อนุสรณ์ อุณโณ: เกมรัฐธรรมนูญ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

รัฐธรรมนูญและการลงประชามติเป็นเกมที่คณะรัฐประหารจำเป็นต้องเล่น ไม่เล่นไม่ได้ เพราะหากไม่เล่นแล้วคณะรัฐประหารจะขาดความชอบธรรมทั้งต่อประชาชนใต้ปกครองและต่อนานาอารยะประเทศที่ต้องคบหาด้วย พวกเขาจึงต้องทำทุกวิถีทางที่จะเป็นผู้กำชัยในเกมนี้ ตั้งแต่ในส่วนของที่มา กระบวนการ และเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งถึงกฎกติกาการลงประชามติที่เข้าทางพวกเขาเป็นส่วนใหญ่ จึงส่งผลให้เกมนี้ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมตั้งแต่ต้น

สาเหตุที่คณะรัฐประหารไม่ค่อยอยากเล่นเกมนี้เพราะมันเป็นเกมที่มีเดิมพันและความเสี่ยงสูง เพราะรู้ดีว่าจะเป็นช่องทางให้เสียงที่เห็นต่างจำนวนมากที่ถูกกดทับไว้ได้มีโอกาสแสดงตัวอย่างถูกต้องชอบธรรม ขณะเดียวกันพวกเขาก็ตระหนักว่าแม้จะมีอำนาจล้นฟ้าในการกำหนดเกมและกติกาแต่ก็ใช่ว่าจะควบคุมทุกอย่างได้เบ็ดเสร็จ กลับถูกตั้งคำถามและท้าทายอยู่ตลอดเวลาแต่ก็ไม่สามารถกดปราบประชาชนได้ราบคาบอย่างที่หวัง อาการชักเข้าชักออกที่พวกเขาแสดงให้เห็นเป็นระยะอาจเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์บีบให้รับร่างรัฐธรรมนูญแต่ก็สะท้อนว่าพวกเขาเองก็ไม่มั่นใจว่าตนจะกำชัยในเกมนี้เช่นกัน

ความไม่มั่นใจของคณะรัฐประหารมีที่มาจากหลายด้าน ด้านหนึ่งมาจากฝ่ายเห็นต่างเดิมจำนวนมากที่ถูกกดทับและซุ่มรอแสดงพลัง ด้านหนึ่งมาจากเครือข่ายพันธมิตรเก่าที่ตีจากเพราะอกหักผิดหวังซึ่งมีจำนวนไม่น้อย และอีกด้านมาจากกลุ่มที่เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญบางมาตราส่งผลกระทบต่อพวกเขาโดยตรง ทว่าในชั้นนี้คณะรัฐประหารเลือกเดินหน้าด้วยหวังว่าการโหมประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญผ่านกลไกทั้งหมดที่มีอยู่จะสามารถดึงคะแนนจากคนทั่วไปได้ และเมื่อบวกกับผู้สนับสนุนที่มีอยู่เดิมและโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือผู้ต้องการหลุดพ้นไปจากสภาพที่เป็นอยู่โดยเร็วไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะอุจาดขนาดไหนเพราะอึดอัดในรัฐบาลทหารและต้องทนทุกข์ทรมานกับสภาพเศรษฐกิจในตอนนี้ ก็อาจช่วยให้พวกเขากำชัยในเกมนี้ได้

ปัญหาคือฝ่ายเห็นต่างจะเล่นเกมนี้อย่างไร จะเพิกเฉย ไม่ร่วมสังฆกรรมด้วย หรือว่าลงเล่นด้วยอย่างมียุทธศาสตร์ หากเลือกอย่างแรกก็จำเป็นต้องชี้ให้สาธารณะเห็นว่าเกมนี้ไม่ควรเล่นอย่างไร หากเล่นจะเสียหายตรงไหน มีเกมอื่นให้เล่นแทนหรือไม่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือจะต้องจำแนกให้ได้ว่าการเคลื่อนไหวนี้อยู่ตรงไหนและมีสัดส่วนเท่าไหร่ในกลุ่มผู้ไม่ไปลงคะแนนโดยรวม ทว่าการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้อาจทำได้จำกัดภายใต้กฎหมายการลงประชามติ

หากเลือกอย่างหลังโจทย์หลักอยู่ที่ว่าจะโน้มน้าวคนทั่วไปอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือจะทำอย่างไรให้ผู้ต้องการหลุดพ้นจากสภาพปัจจุบันเห็นว่าอนาคตไม่ว่าทางเศรษฐกิจหรือการเมืองจะมืดมนกว่าหากว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน เพราะระบอบเผด็จการทหารและอภิสิทธิชนไม่ได้หายไปไหน หากแต่ได้ฝังตัวอยู่ในรัฐธรรมนูญและระบบการเมืองไทยอย่างถาวร ซึ่งการเคลื่อนไหวในแนวทางนี้พอจะทำได้เพราะกฎหมายประชามติเปิดช่องไว้ หากสามารถขยับเพดานให้สูงขึ้นและขยายแนวร่วมให้กว้างขวางขึ้นทั้งในส่วนของการชี้แจงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญและการจับตากระบวนการลงประชามติ โอกาสที่เกมจะพลิกใช่ว่าจะไม่มี

หากเกมไม่พลิก ฝ่ายเห็นต่างต้องประเมินว่าเป็นผลจากอะไร หากเป็นผลจากจักรกลการครอบงำโดยรวมที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานบวกกับสภาพการณ์ปัจจุบันที่สร้างความอึดอัดเบื่อหน่ายให้กับคนจำนวนมากก็อาจต้องยอมรับและกำหนดยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวกันใหม่ แต่หากมาจากความฉ้อฉลของกระบวนการลงประชามติโดยตรงและเห็นได้ชัด ฝ่ายเห็นต่างสามารถปฏิเสธผลนั้นได้ (และใช้ในกรณีเกมพลิกเช่นกัน) เพราะยุทธศาสตร์และเป้าหมายของการเล่นเกมนี้ไม่ควรอยู่แค่การโน้มน้าวผู้ลงคะแนนหรือเป็นผู้ชนะ หากแต่ควรหมายรวมถึงการทำให้เกมนี้มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมพอที่จะร่วมแข่งได้แม้ในบริบทที่ใหญ่กว่ายังต้องเผชิญอุปสรรคขวากหนามอีกมากและยังมีอีกหลายสนามให้ต้องแข่งกัน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท