Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


สลายวอย ชิเชคกล่าวบรรยายปิดงาน Left Forum ณ วิทยาลัย John Jay เมื่อค่ำวันที่ 22 พฤษภาคม 2559
ที่มาภาพ: เว็บไซต์ Russian Today: https://www.rt.com/usa/344148-zizek-left-forum-refugees/

“แกมันไร้สาระสิ้นดี! (You are full of shit!)” เสียงตะโกนดังขึ้นจากฟากฝั่งของคนดู ทันทีที่สลาวอย ชิเชค นักปรัชญามาร์กซิสต์ชาวสโลวีเนียนเดินขึ้นเวทีและกำลังจะกล่าวคำทักทายมิตรสหายฝ่ายซ้ายนับร้อยตรงหน้าเขา ชิเชคอ้ำอึ้งสักพัก มองไปยังทิศต้นกำเนิดเสียง พร้อมเตือนด้วยน้ำเสียงทีเล่นทีจริงว่า ถ้าคนดูอยากจะมาแนวนี้ สำเหนียกไว้หน่อยว่าเขามาจากประเทศที่เป็นเลิศในการพ่นคำสบถใส่กัน เสียงหัวเราะดังขึ้น ชิเชคเริ่มอ่านสิ่งที่เขาเตรียมมาพูดในวันนี้

สลาวอย ชิเชคได้รับเชิญให้เป็นผู้กล่าวปิดงานเสวนาใหญ่ที่มีชื่อว่า Left Forum ซึ่งได้จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 20 – 22 พฤษภาคม 2559 ณ วิทยาลัย John Jay มลรัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา  Left Forum คืองานประจำปีที่เปิดโอกาสให้นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวที่สนใจในความคิดทางการเมืองปีกซ้ายจัดกลุ่มเสวนาย่อย เพื่อให้ความรู้ แลกเปลี่ยนความเห็น และกำหนดทิศทางการต่อสู้กับทุนนิยม รัฐ และอำนาจเผด็จการนานารูปแบบ ในปีนี้ชิเชคได้รับเกียรติเป็นผู้กล่าวปิดงานภายใต้หัวข้อ Rage, Rebellion, Organizing New Power: A Hegelian Triad อย่างไรก็ดี ชิเชคดูจะไม่ได้เป็นที่ต้อนรับจากผู้ชมกลุ่มหนึ่ง โดยก่อนงานเริ่ม มีการแจกใบปลิวต่อต้านเขา (รูปที่หนึ่ง) ชิเชคถูกโจมตีว่าเป็นฟาสซิสต์เหยียดชาติพันธุ์ผู้รังเกียจผู้หญิงและผู้ลี้ภัย ดูเหมือนว่า ฝ่ายซ้ายอเมริกันส่วนหนึ่งจะไม่ขอทนกับคำพูดที่ไม่ political correct ของชิเชคอีกต่อไป “ทำไมเขาถึงยังได้รับเชิญมางานของฝ่ายซ้าย?”

บทความชิ้นนี้สรุปประเด็นที่ชิเชคนำเสนอท่ามกลางเสียงโห่ร้องเป็นระยะๆในวันที่ 22 พฤษภาคม 2559 สำหรับคนที่ติดตามผลงานของชิเชคมาโดยตลอดอาจมองว่าชิเชคไม่ได้พูดอะไรใหม่ในงานนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่า การพูดครั้งนี้ถือเป็นการสรุปรวบยอดความคิดที่ชิเชคเขียนหรือพูดมาเป็นเวลาหลายปี และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เพิ่งมีความสนใจต่อมุมมองทางการเมืองของเขา ในขณะเดียวกัน ผู้เขียนก็หวังให้ผู้อ่านร่วมกันค้นหาคำตอบว่าอะไรคือต้นเหตุของความตึงเครียดและความเป็นปฏิปักษ์กันในหมู่คนที่เรียกตัวเองว่าเป็นฝ่ายซ้ายหรือมาร์กซิสต์ ทั้งๆที่ต่างก็มีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงสังคมและปลดแอกมนุษย์สู่เสรีภาพ


ใบปลิวต่อต้านชิเชคถูกแจกก่อนชิเชคขึ้นบรรยาย
 

1. โทสะ การลุกฮือ และการจัดตั้ง: ขบวนการเคลื่อนไหวต้องมีแผนการสร้างสังคมใหม่หลังการโค่นล้มระบอบเก่า[1]

ชิเชคเริ่มการบรรยายด้วยการพาดพิงถึงคำสำคัญหลักๆตามหัวข้อของงาน สำหรับเขาแล้ว บ่อยครั้งที่การต่อสู้ทางการเมืองมักมีจุดเริ่มต้นมาจากการระเบิดขึ้นของแรงโทสะ (Rage) ในหมู่คนที่โดนกดขี่ ถึงกระนั้น ความคับแค้นกลับถูกแสดงออกมาในรูปของการจลาจลที่มุ่งทำลายล้างทรัพย์สินสาธารณะโดยปราศจากเป้าหมายทางการเมืองใดใด ชิเชคมองว่าการระบายความโกรธแค้นที่ไร้ระเบียบเช่นนี้ด้านหนึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของบางสิ่งบางอย่างที่ยิ่งใหญ่ แต่อีกด้านหนึ่งมันก็สะท้อนความล้มเหลวของพลังต่อต้านและความสำเร็จของระบอบที่สามารถกดทับและจำกัดอำนาจท้าทายให้เป็นแค่เพียงอารมณ์คับแค้นที่ปะทุออกมาอย่างไร้วิสัยทัศน์ การลุกฮือ (Rebellion) คือรูปแบบการต่อต้านในลำดับต่อมา การลุกฮือเกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวกระทำการทางเมืองร่วมกัน โดยผู้เข้าร่วมต่างรับรู้โดยทั่วกันแล้วว่า ศัตรูของพวกเขาคืออะไร และมีเป้าหมายในการทำลายศัตรูทางการเมืองนั้นๆ การลุกฮืออาจเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดที่นักเคลื่อนไหวทั่วไปต้องการบรรลุ แต่ชิเชคมองว่ายังไม่เพียงพอ

ทุกวันนี้ เรามีพลังการลุกฮืออยู่เต็มไปหมด แต่สิ่งที่ขาดก็คือ ระเบียบและแผนการสร้างสังคมใหม่หลังการโค่นล้มระบอบเก่า ชิเชคยกตัวอย่างภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดว่าด้วยการปฏิวัติเรื่อง V for Vendetta[2] เพื่อให้ผู้ฟังเห็นภาพมากขึ้น เขาเล่าว่า แน่นอน เราต่างรู้สึกฮึกเหิมและประทับใจเมื่อได้เห็นฝูงชนชาวอังกฤษก้าวพ้นความกลัว สวมใส่หน้ากากกาย ฟอว์ก และเดินออกมาตามท้องถนน เพื่อมุ่งไปยังรัฐสภา พวกเขากำลังจะยึดอำนาจรัฐ แต่แล้วหนังปฏิวัติเรื่องนี้ก็จบลง เราต่างถูกทิ้งไว้กับคำถามที่ว่า “เกิดอะไรขึ้นในเช้าวันถัดมา?” เมื่อเราควบคุมกลไกของรัฐได้แล้ว เราจะเปลี่ยนแปลงมันหรือไม่ กลุ่มผู้ปกครองใหม่จะรับมือกับแรงกดดันของมวลชนที่สนับสนุนตนอย่างไร การที่ขบวนเคลื่อนไหวแปรเปลี่ยนเป็นพรรคการเมืองจะนำไปสู่การประนีประนอมและการต่อรองมากน้อยเพียงใด นักปฏิวัติจำเป็นต้องขบคิดคำถามเหล่านี้ พูดง่ายๆก็คือ V for Vendetta จำเป็นต้องมีภาคสอง จึงจะได้ชื่อว่าเป็นหนังว่าด้วยการปฏิวัติที่แท้จริง
 

2. วิกฤตทุนนิยมกับทางแก้แบบผิดๆ

ชิเชควิพากษ์ระบอบทุนนิยมในปัจจุบันว่าก่อให้เกิดวิกฤตหลายๆด้าน อันได้แก่ วิกฤตการสั่งสมความรู้และวัฒนธรรม ยกตัวอย่างเช่น การที่เราต้องจ่าย “ค่าเช่า (Rent)” ต่อบรรษัทข้ามชาติอย่างไมโครซอฟเพื่อสร้างต้นทุนให้แก่ตนเอง วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม วิกฤตด้านพันธุกรรมชีวภาพ และวิกฤตเกี่ยวกับมนุษยชาติอันเป็นผลมาจากการขูดรีดและกีดกันรูปแบบใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม ปัญหาไม่ได้อยู่ตรงที่ตัววิกฤตเหล่านี้เพียงเท่านั้น หากแต่เป็นทางแก้ต่างๆที่เรามีอยู่ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วย กล่าวคือ วิกฤตเหล่านี้ถูกมองว่าจะได้รับการแก้ไขผ่านกระบวนการทางกฎหมายลิขสิทธิ์ แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน การถกเถียงปัญหาผ่านกรอบจริยธรรม และการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม เป็นต้น ทางแก้เหล่านี้ลดทอนปัญหาจนทำให้เรามองไม่เห็นความเป็นปฏิปักษ์ทางชนชั้นที่แฝงฝังในวิกฤตดังกล่าว สำหรับชิเชคแล้ว เขาไม่อยากจะอยู่ในโลกที่ มหาเศรษฐีอย่างบิล เกตคือนักมนุษยธรรมที่ใจบุญที่สุด หรือ เจ้าพ่อวงการสื่ออย่างรูเพิร์ท เมอด็อคคือ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่น่านับถือ

 

3. ปัญหาผู้ลี้ภัยไม่สามารถแก้ได้ด้วยกรอบการมองแบบพหุนิยมทางวัฒนธรรม

“พวกผู้ลี้ภัยเป็นผู้ก่อการร้าย อาชญากร และนักข่มขืน” เสียงโห่ดังขึ้นเมื่อชิเชคกล่าวประโยคดังกล่าว ชิเชคตั้งใจยั่วยุผู้ชมของเขาด้วยคำพูดของฝ่ายขวาในยุโรปที่คัดค้านนโยบายเปิดรับผู้ลี้ภัย ชิเชคออกตัวว่าเขาไม่ได้เห็นด้วยกับข้อความเหมารวมเหยียดชาติพันธุ์ข้างต้น แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ไม่เห็นด้วยที่ฝ่ายซ้ายบางส่วนเลือกที่จะไม่ยอมรับความจริงที่ว่ามีผู้ลี้ภัยบางส่วนประสบความยากจนและกลายเป็นอาชญากรจริงๆ “ทำไมเราต้องทำกับพวกเขาเหมือนเด็กด้วย?” เขาตั้งคำถาม ชิเชคอธิบายว่ามุมมองที่เน้นปกป้องผู้ลี้ภัยและไม่ยอมรับปัญหาทางสังคมที่พวกเขาก่อขึ้นต่างหากที่อันตรายและเหยียดชาติพันธุ์ เขายืนกรานว่า ที่ผ่านมา ฝ่ายซ้ายทราบถึงปัญหาดังกล่าวเพียงแต่กลัวว่าถ้าพูดออกมาแล้วจะไปเข้าทางพวกฝ่ายขวา ถึงเวลาแล้วที่พวกฝ่ายซ้ายจะต้องเลิกซ่อนปัญหาสังคมในหมู่ผู้ลี้ภัยไว้ใต้พรม และเริ่มถกเถียงกันในที่สาธารณะ

ในส่วนของวาทกรรมและอุดมการณ์เหยียดชาติพันธุ์ซึ่งฝ่ายขวาในยุโรปปลุกระดมเพื่อต่อต้านผู้ลี้ภัยนั้น ชิเชคชวนให้เราคิดว่า แทนที่เราจะคอยแก้ต่างอยู่เสมอว่า ผู้ลี้ภัยไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย ประเด็นที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ ทัศนคติเช่นนี้สะท้อนตัวตนและการดำรงอยู่ของเรา (ชาวยุโรป/ตะวันตก) อย่างไร เขาได้ยกกรณีระบอบนาซีเยอรมันเป็นตัวอย่าง ดังที่ทราบกันว่า ระบอบนาซีได้ผลิตซ้ำวาทกรรมเกลียดชังคนยิว โดยมีคำอธิบายต่างๆที่ฉายภาพให้คนยิวเป็นภัยต่อสังคมเยอรมนี หน้าที่ของเราไม่ใช่การมาจัดดีเบตถกกันเรื่องคนยิวเป็นภัยสังคมจริงหรือไม่ แต่เป็นการย้อนกลับมาตั้งคำถามกับสังคมของเราเองว่าทำไมเราจึงหมกมุ่นกับการสร้างอัตลักษณ์ความเป็นอื่นเช่นนี้

สุดท้ายแล้ว ชิเชคไม่เชื่อว่า ปัญหาผู้ลี้ภัยจะสามารถแก้ได้ผ่านกรอบเรื่องพหุนิยมทางวัฒนธรรม เขาไม่เห็นด้วยที่ฝ่ายซ้ายส่วนใหญ่พยายามทำความเข้าอกเข้าใจและกระชับความสัมพันธ์กับกลุ่มผู้ลี้ภัยผ่านมุมมองแบบวัฒนธรรม เขาบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า สิ่งเดียวที่เราและพวกเขามีร่วมกันคือ การต่อสู้ทางชนชั้น ประเด็นอื่นๆที่เหลือ ไม่ว่าจะเป็นอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณีที่หลากหลายมิได้เป็นสิ่งที่สวยงามน่าเรียนรู้และเกี่ยวข้องกับภารกิจการต่อสู้ทางการเมืองของเราแม้แต่น้อย
 

4. กับดักหลุมพรางจุดยืนต้านค่านิยมตะวันตก

สืบเนื่องจากหัวข้อข้างต้น ชิเชคมองว่าขณะนี้ฝ่ายซ้ายในโลกตะวันตกกำลังเผชิญกับสภาวะรังเกียจตัวเอง กล่าวคือ พวกเขามองว่าปัญหาใดใดในโลกล้วนเกิดขึ้นจากการล่าอาณานิคมและการกดขี่ของคนขาว พวกเขารู้สึกละอายใจและลังเลที่จะยกเอาค่านิยมหรือหลักการที่มีรากเหง้าตะวันตกมาวิพากษ์วิจารณ์ประเทศอื่นๆที่เหลือ ผลที่ตามมาก็คือ “กระแสต้านจุดยืนแบบยุโรปเป็นศูนย์กลาง (anti-Eurocentric)” กลายเป็นที่นิยมไม่ใช่แค่ในหมู่ฝ่ายซ้ายสำนึกผิดเท่านั้น แต่ยังถูกหยิบฉวยไปใช้ให้ความชอบธรรมต่อระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยหรือขบวนการคลั่งศาสนาสุดโต่ง ยกตัวอย่างเช่น ประเทศที่เอาแต่อ้าง “ค่านิยมเอเชีย” แทนหลักการประชาธิปไตย น่าสนใจว่าการปกครองเช่นนี้เอื้อต่อการเจริญเติบโตของทุนนิยมได้ดีกว่าประชาธิปไตยตะวันตกเสียอีก อีกด้านหนึ่ง ชิเชคชวนให้เราคิดถึงกลุ่มก่อการร้ายโบโกฮารามในไนจีเรีย กลุ่มคลั่งศาสนาอิสลามกลุ่มนี้จับอาวุธต่อสู้เพื่อสถาปนาสังคมใหม่ที่ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของผู้หญิง ที่น่าสนใจก็คือ พวกเขามองการต่อสู้ของตัวเองว่าเป็นการต่อต้านการล่าอาณานิคมตะวันตก ชิเชคถามว่าอะไรคือจุดยืนของฝ่ายซ้ายสำนึกผิดที่เอาแต่ต่อต้านค่านิยมตะวันตกกับกรณีเช่นนี้

ชิเชคประกาศอย่างชัดเจนว่าเขาไม่ “อิน” กับความเซ้นซิทีฟทางวัฒนธรรมในหมู่ฝ่ายซ้ายแม้แต่น้อย เขาไม่คิดว่าPolitical Correctness (PC) ที่มุ่งระแวดระวังต่อการใช้ศัพท์แสงอันปลอดอคติทางชาติพันธุ์ เหยียดเพศและผิวจะเป็นทางออกของปัญหา   ยกตัวอย่างเช่น การใช้คำว่า “Native American” แทนการเรียกคนอเมริกันพื้นเมืองว่า “อินเดียน”  ทันทีที่เขาเอ่ยคำว่า “อินเดียน” ก็มีเสียงโห่ดังขึ้นในห้องประชุม ชิเชคโต้แย้งกลับว่า “ทัศนคติแบบนี้แหละที่ผมรู้สึกว่ามีปัญหา” พร้อมให้คำอธิบายที่เขาเคยพูดมาหลายครั้งแล้วว่า เพื่อนอเมริกันอินเดียนหลายๆคนของเขาเกลียดชื่อเรียก Native American พวกเขาไม่ได้คำนึงถึงความ pc หรือไม่ pc ตามกรอบของคนขาวผู้ปรารถนาดี พวกเขาอยากจะใช้ชื่อ “อินเดียน” ต่อไป เพราะอย่างน้อยมันก็เป็นการตอกย้ำความโง่ของคนขาวอยู่เสมอ (ที่ดันเข้าใจผิดว่ากลุ่มคนที่อาศัยในทวีปอเมริกาคือคนอินเดีย) 

กล่าวโดยสรุป ดูเหมือนว่ามีหลายๆสิ่งที่ชิเชคพูดไม่เข้าหูนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายอเมริกัน ในขณะที่ฝ่ายหลังยังมองขบวนการ Occupy Wall street ในปี 2554 ด้วยสายตาที่ชื่นชม ชิเชคกลับถามหาการจัดตั้งขบวนที่เป็นระบบระเบียบและวิสัยทัศน์ใหม่ๆ ในขณะที่ฝ่ายซ้ายอเมริกันกำลังเคลื่อนไหวต่อต้านกระแสนิยมนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ที่จะเป็นตัวแทนลงเลือกตั้งประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกัน ชิเชคกลับมองว่าทรัมป์เป็นแค่นักฉวยโอกาส และคนที่น่ากลัวกว่าทรัมป์คือ เท็ด ครูซ (ผู้ชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคอีกคน) ในขณะที่ประเด็นเรื่องการเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรมเป็นหัวใจสำคัญของนักกิจกรรมหลายๆคน ชิเชคกลับมองว่าสิ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรม” คืออุดมการณ์ที่แฝงฝังในชีวิตประจำวัน และเป็นสิ่งที่เราอยากจะนำเสนอเกี่ยวกับตัวเราเท่านั้น บ่อยครั้งมันเป็นข้ออ้างในการช่วยให้เราหลบหลีกหรือบิดเบือนความเป็นจริง  ด้านหนึ่ง เราอาจมองได้ว่า ชิเชคคือภาพสะท้อนของนักปรัชญาบนหอคอยงาช้างที่เอาแต่ปรามาสนักเคลื่อนไหวว่ายังไม่มีความถอนรากถอนโคนมากพอ อีกด้านหนึ่ง บทวิพากษ์ของเขาก็อาจจะเป็นเหมือนยาขมที่ช่วยทำให้ฝ่ายซ้ายเสรีนิยมก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวเอง สุดท้ายแล้วพลวัติความคิดทางการเมืองของฝ่ายซ้ายในปัจจุบันก็หนีไม่พ้นประเด็นเรื่องแนวทางการต่อสู้เคลื่อนไหว การมองศัตรู การตั้งคำถามต่อทางแก้ไขปัญหาต่างๆที่มีอยู่ในปัจจุบัน และความสำคัญของอัตลักษณ์วัฒนธรรมในความขัดแย้งทางชนชั้น  

 

เชิงอรรถ

[1] สำหรับผู้ที่สนใจและต้องการศึกษาในรายละเอียดเกี่ยวกับหัวข้อดังกล่าว โปรดดู Slavoj Zizek, Violence: Six Sideways Reflections (New York: Picador, 2008) และ สรวิศ ชัยนาม, Slavoj Zizek : ความรุนแรงและการเมืองเพื่อการปลดปล่อย (กรุงเทพ : สยามปริทัศน์, 2558).

[2] V for Vendetta (2005) กำกับโดย James Mc Teigue และนำแสดงโดย Natalie Portman และ Hugo Weaving เป็นภาพยนตร์ที่ฉายภาพประเทศอังกฤษภายใต้ระบอบเผด็จการ และเล่าเรื่องราวกำเนิดและพัฒนาการการต่อสู้ของมวลชนเพื่อโค่นล้มผู้ปกครอง ดู สรวิศ ชัยนาม, “V for Vendetta การปฏิวัติและความรุนแรง,” ใน จากการปฏิวัติถึงโลกาภิวัตน์: ความรู้เบื้องต้นการเมืองโลกเชิงวิพากษ์ผ่านสื่อภาพยนตร์ (กรุงเทพ: ศยาม, 2555).

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net