Skip to main content
sharethis

เก็บตก วรัญชัย โชคชนะถามในวงเสวนา "รัฐธรรมนูญกับประชามติที่เลือกได้" ถามเรื่องเนื้อหารัฐธรรมนูญ ประชามติ และระเบียบที่ กกต. ใช้คุมการรณรงค์ - สมชาย ปรีชาศิลปกุล หวั่นแนวโน้มเกิดรัฐธรรมนูญที่ไร้ 'รัฐธรรมนูญนิยม' - อภิชาต สถิตนิรามัย กลัวการรับรัฐธรรมนูญ จะเท่ากับรับระเบียบอำนาจรัฐข้าราชการเป็นใหญ่- เกษียร เตชะพีระ เล่าภาวะเผด็จการของกระเป๋ารถเมล์ และวิธีหนีพ้นจากภาวะดังกล่าว

 

ในวงเสวนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ หัวข้อ รัฐธรรมนูญกับประชามติที่เลือกได้ ซึ่งจัดไปแล้วเมื่อ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา วิทยากรประกอบด้วย 1. เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2. อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3. บารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน 4. เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 5. สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินรายการโดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั้น (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

คลิปวรัญชัย โชคชนะ ถามเรื่องรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ ตอบโดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล อภิชาต สถิตนิรามัย บารมี ชัยรัตน์ เดชรัต สุขกำเนิด เกษียร เตชะพีระ และสรุปโดยพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

วรัญชัยถาม-วิทยากรตอบ

ในช่วงถามตอบ วรัญชัย โชคชนะ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหลายสมัย อภิปรายว่า ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ดี รอบนี้เขาไม่ลงผู้แทนก็ได้ และตั้งคำถามถึงวิทยากร โดยถามสมชาย ปรีชาศิลปกุลว่า เขาว่าต้องใช้เวลาปฏิรูปเหตุผลฟังได้หรือไม่ การลงประชามติเอาประชาชนเป็นตัวประกันหรือไม่ รับก็ได้แบบนี้ ไม่รับก็ได้แบบนี้

คำถามสำหรับอภิชาต สถิตนิรามัย วรัญชัยถามว่า นอกจากรัฐบาลมีความคิดยกเลิกเบี้ยคนชรา หลักประกันสุขภาพ และลดปีเรียนฟรีลงจาก 15 ปี เหลือ 12 ปี ท่านคิดกับเรื่องนี้อย่างไร ตัดงบประมาณแผ่นดินหมด แต่จะซื้ออาวุธที่ประเทศอื่น ท่านในฐานะนักเศรษฐศาสตร์เห็นว่าเหมาะสมหรือไม่

นอกจากนี้ได้สอบถาม บารมี ชัยรัตน์ ว่ามีความเห็นอย่างไร กรณีท้องถิ่นให้มีการแต่งตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือใช้วิธีต่ออายุผู้บริหารท้องถิ่น

ถามสำหรับเดชรัต สุขกำเนิด วรัญชัยถามว่าเรื่องการศึกษา ที่อาจารย์เดชรัตพูดว่าไม่ต้องเชื่อรัฐธรรมนูญ 12 ปี เราก็จะให้ 15 ปี แต่ถ้าไม่ทำตาม จะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

ในส่วนของคำถามถึงเกษียร เตชะพีระ วรัญชัย ถามว่าท่านพูดมาถูกหมด จึงไม่สงสัยข้องใจ เป็นเพราะอย่างนี้ใช่ไหม เขาถึงบอกว่าพวกที่มานั่งฟัง ประชุม อย่าบิดเบือน ก้าวร้าว หยาบคาย อย่าข่มขู่ ปลุกระดม และถ้าทำกับกฎหมายประชามติได้ ถ้าหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. เขาก็ต้องออกกฎแบบนี้ได้ ประชาชนจะทำอย่างไร

นอกจากนี้ยังถามพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ว่าที่ผ่านมามีแต่เขาทำโรดแมป แล้วประชาชนทำไมไม่ทำโรดแมปเองบ้าง ถ้าทำโรดแมปแล้วประชาชนจะทำอย่างไร

ในช่วงตอบคำถาม สมชาย ปรีชาศิลปกุล กล่าวว่า หลังจากนี้จะเกิดภาวะ "Constitution without constitutionalism" หรือ รัฐธรรมนูญที่ไม่มีหลักรัฐธรรมนูญนิยม หมายความว่า จะอยู่ในสังคมที่มีสิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญ แต่จะไม่มีสิ่งที่เรียกว่า "ระบอบรัฐธรรมนูญนิยม" เช่น ขาดหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน หลักอำนาจสูงสุดของรัฐบาลจากการเลือกตั้ง กระบวนการยุติธรรมที่เป็นกลางและน่าเชื่อถือ เราจะอยู่ในสังคมที่มีสิ่งที่มีแต่ชื่อว่า "รัฐธรรมนูญ" ซึ่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยเกิดมาแล้วในละตินอเมริกา แอฟริกา และประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอดีต ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เดินหน้าไปก็จะอยู่ในภาวะที่มีรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีรัฐธรรมนูญ

ด้านบารมี ชัยรัตน์ แสดงความเป็นห่วงหากมีการใช้ระเบียบกฎหมายกำกับการลงประชามติแบบที่ใช้ในระดับชาติขณะนี้ เอาไปบังคับใช้ในระดับท้องถิ่น

อภิชาต สถิตนิรามัย กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติในรัฐธรรมนูญที่ เกษียรเสนอก่อนหน้านี้ก็คือ เป็นยุทธศาสตร์ที่รวมทุกอย่าง คือจะไม่ทำสักอย่าง ทั้งนี้การแก้ไขเรื่องกับดักรายได้ปานกลาง ต้องเป็นยุทธศาสตร์เฉพาะมากๆ แต่ไม่จำเป็นต้องลงที่เนื้อหา สำคัญที่กระบวนการมากกว่า ที่จะจูงใจให้กับการลงทุนด้านการศึกษา การวิจัยและพัฒนา

แปลว่าต้องมีกลไกรัฐที่เข้มแข็งถึงจะทำเรื่องนี้สำเร็จ กลไกรัฐที่ว่านั้นคือระบบราชการ แต่เราก็เห็นตัวอย่างของระบบราชการ ทั้งกรณีกรมการบินพลเมือง กิจการประมงติดโทษแบน IUU ซึ่งสะท้อนปัญหายอดภูเขาน้ำแข็งของระบบราชการ น้ำท่วมปี 2554 เราก็ได้รับผลกระทบมากเกินที่ควรจะเป็นสาเหตุหนึ่งก็เป็นเรื่องความไร้เอกภาพของระบบราชการที่ 20 หน่วยงานไม่ประสานกัน

ระบบราชการไทยถึงเวลายกเครื่องครั้งใหญ่ เพื่อให้เป็นระบบที่ใช้ได้ของการบริหารรัฐ ซึ่งการรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นอย่างที่เกษียรเสนอ คือไม่ใช่รับรัฐธรรมนูญอย่างเดียว แต่เป็นการรับระเบียบอำนาจของ คสช. ซึ่งก็คือรัฐราชการเป็นใหญ่

ด้านเดชรัต สุขกำเนิด ในเรื่องอุดหนุนการศึกษา หากเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย รัฐบาลต้องอุดหนุนอย่างน้อย 12 ปี แต่รัฐบาลจะสนับสนุนเพิ่มเติมเป็น 15 ปี แบบเดิมก็ได้ แต่ก็ไม่ใช่เพราะรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเพราะความเมตตาของรัฐบาล ถ้าเขาต่อให้ถึง 15 ปี คงต้องรบกวนราษฎรอาวุโสเขียนจดหมายขอบคุณ ซึ่งก็จะเหมือนกับเรื่องเหมืองแร่ ที่การยุติการทำเหมือง ไม่ได้เป็นเพราะละเมิดเสรีภาพประชาชน แต่ยุติเพราะความเมตตาของรัฐบาล

สำหรับเรื่องแผนการรณรงค์นั้น ในฐานะที่ทำงานกับภาคประชาชน เสนอว่าต้องคุยกับภาคประชาสังคมว่าสิ่งที่กำลังจะเลือก และอนาคตที่กำลังจะเลือกคืออะไร

ด้านเกษียร เตชะพีระ ในเรื่องเงื่อนไขการแก้รัฐธรรมนูญนั้น เกษียร ได้อ้างถึงหมวด 15 มาตรา 255 และ 256 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเงื่อนไขว่า ต้องได้เสียง 1 ใน 3 ของวุฒิสมาชิก และ 20% ของพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และถ้าการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญกระทบต่อเรื่องสำคัญ หรือเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์พื้นฐานต้องผ่านประชามติ

และถ้ามี ส.ส. และ ส.ว. จำนวนหนึ่ง เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญกระทบเรื่องสำคัญ มาร้องเรียนศาลรัฐธรรมนูญว่า "ไอ้นี่มันเกี่ยวครับ ไอ้นี่มันเกี่ยวครับ" แล้วไยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นด้วยกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็หยุดไป คือเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะไม่เกี่ยว แต่มี ส.ส. และ ส.ว. จำนวนหนึ่งเห็นว่าเกี่ยวไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อล็อกกระบวนการแก้ไข

นอกจากนี้เกษียรยังเตือนเรื่อง การได้เผด็จการกระเป๋ารถเมล์ด้วย ในรถเมล์ที่จะมีทั้งโชเฟอร์ตีนผี กระเป๋ารถเมล์ดุ ประเภทที่ตะคอกผู้โดยสารว่า "จะลงกดกริ่งสิพี่ ลงเร็วๆ หน่อยรอช้าห่าอะไร" เดิมก็เป็นคนกระจอกๆ ผลงานที่ผ่านมาก็ไม่ได้ดีอะไร พอได้อำนาจหน่อยก็ใหญ่ฉิบหาย ห้ามอย่างโน้น ห้ามอย่างนี้ ซึ่งไม่ได้เจาะจงว่าหมายถึงใคร วันที่ดีที่สุดวันหนึ่งในชีวิตของผมคือ ผมเจอรถเมล์แบบนี้ เมื่อรถเมล์จอดที่เดอะมอลล์บางแค ก็มีคนๆ หนึ่งแต่งตัวราชการ ตะโกนว่าทำไมโชเฟอร์ขับแบบนี้ ไม่ห่วงสวัสดิการผู้โดยสารเลย "It makes my day"

พิชญ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ระบอบประชาธิปไตยจุดเด่นอยู่ที่อำนาจประชาธิปไตยเป็นของประชาชน แต่ต้องคำถามว่าถ้าเราไม่ต้องการให้คนอื่นมากำกับอำนาจเรา คำถามที่ท้าทายคือ เราจะ Self-limitation หรือเราจะกำกับอำนาจตัวเองอย่างไร อำนาจประชาธิปไตยต้องออกแบบให้พวกเราสามารถหยุดยั้งอำนาจที่เราเองอาจจะเหลิงได้ นั่นคือหัวใจ ถ้าเราทำตัวนี้ได้ก็ไม่ต้องแคร์ว่าคนอื่นจะมีอำนาจมาสั่งเรา เพราะการปกครองในระบอบประชาธิปไตยคือ Self-government ถ้าเรามี Self-limitation ภายใน Self-govermemt ซึ่งเป็นภารกิจที่เราต้องช่วยกันออกแบบสถาบันการเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net