Skip to main content
sharethis

นิตยสารปัญญาชนฝ่ายซ้ายสหรัฐฯ วิเคราะห์การสร้างความทรงจำช่วง 'ปฏิวัติวัฒนธรรม' และ 'การสังหารประชาชนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน' ชี้รัฐบาลจีนไม่ได้แค่สั่งห้ามพูดถึง แต่ยังพูดถึงเหตุการณ์อย่างไม่ให้ความสำคัญ เล่าไม่ครบถ้วน และเบี่ยงเบนความสนใจไปสู่ประเด็นอื่น เพื่อบงการความทรงจำของประชาชนจีนเกี่ยวกับ "ประเด็นต้องห้าม" เหล่านี้

6 มิ.ย. 2559 เว็บไซต์นิตยสารดิสเซนท์ (Dissent) นิตยสารปัญญาชนฝ่ายซ้ายของสหรัฐฯ รายงานเกี่ยวกับการรำลึกเหตุการณ์สังหารผู้ชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน (4 มิ.ย.) ที่มีขึ้นเป็นประจำทุกปีโดยกลุ่มนักกิจกรรมและประชาชนชาวจีน ถึงแม้ว่ารัฐบาลจีนจะไม่สนับสนุนการจัดรำลึกนี้โดยที่สื่อในจีนจะทำเหมือนวันนี้เป็นวันปกติทั่วไปไม่มีอะไรเกิดขึ้น และบางครั้งจะมีการจับกุมแม้กระทั่งกลุ่มที่ทำการรำลึกถึงเหตุการณ์กลุ่มย่อยๆ เป็นการส่วนตัว แม้ว่ารัฐบาลจีนจะพยายามควบคุมข่าวสารภายในประเทศ แต่ภาพของ "แทงค์แมน" (Tank Man) หรือชายผู้ยืนประจันหน้ากับรถถังในเหตุการณ์นั้นก็กลายเป็นภาพตามหน้าสื่อตะวันตกและมีการรับรู้ว่าในวันนั้นมีการสังหารประชาชนจำนวนมาก

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจีนจะใช้วิธีการพยายามทำให้ลืมเพียงอย่างเดียวกับเหตุการณ์นี้ พวกเขายังใช้วิธีการควบคุมเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และมีวิธีการเบี่ยงเบนประเด็นและความสนใจจากการถกเถียง "เรื่องอ่อนไหว" ไปสู่เรื่องอื่น

บทความที่เขียนโดยเจฟฟรีย์ วาสเซอร์สตอร์ม ระบุว่าทั้งเรื่องครบรอบการปฏิวัติวัฒนธรรม (16 พ.ค.) และการสังหารหมู่เทียนอันเหมินซึ่งเป็นรอยมลทินของรัฐบาลจีน พวกเขาไม่ได้ใช้วิธีการกลบความทรงจำให้หายไปโดยสิ้นเชิง แต่ใช้วิธีการนำเสนอในแบบที่ทำให้มันดูไม่มีความสลักสำคัญเพื่อให้คนในจีนมอง "ประเด็นต้องห้าม" เหล่านี้ในแบบเดียวกัน

ถึงแม้ว่าทางการจีนจะเรียกเหตุการณ์ปฏิวัติวัฒนธรรมว่า "10 ปีแห่งความโกลาหล" ซึ่งเน้นการเบี่ยงเบนไม่ให้ประชาชนพิจารณาใคร่ครวญประเด็นนี้อย่างถี่ถ้วนและหาว่าใครเป็นตัวการผู้กระทำผิด แต่ก็ไม่ได้มีการสั่งห้ามหรือปราบปรามการพูดถึงเรื่องนี้ นอกจากนี้ นิยายเรื่อง "The Three-Body Problem" ซึ่งเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ขายดี ที่พูดถึงการสังหารปัญญาชนของกลุ่มเรดการ์ด ก็ได้วางขายในร้านหนังสือในปักกิ่งด้วย

อย่างไรก็ตาม ทางการจีนก็กำหนดอาณาเขตอย่างชัดเจนว่ามีการพูดถึงเรื่องนี้ไปได้ถึงแค่ไหน โดยเฉพาะเรื่องผู้กระทำผิดในกรณีนั้นๆ พรรคคอมมิวนิสต์จีนชอบทำให้เรื่องในประวัติศาสตร์กลายเป็นการต่อสู้แบบขาว-ดำ ระหว่าง "วีรบุรุษ" กับ "ตัวร้าย" สำหรับกรณีปฏิวัติวัฒนธรรมแล้วพวกเขามักโยนให้กลุ่มแก๊งออฟโฟร์ (บุคคลสี่คนในพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มีบทบาทในช่วงนั้น) และบางครั้งก็โทษ "เหมาเจ๋อตุงผู้แก่ชราและถูกชักจูงผิดๆ" แต่วาสเซอร์สตอร์มระบุว่าถ้ามีการเล่าถึงช่วงยุคปฏิวัติวัฒนธรรมแบบเต็มๆ อาจจะมีความซับซ้อนกว่านั้น อาจจะมีผู้กระทำและเหยื่อสลับบทบาทกันไปมารวมถึงกลุ่มคนที่มีอำนาจอยู่ในปัจจุบันหรือผู้เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจเหล่านี้ ทั้งหมดนี้ทำให้เรื่องราวฉบับเต็มที่จะคิดบัญชีกับอดีตได้กลายเป็นเรื่องต้องห้าม เหลือแต่ความทรงจำแค่เพียงบางส่วนแทนที่จะเป็นการลืมเลือนไปทั้งหมด

อีกวิธีหนึ่งที่รัฐบาลจีนใช้เบี่ยงเบนความสนใจและคัดค้านกับฝ่ายต่อต้านคือการจ้างให้คนโพสต์ข้อความออนไลน์เพื่อตอบโต้ฝ่ายต่อต้านและโต้แย้งข้อถกเถียงที่ทางการจีนไม่พอใจ หรือแค่โพสต์ข้อความแห่แหนชื่นชมรัฐบาล นอกจากนี้ยังมีการโพสต์เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากการหารือทางอินเทอร์เน็ตในเรื่องที่รัฐบาลไม่ชอบด้วย มีการศึกษาเรื่องนี้โดยนักสังคมศาสตร์ แกรี คิง, เจนนีเฟอร์ แพน และมาร์กาเร็ต โรเบิร์ตส์ ที่อาศัยข้อมูลจากอีเมลที่รั่วไหลและการวิเคราะห์ทางสถิติ

ถึงแม้ว่าการศึกษาวิจัยของนักสังคมศาสตร์ในเรื่องนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับการรำลึกถึงเหตุการณ์โดยตรง แต่ก็แสดงให้เห็นว่ามีความเกี่ยวข้องกันกับวิธีการเบี่ยงเบนความสนใจในช่วงใกล้วันสำคัญ เช่น ในช่วงใกล้วันที่ 16 พ.ค. และ 4 มิ.ย. สื่อต่างประเทศจะเน้นย้ำเรื่องอดีตที่เลวร้ายของจีนแต่ในเว็บโซเชียลมีเดียและสื่อทางการจะมีเนื้อหาในเชิงแห่แหนรัฐบาลเพิ่มขึ้นมาก มีการเล่าเรื่องเหตุการณ์ในเชิงทำให้เกิดความไขว้เขว เช่นช่วงก่อนวันรำลึกเหตุการณ์ปฏิวัติวัฒนธรรมปีที่ 50 สื่อไชนาเดลีรายงานว่าความรุนแรงในยุคนั้นเป็น "พวกต่อต้านการปฏิวัติ" ที่ฉวยโอกาสจากนโยบายที่ผิดพลาด สื่อไชนาเดลียังนำเสนอเรื่องที่ดูสดใสมากกว่าในสามหน้าแรกของหนังสือพิมพ์

นอกจากนี้ เมื่อประชาชนจีนเริ่มสนใจในเหตุการณ์เลวร้ายในประวัติศาสตร์ สื่อรัฐบาลจีนยังใช้วิธีการเบี่ยงเบนความสนใจด้วยการนำเสนอเรื่องราวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นรุกรานจีน มีการนำเสนอซ้ำๆ ทั้งในแง่ข่าวและภาพยนตร์ ราวกับว่าต้องการดึงความสนใจประชาชนให้หันไปหาอดีตที่เลวร้ายยิ่งกว่าแทนการรำลึกเหตุการณ์ที่เติ้งเสี่ยวผิงและพรรคพวกสั่งกองทัพกระทำกับประชาชนเองในวันที่ 4 มิ.ย. 2532

 

เรียบเรียงจาก

Remembering and Forgetting Repression in China, Dissent Magazine, 02-06-2016
https://www.dissentmagazine.org/blog/tiananmen-square-cultural-revolution-anniversary-historical-memory-propaganda-china


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/The_Three-Body_Problem

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net