ชาวดาระอั้งบ้านแม่จอนร้องกรรมการสิทธิฯ-หลังถูกจัดระเบียบ 'ทวงคืนผืนป่า'

กรณีชาวดาระอั้งหรือปะหล่องซึ่งเริ่มตั้งชุมชนในภาคเหนือที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ และชุมชนหลายแห่งต้องเผชิญคดีหลบหนีเข้าเมืองและบุกรุกป่ามาหลายทศวรรษ ล่าสุดราชการหลายหน่วยร่วมกัน “ทวงคืนผืนป่า” จัดระเบียบที่ทำกินชาวดาระอั้งบ้านแม่จอน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยยึดที่ทำกินที่ติดเขตป่า-ที่สูงชันให้กลับไปเป็นเขตป่า ทำให้ชาวบ้านจนต้องร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิฯ เพราะหลังจัดระเบียบทำให้ที่ดินเหลือเพียงเล็กน้อย ไม่พอปลูกพืชหาเลี้ยงครอบครัว

ชาวดาระอั้ง บ้านแม่จอน หมู่ที่ 11 ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ได้เข้ายื่นหนังสือแก่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ใน "เวที กสม. พบประชาชน (ภาคเหนือ)" ที่โรงแรมดวงตะวัน เชียงใหม่เมื่อ 26 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ ในกรณียึดพื้นที่ทำกิน ของราษฎรบ้านแม่จอน ทั้งนี้พบว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน จำนวน 28 ครัวเรือน มี 8 ครอบครัวที่ไม่เหลือพื้นที่ และบางส่วนก็เหลือพื้นที่เพียงเล็กน้อย ซึ่งไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกพืชเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีการกู้ยืนเงินทั้งในระบบและนอกระบบ เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร เมื่อพื้นที่ทำกินถูกยึดคืนหลายครอบครัวก็มองไม่เห็นทางออก ว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร จึงทำให้ชาวบ้านเกิดความเครียดและวิตกกังวลเป็นอย่างมาก

สืบเนื่องจากวันที่ 18 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่หลายภาคส่วนของอำเภอเชียงดาวได้สนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานศรีลานนาได้เข้ายึดพื้นที่ทำกินของชาวดาระอั้งบ้านแม่จอน หมู่ที่ 11 ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 28 ครัวเรือน เป็นพื้นที่ทั้งหมด 116 ไร่ 2 งาน มี 8 ครอบครัวที่ไม่เหลือพื้นที่และบางส่วนก็เหลือพื้นที่เพียงเล็กน้อยซึ่งไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกพืชเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ในการยึดพื้นที่ดังกล่าวเจ้าหน้าที่มีพฤติกรรมบังคับและข่มขู่ให้ชาวบ้านลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือในเอกสารซึ่งชาวบ้านไม่ได้รับรู้เนื้อหาและรายละเอียดของเอกสารดังกล่าว และเจ้าหน้าที่ไม่ยินยอมมอบสำเนาเอกสารดังกล่าวให้กับชาวบ้านทั้งที่มีการร้องขอจากชาวบ้าน

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนและส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสมาชิกในครอบครัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากชาวบ้านได้มีการกู้ยืนเงินทั้งในระบบและนอกระบบ เพื่อเตรียมพื้นที่เพื่อที่จะเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร ชาวบ้านเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวของเจ้าหน้าที่เป็นการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน และขัดกับคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 66/2557 จึงใคร่ขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวด้วย

 

ก่อตั้งชุมชนชาวดาระอั้งที่เชียงดาว และการเผชิญคดีรุกป่ากับรัฐ

แสดงพื้นที่ที่ถูกยึดที่มีการปลูกลำไย มะม่วง กล้วยและพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ

แผนที่ที่เจ้าหน้าที่อุทยานนำมาแสดงให้ชาวบ้านเมื่อปี 2558 ก่อนเข้ามายึดพื้นที่

แสดงการปลูกไม้ประดู่เพื่อเป็นกันชนระหว่างเขตป่ากับพื้นที่ทำกิน

 

ทั้งนี้ เอกสารประกอบการยื่นหนังสือ ยังได้ลำดับเหตุการณ์สำคัญเอาไว้ด้วยว่า ชุมชนดาระอั้งหรือปะหล่อง แม่จอนใน ถือเป็นชุมชนแรก ที่เป็นแหล่งก่อกำเนิดหมู่บ้านชาวดาระอั้ง ในเขตอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ประมาณปี 2524 มีพ่อเลี้ยงคนจีนมาติดต่อให้กลุ่มดาระอั้งของนายน้อย ละวัน ซึ่งเดิมรับจ้างปลูกป่าให้กับหน่วยปลูกป่าพื้นที่บ้านขอบด้ง-นอแล ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 4 ครอบครัว ประมาณทั้งหมด 20 คน ต่อมาตำรวจเชียงดาว เข้ามาจับกุมชาวดาระอั้งจำนวน 15 คน พร้อมทั้งผลักดันกลับสู่ฝั่งรัฐฉานที่ชายแดนบ้านหนองอุก อรุโณทัย ยังเหลือครอบครัวของนายหมั่นแสง ไม่ได้ถูกตำรวจจับและยังอาศัยอยู่ที่บ้านแม่จอนใน

ต่อมา นายหมั่นแสง จึงได้ชักชวนกลุ่มนายช่วย นางมาด ซึ่งเป็นพี่ชายและน้องสาวของตนเอง ในขณะนั้น ทำงานรับจ้างปลูกป่าอยู่ที่บ้านคาย อำเภอแม่อาย เข้ามาทำงานเป็นลูกจ้างเก็บใบเมี่ยงให้พ่อเลี้ยงชาวจีนในพื้นที่บ้านแม่จอนใน ภายหลังชาวดาระอั้งที่อพยพหนีภัยสงครามจากรัฐฉาน มารวมตัวกันที่บริเวณบ้านนอแลในปัจจุบันทราบข่าว บางส่วนก็ทยอยกันเข้ามารับจ้างโดยได้รับการชักชวนตามสายญาติที่เข้ามาทำงานก่อน หลายคนเข้ามาแล้วย้ายออกไปรับจ้างที่อื่น ตามคำชักชวนของสายญาติ ระยะนี้จำนวนชาวดาระอั้งที่แม่จอนใน เริ่มขยายจำนวนเพิ่มมากขึ้น มีเกือบ 100 ครอบครัวและออกไปรับจ้างคนเมืองที่มีสวนลิ้นจี่ สวนมะม่วง สวนลำไย รอบบริเวณนั้นและเริ่มขยายพื้นที่รับจ้างออกไปไกลขึ้นเรื่อยๆ

ในช่วงระยะเวลาไล่เลี่ยกันนั้นชาวบ้านดาระอั้งที่อยู่พื้นที่ปางฮ่อ ซึ่งตั้งอยู่ริมน้ำแม่จอนประมาณ 10 ครัวเรือน ก็ได้รวบรวมเงินประมาณ 6,000 บาท ซื้อสวนลิ้นจี่มะม่วง จากคนเมืองบ้านแม่เตาะ เพื่อตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณปางฮ่อ ซึ่ง ได้แก่ครอบครัวของ นายลี จองคำ,นางมาก จองคำ,นายเสา จองโมง,นายไอ่จาย จองเอ,นางซ่วย มานิน,นายหนั่น หมอเมือง, นางมิอู จะลา,นายหนั่นสุทธะ, นางนางคนเมือง,นายตาคนเมืองภายหลังก็กลายมาเป็นบ้านแม่จอนในปัจจุบันบ้านแม่จอนเป็นหย่อมบ้านของบ้านแม่เตาะ หมู่ 11 ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ มีประชากรทั้งหมด 227 คน 42หลังคาเรือน แบ่งเป็นดาระอั้ง 33หลังคาเรือนและลาหู่ 9 หลังคาเรือน

ต่อมา เกิดเหตุการณ์สะเทือนใจชุมชนอย่างามาก โดยเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2532เกิดเหตุการณ์ชาวดาระอั้งกลุ่มนายคำ จองตาล ซึ่งเคยอาศัยอยู่ในบ้านแม่จอนในและภายหลังได้เคลื่อนย้ายไปตั้งชุมชนใหม่ที่บ้านปางแดงใน ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐสนธิกำลังเข้าจับกุม ซึ่งในครั้งนั้น เจ้าหน้าที่บอกว่า “เชิญชาวดาระอั้งไปประชุมและแจกผ้าห่ม” แล้วก็จับผู้ชายทั้งหมู่บ้านจำนวน 29 คนในข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติและลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ศาลสั่งตัดสินจำคุก 5 ปี 9 เดือน ชาวบ้านปางแดงในติดคุกประมาณ 3 ปี 6 เดือน 17 วัน ช่วงนั้น ผู้หญิงชาวดาระอั้งที่เหลือดำรงชีพโดยการอาชีพรับจ้างทั่วไปรอบบริเวณหมู่บ้านให้กับคนเมืองและชนเผ่าอื่น อาทิ ลีซู ลาหู่ อาข่า ปกาเกอะญอ ในเขตชุมชนอื่นๆ ในตำบลเชียงดาว และปลูกข้าวไร่ไว้บริโภค ในช่วงนี้ทั้งหมู่บ้านปางแดงในเหลือ ผู้ชายอยู่ไม่กี่คน มีนายคำ จองตาล และผู้สูงอายุอีก 4-5 คนเท่านั้น

ภายหลังได้มีการประกาศให้พื้นที่นี้เป็น พื้นที่อุทยานศรีล้านนา ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 106 ตอนที่ 120 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2532 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 60 ของประเทศ มีเนื้อที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภาคเหนือ หรือใหญ่เป็นอันดับ 8 ของประเทศและปลายปี 2532 รัฐบาลประกาศนโยบายปิดป่า เจ้าหน้าที่ป่าไม้รับนโยบายปิดป่าจากรัฐบาล ชาวดาระอั้งที่ทำงานรับจ้างเก็บใบเมี่ยงอยู่บริเวณป่าต้นน้ำแม่จอนใน จึงถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐไล่ออกจากพื้นที่ส่วนหนึ่งก็มาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณบ้านแม่จอน

ผู้นำทางศาสนาคริสต์ นิกายโปรแตสแตนท์ เผ่าลีซูคนหนึ่งตั้งบ้านเรือนริมห้วยหกบริเวณพื้นที่บ้านเดิมปางแดงนอก ชาวบ้านรู้จักกันในนาม สามตุ้ย เริ่มเผยแผ่ศาสนาในกลุ่มชาวดาระอั้ง มีเงื่อนไขว่าใครอยากได้ที่อยู่อาศัยให้มาเข้าเป็นคริสเตียน หรือผู้ป่วยที่ต้องการรักษาพยาบาล ใครเปลี่ยนศาสนามาเข้าคริสเตียนกลุ่มนี้จะได้รับการช่วยเหลือรักษาพยาบาลฟรี ชาวดาระอั้งจากแม่จอนประมาณ20กว่าครอบครัว เริ่มเคลื่อนย้ายจากแม่จอนในเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มนายสามตุ้ย ภายหลังดาระอั้งกลุ่มนี้ถูกเรียกว่า “ป๊อกนายสาม” อีกทั้งนายสามตุ้ยมีพื้นที่ทำกินเป็นของตนเองจำนวนมาก และอนุญาตให้ชาวดาระอั้งใช้พื้นที่ทำการเกษตรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปลูกถั่วแดงได้โดยแบ่งผลผลิตกันคนละครึ่งกลุ่มป็อกนายสามตุ้ย เริ่มขยายตัวอย่างรวดเร็วในพื้นที่ใกล้เคียงกัน เหนือป๊อกนายสามขึ้นไปเป็นป๊อกมนดำ หัวหน้าชื่อมนดำเป็นชาวลาหู่

นายอินพรม น้องของนายคำ จองตาล นำครอบครัวและคนใกล้ชิดของตนเองอีกสามสี่ครอบครัวมาอยู่ในป็อกนี้ ต่อมานายช่วย มานินและพรรคพวกมีปัญหาความขัดแย้งกับนายสามตุ้ย จึงได้ขึ้นไปแผ้วถางที่ดินด้านเหนือของป๊อกนายมนดำ นำชาวดาระอั้งอีกสิบกว่าครอบครัว มาตั้งบ้านเรือนทั้งสามป๊อกนี้ภายหลังกลายเป็น ชุมชนปางแดงนอก ซึ่งมีทั้งชาวดาระอั้งและชาวลาหู่อาศัยอยู่รวมกันมากกว่า100 ครัวเรือน

วันที่ 26 มีนาคม 2541 ชาวบ้านปางแดงนอก ประกอบด้วย ชาวดาระอั้งและลาหู่ ถูกจับกุมในข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติและเป็นต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย 56 คน ติดคุกไป 87วัน หลังพ้นโทษจากคุกชาวดาระอั้งก็ออกมาใช้ชีวิตปกติรับจ้างทั่วไป ในเขตพื้นที่ ตำบลเชียงดาว ตำบลแม่นะและตำบลปิงโค้ง

 

หลายฝ่ายระดมเงินซื้อที่ดินตั้งหมู่บ้านปางแดงนอก-ยุคร่วมมือกับรัฐป้องกันการรุกที่ป่า

ต่อมา วันที่ 23 กรกฎาคม 2547 ชาวปางแดงนอกทั้งดาระอั้งและลาหู่ 48คน ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้อีกครั้ง โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าชาวบ้านกระทำผิดซึ่งหน้า ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14 ตั้งข้อหา มาตรา 14(2) ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ เก็บหาของป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติในครั้งนี้ชาวดาระอั้งรับโทษจำคุก 48 วัน

จากกรณีดังกล่าว นายสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความจากสภาทนายความแห่งประเทศไทย ได้ให้สัมภาษณ์ออกสื่อสิ่งพิมพ์หลายฉบับในช่วงเวลานั้น ความว่า “ถ้าถามในมุมมองของสภาทนาย เห็นว่า การสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมชาวบ้านในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิอย่างชัดแจ้ง และขัดกับรัฐธรรมนูญปี 2540 เนื่องจากว่า ไม่ได้มีหมายจับจากศาล ซึ่งเมื่อทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง และอ้างว่าได้ใช้กฎอัยการศึก แต่ทว่าทางทหารได้ออกมายืนยันชัดเจนว่า ไม่ได้ใช้กฎอัยการศึก และที่ทางทหารเข้าไปร่วมด้วยนั้น ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ทางชุดปฏิบัติการร่วมร้องขอเท่านั้น ดังนั้นการจับกุมชาวบ้านปางแดง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย"

นอกจากนั้น อาจารย์ ดร.ชยันต์ วรรธณะภูติ ก็ได้กล่าวว่า “การจับกุมของเจ้าหน้าที่ครั้งนี้ มิได้คำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและมิได้ใช้กฎหมายอย่างรอบคอบ เนื่องเพราะรัฐมองไม่เห็นชาวบ้านในฐานะประชาชนที่มีสิทธิขั้นพื้นฐานและที่สำคัญมองว่าคนเหล่านี้มิได้เป็นสมาชิกในรัฐชาติ แม้กรณีที่เกิดขึ้นมิได้รุนแรงอย่างปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แต่กรณีที่เกิดขึ้นก็ทำให้เห็นว่าวิธีคิด วิธีปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยของรัฐมิได้มองปัญหาอย่างเชื่อมโยงและรอบด้าน” (ประชาไท, 15 ธันวาคม 2549)

หลังเหตุการณ์การถูกจับกุมครั้งที่สอง หลายภาคส่วน ทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ สภาทนายความ ต่างก็ข้ามาให้ความช่วยเหลือและทำงานร่วมชาวดาระอั้ง เพื่อให้เขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จนสามารถมีเงินทุนเพื่อนำไปซื้อที่ดินตั้งหมู่บ้านขึ้นใหม่ และมีเงินซื้อสิ่งปลูกสร้างบ้านเรือน ตั้งแต่ปี 2551กลายเป็น หมู่บ้านปางแดงนอกในปัจจุบัน

ตั้งแต่นั้นมา ชาวบ้านได้ให้ความร่วมมือกับหลายภาคส่วน ในการร่วมจัดการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า โดยในช่วงกลางปี 2556 เจ้าหน้าที่อุทยานศรีลานนา เข้ามาแนะนำให้ชาวบ้านแม่จอน ปลูกแนวกันชนโดยปลูกต้นประดู่ เป็นสัญลักษณ์ของเส้นแบ่งเขตระหว่างพื้นที่ป่ากับพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้ชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ใหม่เพิ่ม ต่อมา ในเดือนมีนาคม2557เจ้าหน้าที่อุทยานศรีลานนา ก็ได้เข้ามาแนะนำให้ชาวบ้านแม่จอนทำแนวกันไฟป่า และให้ชาวบ้านร่างกฎระเบียบชุมชนเพื่อไม่ให้มีการขยับขยายพื้นที่ทำกินใหม่ ซึ่งชาวบ้านทุกคนก็ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี

 

ทวงคืนผืนป่ารอบใหม่ - ยึดที่ทำกินโดยยึดเกณฑ์ที่ดินติดป่า-พื้นที่สูงชัน

แสดงที่เจ้าหน้าที่อุทยานศรีลานนาเข้ามามอบแผนที่และชี้แจงการใช้พื้นที่ของชาวบ้านในปี 2558

 

บรรยากาศในการประชุมและมอบแผนที่ในปี 2558

นายอำเภอเชียงดาวและเจ้าหน้าอุทยานทหาร เข้ามาประชุมและยึดพื้นที่ชาวบ้านเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2559

 

แสดงเส้นแบ่งพื้นที่ถูกยึด

 

ชี้แจงแนวเขตในแผนที่และแจ้งยึดพื้นที่ชาวบ้าน

ป้ายที่เจ้าหน้าที่อุทยานปักในพื้นที่ที่ยึดคืน

แต่แล้ว ก็เกิดเหตุการณ์ปฏิบัติการทวงคืนผืนป่า ตามนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ โดยได้เกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 17-18 พ.ค.2559 ที่ผ่านมา โดยในช่วงเย็น ของวันที่ 17 พ.ค.2559 มีทหารจากหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารม้าที่ 4 เข้ามาในชุมชนบ้านแม่จอนและเรียกประชุมชาวบ้าน วัตถุประสงค์ของทหาร ทหารบอกกับชาวบ้านว่า “เข้ามาเพื่อมาดูแลทุกข์สุขของประชาชน เข้ามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาภัยแล้ง การตัดไม้ทำลายป่า ชาวบ้านจะต้องไม่ทำลายป่าต้องช่วยกันรักษาป่า ชาวบ้านจะต้องเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศไทย เป็นพสกนิกรที่ดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องทำคุณงามความดีตอบแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและตอบแทนคุณแผ่นดินไทย และหากชาวบ้านมีปัญหาให้ไปยื่นเรื่อง ร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรมของแต่ละอำเภอและจังหวัด ห้ามไม่ให้เดินขบวนเรียกร้องหรือประท้วงใดๆ และทหารได้เข้ามาประชาสัมพันธ์เรื่องการลงประชามติในการโหวตรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ชื่อรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง โดยรายละเอียดในที่ประชุมทหารกล่าวกับชาวบ้านมีดังนี้”

“ในวันนี้ผมเอาความระลึกถึงจากผู้บังคับหน่วยมาฝาก ก็มาดูความทุกข์สุขของพวกเราด้วยนะครับ คนไทยไม่ว่าจะอยู่แห่งหน ตำบลไหนของประเทศไทย เจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่บ้านเมืองต่างๆ เช่น ศูนย์วิจัยข้าว ไม่ว่าจะอยู่ในที่ทุรกันดารแค่ไหนเราก็ไป เพราะว่าเราเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ข้าราชการสนองพระเนตรพระกรรณพระองค์ท่าน ต้องมาดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน อันไหนที่พ่อแม่พี่น้องเดือดร้อนก็ต้องนำเรียนผู้บังคับบัญชาเพื่อดำเนินการแก้ไข ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้ก็จะมีศูนย์ดำรงธรรมของอำเภอและจังหวัด ถ้าพ่อแม่พี่น้องเดือดร้อนในทุก ๆ เรื่อง เช่น ถูกข่มขู่จากผู้มีอิทธิพล หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมในหลาย ๆ เรื่องที่พ่อแม่พี่น้องได้รับผลกระทบ ก็ขอให้ไปร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรม อย่าไปเดินขบวนอะไรพวกนี้ เพราะมันแก้ไขอะไรไม่ได้นะครับ ให้ไปที่ศูนย์ดำรงธรรม เจ้าหน้าที่ทหารอย่างพวกผมและกำลังพลทั้งหมดก็จะไปติดตามเรื่องให้ ตอนนี้เรื่องทั้งหมดที่ศูนย์ดำรงธรรมมีเข้ามาหลากหลายแล้วนะครับ ล่าสุดไปดูเรื่องลำธารสาธารณะ มีบ่อปลา อ่างน้ำ อ่างกักเก็บน้ำ ที่แล้ง เกิดผลกระทบมากมาย” ตัวแทนเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารม้าที่ 4 กล่าวกับชาวบ้าน

ตัวแทนเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารม้าที่ 4 ยังกล่าวอีกว่า “ ซึ่งปัจจุบันนี้ที่มีปัญหาภัยแล้งเพราะว่าเชียงดาวเราเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำปิง เนื่องจากป่าได้ถูกทำลาย ผมเข้ามาในพื้นที่นี้ก็เห็นความแตกต่างไปจากพื้นที่อื่น มีการปลูกต้นไม้เสริม หญ้าแฝกด้วย แสดงว่าทุกคนเชื่อในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์ท่านสอนให้เราพอเพียง อยู่อย่างพอเพียง ดูแล้วที่นี่ดีกว่าที่อื่น ขอชื่นชมเลย เพราะเข้ามาแล้วมันเป็นสุข หัวใจมันยิ้มได้ หัวใจยิ้มเลยเพราะยังมีพสกนิกรของพระองค์ท่านอย่างพวกเราที่บ้านแม่จอนนี้ได้ดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท”

“เพราะฉะนั้นเราก็ต้องทำความดีแบบนี้ ต้องไม่ให้เป็นภูเขาหัวโล้น ยิ่งมีป่ามากเท่าไร่ก็ยิ่งมีน้ำเยอะ อย่างนี้ผมว่าน่าชื่นชมมีปลูกหญ้าแฝกและมีต้นไม้แซม น่ารักมาก เขียวขจีเลย พวกท่านน้อมนำเอาพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ ถือว่าสุดยอด ถือว่าพวกเราได้ตอบแทนบุญคุณแผ่นดินแล้ว เกิดมาชาติหนึ่งได้มายืนจุดนี้ถือว่าพวกท่านต้องมีบุญแล้ว”

“พวกเราเกิดมาเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกเป็นคนดีได้ เป็นคนดีของประเทศชาติ เป็นคนดีของศาสนา จะนับถือศาสนาอะไรก็ตามแต่ ทุกศาสนาสอนให้เราเป็นคนดี วันนี้ประทับใจจริงๆ ตื้นตัน เดินสายเป็นวิทยากรมาหลายที่ มาที่นี่ขนลุกเลยครับ และเรื่องสุดท้าย คือเรื่องการลงประชามติในการโหวตรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ชื่อของเขาคือ รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ประชาชนจะได้ประโยชน์มากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ใครก็ตามที่จะเข้ามาเล่นการเมือง จะลงสมัคร ส.ส. อะไรก็แล้วแต่จะต้องถูกดำเนินการตามกรรมวิธีการตรวจสอบ”

จากนั้น ในเช้าวันที่ 18 พ.ค. 2559 นายอำเภอเชียงดาว ปลัดอำเภอ เจ้าหน้าที่ทหาร อส.และเจ้าหน้าที่อุทยานศรีลานนาเข้ามาประชุมชี้แจงกับชาวบ้าน การกล่าววัตถุประสงค์ของการเข้ามาในพื้นที่บ้านแม่จอนจากนายอำเภอเชียงดาว มีรายละเอียดดังนี้

“ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนของเราคือมีคนนอกเข้ามาอยู่ บางคนบอกว่าเขาไม่ใช่พี่น้องเรา มาจากบ้านอื่น เรามีครอบครัวขยายมากขึ้น ก็เข้าใจว่าเราอยู่ที่นี่แล้วจะให้เราไปอยู่ที่ไหนอีกเราโดนไล่มาแล้วครั้งหนึ่ง เป็นบทเรียนของเรา มาวันนี้เราจะเอาแผนที่ทั้งหมดมาคุยกันกับทางฝ่ายทหารตำรวจ เจ้าหน้าที่ วันนี้มีปลัดอำเภอมาร่วมด้วย ก็มาคุยกันที่ไหนที่เหมาะสมที่เราจะเอาคืนที่ไหนเหมาะสมที่จะให้พื้นที่ แต่พื้นที่ดังกล่าวถ้าเอาแล้วให้เป็นพื้นที่กองกลางได้ไหม พื้นที่สูงๆเราก็จะเอาปลูกป่า พื้นที่ต่ำๆมานิดหน่อยจะเอาเป็นพื้นที่กลางของหมู่บ้านจะเอาเป็นป่าชุมชนด้วยและเป็นพื้นที่ที่เราจะเตรียมอาชีพให้ เพราะถ้าใครคุยเรื่องการปลูกข้าวโพดให้เลิกคิดไปได้เลยเพราะว่าภายใน3ปีนี้ข้าวโพดจะนำเข้ามาตอนนี้คนต่อต้าน บริษัทCP เนื่องจากว่าบริษัทนี้ถูกข้อหาว่านำเข้า ภายใน3ปี นำเข้ามา4บาท มันถูกกว่าการมารับซื้อจากพวกเราที่ราคา 5 บาทอะไรประมาณนั้น ทำไมต้องมาซื้อของเรา 5 บาท นำเข้ามาถูกกว่าทำไมต้องมาปลูกให้ถูกด่า ทุกวันนี้หนังสือพิมพ์ ทีวีเขาด่า CP ที่เป็นตัวส่งเสริมพี่น้องบนพื้นที่สูงให้บุกรุกป่า”

นายอำเภอเชียงดาว ยังกล่าวอีกว่า “อย่างแรกเราต้องมีกฎเข้มแข็งว่า ถ้าใครมีครอบครัวจะเอาภรรยาและลูกมาคนที่เป็นพ่อต้องแบ่งให้ลูกบ้าง ไม่ใช่ว่าบอกให้ลูกเขยหรือสะใภ้ที่แยกครอบครัวใหม่ หรือญาติใครไม่รู้ที่อ้างว่าเป็นญาติคนในหมู่บ้านญาติทางไหนไม่รู้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พวกที่อยู่สูงชันลักษณะนี้ก่อนที่จะเริ่มเพาะปลูกจะขอคืนบางส่วน ให้มาอยู่ในพื้นที่ต่ำๆ เพราะถ้าเลยพื้นที่นี้ไปถ้าเราขอคืนก็จะได้เลยไปถึงฝั่งโน้น มันอยู่ใกล้จะถึงปลายดอยแล้ว และอีกลุ่มก็จะขยายไป ก็จะกลายเป็นดอยหัวโล้นสมบูรณ์แบบ ดังนั้น เราเห็นแล้วว่าน้ำ ทุกวันนี้เป็นยังไง ถ้าจะคิดถึงว่าเราจะบุกเบิกที่เพื่อทำข้าวโพดให้ทุกคนเลิกคิดเพราะว่าภายใน 3 ปีนี้ จะไม่มีการปลูกข้าวโพดในประเทศไทยแล้ว”

คลิปเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ ทวงคืนผืนป่าบ้านแม่จอน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 18 พ ค 59 (ที่มา: แอ๊บ สระบุรี/YouTube)

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของเจ้าหน้าที่หลายภาคส่วนในครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เข้ามาประชุมเพื่อปรึกษาหารือหรือชี้แจงเท่านั้น แต่ทางเจ้าหน้าที่อุทยานได้ยึดพื้นที่ทั้งหมดจำนวน 116 ไร่ 2 งาน โดยหลังการประชุมชี้แจงแล้ว ก็ได้สั่งให้ชาวบ้านไปยืนประจำในพื้นที่ทำกินของตนเอง เพื่อบันทึกข้อมูลรายแปลงแต่ละรายเอาไว้ ก่อนทำการยืดพื้นที่ทำกิน ซึ่งส่งผลทำให้ ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจำนวน 28 ครัวเรือน โดยลักษณะของพื้นที่ที่ยึดคือเป็นที่สูงชัน พื้นที่ติดเขตป่า พื้นที่ที่มีคดีความและพื้นที่ที่บุกเบิกใหม่หลังปี 2545

การยึดพื้นที่ในครั้งนี้สร้างความวิตกกังวลและความเดือนร้อนให้ชาวบ้านเป็นอย่างมาก เพราะหลายครอบครัวถูกยึดพื้นที่ทำกินทั้งหมด เช่น กรณีของนายจะที จะทอ โดนยึดพื้นที่เกือบทั้งหมด เดิมมีที่ดิน8ไร่ ถูกยึดไป 7 ไร่ 2 งาน เหลือพื้นที่ให้ทำกินเพียง 2 งาน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก ในขณะเจ้าหน้าที่ได้ให้เหตุผลว่าอยู่ในพื้นที่สูงชัน ซึ่งก่อนหน้านั้นนายจะทีได้ไปกู้เงินนอกระบบมาก่อนจำนวน10,000 บาทเพื่อนำมาลงทุนปลูกพืชผลต่างๆ ภายในสวนมีทั้งต้นมะม่วง ต้นลำไย ที่กำลังออกผลผลิต และเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ซื้อปุ๋ยไว้แล้วเพื่อปลูกข้าวโพดในเดือนพฤษภาคมนี้ ชาวบ้านบอกรอฝนตกอีก 2 ครั้งทุกครอบครัวก็จะเริ่มลงมือปลูกข้าวโพด เมื่อถูกยึดที่ดินทำกิน นายจะที และชาวบ้านหลายครอบครัวจะไปปลูกข้าวโพดที่ไหน เนื่องจากครอบครัวนายจะทีมีสมาชิกที่ต้องเลี้ยงดู 4 ชีวิต จะกินอยู่อย่างไร

ไม่ต่างจากครอบครัวของนายสิงหะ ธรรมชัย ซึ่งมีที่ดินทั้งหมด16ไร่ ถูกยึด12ไร่เหลือที่ดิน4ไร่กับสมาชิกในครอบครัวที่ต้องเลี้ยงดูอีก 9 ชีวิต ซึ่งก่อนหน้านี้ได้กู้หนีนอกระบบมาเตรียมปลูกข้าวโพดเช่นกัน ครอบครัวของนางมั่น มานินมีที่ดิน7ไร่ 2งานถูกยึด4ไร่เหลือ3ไร่ 2งานและมีสมาชิกในครอบครัวทั้งหมด 10 คน ตอนนี้กู้เงินนอกระบบมาประมาณ 40,000บาท หลายครอบครัวต้องเผชิญปัญหาเช่นนี้

ทั้งนี้ ชาวบ้านมีความวิตกกังวลว่า จากที่ทางนายอำเภอชี้แจงกับชาวบ้านว่า ให้ชาวบ้านให้ความร่วมมือเพื่อเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เพื่อประเทศเราจะได้มีป่าอุดมสมบูรณ์มากขึ้น เป็นนโยบายจากนายกรัฐมนตรีที่สั่งการลงมา ชาวบ้านไม่ต้องกังวลสำหรับพื้นที่ที่ถูกยึดรัฐจะมีโครงการระยะยาวเจ้ามาส่งเสริมอาชีพ ทำให้ชาวบ้านมีอาชีพ มีรายได้ รัฐจะไม่ทิ้งชาวบ้าน แต่ในความคิดของชาวบ้านและข้อวิตกกังวล โครงการระยะยาวของรัฐคืออะไร จะมาช่วยชาวบ้านจริงหรือไม่ กลัวจะเข้ามาหลอกแล้วหายไป และกว่ารัฐจะเข้ามาช่วยเหลือ ชาวบ้านต้องกินต้องใช้ทุกวัน เรื่องปากท้องของชาวบ้านเป็นเรื่องสำคัญ เพราะที่นี่ ที่ดินทำกินคือชีวิต คือลมหายใจของชาวบ้าน ถ้าไม่มีที่ดินทำกิน ปีนี้จะปลูกถั่ว ปลูกข้าวโพด ปลูกลำไยที่ไหน ปีนี้จะมีรายได้จากที่ไหน จะเอาผลผลิตจากที่ไหนไปขายเพื่อมาซื้อข้าวกิน ครอบครัวจะอดตายไหม ในอนาคตลูกหลานจะอยู่อย่างไร ครอบครัวและชุมชนจะเป็นอย่างไร ครั้นจะออกไปรับจ้างข้างนอกก็ไม่กล้าเพราะไม่มีบัตร แค่ก้าวเท้าออกจากบ้านก็ถูกจับแล้ว เพราะเขามองว่าไม่ใช่คนไทย ทั้งหมดนี้ เป็นข้อวิตกกังวลของชาวบ้านที่ร่วมกันสะท้อนออกมา

คลิปเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ ทวงคืนผืนป่าบ้านปางแดง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 พ ค 2559 (ที่มา: แอ๊บ สระบุรี/YouTube)

ในขณะที่ เจ้าหน้าที่รัฐชุดดังกล่าว ยังคงเดินหน้าทวงคืนผืนป่ากับชาวบ้านชนเผ่ากันต่อเนื่องในหลายพื้นที่ของอำเภอเชียงดาว โดยในวันที่ 24 พ.ค.2559 ได้เข้าไปบ้านปางแดง แล้วใช้วิธีการรูปแบบเดิม นั่นคือ เข้าไปประชุมชี้แจงให้ชาวบ้านรับทราบ และยอมรับ จากนั้นเจ้าหน้าที่เข้าไปทำการยึดคืนพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ตามนโยบายทวงคืนผืนป่า โดยได้สั่งให้ชาวบ้านไปยืนประจำในพื้นที่ทำกินของตนเอง เพื่อบันทึกข้อมูลรายแปลงแต่ละรายเอาไว้ ก่อนทำการยืดพื้นที่ทำกิน โดยที่ชาวบ้านได้แต่ยกมือยอมรับบนความกล้ำกลืน เหมือนกับชาวบ้านแม่จอนที่โดยกันมาก่อนหน้านั้นแล้ว.

 

ข้อมูล/ภาพประกอบ : ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท