ผู้หญิงกับป่า: ชีวา•ป่า•ดอย ความมั่นคงทางอาหารและรากเหง้าของชีวิต

ในขณะนโยบายของรัฐ พยายามกันคนออกจากป่า แต่อีกฝั่งชาวบ้านบนดอยพยายามบอกเล่าเรื่องราวตัวตน ผ่านอาหาร ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับป่าต้นน้ำ เชื่อมระหว่างผู้ผลิตบนดอยกับผู้บริโภคในเมือง เพื่อสร้างความเข้าใจ สร้างระบบเศรษฐกิจเพื่อรักษาป่าต้นน้ำและวิถีความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนของคนบนพื้นที่สูง

"มหกรรมอาหารรักษ์ป่า : ชีวา-ป่า-ดอย”  เป็นอีกกิจกรรมที่น่าสนใจกิจกรรมหนึ่ง ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 พ.ค.2559 ที่ผ่านมา ที่ JJ Market Zone C จ.เชียงใหม่ พอเข้าสู่บริเวณงาน หลายคนเริ่มทยอยกันเข้าเที่ยวชมงานกันอย่างต่อเนื่อง แต่ละซุ้ม แต่ละมุม มีการนำสินค้าพื้นเมืองชนเผ่า หลายหมู่บ้านในภาคเหนือ มาตั้งวางจำหน่ายใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ มีทั้งข้าวซ้อมมือ พืชผักพื้นบ้าน กาแฟ สมุนไพร เสื้อผ้าชนเผ่าที่ถักทอกันขึ้นมาเอง อาทิเช่น ชาวบ้านปกาเกอะญอบ้านห้วยหินลาดใน จ.เชียงราย นำน้ำผึ้งป่า และพืชผักพื้นบ้านนานาชนิดมาวางขาย เครือข่ายชนเผ่าอาข่า จ.เชียงราย นำชาอู่หลง ชาจีน มาให้ชิมกันถึงที่ ส่วนชาวบ้านบ้านห้วยกระทิง จ.ตาก นำพริกแห้ง น้ำผึ้งป่า มาวางขาย และนั่น ชาวบ้านห้วยบะบ้า บ้านแม่ละอูป บ้านแจ่มน้อย จาก อ.กัลยานิวัฒณา จ.เชียงใหม่ นำผ้าทอปกาเกอะญอและผักพื้นบ้านมาวางขายเหมือนกัน

ในขณะชาวบ้านบ้านกองซาง อมก๋อย รวมทั้งชาวบ้านห้วยบง บ้านสามสบบน บ้านแม่คงคา อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ และชาวบ้านห้วยตองก๊อ จ.แม่ฮ่องสอน ก็ขนข้าวก่ำดอย ข้าวซ้อมมือ มาบรรจุใส่ถุงจำหน่ายในราคาคุณภาพกันเลย ส่วนกลุ่มแม่บ้านบ้านนาเรือน บ้านกอกน้อย อ.แม่แจ่ม นำผ้าตีนจกและผ้าทอมือของชาวลัวะ มาวางจำหน่ายด้วยเช่นกัน

นอกจากนั้น ยังมีการนำเมล็ดกาแฟ “ดาวลอย คาเฟ่” จากอำเภออมก๋อย ซึ่งถือเป็นแหล่งปลูกกาแฟอินทรีย์ที่มีคุณภาพระดับพรีเมี่ยม ทั้งความเหมาะสมของระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล การปลูกใต้ร่มไม้ในป่า และการเลือกเก็บเมล็ดที่สุกเต็มที่ กาแฟนี้จึงคว้ารางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศ Coffee Travel Thailand เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมาด้วย

ที่น่าสนใจ ก็คือ ชาวบ้านชนเผ่ามีการแปรรูปอาหารหลายอย่าง พร้อมกับติดโลโก้ แบรนด์ Chiva • Pa • Doi “ชีวา ป่า ดอย” เอาไว้ ดูโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ น่าติดตาม ค้นหาเป็นอย่างยิ่ง ภายใต้แบรนด์นั้น มีถ้อยคำสั้นๆ บอกว่า...’สนับสนุนสินค้าท้องถิ่นที่เป็นมิตรต่อป่าต้นน้ำ’

ดิเรก เครือจินลิ ผู้ประสานงานมูลนิธิรักษ์ไทย ที่ได้ริเริ่มกิจกรรมในครั้งนี้ บอกเล่าให้ฟังว่า การทำแบรนด์โลโก้สินค้าของผู้หญิงบนพื้นที่สูง นี้ ก็เพื่อจะให้กลุ่มผู้หญิงได้มีโอกาสเล่าเรื่องราวองค์ความรู้ของตนเอง บอกกล่าวเรื่องราวเหล่านี้ให้กับผู้บริโภค ว่าในสินค้าผลิตภัณฑ์นั้นมีเรื่องราว มีส่วนในการร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้นได้อย่างไร

ผศ.ศุภชัย ศาสตร์สาระ ภาควิชาสหศาสตร์ศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานออกแบบแบรนด์นี้ขึ้นมา บอกเล่าให้ฟังว่า แนวคิดการมีส่วนร่วม เป็นสิ่งสำคัญที่ถักทอเรื่องเล่าหรือเรื่องราว ดังนั้น การทำแบรนด์หรือการออกแบบแบรนด์นี้ จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องทำงานร่วมกันระหว่างเรากับเขา เพราะเรื่องราวบนภูเขานั้นมีความเป็นพิเศษ มีเอกลักษณ์เฉพาะ แตกต่างกับชุมชนคนข้างล่าง สิ่งนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การออกแบบ

“เราได้เข้าไปหาข้อมูล ไปเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้าน ไปนอน ไปกิน ไปเห็นสิ่งหนึ่งที่สวยงามมาก นั่นคือความเป็นชาติพันธุ์ ความเป็นลักษณะเฉพาะของผู้คนที่นั่น ทั้งในด้านภาษา เสียง การแต่งกาย อาหารการกิน เห็นการดำรงอยู่ของอาชีพ ของลำน้ำ ของตาน้ำ ของต้นไม้สีเขียว สิ่งเหล่านี้ เป็นต้นทุนที่เรานำกลับมาวิเคราะห์กันอีกครั้งหนึ่ง ในระหว่างที่เราเข้าไปในชุมชน ก็พยายามจัดกิจกรรมเสริมเข้าไป ทำให้เรามองเห็นรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ มันเป็นความงาม เกิดความไว้ใจ และสิ่งสำคัญก็คือ การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจนเกิดแบรนด์ครั้งนี้”

ศรินทิพย์ พรหมฤทธิ์ ผู้ประสานงานฝ่ายงานเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคเหนือ มูลนิธิรักษ์ไทย เปิดเผยว่า มูลนิธิรักษ์ไทย ภาคเหนือ เดิมเรามุ่งเน้นทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติกับชุมชนต่างๆ บนพื้นที่สูง ได้แก่ การพัฒนาศักยภาพให้ชุมชน เรียนรู้เทคนิคการจัดการน้ำสมัยใหม่ และนำมาผสมผสานกับภูมิปัญญาในการจัดการน้ำแบบดั้งเดิมของชุมชน แต่ปัจจุบัน หลายชุมชนเริ่มปรับเปลี่ยนและตั้งรับการเข้ามาของทุนภายนอก ทำให้ชุมชนบนพื้นที่สูง มีพื้นที่ทำกินลดลง จากการถูกประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์รูปแบบต่างๆ อีกทั้งชาวบ้านเองก็มีความจำเป็นในการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการศึกษาของบุตร ประกอบกับการส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจโดยทุนจากภายนอก ผ่านระบบสินเชื่อ ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตและรับซื้อผลผลิต ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยที่สูง ชุมชนต้องแบกรับความเสี่ยงทั้งด้านราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอน และความเสี่ยงต่อการสูญเสียผลผลิตทั้งที่เกิดจากโรคแมลงระบาดและภัยธรรมชาติ เช่น ภัยแล้ง หรือน้ำป่าไหลหลาก รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เกิดจากภาวะโลกร้อน มีผลให้ความเสี่ยงต่อการสูญเสียผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นและเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน และจากการเปลี่ยนแปลงของฝน ที่มีแนวโน้มที่จะตกหนักในระยะเวลาอันสั้นและทิ้งช่วงยาวนาน

“ที่ผ่านมา ทางมูลนิธิฯ พยายามค้นหาแนวทางในการทำงานเพื่อลดผลกระทบและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศบนพื้นที่สูง คือ หันมากลับมาเน้นการสนับสนุนให้ชาวบ้านมีการผลิตและแหล่งรายได้ที่หลากหลาย ใช้พันธุ์พืชและสัตว์ท้องถิ่นที่มีความทนทาน ต้นทุนการผลิตต่ำและไม่ต้องพึ่งพาสินเชื่อภายนอก”

ผู้ประสานงาน มูลนิธิฯ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน ความรู้และการจัดการในการปลูกพืชผักและเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นแหล่งอาหารนั้นส่วนใหญ่เป็นงานของผู้หญิงชนเผ่า ส่วนผู้ชายให้ความสำคัญกับการผลิตพืชเศรษฐกิจเพื่อเป็นรายได้มากกว่าดังนั้น มูลนิธิฯ จึงได้ทำงานร่วมกับกลุ่มผู้หญิงชาติพันธุ์ 15 ชุมชนใน 3 อำเภอ ได้แก่ 6 ชุมชนในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม3 ชุมชนในพื้นที่อำเภอกัลยานิวัฒนา และ 6 ชุมชนในพื้นที่อำเภออมก๋อย มาเป็นระยะเวลา 18 เดือน ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชและสัตว์ท้องถิ่น รวมถึงงานฝีมือหัตถกรรมและทอผ้า โดยการเสริมความรู้ด้านการแปรรูปสินค้าเกษตรและการออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้า พร้อมกับการพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการในระบบกลุ่ม

“จะเห็นว่า หลังจากเราได้มีจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา ทุกคนรู้สึกตื่นเต้น ดีใจกันมาก แม่บ้านชนเผ่าเกือบทั้งหมดไม่เคยขายผลผลิตของตนเองต่อผู้บริโภคมาก่อน ส่วนใหญ่เคยเจอแต่พ่อค้าคนกลางและระบบรับซื้อแบบเกษตรพันธะสัญญา แม้แต่แม่บ้านที่ผลิตผ้าตีนจก ก็เป็นเพียงผู้ผลิตและขายผ่านพ่อค้าคนกลางมาโดยตลอด พอเราชักชวนชาวบ้านลงมาจำหน่ายกันเอง ทำให้ทุกคนมีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น รู้ว่าสินค้าของตนเองเป็นที่ต้องการของตลาด และเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น เพราะได้พูดคุยกับผู้บริโภคโดยตรงด้วย”

เช่นเดียวกับ เอ๊ะ แซ่เฒ่า ซึ่งเป็นผู้หญิงชนเผ่าม้ง ก็บอกเล่าให้ฟังว่าได้นำผลิตภัณฑ์แยมสตรอเบอรี่กับแยมเสาวรส มาวางขายในงาน เพิ่งจะทำครั้งนี้เป็นครั้งแรก เพราะว่าที่หมู่บ้านจะปลูกสตรอเบอร์รี่กันเยอะมาก เราก็เก็บเอาลูกสุกๆ ที่ไม่ได้นำส่งลงไปขาย นำมาแปรรูปเป็นแยม โดยเราได้รับคำแนะนำส่งเสริมจากมูลนิธิรักษ์ไทย ได้จัดส่งวิทยากรขึ้นมาสอนในหมู่บ้าน

“สนุกมากค่ะ ได้รับประสบการณ์เป็นครั้งแรก สนุกด้วย ได้เงินด้วย อยากให้มีกิจกรรมแบบนี้ทุกเดือนเลย” ตัวแทนแม่บ้านชนเผ่าบอกเล่าด้วยสีหน้าร่าเริง

การจัดงาน "มหกรรมอาหารรักษ์ป่า : ชีวา-ป่า-ดอย” ในครั้งนี้ ยังได้รับการตอบรับจากหลายองค์กร เครือข่ายที่ทำงานร่วมกับชนเผ่าบนพื้นที่สูง มาร่วมกันจัดกิจกรรมกันมากมาย อาทิ เชฟน้อยกินเปลี่ยนโลก สาธิตการทำ แหนมคลุกข้าวทอดโดยเชพอ้อเฉิดฉันท์, การทำ บั๋นดุ๊ก(อาหารเวียดนาม)โดย ร้านสุดสะแนน นอกจากนั้น ยังมีเครือข่ายประชาชนร่วมกันดูแลแม่น้ำปิง มาร่วมกันสาธิตเมนูอาหารชาวดอย ที่น่าสนใจกัน ยกตัวอย่างเช่น long table test longtable test เมนูข้าวดอย น้ำพริกชนเผ่า ข้าวดอยแมงโก้ซูชิ โยเชพดิวดอป เป็นต้น

แน่นอน ในวงคุย ทุกคนทุกฝ่าย ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การสร้างรายได้ทางเลือกจากผลผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาทดแทนพืชเศรษฐกิจที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอยู่ในขณะนี้ จะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่ดีของคนบนพื้นที่สูง

และที่สำคัญ การสร้างความเข้าใจต่อสังคมในเมือง ถึงความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูง และความสำคัญของผู้บริโภคในฐานะผู้กำหนดการทิศทางเศรษฐกิจ และมีเป้าหมายให้ คนในเมือง ร่วมกันอนุรักษ์ความสมบูรณ์ของพื้นที่ต้นน้ำ ผ่านการสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากกลุ่มผู้หญิงชาติพันธุ์ที่พยายามปรับเปลี่ยนมาสู่อาชีพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้มีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

เมื่อเราถามถึงแนวทางขับเคลื่อนต่อไปของกลุ่มผู้หญิงชนเผ่าเหล่านี้ว่าจะอย่างไรต่อไป

ศรินทิพย์ พรหมฤทธิ์ ผู้ประสานงานมูลนิธิฯ บอกว่า ตอนนี้ เราอยากสร้างพื้นที่การจัดจำหน่ายสินค้าให้กับกลุ่มผู้หญิงชนเผ่ากลุ่มนี้ โดยอาจจะทำเพจออนไลน์ให้แต่ละกลุ่มแต่ละหมู่บ้าน สามารถขายสินค้ากันเองได้โดยตรงกับลูกค้ากันเลย

“โดยเราจะช่วยกันผลักดันให้แบรนด์ “ชีวา ป่า ดอย” นี้ให้คนทั่วไปได้รู้จักกันมากขึ้น ว่าเป็นแบรนด์ที่ขายผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับป่าต้นน้ำ และเชื่อมระหว่างผู้ผลิตบนพื้นที่สูงและผู้บริโภคในเมือง เพื่อสร้างความเข้าใจ และร่วมกันสร้างระบบเศรษฐกิจที่นำไปสู่การรักษาป่าต้นน้ำและวิถีการดำรงชีพที่ยั่งยืนบนพื้นที่สูงได้”

000

ข้าวดอยทำอะไรก็อร่อย

ข้าวดอยเป็นพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่ที่ปลูกบนพื้นที่สูง  แต่ละชุมชนจะปลูกข้าวอยู่ราว 10 สายพันธุ์ เพื่อเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ปลูกที่แตกต่างกัน มีทั้งพันธุ์ที่เป็นข้าวนาและข้าวไร่ ข้าวดอยบางพันธุ์ปลูกได้แม้ในดินทรายจัด มีกรวดหินมาก บางพันธุ์ปลูกได้ดีแม้ดินจะเสื่อมสภาพจากการปลูกข้าวซ้ำบนพื้นที่เดิม  บางพันธุ์ไม่มีแมลงรบกวน และหลายสายพันธุ์ทนทานต่อความแห้งแล้งได้เป็นอย่างดี

การปลูกข้าวดอยบนไหล่เขาเป็นการปลูกแบบหว่านผสมกับเมล็ดพืชอาหารอื่นเช่น ฟักทอง ฟักเขียว ถั่ว งา พริก มะเขือ ซึ่งเก็บเกี่ยวต่างช่วงเวลากัน ทำให้หน้าดินไม่เปิดโล่ง ไม่สร้างปัญหาดินกัดเซาะเหมือนการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว

การสนับสนุนข้าวดอยจึงเป็นการสร้างการผลิตพืชที่หลากหลายพร้อมๆ กับลดการขยายตัวของพืชเศรษฐกิจ ซึ่งสร้างปัญหาดินกัดเซาะ การแย่งน้ำ และปัญหาสุขภาพจากสารเคมีเกษตรปนเปื้อนในอาหาร

ข้าวดอยทำอะไรกินดี

ข้าวดอยแมงโก้ซูชิ

โดย เชพดิวดรอป

ส่วนผสม

ข้าวดอย 1 ถ้วยตวง
แป้งข้าวเจ้า 1/2 ช้อนโต๊ะ
น้ำ 1 1/2 ถ้วยตวง
มะม่วงน้ำดอกไม้ 1 ลูก
กะทิ 250  กรัม
น้ำตาลทราย 65 กรัม
เกลือป่น 3 กรัม
งาดำ
ถั่วทอง

วิธีทำ

- นำข้าวดอยมาหุง โดยซาวข้าว 2-3 ครั้ง แล้วแช่น้ำ1 1/2 ถ้วยตวง ประมาณ 10 นาที จากนั้นหุงข้าวตามปรกติ

- นำกะทิ น้ำตาลทราย เกลือป่น ผสมกันแล้วนำไปตั้งไฟอ่อนๆ ให้น้ำตาลและเกลือละลาย คนต่อจนกะทิเดือดเล็กน้อย ปิดไฟยกลงจากเตาแบ่งกะทิประมาณ180 กรัมแยกไว้สำหรับทำซอสกะทิ

-ผสมกะทิและข้าวดอยให้เข้ากัน พักไว้จนคลายความเย็น

- ทำซอสกะทิ โดยนำกะทิที่แบ่งไว้ไปตั้งไฟอ่อน เติมแป้งข้าวเจ้าลงไป คนจนกะทิข้นเป็นซอสตามต้องการ -นำข้าวดอยมูนมากดในพิมพ์ซูชิที่เตรียมไว้ หั่นมะม่วง แล้วนำไปวางบนข้าวดอย ราดด้วยซอสกะทิ ตกแต่งด้วยถั่วทองและงาดำ

 

ข้าวดอยม้วนผักกูดดองเย็น

โดย เชพน้อยกินเปลี่ยนโลก 

ส่วนผสมข้าว

ข้าวดอยหุงสุก   2 ถ้วยตวง
น้ำมันรำข้าว 2 ช้อนโต๊ะ
ซีอิ้วขาว 2 ช้อนโต๊ะ
น้ำอุ่น 1 ช้อนโต๊ะ
กุ้งแห้งป่น 2 ช้อนโต๊ะ (นำกุ้งแห้งปั่นกับเครื่องปั่นหรือตำกุ้งจะฟูนุ่ม)
หมูฝอยหรือหมูทุบป่น 2 ช้อนโต๊ะ(นำหมูทุบหรือหมูฝอยมาหั่นแล้วปั่นกับเครื่องปั่นหรือตำเนื้อจะฟูนุ่ม)
พริกไทยป่น ครึ่งช้อนชา

ผักกูดดองเย็น

วิธีดองผักกูด

เตรียมน้ำดองในอัตราส่วนผักกูดหนึ่งกำมือลวกน้ำร้อนพอสุุกที่ใส่เกลือนิดหน่อย ยกออกลงน้ำเย็นจัดเพื่อหยุดการสุกของผักและทำให้กรอบ วางบนผ้าเพื่อให้สะเด็กน้ำ เตรียมน้ำดอง 1.น้ำส้มข้าว หรือถ้าไม่มีใช้น้ำส้มสายชูหรอน้ำส้มหมัก ใช้ 1ช้อนโต๊ะ 2.เกลือและน้ำตาลทรายอย่างละ1/2ช้อนโต๊ะ คนให้น้ำตาลและเกลือละลาย นำไปราดคลุกเคล้าผักกูดที่ลวกไว้ นำแช่ตู้เย็น 20 นาที ออกจากตู้เย็นแล้วเราเอามาคลุกกับงาขาวคั่ว น้ำน้ำมันงาหอมๆ กินเลยก็อร่อย นำไปใส่ข้าวยิ่งเข้ากัน  ใครชอบกินยำสาหร่ายกรอบๆ หอมน้ำมันงาร้านอาหารญี่ปุ่น ถ้าได้กินสูตรนี้แล้ว จะบอกว่าอร่อยสุด

วิธียำข้าว

- นำส่วนผสมทั้งหมดคลุกเคล้าเข้ากันโดยใช้นิ้วมือบี้ข้าวให้แตกจากกันด้วย

- จากนั้นปั้นเป็นก้อนให้ยาวเป็นแท่งพอเหมาะมือ

ส่วนผสมของการม้วน

แป้งปอเปี๊ยะญวน /ผักชีและผักชีฝรั่งหั่นเล็กๆ /แตงกวาปอกเปลือกแล้วหั่นเป็นแท่ง/ต้นหอม/ใบโหระพา /ผักกูดดองเย็น

วิธีม้วน

- วางแป้งปอเปี๊ยะกับเขียงแล้วใช้กระบอกฉักนำฉีดแป้งปอเปี๊ยะที่แห้งให้ชุ่มทั้งสองด้านให้ทั่ว รอให้นิ่ม

- โรยผักชีและผักชีฝรั่งหั่นเล็กๆ ไว้แล้วให้กระจายทั่วแป้ง

- วางข้าวที่ปั้นลงไปแล้วทำร่องตรงกลางข้าว ใส่ให้แตงกวาและต้นหอม

- ม้วนแป้งกับข้าว พับปลายแป้งทั้งสองด้าน แล้วเรียงใบโหราพาตรงกลาง ม้วนให้หมดปลายแป้ง

– ตัดเป็นแว่น พอคำ เสิร์ฟได้เลย

 

ข้าวดอยคลุกน้ำพริกตาแดง

โดย ร้านเฮือนสุนทรี 

ส่วนผสม

ข้าวดอยหุงสุก 2ถ้วย
น้ำพริกตาแดง 1 ช้อนโต๊ะ
แคบหมู
ไข่เจียวทอดเป็นแผ่นบาง
มะม่วงสับ

วิธีทำ

คลุกน้ำพริกให้ทั่วข้าว   จัดใส่จาน เสิร์ฟพร้อมไข่ซอยเป็นเส้น แคบหมู และมะม่วงสับ

สูตรน้ำพริกตาแดง

ส่วนผสม

พริกแห้งย่างไฟ 15เม็ด
กระเทียมย่างไฟ 20 กลีบ
หอมแดงย่างไฟ 5 หัว
ปลาแห้งป่น 2 ช้อนโต๊ะ
ปลาร้าสับย่างไฟ 1 ช้อนโต๊ะ
ถั่วเน่าแผ่นย่างไฟ ครึง แผ่น
เกลือ ครึ่งช้อนชา

วิธีตำน้ำพริกตาแดง

-โขลกเกลือกับกระเทียมรวมกัน

-ใส่พริกแห้งย่างไฟ ตามด้วยปลาแห้งป่น โขลกให้เข้ากัน

-ใส่ปลาร้าสับย่างไฟ โขลกให้เข้ากัน

-ใส่ถั่วเน่าแข็บย่างไฟ โขลกให้เข้ากัน

-ใส่หอมแดงย่างไฟ โขลกรวมกันให้ละเอียด คนให้เข้ากัน

 

บั๋นดุ๊ก (อาหารเวียดนาม)

โดย ร้านสุดสะแนน

ส่วนผสม  

แป้งข้าวจ้าว
ข้าวดอยหุงสุก
น้ำเปล่า
หมูสับ
กระเทียมเจียว

วิธีทำ

ผสมแป้งข้าวจ้าวกับน้ำให้เข้ากัน ใส่ข้าวดอยลงไปรวม  ผสมเข้ากันดี  เทใส่ถาด แล้วนำไปนึ่ง

ระหว่างรอแป้งสุก  ปรุงรสหมูสับด้วยซีอิ้วขาว  รวนให้สุก รอไว้

เมื่อแป้งสุก นำหมูสับที่ปรุงแล้วไปราดบนแป้ง โรยด้วยกระเทียมเจียว ก่อนเสิร์ฟ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท