Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



หลังคำให้สัมภาษณ์ของเอกอัครราชทูตสหรัฐที่กระทรวงการต่างประเทศแพร่ออกไป ผู้ดีไทย (และ/หรือคนที่อยากถูกนับเป็นผู้ดีไทย) ต่างพากันออกมาประณามสหรัฐด้วยแนวคิด"อารยธรรม" โดยนัยะก็คืออเมริกันเป็นชนชาติที่ไม่มีอารยธรรม ในขณะที่ไทยมีอารยธรรมสูง

ผู้ดีไทยเหล่านี้อาจลืมไปว่า ภาษาไทยไม่มีคำนี้ใช้มาก่อน อารยธรรมเป็นศัพท์บัญญัติสมัยหลัง – หลังจากมีสหรัฐอเมริกาไปแล้วเกือบศตวรรษครึ่ง – เพื่อให้ตรงกับคำฝรั่งว่า civilization (ในภาษาอังกฤษที่สะกดแบบอเมริกัน แต่ภาษายุโรปตะวันตกทั้งหมดที่ผมสามารถค้นได้ ก็ใช้คำที่มีรากจากละตินเดียวกันนี้เพื่อหมายถึงสิ่งเดียวกัน) ในระยะแรกที่ต้องใช้คำนี้ตั้งแต่ร.4 เป็นต้นมา ท่านสร้างคำขึ้นทับศัพท์ เช่นศรีวิไล, ศิวิไล เป็นต้น

แม้ไม่มีคำ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนไทยก่อนหน้านั้นไม่มีแนวคิดที่แยกสังคมที่ยังไม่เจริญออกจากสังคมที่เจริญแล้ว เกณฑ์ที่ใช้แยกสังคมสองอย่างนี้ออกจากกันมีหลายเกณฑ์ บางครั้งก็ใช้ศาสนา ระหว่างสังคมสัมมาทิฏฐิกับสังคมมิจฉาทิฏฐิ พูดอีกอย่างหนึ่งคือสังคมของชาวพุทธ (เถรวาทสำนักลังกา) กับสังคมที่ไม่นับถือพุทธศาสนา บางครั้งก็ใช้ เกณฑ์"ป่า"กับ"เมือง" อันนี้น่าสนใจ เพราะใกล้กับรากความคิดของคำ civilization มาก แต่เมื่อขยายความแล้วก็อาจต่างจากฝรั่ง

ผมสงสัยว่าในความคิดของไทย ออกจะเน้น"เมือง"ไปที่พระราชอำนาจ "เมือง"คือที่ซึ่งพระราชอำนาจแผ่ไปถึง โดยความเป็นจริงหรือโดยสัญลักษณ์ก็ตาม ในขณะที่"บ้านป่าเมืองเถื่อน"คือที่ซึ่งพระราชอำนาจแผ่ไปไม่ถึง ในขณะที่นัยะของคำ civilization มีมากกว่าอำนาจทางการเมือง

แต่ตลอดประวัติศาสตร์ไทย ผู้ดีไทย(และอาจจะคนไทยด้วย) ต้องเผชิญกับความขัดแย้งในความคิดเกี่ยวกับความเจริญและไม่เจริญตลอด เพราะไทยต้องสัมพันธ์กับชนชาติอื่นอีกมาก นับตั้งแต่จีน, อิหร่าน, อาหรับ, ฝรั่งชาติต่างๆ ซึ่งเราต้องยอมรับเอาบางอย่างในวัฒนธรรมของเขามาใช้ นับตั้งแต่ตัวอักษรไปจนถึงเครื่องทรงกษัตริย์ ป้อมค่ายที่สร้างด้วยอิฐปูน อาคาร หรือใช้คำในภาษาของเขาเรียกสิ่งที่ไม่เคยมีในภาษาของเรามาก่อน ฯลฯ ทั้งที่ชนชาติอื่นเหล่านั้นล้วนเป็น"มิจฉาทิฏฐิ" และอยู่นอกพระราชอำนาจ จนบางครั้งต้องอาศัยความช่วยเหลือของพวกเขาเพื่อให้พระราชอำนาจในดินแดนห่างไกลอาจดำรงอยู่ได้ (เช่นบริษัท VOC ของวิลันดาเป็นต้น)

ผู้ดีไทยแก้ความขัดแย้งทางความคิดของตนโดยการแบ่งความเจริญออกเป็นสองอย่าง คือความเจริญทางวัตถุกับความเจริญทางจิตใจ หากดูจากจิตรกรรมลายรดน้ำบนตู้พระธรรม และจิตรกรรมฝาผนัง จากปลายอยุธยามาจนต้นรัตนโกสินทร์ ฝรั่งและ"แขก"อิหร่านและอาหรับ ล้วนถูกจัดให้เป็นพลพรรคของกองทัพมารซึ่งยกมารังควาญเจ้าชายสิทธัตถะ ก่อนจะตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตุ๊กตาทหารจีนและทหารซีป่ายถูกนำมาเฝ้าโบสถ์วิหารแทน"ยักษ์"

ความเจริญทางวัตถุ v.s. ความเจริญทางจิตใจ เป็นทางแก้ (resolution) ของความขัดแย้งในใจ ที่ผู้ดีไทยใช้ตั้งแต่(อย่างน้อย)ปลายอยุธยา สืบมาจนทุกวันนี้ ดังจะเห็นจากที่ผู้ดีไทยรุ่นใหม่ลำเลิกเรื่องอารยธรรมมาใช้กับสหรัฐในครั้งนี้ นัยะของคำว่าอารยธรรมซึ่งไทยมีแต่สหรัฐไม่มีในที่นี้ ก็คือความเจริญทางจิตใจ แม้ว่าสหรัฐจะมีไอโฟน, แอปเปิ้ลคอมพิวเตอร์, เบอร์เกอร์คิง, สตาร์บัคส์, เครื่องบินเหนือเสียง, จรวดส่งดาวเทียมไปนอกโลก หรือเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ล้ำหน้า แต่ก็ไม่มี"อารยธรรม"

ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผู้ดีไทยเชื่อว่า ความเจริญสองอย่างนี้ไม่มีผลต่อกันและกัน ความเจริญทางวัตถุไม่มีผลต่อความเจริญทางจิตใจ และความเจริญทางจิตใจไม่มีผลต่อความเจริญทางวัตถุ ดังนั้นการที่ประเทศตะวันตกสามารถดูแลสวัสดิการแก่พลเมืองได้หลายด้าน รวมทั้งด้านการศึกษาด้วย จึงเกิดขึ้นได้เพราะเขารวย (วัตถุ+วัตถุ=วัตถุ) การที่พลเมืองของประเทศตะวันตกสามารถรับการศึกษาสูงๆ จึงไม่มีผลต่อความเจริญทางจิตใจของพวกเขา

อย่างไรก็ตาม เมื่อเราเปิดประเทศเพื่อการค้าเสรีของตะวันตกในสมัย ร.4 ทางแก้ความขัดแย้งในใจที่แบ่งความเจริญออกเป็นสองอย่างนี้ ก็ไม่ใช่ทางแก้สำเร็จรูปอย่างง่ายๆ อีกต่อไป เพราะความเป็นจริงที่ปราฏแก่ผู้ดีไทยนั้นชัดเจนเกินกว่าที่จะใช้ทางออกเดิมได้โดยสะดวก เพื่อบรรลุความเจริญทางวัตถุ จำเป็นต้องทำอะไรบางอย่างที่เฉียดกรายไปทางความเจริญทางจิตใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ร.4 โปรดให้ฝรั่งสอนหนังสือแก่พระราชโอรส แต่ก็ห้ามแหม่มแอนนามิให้สอนเรื่องคริสต์ศาสนาเป็นอันขาด  ร.5 ส่งพระราชโอรสไปศึกษาในเมืองฝรั่ง แต่โปรดให้ขุนนางที่ไว้วางใจไปควบคุมและสอน"อารยธรรม"ไทยไปพร้อมกัน

มาตรฐานของความเป็น"ผู้ดี"นับตั้งแต่ร.5 ลงมา ลอกเลียนดัดแปลงกิริยามารยาทตะวันตกไม่น้อย นับตั้งแต่มารยาทบนโต๊ะอาหาร ไปจนถึงมารยาทในที่สาธารณะ

เมื่อ ร.4 อธิบายแก่ฝรั่งว่า คนไทยนั้นเป็น"กึ่งอารยะ" (semi-civilised) แต่เขมรเป็นคนป่าเถื่อน (barbarian) ครึ่งที่เหลือของ "อารยธรรม" ที่คนไทยไม่มีนั้นคืออะไร?


หากคิดว่าคือความเจริญทางวัตถุที่คนไทยยังมีไม่เท่าตะวันตก ความเจริญทางวัตถุของเขมรก็ไม่ได้น้อยไปกว่าไทย เขาจะเป็นคนป่าเถื่อนโดยคนไทยไม่ได้เป็นได้อย่างไร หากหมายถึงวิทยาการความรู้แบบตะวันตก ซึ่งไทยพอมีอยู่บ้าง และ(สมมติว่า)เขมรไม่มีเลย วิทยาการความรู้เป็นความเจริญทางวัตถุหรือจิตใจกันแน่

สถานการณ์ที่สับสนเช่นนี้ บังคับให้ผู้ดีไทยต้องนิยามความเจริญทางวัตถุและจิตใจกันใหม่ และเท่าที่ผมเข้าใจ ผู้ดีไทยปล่อยให้ความหมายกำกวมเมื่อต้องสัมพันธ์กับอำนาจภายนอก เราจึงสามารถเอากฎหมายตะวันตกเป็นฐานในการร่างกฎหมายไทย รวมทั้งจ้างชาวตะวันตกมาช่วยร่างกฎหมายได้ กฎหมายเป็นความเจริญทางวัตถุหรือจิตใจ ไม่ต้องนิยาม

แต่ในความสัมพันธ์ภายในกับคนไทยด้วยกันเอง ผมคิดว่ามีการนิยามที่ชัดเจนมากขึ้น นับตั้งแต่สถาปนาพระพุทธศาสนาแบบทางการขึ้น เป็นมาตรฐานของความเจริญทางจิตใจ ยืนยัน, ปรับปรุง และขยายลัทธิพิธี (cult) เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ขึ้นในสังคม มีความเจริญทางจิตใจหลายอย่างในลัทธิพิธีนี้ นับตั้งแต่ความจงรักภักดี, ความรู้ที่ต่ำที่สูง, ความซื่อสัตย์สุจริตต่อพระมหากษัตริย์, ฯลฯ

ในพ.ศ.2427 ร.5 ส่งพระเจ้าน้องยาเธอไปสหรัฐ เพื่อเจรจาทำหนังสือสัญญาบางเรื่อง พระองค์เจ้าโสณบัณฑิตหนึ่งในคณะทูตได้เขียนรายงานเรื่องนี้ และหนึ่งในข้อสังเกตเกี่ยวกับอเมริกาซึ่งรายงานถวายพระเจ้าอยู่หัว เพื่อตัดสินพระทัยว่าจะเสด็จสหรัฐหรือไม่ ก็คือสภาพสังคมสหรัฐที่ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง คนทุกชั้นสามารถนั่งเบียดเสียดกันในพาหนะสาธารณะชนิดต่างๆ ได้ รวมทั้งคนดำ (ซึ่งน่ารังเกียจแก่ผู้รายงาน) ในความเห็นของผู้เขียน จึงนับว่าถูกต้องแล้วที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ไม่ได้เสด็จสหรัฐ เพราะจะอึดอัดพระทัยกับความเสมอภาคในสังคมอเมริกันอย่างยิ่ง

หนึ่งในนิยามที่ชัดเจนของความเจริญทางจิตใจที่ผู้ดีไทยให้แก่คนภายในก็คือ ความรู้จักที่ต่ำที่สูง พูดอีกอย่างหนึ่ง ความเจริญทางจิตใจหรืออารยธรรมแบบไทยก็คือสังคมที่มีช่วงชั้น

นี่อาจเป็นแก่นกลางของความหมายอารยธรรมที่คนไทยเข้าใจสืบมาจนทุกวันนี้ เห็นได้จากความหมายระหว่างบรรทัดที่ผู้ดีไทยประณามความไม่มีอารยธรรมของอเมริกัน และการประท้วงของผู้ดีใหม่หน้าสถานทูตสหรัฐ เพราะหนึ่งในคำให้สัมภาษณ์ของเอกอัครราชทูตสหรัฐก็คือ การใช้ม.112 ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้คน (ขอย้ำว่า"การใช้"นะครับ ไม่ใช่ตัว ม.112) การอ้างถึงกฏหมายอาญามาตรานี้ ไม่ว่าในลักษณะใดก็ตาม ฟังดูในเมืองไทยเหมือนเป็นการบ่อนทำลาย"อารยธรรม"ไทยโดยตรง เพราะเฉียดกรายไปยังหัวใจของสังคมช่วงชั้นแบบไทยอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

ดังนั้น เมื่อผู้ดีไทยพูดถึงอเมริกันว่าไม่มีอารยธรรม เขาจึงไม่ได้หมายถึง civilization ที่ฝรั่งเข้าใจ หากใครลองแปลคำกล่าวของผู้ดีไทยในเรื่องนี้เป็นภาษาอังกฤษ แล้วให้คนอเมริกันที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ในสหรัฐได้อ่าน เขาก็คงงงว่าผู้ดีไทยพูดอะไรของมันวะ

อย่างไรก็ตาม ความหมายของคำ civilization ก็น่าสนใจ  แม้ความหมายย่อมคลี่คลายไปจากเมื่อเริ่มใช้ในภาษาอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 17 แต่ความหมายตามแนวคิดเดิมก็ยังอยู่ และทำให้คนไทยไม่มีวัน civilized ไปได้ เช่นเดียวกับที่คนตะวันตก โดยเฉพาะอเมริกันไม่มีวันมี"อารยธรรม"เช่นกัน

ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า นัยะที่แฝงอยู่ของคำว่า civilization คือสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในเมือง อันแตกต่างจากที่เกิดในป่าหรือแม้แต่ในชนบท (civilis แปลว่าพลเมืองของเมือง) สิ่งดีๆ ที่เกิดในเมืองนั้น นอกจากความเจริญทางวัตถุต่างๆ แล้ว ยังมีสิ่งที่เป็นนามธรรมรวมอยู่ด้วย

เมืองเป็นที่อยู่ของคนจำนวนมาก ไม่ใช่คนเป็นหัวๆ อย่างที่เรานับประชากรทุกวันนี้ แต่หมายถึงหลายตระกูล, หลายเผ่า, หลายองค์กร (เช่นระหว่างสมาคมการค้าที่แตกต่างกัน) ฯลฯ หน่วยเหล่านี้มีกฎเกณฑ์ประเพณีจัดความสัมพันธ์กันภายในอยู่แล้ว แต่เมื่อเข้ามาอยู่ในเมือง ระเบียบกฎเกณฑ์จัดความสัมพันธ์ภายในไม่อาจนำไปใช้กับหน่วยอื่นกลุ่มอื่นได้ เพราะเขาไม่ได้ยอมรับ จึงจำเป็นต้องมีระเบียบกฏเกณฑ์จัดความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มที่แตกต่างหลากหลาย มิฉะนั้นก็จะเกิดความสงบเรียบร้อยในเมืองไปไม่ได้

ระเบียบกฎเกณฑ์ดังกล่าวนี้ประกอบด้วยอะไรบ้าง สรุปให้เหลือสั้นๆ ก็คือกฎหมาย, ระบอบปกครองซึ่งเป็นที่ยอมรับของคนทุกกลุ่ม, วัฒนธรรมประเพณีที่เคารพสิทธิของกันและกัน และการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีนั้น ซึ่งอาจออกมาในรูปของดนตรี, ละคร, ภาพเขียน, ประติมากรรม ฯลฯ และ/หรือออกมาในรูปของการถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ในสถานศึกษาที่เป็นสาธารณะ และแน่นอนว่าการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ด้วย ซึ่งมักไม่เกิดในที่ใดนอกเมือง หรือเกิดได้ยากมาก

นี่เป็นสิ่งใหม่ที่มนุษย์ต้องสร้างขึ้นเมื่อเกิดเมือง เพราะเมืองเป็นสิ่งแวดล้อมใหม่ที่มนุษย์ไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่เมื่อสร้าง civilization ขึ้นแล้ว ก็ทำให้มนุษย์มีความปลอดภัยและความสะดวกสบายมากขึ้น และในที่สุดก็อาจนำไปใช้นอกเมืองได้ด้วย

ในทุกวันนี้ เมื่อฝรั่งพูดว่า เขามาใช้ชีวิตในป่าดงพงพีที่ไกลจาก civilization สุดกู่ นอกจากจะหมายความว่าขาดสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลาย เช่นแอร์, ส้วมที่นั่งถ่ายได้สบาย, เรือนที่ให้ความปลอดภัยจากสัตว์ร้าย, ฯลฯ แล้ว ยังมีความหมายว่าไม่มีความมั่นคงปลอดภัยทางสังคมด้วย อาจถูกปล้นหรือถูกฆ่าได้ทุกเมื่อโดยไม่สามารถไปขอความคุ้มครองจากรัฐ นักเลงใหญ่ในท้องถิ่นอาจตั้งข้อหาว่าเขาเป็นโจร แล้วนำตัวไปลงโทษโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมที่ยอมรับได้

ผมเข้าใจว่า ความหมายนี้ของ civilization นักปราชญ์ไทยแต่ก่อน (ซึ่งเป็นผู้ดีไทยด้วย) เข้าใจดี นายเมืองและนายเถื่อนในแบบเรียนเรื่องพลเมืองดีของเจ้าพระยาพระเสด็จฯ เมื่อยังเป็นพระยาวิสุทธิ์สุริยศักดิ์ ก็น่าจะคิดขึ้นจาก civilization ในความหมายนี้ คำว่า civilization เคยถูกแปลในภาษาไทยว่านาครธรรม ไม่ใช่อารยธรรม

จากความหมายดั้งเดิมของ civilization ซึ่งยังแฝงอยู่ในคำนี้จนถึงปัจจุบัน จึงน่าจะหมายถึงคุณค่าอันเป็นสิ่งที่คน(ตะวันตก)ในโลกปัจจุบันยกย่องว่าอำนวยความมั่นคงทางสังคมแก่ชีวิตมนุษย์ นั่นได้แก่กฎหมายซึ่งผ่านการรับรองจากมหาชน, การใช้กฏหมายตามวิถีนิติธรรม, รัฐที่มีความยุติธรรม ไม่ใช่คู่ขัดแย้งของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง, ความเสมอภาคของทุกคนภายใต้กฎหมาย, สิทธิของทุกคนในการป้องกันตนเองในกระบวนการยุติธรรม (รวมทั้งไม่ถูกบังคับให้กล่าวโทษตนเอง), สิทธิของพลเมืองที่จะมีความเห็นเป็นอิสระของแต่ละคน ฯลฯ ทั้งหมดเหล่านี้แหละครับ รวมกันเป็นฐานของความหมายคำว่า civilization

ฉะนั้นหากสรุปคำพูดของเอกอัครราชทูตสหรัฐให้ตรงเป๊ะก็คือ สหรัฐมีความวิตกห่วงไยต่อความไม่ civilized ของผู้ปกครองไทย

แล้วผู้ดีไทยกับผู้ดีใหม่ก็ตะโกนตอบว่า มึงต่างหากไม่มีอารยธรรม ออกไปจากประเทศที่มีอารยธรรมแต่ไม่ civilized นี้เสีย

แล้วเมื่อไรจะเถียงกันรู้เรื่องล่ะครับ

oooo


 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน นสพ.มติชน  แก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาโดยผู้เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2559

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net