ฮิวแมนไรท์วอทช์จี้ขอรูปธรรมหลังครม.ผ่าน กม.ป้องกันทรมาน-บังคับให้สูญหาย

ฮิวแมนไรท์วอทช์จี้ขอรูปธรรมหลังรัฐไทยรับหลักการ กม.ป้องกันทรมาน-บังคับให้สูญหาย ชี้หลังรัฐประหาร มีกรณีซ้อมทรมานเพียบ ด้านข้าหลวงใหญ่สิทธิ ยูเอ็น เผยได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีบุคคลถูกบังคับให้สูญหายในไทยถึง 82 กรณี พร้อมเสนอไทยอนุญาตให้กรรมการสิทธิไทย เข้าสังเกตสถานที่ควบคุมตัวอย่างอิสระ

26 พ.ค. 2559 หลังที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. และมีมติเห็นชอบให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ

องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการตามที่ให้คำมั่นไว้ ว่าจะทำให้การทรมานและการบังคับให้สูญหายเป็นความผิดอาชญากรรม โดยชี้ว่าแม้ไทยจะประกาศว่า จะผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวรวมถึงให้สัตยาบัน แต่รัฐบาลไทยก็ยังไม่ได้ระบุกรอบเวลาที่ชัดเจนในการดำเนินการดังกล่าว

แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการทรมานและบังคับให้สูญหายในไทยมักเลี่ยงโทษร้ายแรงที่พวกเขาควรจะได้รับ เพราะกฎหมายไทยไม่ได้ถือว่ามันเป็นอาชญากรรมร้ายแรง

"รัฐบาลต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม เพื่อทำให้การทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญา และใช้กฎหมายใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ"

ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจะมีบทลงโทษจำคุกเจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำทรมานสูงสุดถึง 20 ปี ซึ่งโทษนี้จะเพิ่มเป็น 30 ปีหากการทรมานนำไปสู่การบาดเจ็บอย่างรุนแรง และโทษจำคุกตลอดชีวิตหากการทรมานส่งผลให้ผู้เคราะห์ร้ายเสียชีวิต เจ้าหน้าที่ผู้กระทำการบังคับให้บุคคลสูญหายจะได้รับโทษจำคุกสูงสุด 20 ปี ซึ่งจะเพิ่มเป็น 30 ปีหากการบังคับให้บุคคลสูญหายทำให้บุคคลต้องบาดเจ็บอย่างรุนแรง และมีโทษจำคุกตลอดชีวิตหากบุคคลถึงแก่ชีวิต

นอกจากนี้ ฮิวแมนไรท์วอทช์แสดงความกังวลอย่างมากต่อกรณีการคุมตัวอย่างลับๆ โดยทหาร ภายใต้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ต่อผู้เห็นต่างทางการเมือง และผู้ต้องหาคดีความมั่นคง และภายใต้กฎอัยการศึก 2457 ต่อผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการในชายแดนใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐประหาร พ.ค. 2557

แถลงการณ์ของฮิวแมนไรท์วอชท์ชี้ว่า การทรมานเป็นปัญหาที่เกิดระหว่างการคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร หลังรัฐประหารเมื่อ พ.ค. 2557 มีคนจำนวนมากซึ่งถูกนำตัวไปคุมขังที่ค่ายทหารบอกว่าพวกเขาถูกทรมานหรือปฏิบัติไม่ดี โดยวิธีการทรมาน เช่น การตี การช็อตไฟฟ้า ทำให้แทบหายใจไม่ออก รัฐบาลทหารมักจะปฏิเสธข้อกล่าวหาว่า ทหาร ตำรวจ หรือหน่วยงานความมั่นคงทรมานหรือปฏิบัติไม่ดีต่อผู้ถูกคุมขัง นอกจากนี้ยังมักฟ้องกลับด้วยข้อหาแจ้งความเท็จ โดยตั้งใจทำลายชื่อเสียงประเทศไทย

อดัมส์ ชี้ว่า รัฐต่างๆ ที่ห่วงใยในประเด็นนี้ควรเร่งให้รัฐบาลไทยทำตามคำมั่นที่ให้ไว้ว่าจะต่อสู้กับการทรมานและการบังคับให้สูญหาย ปัญหาที่ฝังรากยาวนาน ซึ่งกลายเป็นหลักฐานของการไม่เคารพกฎหมายและสิทธิขั้นพื้นฐาน ต้องใช้ความพยายามที่แข็งแกร่งและยั่งยืนเพื่อขจัดมัน

 

ยูเอ็นยินดี ไทยผ่านกม.ป้องอุ้มหาย-แนะอนุญาต กสม.สังเกตสถานที่คุมตัว

ด้าน สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNOHCHR) ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 25 พ.ค. แสดงความยินดีที่รัฐบาลไทยตัดสินใจจะออกกฎหมายให้การทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหายถือเป็นความผิดทางอาญา รวมทั้งจะให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับให้สูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance)

“การตัดสินใจของรัฐบาลถือเป็นก้าวย่างที่ดีในการปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เราขอเร่งรัดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่านกฎหมายว่าด้วยการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหายอย่างเร่งด่วนต่อไป” โลรอง เมย์ยอง รักษาการผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาค กล่าว

“เป็นเวลานานเหลือเกินแล้วที่ไม่มีการรับผิดชอบกรณีเกิดการทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหายโดยไม่สมัครใจ ทั้งนี้เพราะไม่มีกรอบทางกฎหมายที่จะลงโทษผู้กระทำผิด แต่เมื่อใดก็ตามที่มีการผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ การทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหายจะถือเป็นอาชญากรรมเสียที และเหยื่อและครอบครัวจะสามารถใช้ช่องทางกฎหมาย ในขณะที่ผู้ก่ออาชญากรรมอันโหดร้ายจะถูกลงโทษ”

แถลงการณ์ระบุว่า คณะทำงานของสหประชาชาติว่าด้วยการบังคับให้บุคคลสูญหายหรือโดยไม่สมัครใจรับเรื่องร้องเรียนกรณีบุคคลถูกบังคับให้สูญหายในประเทศไทยที่ยังไม่ได้รับการคลี่คลายอยู่ถึง 82 กรณี

นอกจากนี้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาค ยังได้ขอให้รัฐบาลไทยอนุญาตให้สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เข้าสังเกตสถานที่ควบคุมตัวทุกแห่งอย่างอิสระ เพื่อเป็นการป้องกันเพิ่มเติมไม่ให้ผู้ถูกควบคุมตัวถูกซ้อมทรมาน

พร้อมกันนี้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามภาระผูกพันของตนด้วยการให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (Optional Protocol to the Convention against Torture) ทันที ซึ่งจะส่งผลให้สามารถจัดตั้งกลไกป้องกันระดับชาติเพื่อสังเกตการณ์การเข้าเยี่ยมสถานที่ต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เช่น ศูนย์ควบคุมตัว เรือนจำ และสถานที่อื่นในทำนองเดียวกัน

ทั้งนี้ ในระหว่างการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (ยูพีอาร์) ของไทยที่เจนีวาเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยได้กล่าวว่าตนวางแผนจะยื่นพิธีสารเลือกรับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานให้กับคณะรัฐมนตรีเพื่อให้สัตยาบันรับรองต่อไป

ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2550 ประเทศไทยให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (the Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment)

 

ที่มา: hrw.org, Facebook: UNHumanRightsAsia

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท