Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



งุนงงสงสัย:

เป็นไปได้อย่างไรที่กลุ่มคนที่เคยต่อต้านขับไล่เผด็จการเมื่อคราวพฤษภา 35 จะกลายเป็นผู้ที่ปกป้องและให้ท้ายรัฐบาลทหารในปัจจุบัน? อะไรเป็นปัจจัยทำให้พวกเขาเปลี่ยนไป หลักการประชาธิปไตยหรือเงื่อนไขทางการเมือง?

แต่ทว่าการเปลี่ยนไปของพวกเขาได้สร้างเงื่อนไขใหม่ให้สังคมไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน เป็นเงื่อนไขที่ไม่เพียงจะเปลี่ยนทิศทางการเมืองไทยเท่านั้น แต่อาจเปลี่ยนระบบการเมืองทั้งระบบเลยก็ได้ และการเปลี่ยนไปของพวกเขาจะนำมาซึ่งความสำเร็จอย่างที่พวกเขามุ่งหวังหรือไม่ ?

สมมติฐาน:

"จุดหมายที่แท้จริงคือการกำจัดทักษิณ การล้มไทยรักไทย (ทุนสามานย์ เผด็จการรัฐสภา)....แต่พวกเขาล้มทักษิณเองไม่ได้ เขาต้องอาศัยทหาร พันธมิตรสร้างเงื่อนไขให้การยึดอำนาจปี 49 เป็นไปได้ ขณะที่ กปปส.ปูทางให้การรัฐประหารปี 57 เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้"

ปัญหาของพวกเขาคือจะล้มทักษิณได้อย่างไร ในเมื่อทักษิณคือผู้นำที่เกิดจากระบบประชาธิปไตยตัวแทน ที่คัดเลือกจากประชาชน มีแค่สองทางคือหนึ่งการพยายามชนะทักษิณด้วยระบบเลือกตั้ง (หนึ่งคนหนึ่งเสียง) แต่ประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นแล้วว่าการพ่ายแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่า คือความล้มเหลวที่พวกเขาไม่อาจยอมรับได้ ดังนั้นทุกครั้งของความปราชัยในสนามเลือกตั้งจึงไม่ใช่พวกเขาไร้ความสามารถหรือไม่ได้รับความนิยม แต่เป็นเพราะประชาชนโง่เขลาเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตน กับพรรคทุนสามานย์ที่ใช้เงินซื้อเสียง.....ดังนั้นสองคือหนทางเดียวที่เป้นไปได้นั้นก็คือ การเปลี่ยนกติกาหรือระบบ การยึดอำนาจปี 49 จุดมุ่งหมายคือการเปลี่ยนกติกาและเทคนิคของการเลือกตั้ง แต่พวกเขาก็พ่ายแพ้เช่นเคย รัฐประหารปี 57 จุดมุ่งหมายจึงกลายเป็นการเปลี่ยนระบบการเลือกผู้นำ (หนึ่งคนไม่ใช่หนึ่งเสียง) นั้นก็คือทำให้การเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกผู้นำ แต่การเลือกตั้งไม่ใช่กระบวนการเลือกผู้นำเหมือนดังที่ผ่านมา

ที่มาของปัญหา:

ข้อเขียนของอาจารย์เบเนดิก แอนเดอร์สันว่าด้วยปริศนาเหลืองกับแดง  ชี้ถึงปัญหาการเมืองไทยนั้นเกิดจากความขัดแย้งแย่งชิงของกลุ่มผู้นำที่ต่างสายพันธุ์ คือการต่อสู้ของผู้นำที่มีแซ่ต่างกัน (อาข่า แต้จิ่ว ไหหล่ำ ฮกเกี้ยน) โดยวิธีการมองเช่นนี้ยังคงยืนอยู่บน "ตรรกะของความขัดแย้ง" นั้นก็คือเปลี่ยนจากความขัดแย้งระหว่าง x กับ y (เหลืองกับแดง ประชาธิปัตย์กับเพื่อไทย ประชาธิปไตยกับเผด็จการรัฐสภา อิสาน-เหนือ กับกรุงเทพ-ใต้ ชนชั้นกลางที่เกิดใหม่หัวก้าวหน้ากับชนชั้นกลางเก่าที่อนุรักษ์นิยม หรือเลยไปกระทั่งเป็นความขัดแย้งของคนสองกลุ่มในเดือนตุลา และอีกมากมาย) ไปสู่ความขัดแย้งที่หลากหลายขึ้น ซึ่งฟังดูสอดคล้องกับความคิดของโพสต์โมเดิร์นที่ตั้งบนเชื่อของความหลากหลายทางวัฒนธรรม

แต่ข้อสงสัยของผู้เขียนก็คือว่าความแตกต่าง ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติของสังคมไม่ใช่หรือ แล้วระบบประชาธิปไตยไม่ได้เป็นระบบที่ออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งหรอกหรือ หากการแย่งชิงของคนต่างแซ่เพื่อก้าวสู่อำนาจเป็นเรื่องจริง ปัญหาก็คือว่าทำไมการแย่งชิงนี้ที่เคยตั้งอยู่บนระบบประชาธิปไตยของรัฐธรรมนูญ 40 ที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินแพ้ชนะ กลับจบลงด้วยรัฐประหารและเผด็จการทหารในที่สุด

สรุปสั้นๆก็คือ ทำไมระบอบที่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งจึงถูกทำลายด้วยความขัดแย้งเอง?

ขณะที่ข้อเขียนของอาจารย์ นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ "เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร" พยายามอธิบายปัญหาด้วยมุมมองและแว่นตาของ ฟรานซิส ฟูกูยาม่า ว่าสาเหตุที่แท้จริงไม่ใช่ความขัดแย้งทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นเหลืองกับแดง ทักษิณกับกลุ่มอำนาจเดิม และก็ไม่ใช่ความบกพร่องขององค์กรอิสระ (ศาลรัฐธรรมนูญ กกต.) ไม่ใช่ความไม่เอาถ่านของภาคประชาสังคม (เอ็นจีโอ สื่อสารมวลชน สถาบันศึกษา อื่นๆ) สิ่งเหล่านี้คือผลทั้งสิ้น เหตุที่แท้จริงคือรัฐไทยเป็นรัฐที่ไม่เข้มแข็ง ระบบราชการที่เป็นหัวใจของรัฐไร้ประสิทธิพล ขาดหลักคุณาธิปไตย อีกทั้งไม่มีอิสระและมักตกเป็นกลไก เครื่องมือของผู้ครองอำนาจ(รัฐ) ......

คำถามก็คือว่าทำไมระบบการเมือง (ในที่นี้คือประชาธิปไตย) ถึงจำเป็นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของระบบราชการ "ที่ดี"? หรือพูดให้ง่าย ชัดเจนและเป็นรูปธรรมขึ้นก็คือว่าการใช้สิทธิหนึ่งคนหนึ่งเสียงในการเลือกผู้นำ ต้องขึ้นอยู่กับระบบราชการ"ที่ดี"ด้วยหรือ? ในแง่ข้อเท็จจริงกับบทสรุปของอาจารย์นิธิที่เน้นและให้ความสำคัญว่ารัฐไทยยังไม่ใช่รัฐที่เข้มแข็งแบบรัฐสมัยใหม่ และมักตกเป็นสมบัติของผู้ครองอำนาจนั้น ผู้เขียนสงสัยและคิดว่ายังถกเถียงได้อีกมาก เพราะมีข้อเท็จจริงแย้งมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการยึดอำนาจปี 49 ว่าเป็นไปได้อย่างไร หากระบบราชการถูกครอบงำโดยผู้มีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ หรือการยุบพรรคไทยรักไทยจะเป็นไปได้อย่างไรหากสิ่งทีอาจารย์นิธิเขียนคือความจริง

แต่ข้อเท็จจริงนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าระบบราชการไม่ได้ถูกยึดครองและใช้ประโยชน์โดยผู้ครองอำนาจ ประเด็นอยู่ที่ว่าถูกครอบงำมากน้อยเพียงไร ในเนื้อหาและพื้นที่ไหน ดังนั้นระบบราชการจึงมีอิสระพอสมควร โดยเฉพาะทหารต้องถือว่ามีมากเกินไปด้วยซ้ำ เห็นได้จากสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทหารไม่เพียงไม่ทำตามคำสั่งของผู้นำ หากยังถือวิสาสะประกาศกฎอัยการศึกเอง ทำตัวเป็นผู้มากบารมีไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง และยึดอำนาจในที่สุด

ความคลุมเคลือไม่แน่ชัดของรัฐที่เข้มแข็งคือช่องว่างที่สามารถอธิบาย"ช่วงเปลี่ยนผ่าน" ได้เป็นอย่างดี เพราะมีสมมติฐานว่า  "การเป็นรัฐสมัยใหม่ที่เข้มแข็งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการอยู่รอดของประชาธิปไตย" ดังนั้นประชาธิปไตยอยู่รอดไม่ได้ก็มาจากสาเหตุที่ยังไม่เป็นรัฐสมัยใหม่ที่เข้มแข็งนั้นเอง แต่เหตุผลนี้จะอธิบายช่วงประชาธิปไตยเบ่งบานตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 40 จนถึงรัฐประหาร 49 หรือช่วงรัฐธรรมนูญ 50 จวบจนถึงยึดอำนาจปี 57 ได้อย่างไร กระนั้นก็ดีการมองปัญหาของอาจารย์นิธิถือว่าแตกต่างจากอาจารย์แอนเดอร์สันโดยสิ้นเชิง เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความขัดแย้ง หากแต่อยู่ที่องค์ประกอบที่ไม่พร้อมของสังคมเอง ซึ่งนั่นก็คือระบบราชการ

ผู้เขียนเห็นต่างจากอาจารย์นิธิค่อนข้างมาก กล่าวคือแม้ความขัดแย้ง องค์กรอิสระ หรือภาคประชาสังคมไม่ใช่สาเหตุ แต่ก็คือส่วนหนึ่งของปัญหาที่ไม่อาจมองข้าม หากเป็นผล ก็ไม่ใช่ผลที่แยกเป็นอิสระจากเหตุของมัน แต่มีปฏิกริยาลูกโซ่ที่ทำให้ผลนั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา

ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ผู้เขียนเห็นว่าปัญหาไม่ได้เกิดจากระบบราชการที่"ไม่พร้อม"หรือว่าจากรัฐที่เข้มแข็ง หากเกิดจากตัวระบบประชาธิปไตยเองต่างหาก

ระบบประชาธิปไตย:

ประการแรก: ประชาธิปไตยเป็นระบบที่ดีไม่ใช่เพราะมันทำให้คนดีมือสะอาดมีความสามารถได้เป็นผู้นำประเทศ มันเป็นระบบที่ดีเพราะว่าเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมในการเลือกคนดีมือสะอาดมีความสามารถให้ได้เป็นผู้นำต่างหาก หรือพูดให้ชัดเจนก็คือประชาชนมีส่วนในการกำหนดและนิยามความหมายที่เป็นรูปธรรมให้กับ"คนดีมือสะอาดมีความสามารถ"นั้นเอง

ประการต่อมา: หัวใจระบบประชาธิปไตยมีสองข้อสำคัญคือ

1. ความเสมอภาคในทางกฏหมาย และเท่าเทียมของสิทธิลงคะแนน หนึ่งคนหนึ่งเสียง

2. ถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่

ข้อแรกความเสมอภาคทางกฏหมายก็คือนิติธรรม (หนึ่งในสามที่ฟูกูยามากล่าวถึงว่าต้องมีในสังคมประชาธิปไตย) ปัญหาก็คือว่าหากองค์กรอิสระอย่างศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์กรที่จะทำให้เกิดนิติธรรมขึ้นในสังคม กลับกลายเป็นปัญหาของนิติธรรมเสียเอง หรือ กกต. องค์กรอิสระที่มีหน้าที่ในการจัดการเลือกต้ังเพื่อให้คนใช้สิทธิกลับไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง องค์กรที่เป็นแขนขาของระบบ เพื่อผลักดันให้ระบบทำงานกลับกลายเป็นปัญหาของระบบเอง ระบบจะแก้ปัญหาของตัวเองได้อย่างไร.

ที่สำคัญและเป็นจุดเปราะบางของประชาธิปไตยก็คือการถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่ เสียงข้างมากที่เป็นทั้งเหตุผลและสิ่งการันตีที่สร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง นั่นคือเสียงข้างมากคือเหตุผลที่ถือเป็นที่สุด มีความชอบธรรมในตัวเอง และไม่มีเหตุผลใดสามารถแย้งได้ แต่ที่สร้างปัญหาให้ระบบคือเสียงข้างน้อย. เพราะเสียงข้างน้อยถูกรวบเข้าไปเป็นส่วนของเสียงข้างมากแต่ไม่ใช่เสียงข้างมาก (part of no part) ยกตัวอย่างให้เห็นชัดก็คือเมื่อเสียงข้างมากชนะได้เลือกผู้นำ ผู้นำที่ถูกเลือกด้วยเสียงข้างมากจะเป็นผู้นำของเสียงทั้งหมด ไม่ว่าเสียงข้างน้อยจะชอบหรือไม่ก็ตาม หรือการผ่านร่างกฏหมาย ไม่ว่าเหตุผลฝ่ายไหนจะถูกต้องหรือดีกว่าไม่ใช่ประเด็น เพราะว่าระบบนี้ตัดสินด้วยเสียงข้างมาก กฏหมายที่ผ่านความเห็นชอบของเสียงข้างมากก็จะถูกนำมาบังคับใช้กับทุกคน ด้วยเหตุนี้เสียงข้างน้อยที่ไม่ใช่เสียงข้างมากเพราะไม่เห็นด้วยกับเสียงข้างมากก็จะถูกรวบเข้าไปอยู่ในเสียงข้างมากโดยปริยาย แต่ถ้าเสียงข้างน้อยไม่ยอมรับและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเสียงส่วนใหญ่?? เสียงส่วนน้อยที่อยู่ในระบบแต่ไม่ยอมร่วม(มือ)กับระบบ? ระบบจะเป็นอย่างไร จะแก้ปัญหาอย่างไร?

การผ่านร่าง พ.ร.บ. "เหมาเข่ง" ด้วยเสียงข้างมากท่ามกลางการคัดค้านของประชาชนและไม่เห็นด้วยของฝ่ายค้านจนประกาศลาออกทั้งหมด คือที่มาของการยุบสภาเพื่อผ่าทางตันของระบบ และเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่กับการเลือกตั้ง.....ทุกอย่างน่าจะเป็นไปตามกลไกของระบบ

แต่......เสียงส่วนน้อยที่อยู่ในระบบไม่ยอมร่วมมือกับระบบ ระบบจะเดินไปอย่างไร

กปปส. ประกาศไม่ยอมรับการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ พร้อมทั้งขัดขวางการเลือกตั้ง

ขณะที่พรรคที่เคยเป็นฝ่ายค้านประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้งโดยไม่ส่งผู้ลงสมัคร

องค์กรอิสระที่จัดการเลือกตั้งทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ และศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นแขนขาของระบบตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ......แล้วประชาธิปไตยจะเดินไปอย่างไร

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 จึงคือวันฆาตกรรมประชาธิปไตย และต่อมาในวันที่ 21 มีนาคมปีเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ประกาศการจากไปของประชาธิปไตยอย่างเป็นทางการ วันที่ 22 พฤษภาปีเดียวกันจึงเป็นวันเผาเรือนร่างที่ไร้ชีวิตของประชาธิปไตย

หากการฆาตกรรมครั้งนี้ไม่ใช่การสมรู้ร่วมคิด อย่างน้อยก็เป็นการร่วมมือและส่งไม้ต่อจนระบบไม่อาจต้านทานและเดินไปอย่างปกติได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งการล่มสลายของประชาธิปไตยเกิดจากปัญหาภายในของมันเอง เกิดจากเสียงส่วนน้อยที่ไม่ยอมรับการค้ำจุนของระบบต่อเสียงส่วนใหญ่ เกิดจากองค์กรที่เป็นแขนขาสร้างปัญหาให้ระบบเอง

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net