Skip to main content
sharethis

รองอธิบดีกรมการรถไฟญี่ปุ่น หารือ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม พัฒนาระบบรางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ส่วนผลหารือรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ ญี่ปุ่นตั้งงบ 5.3 แสนล้าน ขณะที่ผลศึกษาฝ่ายไทยเสนอ 4.4 แสนล้าน เพิ่มขึ้น 9 หมื่นล้าน โดยไทยขอญี่ปุ่นกลับไปพิจารณาใหม่หลังค่าก่อสร้างเพิ่มเพราะแยกระบบรางจากรถไฟไทย-จีน

ไทย-ญี่ปุ่นหารือรถไฟความเร็วสูงสายเหนือ งบลงทุน 5.3 แสนล้าน เพิ่มขึ้น 9 หมื่นล้าน

รองอธิบดีกรมการรถไฟ กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยว แห่งญี่ปุ่น หารือกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ห้องประชุม กระทรวงคมนาคม เมื่อ 2 มิ.ย. 2559 (ที่มาของภาพ: กระทรวงคมนาคม)

2 มิ.ย. 2559 เว็บไซต์กระทรวงคมนาคม รายงานว่าเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ที่ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ นายซึโตะมุ ชิมุระ รองอธิบดีกรมการรถไฟ กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยว ประเทศญี่ปุ่น เข้าเยี่ยมคารวะ เพื่อหารือประเด็นความร่วมมือด้านการพัฒนาการขนส่งสินค้าระบบราง ระหว่างไทย – ญี่ปุ่น เส้นทางกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ โดยมี นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย และผู้แทนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เข้าร่วมหารือฯ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2559 ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม

สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นทาง กรุงเทพฯ - พิษณุโลก - เชียงใหม่ ซึ่งอยู่ภายใต้ความร่วมมือระบบรางไทย-ญี่ปุ่น ใน มติชนออนไลน์ เปิดเผยผลการประชุมว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมระบุว่า มีความคุ้มค่าด้านสังคมและเศรษฐกิจ แต่อาจจะยังไม่คุ้มค่าด้านการเงิน ดังนั้นทางญี่ปุ่นจึงเสนอให้ไทยเร่งศึกษาการพัฒนาพื้นที่ข้างทาง เพื่อเพิ่มความคุ้มค่าทางการเงิน

นายอาคม กล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เร่งศึกษาและจัดทำแผนแม่บท (มาสเตอร์แพลน) เพื่อพิจารณาศักยภาพของเมืองริมทางรถไฟ รวมไปถึงการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางให้ชัดเจนภายใน 1 ปี ส่วนประเด็นมูลค่าโครงการตอนนี้เป็นเพียงการศึกษาขั้นต้น โดยยังมีบางประเด็นที่ญี่ปุ่นศึกษามาไม่ตรงกับผลการศึกษาของไทย ทำให้มูลค่าลงทุนยังสูง ยังต่ำกว่ากัน ไทยจึงขอให้ญี่ปุ่นกลับไปศึกษาและนำมาเสนอใหม่

ด้านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า รูปแบบการลงทุนเบื้องต้นญี่ปุ่นเสนอให้รัฐลงทุนในส่วนงานก่อสร้าง และตัวระบบ ส่วนตัวรถ และการบริหารจัดการ มี 2 ทางเลือกคือ 1. ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ตั้งบริษัทลูกเข้ามาบริหาร และ 2.เปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมทุนกับรัฐ หรือการลงทุนในรูปแบบพีพีพี โดยไทยเสนอญี่ปุ่นแบ่งช่วงพัฒนาเป็น 2 ช่วง คือ 1.กรุงเทพฯ – พิษณุโลก และ 2.พิษณุโลก – เชียงใหม่

มติชนออนไลน์ อ้างแหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ญี่ปุ่นเสนอมูลค่าโครงการมาที่ 5.3 แสนล้านบาท ขณะที่ไทยเคยศึกษาไว้ว่าจะลงทุน 4.4 แสนล้านบาท หรือสูงกว่า 9 หมื่นล้านบาท ดังนั้นจึงขอให้ญี่ปุ่นกลับไปพิจารณาใหม่ โดยเฉพาะวงเงินก่อสร้าง ญี่ปุ่นให้แยกระบบราง (แทร็ก) ตั้งแต่แนวเส้นทางบางซื่อ–บ้านภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ทำให้มูลค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น ขณะผลการศึกษาของไทยใช้แทร็คในช่วงดังกล่าวร่วมกับรถไฟไทย–จีนเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา โดยจะมีการประชุมความคืบหน้าโครงการอีกครั้งในวันที่ 20 มิถุนายนนี้

 

ไทย-ญี่ปุ่นเปิดสำนักงานสำรวจและพัฒนาการขนส่งทางรถไฟ

พิธีเปิด สำนักงานเพื่อเตรียมการสำรวจและพัฒนาการขนส่งสินค้าทางรถไฟ โดยมีประธานคือ รมว.คมนาคม ผู้อำนวยการ สนข. หัวหน้าหน่วยกลุ่มบริหารรถไฟฟ้า รฟม. รองอธิบดีกรมการรถไฟ กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น และเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย (ที่มาของภาพ: กระทรวงคมนาคม)

ในวันเดียวกัน เว็บไซต์กระทรวงคมนาคม รายงานว่า ที่อาคารบริษัทโตโยต้า ทูโช ประเทศไทย จำกัด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังเป็นประธานพิธีเปิดสำนักงานเพื่อเตรียมการสำรวจและพัฒนาการขนส่งสินค้าทางรถไฟ โดยมีนายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร นายประเสริฐ อัตตะนันทน์ หัวหน้าหน่วยกลุ่มบริหารรถไฟฟ้า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นาย นาชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย นายซึโตะมุ ชิมุระ รองอธิบดีกรมการรถไฟ กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น ที่ปรึกษาประจำสำนักเอเชียโอเชียเนีย องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) และคณะสื่อมวลชนร่วมพิธี

โดยการทดลองการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ได้ทดลองขนส่งคอนเทนเนอร์ขนาดเล็กสำหรับการขนส่งภายในประเทศ เส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ ในเส้นทางรถไฟสายเหนือ และสายตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2559 โดยปัญหาจากการทดลองขนส่งสินค้านั้น จะได้มีการศึกษาเพื่อนำมาแก้ไขและปรับปรุงต่อไป รัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้จัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเพื่อเตรียมการสำรวจ และพัฒนาการขนส่งสินค้าทางรถไฟขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการศึกษารายละเอียดด้านแผนงาน เงื่อนไขการดำเนินธุรกิจการขนส่งสินค้า โดยจะสามารถรายงานผลเกี่ยวกับธุรกิจการขนส่งสินค้าให้กับกระทรวงคมนาคมได้ประมาณเดือนกันยายน 2559

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net