๊มก๊าซหุงต้ม (LPG) ปั๊มก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (NGV) คลังก๊าซ คลังน้ำมัน รถขนส่งน้ำมันและก๊าซ และร้านค้าจำหน่ายLPG จะต้องมีพนักงานคนไทยอย่างน้อย 1 คนที่ได้รับใบอนุญาตเป็นพนักงานปฏิบัติงานประจำในสถานประกอบดังกล่าว
 
ซึ่งการขอรับใบอนุญาตนี้ จะต้องเข้าฝึกอบรมตามหลักสูตรที่กรมฯกำหนด โดยกรมฯจะให้เวลาสถานประกอบการดังกล่าวเป็นเวลา 2 ปี หรือให้เสร็จภายในเดือน 29 พ.ค. 2561 และหากพ้นกำหนดดังกล่าวสถานประกอบการใดไม่มีพนักงานที่ได้รับใบอนุญาต ทางกรมฯจะไม่พิจารณาต่อใบอนุญาตสถานประกอบการให้ รวมทั้งยังมีโทษตามกฎหมายมาตรา 66 จำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับเงินไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
“ที่ผ่านมาจะพบว่า พนักงานปั๊มน้ำมันบางแห่งละเลยมาตรฐานความปลอดภัย บ้างก็ใช้โทรศัพท์มือถือ บ้างก็ปล่อยให้มีการเติมน้ำมันได้โดยลูกค้าไม่ดับเครื่องยนต์ หรือแม้กระทั่งมีการสูบบุรหรี่ใกล้จุดเติมน้ำมัน เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นอันตรายต่อตัวพนักงานและลูกค้าที่มาใช้บริการ ซึ่งการฝึกอบรมให้ใบอนุญาตนี้จะกำหนดสิ่งที่ไม่ควรทำในการให้บริการลูกค้า เช่น ต่อไปจะเติมน้ำมันได้จะต้องดับเครื่องก่อนเท่านั้น หรือให้ลงจากรถในระหว่างการเติมน้ำมัน เป็นต้น หากไม่ปฏิบัติตามก็ไม่สามารถให้บริการเติมน้ำมันให้ได้ แต่หากพนักงานละเลยก็จะมีความผิดที่ตัวพนักงานเป็นหลัก ในส่วนของลูกค้าแม้จะไม่มีความผิดแต่ก็อยากจะขอความร่วมมือให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามมาตรฐานความปลอดภัยด้วย”นายวิฑูรย์ กล่าว
 
นายวิฑูรย์ กล่าวว่า หากกฎหมายใหม่ดังกล่าวออกแล้ว คาดว่ามีสถานประกอบการต่างๆ ประมาณ 38,000-39,000 แห่งจะต้องส่งพนักงานเข้าร่วมอบรมเพื่อรับใบอนุญาต โดยคาดว่าจะมีพนักงานที่มาอบรมทั้งสิ้น 1 แสนคน ส่วนสถานฝึกอบรมนั้น แต่เดิมมี 7 แห่ง แต่เมื่อกฎหมายใหม่ออกมา สถานฝึกอบรมจะต้องมาขอใบอนุญาตใหม่หมด ซึ่งสถานอบรมนั้นเป็นได้ทั้งนิติบุคคล ผู้ค้ามาตรา7 สถานศึกษา แต่ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ของกรมฯ เท่านั้น
 
นายสุรพงษ์ พงษ์สุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาเทคนิคพลังงาน กรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้จะครอบคลุมทุกประเภทกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเดิมกฎหมายยังครอบคลุมเพียงธุรกิจก๊าซปิโตรเลียม และก๊าซธรมชาติบางส่วนเท่านั้น ส่วนที่เพิ่มเติมในกฎหมายฉบับนี้คือ ธุรกิจน้ำมัน และธุรกิจก๊าซ NGV โดยส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายประกอบด้วย ผู้ฝึกอบรม วิทยากร และผู้ปฏิบัติงาน โดยผู้ฝึกอบรมและวิทยากรต้องมีคุณสมบัติตามข้อกำหนด และต้องได้รับใบรับรองจากกรมฯ ส่วนผู้ปฎิบัติงานต้องผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นตามประเภทของกิจการที่ระบุไว้รวม 23 กิจการ ซึ่งจำนวนสถานประกอบการทั่วประเทศต้องมีผู้ปฏิบัติงานรวมกว่า 38,000 แห่ง โดยคาดว่าจะมีผู้ปฏิบัติงานที่ต้องเข้าอบรมกว่า 1 แสนคน
 
 
คนงาน-ชาวบ้านจี้นายกฯ ทบทวนปิดเหมืองทองคำ
 
วันที่ 19 พฤษภาคม ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดพิจิตร พนักงานบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด(มหาชน) และประชาชนจาก 29 หมู่บ้านที่อยู่รอบเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัคราฯ กว่า 1,500 คน รวมตัวจัดเวทีเพื่อเรียกร้องรัฐบาลให้ทบทวนการสั่งปิดกิจการเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งมีกำหนดที่จะปิดในสิ้นปี 2559 นี้ โดยมีการตั้งเวทีพร้อมติดตั้งเครื่องขยายเสียงพร้อมป้ายข้อความต่างๆ ที่แสดงออกถึงผลกระทบและผลเสียของการปิดกิจการเหมืองทองคำ
 
พร้อมกับมีการขึ้นแสดงความคิดเห็นของประชาชน พนักงานถึงผลกระทบหากมีกิจการเหมืองทองคำ ระบบเศรษฐกิจรอบเหมือง มีการชี้แจงผลการตรวจสุขภาพ พร้อมกับแสดงผลงานรางวัลต่างๆที่ได้รับจากองค์กรต่างๆเพื่อยืนยันถึงการดำเนินกิจการของเหมืองแร่ทองคำว่าเป็นไปโดยถูกต้อง ท่ามกลางการรักษาความสงบโดยเจ้าหน้าที่ ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนกว่า 100 นาย 
 
หลังการรวมตัวกันแสดงความคิดเห็นประชาชนจาก 6 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มชุมชน 29 แห่ง รอบเหมืองทองคำ กลุ่มคู่ค้ากับบริษัทอัคราฯ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มพนักงานบริษัทอัคราฯ กลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่ได้รับทุนการศึกษา และกลุ่มผู้ผลิตสินค้าโอ-ท็อป ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ทบทวนการปิดเหมืองทองคำเนื่องจากมีผลกระทบโดยตรงกับทั้ง 6 กลุ่ม โดยมีนายพิษณุ เสนาวิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เป็นตัวแทนรับหนังสือ และดำเนินการส่งต่อถึงนายกรัฐมนตรีภายในวันนี้ หลังการยื่นหนังสือและมีการรับเรื่องเพื่อส่งต่อยังนายกรัฐมนตรี ตามวัตถุประสงค์ผู้ร่วมชุมนุมต่างแยกย้ายโดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรง
 
นางกุลจิรา เพ็ชรภักดี อายุ 53 ปี อยู่บ้านเลขที่ 197/1 หมู่ 8 ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งมีอาชีพค้าขาย กล่าวว่า วันนี้เดินทางมาขอความเมตตาจากนายกรัฐมนตรีให้ทบทวนการปิดเหมืองทอง เนื่องจากหากมีการการปิดเหมืองทองจะได้รับผลกระทบโดยตรงเนื่องจากตนเองและพ่อค้า แม่ค้าอีกกว่า 300 ราย มีอาชีพหลักคือการจำหน่ายสินค้ามีกลุ่มผู้บริโภคหลักคือพนักงานเหมืองทอง และครอบครัว หากเหมืองปิดตัวลงก็จะได้รับผลกระทบโดยตรงไม่สามารถค้าขายได้ จึงขอวอนให้ผู้เกี่ยวข้องทบทวนการปิดเหมืองทองกอีกครั้ง
 
นายคมสัน ขวัญแก้ว อายุ 43 ปี อยู่บ้านเลขที่ 84 หมู่ที่ 3 ตำบลเขาทราย อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร หัวหน้าอาวุโสห้องหลอมทองคำ กล่าวว่า ตนทำงานมา 15 ปี ยังมีสุขภาพแข็งแรง ตนมองว่าเหมืองทองคำสร้างสิ่งดีทั้งความเจริญด้านเศรษฐกิจ การศึกษา ศาสนา หากเหมืองปิดตัวลงก็จะส่งผลกระทบเป็นอย่างมาก ทั้งเศรษฐกิจโดยรอบเหมือง และที่สำคัญคือการว่างงานของพนักงานเหมืองที่มีกว่า 1,000 คน ที่ต้องตกงานซึ่งก็จะส่งผลกระทบโดยตรงกับพนักงานและครอบครัว
 
ส่วนตนแม้ว่าจะได้รับผลกระทบไม่มากเนื่องจากมีเงินทุนรำรองที่สะสมของบริษัท เพราะทำงานมาเป็นเวลานาน แต่ก็จะตกเป็นผู้ว่างงาน เนื่องจากอายุมากคงไม่มีใครรับทำงาน ส่วนแผนรองรับขณะนี้ยังไม่มีการเตรียมการรับมือว่าหากเหมืองปิดจริงจะทำอย่างไร อีกทั้งตอนนี้ก็อายุมากแล้ว จึงขอให้ผู้เกี่ยวข้องทบทวนการปิดเหมืองทองอีกครั้ง มาวันนี้เพื่อขอให้รัฐบาลมีการทบทวนการปิดเหมืองทองคำ
 
สำหรับการติดตามแก้ปัญหากรณีเหมืองทองคำของจังหวัดพิจิตรในขณะนี้ มีการดำเนินการระยะเร่งด่วนคือการดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่รอบเหมืองทอง โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งของประชาชน โดยมีการดำเนินการกำชับส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองทั้งระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน เพื่อป้องกันการกระทบกระทั่งของประชาชน 2 ฝ่าย เพื่อป้องกันปัญหาของความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นจนส่งผลกระทบกับประชาชนที่อยู่โดยรอบเหมืองทอง
 
 
บอร์ดค่าจ้างเลื่อนพิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างไปอีก 2 เดือน พร้อมขอความร่วมมือกระทรวงพาณิชย์ออกบูทจำหน่ายสินค้าราคาประหยัด ช่วงที่ค่าครองชีพสูง
 
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ว่า ที่ประชุมมีมติเลื่อนการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2559 ออกไปอีก 2 เดือน และให้อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดกลับไปสำรวจตัวเลขสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและค่าครองชีพในแต่ละพื้นที่ โดยให้เร่งสำรวจและเสนอกลับมายังบอร์ดค่าจ้างภายในเดือนกรกฎาคม เพื่อให้ได้ข้อมูลค่าครองชีพล่าสุด
 
ทั้งนี้จากข้อมูลตัวเลขที่มีการเสนอมาก่อนหน้านี้นั้น เป็นตัวเลขปี 2558 ซึ่งเป็นตัวเลขเก่าและจากการคำนวณทางวิทยาศาสตร์ พบว่ายังไม่เอื้อให้ปรับขึ้นค่าจ้างทั้งประเทศ แม้จะมี 6 จังหวัดที่เสนอขอปรับค่าจ้างมาก่อนหน้านี้ คือสระบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี ภูเก็ต อยุธยาและฉะเชิงเทรา จึงต้องมีการสำรวจใหม่อีกครั้ง
 
ม.ล.ปุณฑริก กล่าวอีกว่า มติดังกล่าวตัวแทนทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างเห็นด้วย โดยนายจ้างระบุว่าขณะนี้ตัวเลขการส่งออกที่แท้จริงยังคงติดลบ และยังไม่มีความสามารถในการจ่ายค่าจ้างเพิ่ม ส่วนฝ่ายลูกจ้างนั้น ก็ขอ ให้ทบทวนการพิจารณาอีกครั้ง โดยในระหว่างนี้กระทรวงแรงงานจะขอความร่วมมือจากกระทรวงพาณิชย์ ให้ออกบูทจำหน่ายสินค้าราคาประหยัดเพื่อเป็นการช่วยเหลือแรงงานในช่วงที่ค่าครองชีพสูงขึ้น
 
 
เตือนคนที่จะไปทำงานสิงคโปร์ต้องทำสัญญาการจ้างงานกับนายจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางานได้รับแจ้งจากสำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์ว่า มีแรงงานไทยที่ทำงานในสถานบันเทิงประเทศสิงคโปร์ ตำแหน่งนักร้องและนักดนตรีร้องทุกข์จากการถูกนายจ้างค้างชำระค่าจ้าง และจ่ายค่าจ้างไม่ตรงตามที่ตกลงกันไว้ เนื่องจากไม่ได้ทำสัญญาการจ้างงานกับนายจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร และปัญหาการไม่มีงานทำ เนื่องจากเดินทางเข้าประเทศสิงคโปร์ในฐานะนักท่องเที่ยว
 
ดังนั้นเพื่อป้องกันมิให้แรงงานไทยเสี่ยงต่อการถูกเอาเปรียบเรื่องค่าจ้าง สวัสดิการ รวมทั้งเสี่ยงจากการเดินทางไปแล้วไม่มีงานทำ กรมการจัดหางานจึงขอประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนคนหางานที่ประสงค์จะไปทำงานในประเทศสิงคโปร์ ต้องไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยควรที่จะมีนายจ้างและได้รับใบอนุญาตการทำงานก่อนที่จะเดินทางไปทำงานที่ประเทศสิงคโปร์ ต้องมีการทำสัญญาการจ้างงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และศึกษารายละเอียดสัญญาการจ้างงานให้ชัดเจน เรียนรู้สภาพสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ ค่าครองชีพ และวัฒนธรรมของประเทศสิงคโปร์ด้วย โดยสามารถศึกษาวิธีการเดินทางไปทำงานในประเทศสิงคโปร์ด้วยตนเอง อย่างถูกต้องได้ที่เว็บไซต์ http://www.mol.go.th/anonymouse/foreignlabour/39818 หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน อาคารสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 3 ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพฯ หรือ สายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694
 
 
รมว.แรงงาน ย้ำส่งเสริมการมีงานทำของแรงงานนอกระบบในเวทีอาเซียน
 
พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวในโอกาสเป็นประธานพบปะสื่อมวลชน พูดคุยถึงผลการเดินทางไปเยือนประเทศกลุ่ม CLMV เพื่อแก้ปัญหาค้ามนุษย์ร่วมกันว่า หลายประเทศให้ความสนใจเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านแรงงานในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านจากแรงงานนอกระบบเข้ามาอยู่ในแรงงานในระบบโดยมุ่งสู่แรงงานที่มีคุณค่า (Decent Work) ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งแรงงานในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบจากกำลังแรงงานที่มีอยู่ทั้งหมดเป็นแรงงานในระบบประกันสังคมราว 10 ล้านคนเศษที่เหลือประมาณ 20 ล้านคนเศษเป็นแรงงานนอกระบบ
 
ทั้งนี้ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการคุ้มครองแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ โดยเฉพาะเน้น การส่งเสริมการมีงานทำให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่การทำงานในระบบ โดยให้ความสำคัญในการดำเนินการปรับรูปแบบการทำงานนอกระบบซึ่งมีคณะกรรมการระดับชาติ โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการในการดำเนินนโยบายการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ และมีคณะอนุกรรมการโดยปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานฯ เพื่อประสานงานด้านแผนยุทธศาสตร์ และยังมีคณะอนุกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายและดำเนินการ
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินการภายใต้ "หลักการ 3 โอกาส" ประกอบด้วย โอกาสในการเริ่มต้น เน้นส่งเสริมให้มีทุนในการประกอบอาชีพ อาทิกองทุนรับงานไปทำที่บ้าน พร้อมกับการฝึกอบรมต่างๆ เพื่อจะได้มีอาชีพ อาทิ การประกอบอาหาร การนวดสปา การขายของทางอินเทอร์เน็ต เป็นต้น และส่วนที่สองคือโอกาสในการพัฒนา ได้มีการกำหนดมาตรวิชาชีพให้ได้รับการรับรองคุณวุฒิเพื่อนำไปประกอบอาชีพ และสุดท้ายคือโอกาสในการได้รับการคุ้มครองโดย การขยายความคุ้มครองไปสู่แรงงานนอกระบบ ซึ่งแนวคิดทั้งสามโอกาสนี้ เป็นแนวทางแบบองค์รวม ที่เน้นย้ำการจัดสรรแหล่งเงินทุนควบคู่การพัฒนาทักษะฝีมือและฝึกอบรม รวมทั้งการคุ้มครองทางสังคม ตลอดจนการพัฒนาด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงานให้แรงงานนอกระบบใด้มีชีวิตที่ดีขึ้น มีความปลอดภัยและมีงานทำอย่างยั่งยืน
 
 
กอช.เตือนคนแก่สมัครก่อน 25 กันยายนนี้
 
นายสมพร จิตเป็นธม เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เปิดเผยถึงการเร่งรัดรับสมัครผู้สูงอายุเข้าเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. ซึ่งจากหลักเกณฑ์ของกฎหมายตามพระราชบัญญัติการให้สิทธิแก่ผู้สมัครสมาชิก กอช. เป็นบางกรณี ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป สามารถออมได้ 10 ปีเต็มนับจากอายุตัวในวันที่สมัครสมาชิก ซึ่งรวมถึงผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีแล้วด้วยที่ได้รับสิทธิตามกฎหมายนี้โดยไม่จำกัดอายุ โดยจะหมดเขตรับสมัครตามเงื่อนไขนี้ ในวันที่ 25 กันยายน 2559
 
"เนื่องจากกฎหมายให้สิทธินี้เป็นระยะเวลา 1 ปีนับจากวันที่พ.ร.บ. มีผลใช้บังคับ ดังนั้น ผู้สูงอายุ ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จะสามารถสมัครเป็นสมาชิกกองทุนได้ภายในวันที่ 25 กันยายนนี้เท่านั้น ซึ่งจะครบ 1 ปีนับจากวันที่ประกาศกฎหมายฉบับนี้ ส่วนผู้ที่มีอายุ 50-60 ปี ถ้าสมัครสมาชิกก่อนวันที่ 25 กันยายนก็จะยังได้รับสิทธิออม 10 ปีนับจากอายุตัวในวันที่สมัคร แต่ถ้าเลยวันที่ 25 กันยายนไปแล้วก็สามารถสมัครสมาชิกได้ แต่จะออมได้ถึงอายุ 60 เท่านั้น"
 
ประเทศไทยอยู่ในช่วงก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาแล้วเป็นเวลากว่า 10 ปี และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2568 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุมากถึง 14 ล้านคน รัฐจะมีภาระทางการเงินการคลังเพิ่มมากขึ้นในการดูแลประชากรสูงวัยในทุกด้าน ดังนั้นจำเป็นต้องส่งเสริมผลักดันให้มีการออมเพื่อชีวิตยามเกษียณของตนเองกอช.คือ ส่วนหนึ่งของระบบบำนาญของประเทศไทย ที่ประชากรกลุ่มที่เป็นแรงงานนอกระบบ หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่มีนายจ้างกว่า 25 ล้านคนทั่วประเทศจะได้มีโอกาสรับบำนาญเพื่อเลี้ยงชีพ ตัวเองเมื่อต้องเกษียณอายุและไม่มีรายได้แล้ว
 
ผู้สนใจโทร.0-2017-0789 กด 0 วันจันทร์ศุกร์ 08.30-17.30 น. และที่ www.nsf.or.th และ facebook/กองทุนการออมแห่งชาติ หรือติดต่อที่หน่วยรับสมัครสมาชิก ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ
 
 
"กรมสรรพากร" พร้อมลดหย่อนภาษีให้บริษัทเอกชนรับคนเกษียณเข้าทำงาน
 
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า หลังจากกระทรวงการคลังมีนโยบายดูแลสังคมผู้สูงอายุผ่านมาตรการต่างๆ ในส่วนของกรมสรรพากรพร้อมดูแลผู้สูงอายุตามนโยบายของกระทรวงการคลัง ด้วยการเปิดทางให้องค์กรที่จ้างผู้สูงอายุนำค่าใช้จ่ายสำหรับจ้างผู้สูงอายุเข้าทำงานหลังเกษียณอายุทำงาน 60 ปี มาหักลดหย่อนได้ถึง 2 เท่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมยกร่างกฎหมาย เพื่อเสนอกระทรวงการคลัง เพื่อช่วยเหลือสังคม เพราะคนอายุ 60 ปี ในปัจจุบันยังแข็งแรง และทำประโยชน์ช่วยเหลือสังคมได้อีกมาก แทนที่จะปล่อยให้ออกไปรับเบี้ยงชราอย่างเดียว เมื่อนำกลับมาใช้งานจะเป็นโยชน์ต่อองค์กร ในช่วง 10-15 ปี ข้างหน้า จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจำนวนมาก คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้
 
นอกจากนี้ กรมสรรพากรเตรียมแยกกลุ่มธุรกิจ ออกเป็น 10-12 กลุ่ม เพื่อสะดวกในการแยกประเภทการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล เบื้องต้นนำร่องจัดกลุ่ม 5 กลุ่ม โดยร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย สมาคมธนาคารไทย และสภาวิชาชีพทางบัญชี เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมการบริการ เพื่อต้องการปรับเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี เช่น กลุ่มผลิตสินค้า มีรายจ่ายบางรายการไม่มีหลักฐานใบเสร็จ ต้องให้คำแนะนำต้องลงบัญชีอย่างไร การกู้เงินจากสถาบันเงินในนามส่วนตัว แต่ได้นำเงินมาใช้ในธุรกิจของบริษัท
 
จึงต้องแนะนำให้ลงบัญชีอย่างถูกต้อง กรมสรรพากร เตรียมนำมาใช้กับกลุ่มผู้ประกอบการร้านทองในวันที่ 22 พ.ค.นี้ แต่การนำร่อง 5 กลุ่ม จะเร่ิมในเดือนมิถุนายนนี้ เนื่องจากในเดือนพฤษภาคมปีนี้ เป็นปีที่ผู้สอบบัญชีต้องใช้เวลาเปลี่ยนผ่านระบบมาใช้ระบบบัญชีเดียวตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งทรัพย์สินเป็นสินค้าไม่เคยลงบัญชีต้องนำมาลงให้หมด ทั้งลูกหนี้ เจ้าหนี้ หรือบัญชีธนาคารนำมารวมทั้งหมด เมื่อแนวโน้มอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลถูกลงเรื่อย และหากลงบัญชีอย่างถูกต้อง ทำตรงไปตรงมาจะประหยัดภาษีมากว่าในปัจจุบัน
 
 
ส.อ.ท. มองอุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม มีทิศทางฟื้นตัว คาด ปี 59 โต 1% มูลค่า 7,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
 
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่าภาพรวมอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในปี 2559 เริ่มมีทิศทางที่ฟื้นตัวขึ้น ซึ่งคาดว่าในปีนี้จะเติบโตประมาณร้อยละ 1 มีมูลค่าอยู่ที่ 7,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเฉพาะการส่งออกวัตถุดิบสิ่งทอที่มีสัญญาณบวก หลังจากติดลบมากว่า 12 เดือน ซึ่งได้รับอานิสงส์จากความต้องการของกลุ่มตลาดอาเซียน ทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอในปีนี้จะเติบโตประมาณร้อยละ 1 มีมูลค่าประมาณ 4,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มจะฟื้นตัวขึ้นมาติดลบน้อยลงที่ร้อยละ 1 - 2 มีมูลค่าประมาณ 2,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยได้รับอานิสงส์จากการส่งออกของนักลงทุนไทยที่ขยายฐานการผลิตไปในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV และอินโดนีเซีย ซึ่งที่จะมีมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดหลัก ในอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป ประมาณ 900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ปัญหาเรื่องแรงงาน เนื่องจากอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มยังต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว ทำให้ขาดแรงงานที่มีฝืมือ รวมถึงปัญหาภัยแล้งที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจระดับล่าง แต่ทั้งนี้ประเมินว่าภาพรวมอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในปี 2560 จะเติบโตและมีทิศทางที่ดีขึ้น
 
นอกจากนี้ นายวัลลภ กล่าวว่า สำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกปีนี้ที่ฟื้นตัว มาจากการภาคบริการที่เติบโตขึ้น โดยเฉพาะสินค้า บริการ โรงแรม และการท่องเที่ยว แต่ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยยังต้องขับเคลื่อนด้วยภาคการผลิต การลงทุน โดยเฉพาะสินค้าที่มีนวัตกรรมใหม่ ๆ
 
 
5 หน่วยงาน ภาครัฐ-เอกชนร่วมเปิดศูนย์แรงงานประมงแห่งแรกของไทย
 
5 หน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมมือจัดตั้งศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา นับเป็นศูนย์แห่งแรกในประเทศไทย เพื่อเดินหน้าแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานผิดกฎหมายเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน คาดดูแลกลุ่มเป้าหมายแรงงานต่างด้าวในจังหวัดสงขลาและพื้นที่ใกล้เคียงกว่า 25,000 คน
 
ศูนย์ดังกล่าวก่อตั้งภายใต้บันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือ ศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา ซึ่งมีหน่วยงานร่วมก่อตั้ง ประกอบด้วย องค์การสะพานปลา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย, ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา (บ้านสุขสันต์) และบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ
 
ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญในการเดินหน้าแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมประมงทุกรูปแบบอย่างจริงจังและปราบปรามอย่างเคร่งครัด โดยความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอย่าง ซีพีเอฟ ขณะเดียวกันการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานโดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวตามหลักมนุษยธรรมและมาตรฐานสากลถือเรื่องที่ต้องปฏิบัติอย่างชัดเจน ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของการให้ความคุ้มครองแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายและแรงงานผิดกฎหมายที่ต้องการความช่วยเหลือให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม
 
สำหรับศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลามีวัตถุประสงค์หลัก 5 ประการ คือ 1. การสร้างเครือข่ายอาสาสมัครแรงงานต่างด้าวและสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีเอื้อต่อการให้บริการ คุ้มครอง ป้องกัน ผู้ที่เสี่ยงหรือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ 2. ร่วมส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายการป้องกันการค้ามนุษย์ ในระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่น 3. เป็นศูนย์การเรียนเด็กต่างด้าว แรงงานต่างด้าวและครอบครัวได้เรียนรู้ อบรม และส่งเสริมอาชีพ 4. เป็นศูนย์ให้การดูแล พยาบาล คัดกรองโรคเบื้องต้นและประกอบศาสนกิจแก่กลุ่มแรงงานประมงต่อเนื่องและครอบครัวของแรงงานต่างด้าว 5. เป็นศูนย์ประสานงานรับแจ้งเรื่องร้องทุกข์ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมของแรงงาน
 
นายสุชาติ จันทลักขณา ผู้จัดการศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลาและผู้จัดการศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา กล่าวว่า ศูนย์นี้จะสามารถช่วยพัฒนากลไกในการขับเคลื่อนนโยบายการป้องกันการค้ามนุษย์ ในระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่นให้มีประสิทธิผล ขณะเดียวกันยังช่วยยกระดับความเป็นอยู่และสร้างอาชีพให้กับกลุ่มแรงงานประมงและประมงต่อเนื่อง ทั้งสัญชาติ ไทย กัมพูชา พม่า และลาว ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา และอำเภอใกล้เคียง รวมไปถึงกลุ่มเสี่ยงที่จะเข้าสู่วงจรการค้ามนุษย์ กลุ่มเด็กต่างด้าวและครอบครัวสัญชาติ กัมพูชา พม่า และลาว บริเวณท่าเทียบเรือประมงสงขลาและบริเวณใกล้เคียงกว่า 25,000 คน
 
“ศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานภาคประมงที่ถูกกฎหมายและครอบครัว รวมไปถึงแรงงานผิดกฎหมายที่เดินเข้ามาขอความช่วยเหลือจากเรา ซึ่งศูนย์จะให้คำแนะนำ ความรู้ด้านการคุ้มครองแรงงาน ตลอดจนการสนับสนุนให้สามารถประกอบอาชีพโดยมีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตตามสมควรตามหลักมนุษยธรรม และไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์การต่อต้านการค้ามนุษย์” นายสุชาติ กล่าว
 
ทั้งนี้ ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เริ่มโครงการ ถึง สิ้นสุดโครงการ เป็นเวลา5 ปี (2558-2563) โดยคณะกรรมการศูนย์ฯจะพิจารณาและประเมินผลการดำเนินงานแต่ละโครงการปีต่อปี และมีกลุ่มเป้าหมายหลักในพื้นที่ 5 กลุ่ม ครอบคลุมจำนวนแรงงานและกลุ่มเสี่ยงกว่า 25,000 คน ประกอบด้วยกลุ่มลูกเรือประมง และแรงงานประมงต่อเนื่องจำนวน 3,565 คน, กลุ่มแรงงานที่เสี่ยงต่อการเข้าสู่วงจรการค้ามนุษย์จำนวน 20,000 คน, กลุ่มเด็กต่างด้าวอายุ 4–15 ปี จำนวน 50 คน, กลุ่มแรงงานสตรีจำนวน 1,200 คน และกลุ่มครอบครัวเด็กต่างด้าวจำนวน 320 คน อย่างไรก็ตาม ผลสำเร็จของโครงการนี้จะเป็นต้นแบบในการขยายผลการดำเนินงานไปยังท่าเรืออื่นๆในประเทศไทย
 
ศูนย์นี้มีการจัดสรรพื้นที่เป็น 4 ส่วน เพื่อให้การดำเนินโครงการมีประสิทธิภาพ คือ ห้องเรียนสำหรับเด็กต่างด้าว,ห้องละหมาด, ห้องพยาบาล, ห้องอเนกประสงค์ซึ่งรวมถึงศูนย์ติดต่อประสานงาน ห้องประชุมและห้องสมุด
 
นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาแรงงานซึ่งกระทบต่อภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ ดังนั้นจึงเห็นว่าการจัดตั้งศูนย์ตามคำแนะนำและความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งในภาครัฐและเอกชนจะเป็นก้าวแรกอันสำคัญต่อการเริ่มต้นในการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด โดยการสร้างการตระหนักรู้และการแก้ไขให้เกิดความถูกต้องบนความรับผิดชอบของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และคำนึงถึงหลักพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนในระดับสากล อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานประมงที่ดียิ่งขึ้น และยังให้ความสำคัญลงไปถึงครอบครัวแรงงานประมง โดย ซีพีเอฟ มีส่วนสนับสนุนงบประมาณในระยะเริ่มต้นของการจัดตั้งศูนย์ ซึ่งในอนาคตหากการดำเนินการได้ตามเป้าหมาย จะมีการหารือเพื่อให้เกิดแนวทางการสนับสนุนจากเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้น
 
 
เอ็นจีโอจี้ รบ.เกลี่ยงบรายหัวรักษาพยาบาล ขรก.เท่าเทียมประชาชน
 
จากกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติตามความเห็นของสำนักงบประมาณ เห็นควรงบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2560 จำนวน 167,214,587,300 บาท หรือ 1.67 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2559 กว่า 2 พันล้านบาท แบ่งออกเป็น 1.งบประมาณกองทุนบัตรทอง 165,773,014,400 บาท สำหรับประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองกว่า 48 ล้านคน คิดเป็นอัตราเหมาจ่ายรายหัวคนละ 3,109.87 บาท จะกระจายให้แก่โรงพยาบาลตามสิทธิในสังกัด สธ.เกือบ 14,000 แห่ง และ 2.งบบริหารจัดการในสำนักงานหลักประกันสุขภาพฯ 1,647,397,000 บาท
 
นางสุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า งบประมาณดังกล่าวไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก แต่มองว่าเป็นการเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ตามเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ส่วนการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ใช้งบประมาณส่งเสริมสุขภาพประชาชนอย่างประหยัด ไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี นายกฯควรมองในเรื่องความสำคัญของสุขภาพประชาชน การจัดงบประมาณให้ดูแลสุขภาพประชาชนนั้นถือเป็นเรื่องคุ้มค่าเพราะหาก ประชาชนมีสุขภาพดี คนในสังคมก็จะมีคุณภาพ ส่วนกรณีมีข้อเสนอให้นำงบประมาณในการส่งเสริมสุขภาพประชาชนของ สปสช.ไปให้ สสส.บริหารจัดการเลย เนื่องจากภาระงานตรงตามหน้าที่นั้น องค์กรทั้งสองเป็นคนละส่วนงานกัน สสส.ไม่ใช่องค์กรภาครัฐ มีหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมสุขภาพในภาคประชาชน ในเอกชน สปสช.มีหน้าที่รักษาพยายาล ดูแลสุขภาพของประชาชน มีหน่วยบริการรักษาโรค มองว่าไม่ต้องนำงบประมาณมารวมกัน แต่ควรจะวางวิสัยทัศน์ในการทำงานร่วมกัน
 
"ควรเพิ่มงบประมาณด้านนี้ให้มากกว่านี้ หากจะเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มสักเพียงร้อยละ 1 ก็เก็บเงินเพิ่มได้อีกประมาณแสนล้านบาท ประชาชนจะยินดีให้ขึ้น หากทราบว่าเงินส่วนนั้นจะนำไปสร้างประโยชน์ให้ประชาชน" นางสุรีรัตน์กล่าว และว่า ควรมีคณะกรรมการกลางมาดูแลการทำงานของหน่วยงานทำหน้าที่ดูแลสุขภาพประชาชน ทั้งสามองค์กรคือ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สสส.และ สปสช. อาจเป็นรองนายกฯ เป็นประธาน และให้พิจารณาการทำงานให้ครบวงจร ไม่ใช่ดูแลเฉพาะเรื่องงบประมาณเพียงอย่างเดียว
 
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และอดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า นายกฯ ระบุให้ สสส.และ สปสช.ประหยัดการใช้งบประมาณด้านการส่งเสริมสุขภาพนั้น มองว่าควรจะมองภาพรวมการดำเนินงานของแต่ละกองทุนด้วยว่าเป็นอย่างไรบ้าง หากจะดูงบประมาณก็จะต้องดูทุกกองทุน นายกฯ ควรต้องดูว่าจะเกลี่ยงบประมาณทั้ง 3 กองทุนด้านสุขภาพ คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และกองทุนรักษาพยาบาลข้าราชการ ให้มีความเท่าเทียมกันได้อย่างไร แม้กระทั่งงบประมาณรายหัวของราชการก็อยู่ที่ 12,000 บาท ขณะที่ประชาชนอยู่ที่ 3,000 บาท มีความเหลื่อมล้ำ อีกทั้งงบประมาณรายหัวนั้นไม่เคยได้ตามความเป็นจริงที่คำนวณและขอไป ส่วนการเสนอให้นำงบประมาณในการส่งเสริมสุขภาพประชาชนของ สปสช. ไปให้ สสส.บริหารจัดการเลย เนื่องจากภาระงานตรงตามหน้าที่นั้น ทั้งสององค์กรมีหน้าที่ต่างกัน คือ สปสช. มีหน้าที่ส่งเสริมป้องกันสุขภาพของบุคคลเป็นรายบุคคลโดยตรง เช่น การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคให้แต่ละบุคคล เป็นต้น ส่วน สสส.เป็นการส่งเสริมสุขภาพในภาพรวม เช่น การรณรงค์ให้ขับขี่ปลอดภัย เป็นต้น จึงไม่สามารถเอารวมกันได้
 
แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จริงๆ แล้วงบประมาณที่ได้รับแม้จะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากเดิมที สปสช.เสนอของบประมาณ 1.73 แสนล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองเข้าถึงบริการมากขึ้นถึงร้อยละ 99.92 ขณะที่งบประมาณได้กระจายให้โรงพยาบาลตามสิทธิทั้งสิ้น 13,929 แห่ง การเพิ่มงบประมาณด้านสุขภาพถือว่าจำเป็นมาก เพราะจากข้อมูลปี 2558 มีการใช้บริการผู้ป่วยนอกถึง 159 ล้านครั้ง การใช้บริการผู้ป่วยในจำนวน 5.7 ล้านครั้ง ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ได้รับยาต้านไวรัสสะสมถึง 258,039 ราย มีการใช้บริการบำบัดทดแทนไตถึง 40,429 ราย การใช้บริการผู้ป่วยโรคเรื้อรังได้รับการคัดกรองโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงจำนวน 3,606,930 ราย
 
แหล่งข่าวกล่าวว่า หากมองผิวเผินเหมือน สปสช.จะได้รับงบเพิ่มมาบริหารกองทุนบัตรทองประมาณ 2.6 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 1.6 แต่จริงๆ แล้ว ได้รับเงินเพิ่มขึ้นจากกองทุนเพียง 456.74 ล้านบาท หรือเพิ่มเพียงร้อยละ 0.37 เท่านั้น ส่วนที่ถูกตัดออกไปนั้นเป็นเงินเดือนของบุคลากรสาธารณสุขเพิ่มขึ้นอีก 2,164.09 ล้านบาท หลายคนไม่เข้าใจจุดนี้ แต่คนในวงการสุขภาพทราบดี
 
เพราะจริงๆ แล้วงบประมาณด้านสุขภาพถูกจำกัดต่างหาก เนื่องจากหลังจาก สปสช.เสนอของบประมาณหลักประกันสุขภาพไปนั้น สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือด่วนที่สุดที่ นร 0506/12601 ลงวันที่ 7 เมษายน 2559 ระบุว่านายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ สปสช.ไปทบทวนการพิจารณางบประมาณร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงบประมาณ
"นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้หารือเรื่อง 1.บูรณาการการใช้จ่ายงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยกำหนดเป้าหมายการใช้จ่ายงบประมาณว่าต้องไม่ซ้ำซ้อนกันและให้ใช้จ่ายงบ อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด 2.ให้เพิ่มกรอบวงเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพได้ไม่เกินร้อยละ 2 และ 3.ให้ปรับลดงบประมาณสำหรับบริหารจัดการสำนักงานหลักประกันสุขภาพ เนื่องจากที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ16 จากทั้งหมดจึงทำให้มีการปรับลดงบบัตรทองลง ดังนั้นที่เพิ่มขึ้นจึงเหมือนแทบไม่ได้เพิ่มเลย" แหล่งข่าวกล่าว และว่า ส่วนเรื่องการใช้งบสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอาจซ้ำซ้อนกับ สสส.นั้น จริงๆ แล้วหากพิจารณาจะพบว่ากรณีนี้น่าจะไปจำกัดการใช้งบประมาณของ สสส.มากกว่าโดยเฉพาะการสนับสนุนโครงการอาจจะซ้ำกับทาง สปสช. ตรงนี้มีคณะทำงานพิจารณาอยู่ ประกอบกับงบสร้างเสริมสุขภาพของ สปสช.จะเน้นเรื่องโครงการตรวจคัดกรองโรคเรื้อรัง โครงการบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรค ที่ผ่านมา สสส.ไม่ได้มุ่งเน้นมาก ตรงนี้ก็มองว่าอาจให้ สสส.มาร่วมและใช้งบของ สสส.ด้วยหรือไม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างร่างแผนการทำงานร่วมระหว่าง สสส.และ สปสช.ให้ร่วมกันบูรณาการการทำงานอย่างแท้จริง
 
พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ตัวแทนประชาคมสาธารณสุข และแพทย์โรงพยาบาลสุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องการแก้ปัญหาการใช้งบสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคระหว่าง สปสช. และ สสส. อาจมีความซ้ำซ้อนนั้น ตนมองว่างบประมาณ สปสช.ได้รับเป็นหมื่นล้านบาทสำหรับการสร้างเสริมสุขภาพ ครอบคลุมประชาชนกว่า 60 ล้านคน ไม่เพียงแต่สิทธิบัตรทอง แต่รวมทุกสิทธิ ทั้งประกันสังคมและสิทธิสวัสดิการข้าราชการ เป็นไปได้หรือไม่ให้ สสส.เป็นผู้ดูแล และนำงบก้อนนี้มาใช้ในการบริการให้ผู้ป่วยจะดีกว่า เพราะ สสส.ก็มีงบประมาณกว่า 4 พันล้านบาทอยู่แล้ว และทำหน้าที่นี้โดยตรง จะได้ตรงกับภารกิจของตัวเอง
 
 
ก.แรงงาน เตรียมแผนรองรับ หลัง ขสมก.ปรับโครงสร้างองค์กรเล็งลดพนักงาน 4 พันคน
 
รายงานข่าว ระบุว่า ในวันที่ 30 พ.ค. นี้ทางคณะกรรมการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูฉบับที่ปรับปรุงแล้ว ก่อนจะเสนอพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ในเร็วๆนี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูของ ขสมก.
 
ขณะที่ ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้ประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนงานรองรับกรณีที่ ขสมก. ประกาศแผนการฟื้นฟูองค์กร และเตรียมแผนรองรับการใช้ระบบตั๋วร่วมกับระบบขนส่งมวลชนสาธารณะอื่นๆ ภายในปี 61 ซึ่งจะมีการลดพนักงานเก็บค่าโดยสาร จำนวน 3,000 คน และพนักงานด้านอื่นอีกประมาณ 1,000 คน
 
ทั้งนี้กระทรวงฯได้บูรณาการงานกับหน่วยงานในสังกัดทุกพื้นที่ ทั้งในเรื่องการหาตำแหน่งงานว่างรองรับ, การฝึกอาชีพเพื่อปรับเปลี่ยนงานหรือทำอาชีพอิสระ รวมทั้งการดูแลเรื่องค่าจ้าง สวัสดิการ และค่าชดเชย
 
 
กมธ.ปฏิรูปด้านสังคมสัมมนาปัญหาแรงงาน
 
คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ร่วมกับ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาเรื่อง “สถานการณ์แรงงานไทยในสายตาประชาคมโลก” ที่อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีหลักการและเหตุผล เนื่องด้วยสังคมไทยเผชิญกับสภาวะการขยายตัวของจำนวนแรงงานมากขึ้น จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2558 พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนแรงงานรวมทั้งสิ้น 38.4 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานในระบบ 16.3 ล้านคน และแรงงานนอกระบบ 22.1 ล้านคน ทั้งนี้ ส่วนใหญ่แรงงานมีปัญหาการเกิดอุบัติเหตุและโรคจากการทำงาน การเข้าไม่ถึงสิทธิคุ้มครองต่าง ๆ และปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งสภาพการจ้างงานเป็นผลจากนโยบายการพัฒนาประเทศที่ยังกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ ทำให้แรงงานที่ทำงานอยู่ในภาคการเกษตรในชนบทอพยพเข้ามาทำงานในเมืองมาก
 
ขึ้น ขณะเดียวกัน การจ้างงานในอุตสาหกรรมประมง โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ พบว่า มีการละเมิดสิทธิแรงงานจำนวนไม่น้อย ทำให้ประเทศไทยถูกจับตาจากนานาชาติ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ถูกเพ่งเล็ง และการคว่ำบาตรทางการค้า
 
โดยศาสตราจารย์สุภางค์ ดร.จันทวานิช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการย้ายถิ่น สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมอภิปรายในงานสัมมนาเรื่อง “สถานการณ์แรงงานไทยในสายตาประชาคมโลก” ว่า สภาพแรงงานบังคับตามตัวชี้วัดของ ILO พบว่า การละเมิดอันเนื่องมาจากความเปราะบาง โดยไม่มีเอกสารถึงร้อย 55.3 นายจ้างไม่พาไปจดทะเบียน ร้อยละ 16.8 การหลอกลวงเกี่ยวกับลักษณะงานที่จะต้องทำร้อยละ 4.9 ส่วนร้อยละ 3.8 ใช้ความรุนแรงต่อร่างกายที่มีการทุบตีขณะอยู่ในเรือ
 
นอกจากนี้ ยังมีตัวชี้วัดจากการข่มขู่ การค้างจ่ายค่าจ้าง แรงงานขัดหนี้ด้วยการทำงานเพื่อใช้หนี้จากเงินที่รับล่วงหน้า ถูกขาย หรือส่งต่อให้เรือลำอื่นโดยไม่เต็มใจ รวมถึงสภาพการทำงานและสภาพการดำรงชีพที่น้ำดื่ม อาหารไม่เพียงพอ การได้รับอุบัติเหตุบาดเจ็บในเรือ ดังนั้น จึงขอเสนอแนะให้คุ้มครองแรงงานประมงไม่ให้เป็นแรงงานบังคับ ต้องแทรงแซงและจับกุมขบวนการนายหน้า การให้แรงงานร้องเรียนได้ขณะอยู่ในเรือ การให้เรือทุกลำเป็นสมาชิกสมาคมประมงนอกน่านน้ำ และสมาคมประมงแห่งประเทศไทย การกวดขันไม่ให้มีแรงงานเด็ก และตรวจแรงงานประมงโดยกระทรวงแรงงาน
 
 
รมว.แรงงาน สั่งตรวจเข้มแรงงานต่างด้าวขายสินค้าบริเวณทางเท้า
 
นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีมีแรงงานต่างด้าว ขายสินค้าบริเวณทางเท้าทั้งยังจำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานด้วยนั้น ได้สั่งการให้กรมการจัดหางาน ดำเนินการตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (เมียนมา ลาว กัมพูชา) รวมทั้งเวียดนาม ทั่วประเทศ ให้ทำงานตามที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น โดยกิจการที่ได้รับอนุญาตมีเฉพาะงานกรรมกรและผู้รับใช้ในบ้าน และประการสำคัญต้องมีนายจ้างด้วย ซึ่งแรงงานต่างด้าวไม่สามารถที่จะไปประกอบอาชีพอิสระในลักษณะขายสินค้าหาบเร่ แผงลอย บริเวณทางเท้าได้ ดังนั้นหากใครพบเห็นแรงงานต่างด้าวที่ประกอบอาชีพในลักษณะดังกล่าวขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หรือโทรแจ้งสายด่วน 1694 เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้เพื่อให้การจัดระบบแรงงานต่างด้าวเป็นระเบียบและไม่มีผลกระทบต่อประชาชน ทั้งในแง่ของการทำงานและความปลอดภัยในการบริโภคสินค้า
 
นายธีรพลกล่าวต่อไปว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้กำชับเพิ่มเติมให้กรมการจัดหางานกำหนดเขตพื้นที่ปลอดการใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย และหากพบว่าพื้นที่ใดมีการใช้แรงงานผิดกฎหมายอยู่ จะถือเป็นตัวชี้วัดและประเมินผลการทำงานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานในแต่ละจังหวัดด้วย สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่2,000 - 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือหากแรงงานต่างด้าวยินยอมเดินทางกลับประเทศภายใน30วันพนักงานสอบสวนก็จะเปรียบเทียบปรับและดำเนินการให้แรงงานต่างด้าวนั้นเดินทางกลับออกนอกราชอาณาจักรต่อไป
 
 
กรมจัดหางานเผยไต้หวันครองแชมป์แรงงานไทยเดินทางไปทำงานมากสุด
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า จากสถิติคนงานไทยที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ โดยผ่านด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิประจำเดือน เมษายน 2559 พบว่ามีคนหางานไทยไปทำงานใน ต่างประเทศรวมทั้งสิ้นจำนวน 8,061 คน โดยนิยมเดินทาง ไปทำงานที่ไต้หวันมากที่สุด จำนวน 2,778 คน รองลงมาคือ เกาหลีใต้ จำนวน 1,298 คน ญี่ปุ่น จำนวน 643 คน อิสราเอล จำนวน 558 คน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จำนวน 453 คน ตามลำดับ และประเทศที่คนหางานมีพฤติกรรมจะลักลอบไปทำงานมากที่สุดคือ เกาหลีใต้และบาห์เรน ซึ่งการไปทำงานต่างประเทศควรไปอย่างถูกวิธีและถูกต้องตามกฎหมายซึ่งมี 5 วิธี คือ บริษัทจัดหางานจัดส่ง กรมการจัดหางานจัดส่ง เดินทางไปทำงานด้วยตนเอง นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงานและนายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างไปฝึกงานในต่างประเทศ
 
กรมการจัดหางานจึงขอประชาสัมพันธ์ให้คน หางานไทยที่ต้องการไปทำงานต่างประเทศได้ทราบ หากต้องการ ไปทำงานต่างประเทศ สามารถขอคำปรึกษาแนะนำหรือตรวจสอบข้อมูลกับกรมการจัดหางานก่อนตัดสินใจไปทำงานได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนัก จัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10 สำนักงานบริหารแรงงานไทย ไปต่างประเทศ โทร. 02-2459435 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท