Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

   


ผู้เขียนได้เขียนบทความประเด็น ผู้หญิงกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มา 2 ครั้งเมื่อปี 2556-2557 ในครั้งนี้ ก็เป็นการนำเสนออย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ขบวนการแรงงานและประชาธิปไตยเห็นถึงข้อจำกัดของการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีด้วยแนวคิดสตรีนิยม (Feminism) ที่โน้มเอียงไปทางการสนับสนุนระบบทุนนิยม-เสรีนิยม (Liberalism) และอนุรักษ์นิยม (Conservatism) ขององค์กรด้านสิทธิสตรี และผู้นำระดับชาติ เนื่องจากแนวคิดสตรีนิยมวิเคราะห์ปัญหาการกดขี่ทางเพศในมิติหญิงชาย หรือบทบาทหญิงชาย (Gender) ที่ไม่มีเป้าหมายถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง (เศรษฐกิจการเมือง) ว่า การเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศเกี่ยวข้องกับการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตยอย่างไร  

อีกทั้งปรากฏการณ์ที่พบคือ การต่อสู้ด้วยแนวคิดสตรีนิยมยังไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน และความขัดแย้งทางการเมืองในไทยปัจจุบันที่ประชาธิปไตยถูกปล้นไปโดยเผด็จการทหาร เนื่องจากเรายังเห็นองค์กรที่เรียกร้องด้านสิทธิสตรีกระแสหลักสนับสนุนระบอบเผด็จการทหาร ที่ใช้ความรุนแรงจัดการกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ทั้งยังเพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนที่คิดต่างจากชนชั้นนำ

 

แนวคิดการพัฒนาของชนชั้นนำที่หยิบใช้แนวคิดสตรีนิยม

ผู้เขียนขอเริ่มจากการนำเสนอประเด็นสิทธิสตรีในเวทีโลก ณ ที่ประชุมของสหประชาชาติ (UN world conference on women) ปี 2557 ได้สรุปสิ่งที่เปลี่ยนแปลงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาว่า ผู้หญิงเข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาลและการศึกษามากขึ้น โดยดูจากตัวชี้วัดอัตราการตายจากการคลอดบุตรลดลงครึ่งหนึ่งกับช่องว่างระหว่างชายหญิงในการเข้าเรียนระดับพื้นฐานลดลงมากและตัวเลขอีกสองตัวสำคัญที่กำหนดอนาคตของประเทศ คือ 6 และ 1.7 ล้านล้านมันหมายถึงอะไร (Unfinished Business for the World’s Women. 20 พ.ย. 57 จากเว็บไซด์ The Economist, http://www.economist.com/news/21631962-anniversary-landmark-un-conference-women-opportunity-renew-its-vision-says)

  • 6 คือ ค่าเฉลี่ยชั่วโมงทำงานของผู้หญิงในประเทศอินเดียที่ไม่ได้รับค่าจ้าง (unpaid work)
  • 1.7 ล้านล้านดอลล่าห์ จะเป็นตัวเลขมูลค่าผลิตภัณฑ์ภายในประทศ หรือ GDP ของอินเดีย หากผู้หญิงมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานในระบบเช่นเดียวกับผู้ชาย           

ปัจจุบันด้วยเครื่องมือในการค้นคว้าหาความรู้และข้อมูลที่ทันสมัยช่วยให้เรารู้มากขึ้นว่าผู้หญิงและเด็กได้อุทิศสร้างหลักประกันและความเจริญรุ่งเรืองให้แก่โลกใบนี้อย่างมากเช่นเดียวกับการที่เรารู้ถึงอุปสรรคที่ขัดขวางศักยภาพของผู้หญิง

สิ่งที่แย่อยู่ คือ ในแง่ของโอกาสทางเศรษฐกิจการมีงานทำ (ในมุมมองของทุน) คือหากดูช่องว่างระหว่างชายหญิงกว่า 100 ประเทศมีกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในประเทศด้อยพัฒนาและแม้ว่าผู้หญิงจะเข้าสู่กำลังแรงงานก็ยังมีเรื่องท้าท้าย เช่น ในสหรัฐอเมริกา 4 ใน 10 ณ ปัจจุบันผู้หญิงเป็นตัวหลักในการหาเลี้ยงครอบครัว แต่ได้รับค่าจ้างน้อยกว่าผู้ชายในงานประเภทเดียวกันตารางการทำงานขาดความยืดหยุ่น ไม่มีการจ่ายค่าจ้างในวันลาป่วย ลาคลอดเลี้ยงดูลูก เนื่องจากการจ้างงานผู้หญิงมีลักษณะจ้างทำงานพิเศษ (sideline)

ประเทศสมาชิกในองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD พบว่า หากให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมนี้ มูลค่าผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ หรือ GDP ทั่วโลกจะเติบโตเกือบ 12% ในปีค.ศ.2030 ดังนั้น กฎหมายจึงต้องส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศด้วยแนวคิดนี้จึงนำไปสู่การคิดคำนวณงานที่ไม่มีรายได้ เพื่อปลดแอกผู้หญิงไปสู่การเป็นกำลังแรงงานในระบบอุตสาหกรรมและได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมเท่าเทียมกับชาย


งานที่มีรายได้และไม่มีรายได้ (Unpaid & paid work)

งานที่มีรายได้ คืองานนอกบ้านแต่ผู้หญิงแบกภาระงานในบ้านที่ไม่มีใครจ่ายค่าจ้างจึงไม่มีรายได้ทั้งนี้สังคมตั้งแต่อดีตกำหนดบทบาทความรับผิดชอบทางเพศโดยให้เพศหญิงต้องรับผิดชอบทำงานบ้าน เลี้ยงดูเด็กในฐานะเพศแม่จึงไม่แปลกใจว่าในสมัยก่อน ผู้หญิงขาดโอกาสในการเรียนหนังสือขาดการฝึกอาชีพ มีความเชี่ยวชาญเช่นผู้ชายซึ่งคือการกดขี่ทางเพศทั้งจากวัฒนธรรมของสังคมและจากนโยบายของรัฐบาลที่ไม่สนใจคนกลุ่มนี้ แม้กระทั่งในปัจจุบันยังไม่มีนโยบายที่จะส่งเสริมอาชีพผู้หญิงที่มีอายุมากให้มีงานทำเมื่อถูกเลิกจ้างตั้งแต่วัยกลางคน ผู้หญิงจะสมัครงานยาก

งานบ้าน งานเลี้ยงดูเด็กเป็นงานผลิตซ้ำคนรุ่นต่อไปถูกมองว่าไม่มีผลิตภาพ (Productivity) ในทัศนะของทุนคือ มีการใช้แรงงานเพื่อสะสมทุน ด้วยเหตุนี้ งานบ้านจึงเป็นงานไร้ผลิตภาพ (Unproductive) ไม่ก่อให้เกิดการสะสมทุนสร้างความมั่งคั่งให้ภาคเอกชน แล้วสังคมจะจ่ายไหม?

https://www.gatesnotes.com/~/media/Images/Articles/About-Bill-Gates/Annual-Letter/2016-Annual-Letter/al_2016_letter_graphics-02.jpg?la=en&hash=A26E5C32BE702668749FF8E7DB672DF089ED87BC





















กราฟ เปรียบเทียบชั่วโมงทำงานบ้านที่ไม่มีค่าจ้างของผู้หญิง (แท่งสีแดง)
มากกว่าผู้ชาย (แท่งสีดำ) ที่ผู้หญิงในทุกส่วนของโลกทำงานมากกว่าผู้ชาย

จากการสัมภาษณ์ของมิลินดา เกตส์ ภรรยาบิลล์ เกตส์ ผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิบิลล์-เมลินดา เกตส์ เธอรายงานว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างนอร์เวย์ ผู้หญิงทำงานบ้านวันละ 3.5 ชั่วโมงและผู้ชายวันละ 3 ช.ม. ช่องว่างแทบไม่มีในสหรัฐอเมริกาผู้หญิงทำงานบ้านวันละ 4 ช.ม. ผู้ชายวันละ 2.5 ช.ม.ในขณะที่ประเทศด้อยพัฒนา เช่น อินเดีย ผู้หญิงทำงานบ้านวันละ 6 ช.ม.ผู้ชายน้อยกว่า 1 ช.ม. การทำงานบ้านยาวนานก็ทำให้ไม่มีเวลาทำงานหาเงินเลี้ยงดูครอบครัวและยากจนในที่สุด ปัจจุบันเราก็ยังพบเห็นประเทศที่ผู้หญิงไม่ได้ไปโรงเรียนไม่ได้เข้าสู่ตลาดแรงงาน และเมื่อเป็นกำลังแรงงานก็มีรายได้ต่ำมาก

ข้อเสนอของเมลินดา เกตส์ คือ 1) ลดชั่วโมงการทำงานบ้านเลี้ยงดูเด็ก ด้วยการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีไม่ใช่หาบน้ำไกลเพื่อมาซักผ้าด้วยมือ 2) ตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างหญิงชาย โดยให้มีการแบ่งงานกันทำผู้ชายช่วยทำงานบ้านด้วย 3) เปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมทางการเมืองเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม จากการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมามีลักษณะไม่สมดุล เพราะมีการกดขี่ผู้หญิงให้ผู้หญิงขลุกอยู่แต่ในครัวโดยไม่มีสวัสดิการ ไม่มีค่าจ้างสำหรับงานในบ้าน และนี่แนวคิดของนายทุนดังกล่าว (Eleanor Steafel. Melinda Gates: It's time for women's unpaid work in the home to be recognized, 23 ก.พ. 59. จากเว็บไซด์ข่าวเทเลกร๊าฟ http://www.telegraph.co.uk/women/work/melinda-gates-its-time-for-womens-unpaid-work-in-the-home-to-be/ )

ในบริบทสังคมไทยที่เปิดกว้างมากขึ้น  เป็นที่ปรากฏว่า ผู้หญิงและเด็กได้รับการศึกษาการฝึกอบรมมากขึ้น มีสิทธิในด้านอาชีวอนามัยมากขึ้น เข้าถึงการรักษาพยาบาลเท่าเทียมกับชาย มีอำนาจในการตัดสินใจมากขึ้นในเรื่องการงาน เลือกคู่แต่งงาน รักเพศเดียวกัน หย่าร้างและเลือกเลี้ยงลูกตามลำพังมากขึ้น ซึ่งก็ฝ่าอุปสรรคมามากมาย ทั้งยังมีข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานต่างๆ ล่าสุดของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยที่ต้องการค่าจ้างที่เป็นธรรม และสวัสดิการสำหรับผู้หญิงมากขึ้น เช่น สถานประกอบจัดให้มีศูนย์เลี้ยงเด็ก สิทธิลาเลี้ยงดูบุตรเพิ่งคลอดของผู้ชาย ผู้หญิงต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและวางแผน มีสัดส่วนหญิง ชาย 50 = 50 ในโครงสร้างทางการเมืองทุกระดับ กรรมการไตรภาคีด้านแรงงานทุกคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ การพิจารณาออกกฎหมาย และกรรมการองค์กรต่างๆ ของรัฐ (104 ปีวันสตรีสากล ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศสิทธิหญิงชายเท่าเทียม. 12 มี.ค. 58 จากเว็บไซด์วอยซ์เลเบอร์ http://voicelabour.org/?p=21834 )  แม้จะมีประเด็นการต่อสู้กับทุนแต่ไม่คัดค้านระบบเผด็จการทหารที่ปกป้องกลุ่มทุนอีกฝ่าย

ประเด็น คือ 1) ทัศนะของทุนกับสตรีนิยมข้างต้นเป็นการต่อสู้เรียกร้องภายใต้บริบทที่สังคมกำลังถูกปล้นด้วยนโยบายตัดสวัสดิการ (Austerity) ในยุโรป (Hester Eisenstein. โรงงานนรกของนักสตรีนิยม-The Sweatshop Feminists. 17 มิ.ย. 58   จากเว็บไซด์จาโคบิน https://www.jacobinmag.com/2015/06/kristof-globalization-development-third-world/ )  ที่นายทุนอย่างเมลินดาไม่เอ่ยถึง  ผู้นำ ผู้บริหาร นายทุน (ชนชั้นนำ) ใช้ภาษาของนักสตรีนิยมที่ฟังดูดีแต่ยังเอารัดเอาเปรียบผู้หญิงในการใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาที่ไม่สมดุล สร้างความมั่งคั่งให้คนรวยเพียงส่วนน้อย เกิดความเหลื่อมล้ำระดับโลก ดังที่เราทราบจากการประชุมสมัชชาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ว่า สังคมโลกกำลังเผชิญปัญหาวิกฤตทุนนิยม  รายงานการศึกษาขององค์กรอ็อกซ์แฟม พบว่า คนรวยสุด 80 คนมีมูลค่าทรัพย์สินรวมเท่าๆกับคนจนจำนวน 3.5 พันล้านคน  ปี 2557 คนรวยสุด 1% ครอบครองมูลค่าเท่ากับ 48% ของมูลค่าทั้งหมดในโลก สูงขึ้นมา 4% ในรอบ 5 ปี และปีหน้านี้คนรวยสุด 1% ก็จะรวยกว่าคนอีก 99% รวมกัน  ด้วยปัญหาความไม่ยุติธรรมในเรื่องรายได้ที่เป็นมานานถึง 30 ปี ทำให้คนแอฟริกามีชีวิตอยู่ด้วยรายได้ต่ำกว่าวันละ 2 ดอลล่าสหรัฐฯ ในทำนองเดียวกันกับไทย ซึ่งผู้เขียนได้นำเสนอไว้แล้วในบทความปี 2557

และ 2) ทัศนะของผู้นำองค์การแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสตรี โดยเฉพาะคนชั้นกลางในไทยไม่ผนวกเรื่องสตรีกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกับการต่อต้านระบอบเผด็จการชาตินิยมที่ก็สนับสนุนการค้าเสรี แช่แข็งค่าจ้างขั้นต่ำ และใช้กฎหมายปราบปรามประชาชนที่คิดต่าง
 

ก้าวข้ามข้อจำกัดของแนวคิดสตรีนิยม-เสรีนิยม

เมื่อปัญหาการกดขี่ทางเพศทับซ้อนกับปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมือง ผู้เขียนมองว่า การต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีควรประยุกต์ใช้แนวคิดชนชั้น ที่คำนึงถึงการรักษาผลประโยชน์ของชนชั้นล่าง ความเท่าเทียมทางเพศ การยกระดับการเมืองไทยให้มีพื้นที่เสรีภาพในการแสดงออก และต่อต้านระบอบเผด็จการทหาร (ปัญหาระดับปัจเจกบุคคลเชื่อมโยงกับสังคม)

แต่สิ่งที่ปรากฏในการเคลื่อนไหวทางสังคม คือ การต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีของกลุ่มที่สนับสนุนรัฐประหารกำลังขัดกับการต่อสู้ของผู้หญิงที่กำลังต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยรัฐสภากับความเป็นอยู่ที่ดี มันเป็นเรื่องที่บิดเบี้ยวที่การต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีขององค์การแรงงานอย่างคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสตรี ไม่ได้เคลื่อนให้สอดรับกับหลักการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และขบวนการประชาธิปไตยต่อต้านรัฐประหาร (คนเสื้อแดง) ที่เพิ่งถือกำเนิดยังขาดแนวคิดการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของผู้หญิงกับความหลากหลายทางเพศ

และนี่ ผู้เขียนเห็นว่า มาจากความไม่เพียงพอในการคิดวิเคราะห์ การละเลยบทเรียนทางประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีที่ระบอบการปกครองแบบเผด็จการบั่นทอนการเติบโตของการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี กลุ่มองค์กรหญิงถูกข้อห้ามทางกฎหมายโดยรัฐบาลเผด็จการในอดีต ที่เจาะจงว่าห้ามมีจุดมุ่งหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมือง เช่นเดียวกับการห้ามสหภาพแรงงานยุ่งเกี่ยวกับการเมือง จึงทำให้การแสดงออกมาย้อนแย้งเล่นพรรคเล่นพวก สร้างความเข้มแข็งให้แก่กลไกปราบปราม คุก ศาล ทหาร ตำรวจ และระบบราชการรวมศูนย์อำนาจการปกครอง

ล่าสุด ร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ ฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ได้สะท้อนอย่างโจ่งแจ้งถึงการเมืองของชนชั้นนำ กลุ่มพลังอนุรักษ์นิยม ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งให้แก่รัฐข้าราชการ สร้างระบบคัดสรรผู้มีอำนาจทางการเมือง เช่น สมาชิกวุฒิสภา องค์กรอิสระ ใช้ระบบผู้ทรงคุณวุฒิ องค์กรอิสระควบคุมการทำงานของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งให้มีคุณธรรมจริยธรรมตามกรอบประเพณีจารีต เพื่อปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ลดอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองของประชาชนผ่านระบบเลือกตั้ง จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก และการตรวจสอบการทำงานขององค์กรอิสระ เพราะไม่ได้มองว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และเพราะไม่ต้องการประชาธิปไตย

ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่จะประกันสิทธิเสรีภาพ คือ มาตรฐานการเมืองของภาคประชาชน ซึ่งคือการมีวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยที่จะเป็นวิถีขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชน สิทธิสตรี ไม่ใช่ใช้วิธีคิดแบบขอแบ่งเค้กกับผู้นำเผด็จการแล้วแลกกับระบบประชาธิปไตยอันง่อนแง่นดังที่เห็นกันทุกวันนี้.

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net