ปรากฏการณ์เนติวิทย์กับลมหายใจสุดท้ายของยุคสมัย (?)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สำนึกความตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา จะสิ้นสุดลงหลังรัฐประหาร 2557 หรือไม่ และจะดำเนินไปในทิศทางใด ?
 

ก่อนอื่น ผมต้องขอแสดงความยินดีกับเนติวิทย์ ในฐานะว่าที่นิสิตใหม่แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้ว่าเนติวิทย์จะพลาดหวังไม่ได้คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่างที่ตั้งใจไว้ แต่จากประสบการณ์ที่เคยเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเรียนต่อปริญญาโทที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมา ผมเห็นว่าสถาบันการศึกษาทั้งสองแห่งก็เหมือนสถาบันการศึกษาและวงการวิชาชีพอื่น ๆ กล่าวคือ ประกอบด้วย คนเป็นมิตร คนไม่เป็นมิตร และคนที่เข้ากับอุดมการณ์ทางการเมืองต่าง ๆ กันไป สุดแท้แต่โชคชะตาจะพาเราไปพบกับคนแบบไหน ถ้าโชคดีหน่อย อาจจะได้พบกับคนที่ในอนาคตจะเรียกว่าแฟน ไม่เช่นนั้นก็คงต้องไปหาเอาตอนทำงาน

สองสถาบันอาจจะแตกต่างกันบ้างในเชิงโครงสร้างหลักสูตรและวิธีจัดการเรียนการสอน แต่คุณภาพของการศึกษาและคณาจารย์จัดได้ว่าสูสีคู่คี่กัน มิพักต้องกล่าวว่า หลาย ๆ เรื่องในชีวิตก็เป็นเรื่องที่มีค่าเสียโอกาสอยู่แล้ว เลือกอย่างหนึ่งแล้วก็ต้องเสียอีกอย่างหนึ่ง ฉะนั้น การได้ที่เรียนที่หนึ่งและไม่ได้ที่เรียนที่หนึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาไม่ว่าเราจะเป็นผู้เลือกหรือไม่ก็ตาม หลายคนอาจเป็นห่วงเนติวิทย์ว่าที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะปรนนิบัตรต่อนิสิตใหม่คนนี้ดีหรือไม่ ผมเห็นว่า ถ้าประเทศยังอยู่ภายใต้รัฐบาลที่มีลักษณะเช่นนี้  มหาลัยคงมีวิธีปฏิบัติต่อนักศึกษาที่ชอบทำกิจกรรมไม่ต่างกันมากนัก

อย่างไรก็ตาม บทความชิ้นนี้ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อแสดงความยินดีต่อเนติวิทย์หรือตอบโต้ต่อความกังวลที่ศิษย์เก่าหรือประชาชนทั่วไปมีต่อประเด็นที่ว่าจุฬาจะปฏิบัติหรือควรปฏิบัติต่อเนติวิทย์อย่างไรเป็นหลัก ประเด็นที่บทความนี้ต้องการสำรวจ คือ ปรากฏการณ์เนติวิทย์ที่เป็นข่าวอยู่ทุกวันนี้กำลังสะท้อนอะไรในสังคมไทยและกระแสธารประวัติศาสตร์นี้จะดำเนินไปในทิศทางใด เพื่อตอบคำถามนี้ ผมเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องย้อนดูการเปลี่ยนผ่านและสำนึกของยุคสมัย (zeitgeist) ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และเปรียบเทียบกับวิกฤติการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในยุคก่อน

สำนึกทางการเมืองแห่งยุคสมัย

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกำลังสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านของชั่วอายุคน (generation) อีกครั้ง ผมเป็นคนที่เกิดปี 2535 ในสมัยที่คนประท้วงต่อต้านรัฐบาลสุจินดากันอยู่ ผมเพิ่งจะคลอดออกจากท้องแม่ เมื่อผมโตขึ้นหน่อยตอนสมัยยังเป็นประถม ผมประสบปัญหาโดนเพื่อนแกล้งจนร้องไห้อย่างหนักตอนเดียวกับที่เศรษฐกิจกำลังเผชิญกับวิกฤติฟองบู่ในปี 2540 ต่อมา เมื่อไทยรักไทยขึ้นสู่อำนาจและเกิดรัฐประหารขึ้นในปี 2549 อาจารย์มัธยมบางคนของผมที่เป็นเสื้อเหลืองก็เริ่มเปิดรายการของสนธิ ลิ้มทองกุลในห้องเรียนวิทยาศาสตร์ คนเริ่มนินทากันว่าอาจารย์คนนั้นไม่ถูกกับคนนี้เพราะเสื้อคนละสีกัน แล้วในที่สุดคณะปฏิวัติก็ประกาศยึดอำนาจในขณะที่ผมกำลังเข้าค่ายลูกเสืออยู่ พัฒนาการทางสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงนี้สะท้อนให้เห็นว่าการเมืองกำลังขยายตัว เพราะพื้นที่การเมืองจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความแตกต่างและความไม่เห็นพ้อง ยิ่งความแตกต่างเข้มข้นขึ้น ความเป็นการเมืองจึงยิ่งเข้มชัด การเมืองเสื้อสีค่อย ๆ แผ่ซ่านเข้าไปในสังคมในช่วงที่ผมเติบโตขึ้น แม้ว่าความเข้มชัดที่มากเกินไปอาจเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าสังคมการเมืองกำลังเจ็บป่วยอยู่ก็ตาม

ผมเฝ้าสังเกตุกระแสธารประวัติศาสตร์การเมืองไทยในสมัยที่สอบติดคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่ความขัดแย้งทางการเมืองหลังรัฐประหารปี 2549 พุ่งถึงขีดสุด เฟสบุ๊กกลายเป็นฐานที่มั่นทางการเมืองของทุกคนที่สนใจการเมือง ความสนใจทางการเมืองที่ผมมีก็พุ่งกระฉูดอย่างไม่เคยมีมาก่อนเช่นกัน เพราะในช่วงแรก ๆ ที่ต้องเดินทางไปธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ผมจะผ่านกลุ่มผู้ประท้วงเสื้อแดงตรงสยามทุกครั้ง ในช่วงเวลาที่ผมเรียนอยู่นั้น สถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นห้องทดลองทางสังคมศาสตร์ชั้นดี เพราะวิกฤติการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นเป็นกรณีศึกษาที่เอามาใช้ในการทดลองทฤษฎีและทำรายงานส่งอาจารย์ได้อย่างยอดเยี่ยม อีกด้านหนึ่ง ผมก็พบว่าตัวเองเริ่มแสดงความเห็นทางการเมืองในเฟสบุ๊คมากขึ้น เริ่มบล็อกบางคนที่มิตรสหายสงสัยว่าอาจจะเป็นสายของฝ่ายศัตรูที่จ้องจะเล่นงานเรา ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวผมและคณะรัฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ในตอนนั้นสะท้อนให้เห็นสำนึกแห่งยุคสมัยที่เติบโตขึ้นตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา กล่าวคือ คนจำนวนมากในธรรมศาสตร์ให้ความสนใจและตื่นตัวกับการเมืองมากขึ้น ไม่ต่างจากที่เกิดขึ้นในสถาบันการศึกษาอื่น ๆ

เรื่องราวของผมเป็นเพียงหนึ่งในกรณีศึกษาเดียวจากหลาย ๆ กรณีศึกษา เมื่อผมเรียนจบปริญญาตรีและย้อนกลับมาพิจารณาชีวิตของตัวเองในช่วงที่ผ่านมา ผมจึงเห็นว่ารัฐประหาร 2549 ส่งผลกระทบต่อสำนึกทางการเมืองของมิตรสหายผมหลาย ๆ คนไม่ต่างกัน เพื่อนผมจำนวนหนึ่งทุกวันนี้ยังคงเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองอยู่ จากการช่วยเพื่อนชาวต่างชาติที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดสัมภาษณ์เพื่อทำวิทยาพนธ์และพูดคุยกับนักกิจกรรมเหล่านี้อยู่ประปราย ผมพบว่านักกิจกรรมเหล่านี้ส่วนใหญ่เริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่เพิ่งเกิดรัฐประหาร 2549 ขึ้นใหม่ ๆ พอเข้ามาในมหาวิทยาลัยคนกลุ่มนี้ก็เริ่มทำกิจกรรมการเมืองในกลุ่มชุมนุมต่าง ๆ บางกลุ่มสืบทอดมาตั้งแต่สมัย 14 ตุลา 6 ตุลา หรือพฤษภาทมิฬ บางกลุ่มก็เป็นกลุ่มใหม่ บางกลุ่มเป็นเสรีนิยม บางกลุ่มก็เป็นอนุรักษ์นิยม หลายคนที่ไม่ได้ทำกิจกรรมและจบออกมาทำงานแล้วก็ยังแสดงความเห็นทางการเมืองในเฟสบุ๊คและทวิตเตอร์อย่างต่อเนื่องเวลาที่มีข่าวการเมืองหรือนึกอยากพูดอะไรก็พูด

หลายคนสนใจการเมืองมาตั้งแต่ 2549 แต่หลายคนก็สนใจจากวิกฤติการทางการเมืองหลาย ๆ ครั้งที่เกิดขึ้นตามมา เช่น เหตุการณ์ไล่นายกสมัครและสมชายออกในปี 2551 เหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี 2553 เหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2554 และเหตุการณ์แช่แข็งประเทศไทยในปี 2555 เหตุการณ์ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในปี 2556 ยังไม่เหตุการณ์ทางสังคมอื่น ๆ เช่น ประเด็นเรื่อง มหาลัยออกนอกระบบ ดราม่าชุดนักศึกษา การสอบยูเน็ต และประเด็นสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เริ่มทำให้นักศึกษากลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ทำความรู้จักและสร้างแนวร่วมพันธมิตรขึ้นเป็นขบวนการนักศึกษาหลวม ๆ ซึ่งยังคงหลงเหลือมาให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน แม้จะเผชิญกับการปราบปราม ในระดับประชาชนทั่วไปความตื่นตัวทางการเมืองของคนชนบทก็สูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อนเช่นกัน

ในบริบททางประวัติศาสตร์เช่นนี้ เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่กำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ในยุคผมต้องตอบคำถามที่ค้างคาใจเกี่ยวกับเหตุบ้านการเมืองและวิธีที่ตัวเองจะปฏิบัติกับผู้อื่นอยู่ 3-4 ข้อ ได้แก่ (1.) เราจะอธิบายปัญหาเกี่ยวกับสังคมการเมืองไทยในปัจจุบันอย่างไร (2.) เราอยากให้สังคมการเมืองไทยในอนาคตเป็นอย่างไร (3.) เราจะรู้จักฝึกวิพากษ์วิจารณ์คนที่เห็นต่างจากเราโดยรู้จักคิดหาเหตุผล พร้อมกับรู้จักรับฟังผู้อื่นได้อย่างไร (4.) เราจะรู้จักวิจารณ์ตักเตือนกลุ่มเดียวกันเอง และรับฟังคำติเตียนจากสมาชิกในกลุ่มเดียวกันอย่างไร หลายคนก็ตอบโจทย์ปัญหาเหล่านี้ได้ดี นักกิจกรรมหลายคนที่ประท้วง พรบ. นิรโทษกรรม ก็เป็นคนเดียวกับที่ต่อต้านรัฐประหารปี 2557 รุ่นพี่ธรรมศาสตร์ผมหลายคนที่เป็นเสื้อแดงสุดขั้วหรือเสื้อเหลืองสุดขั้วก็เริ่มสีตกเมื่อเข้าสู่ช่วงปีท้าย ๆ ของมหาวิทยาลัย หลาย ๆ คนคุยกันได้อย่างสนิทใจแม้ว่าจะความเห็นต่างกันมากขนาดไหนก็ตาม และหลาย ๆ คนก็ขอโทษขอโพยต่อความบาดหมางที่เคยเกิดขึ้นในอดีตเพราะการเมือง จากคำบอกเล่าของมิตรสหาย อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์เคยได้พรรณนาให้อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ฟังว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยเป็นปรากฏการณ์ที่น่าอัศจรรย์ใจอย่างมาก ทั้งที่จริง ทฤษฎีสันติวิธีของอาจารย์เองก็ได้อธิบายเอาไว้ประมาณนึงอยู่แล้ว กล่าวคือ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นพื้นที่สันติวิธีที่เกิดขึ้นในพื้นที่เดียวกับวิกฤติการความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

จะเห็นได้ว่า สำนึกความตื่นตัวทางการเมืองที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยเป็นผลมาจากการรัฐประหาร 2549 และวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา เนื่องจากบริบททางการเมืองเรียกร้องให้คนรุ่นใหม่ในยุคผมต้องตอบโจทย์ปัญหาทางการเมืองแห่งยุคสมัย หนึ่งในคนรุ่นใหม่ของยุคผมที่พยายามตอบโจทย์ปัญหาเหล่านี้ และผมเกรงว่าจะเป็นท้าย ๆ ขบวนแล้ว ก็คือเนติวิทย์นั่นเอง แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเนติวิทย์ก็สะท้อนการเปลี่ยนผ่านของชั่วอายุคนเช่นกัน

ปรากฏการณ์เนติวิทย์สะท้อนให้เห็นลักษณะพิเศษที่น่าสนใจหลายอย่าง ประการแรก ทั้งที่หลายคนในรุ่นเดียวกับผมไม่ได้เปิดรับหรือสนใจการเมืองเลยแม้จะจบจากมหาวิทยาลัยและออกมาหางานทำแล้ว และหลาย ๆ คนก็เพิ่งจะหันมาสนใจการเมืองตอนที่เข้ามหาวิทยาลัยแล้ว เพราะมีชุมนุมรองรับความสนใจของตนและบรรยากาศเปิดกว้างกว่า เนติวิทย์กลับปะทะกับสถาบันโรงเรียนที่ปิดกั้นอย่างจังตั้งแต่อยู่สมัยมัธยม และพยายามทำความรู้จักกับเพื่อนเพื่อสร้างเครือข่ายข้ามโรงเรียนตั้งแต่ยังไม่เข้ามหาวิทยาลัย ประการต่อมา เนื่องจากพัฒนาการทางเทคโนโลยีทำให้คนรุ่นหลังไม่โหยหาโทรศัพท์โนเกีย หรือ โปรแกรม MSN และเพลงของอนันอันวาในยุค 1990 อีกแล้ว คนในรุ่นเนติวิทย์เป็นต้นไปจึงต้องเชื่อมต่อกับสังคมออนไลน์ระดับประเทศและระดับโลกทั้งหมดตั้งแต่เกิดหรือไม่ก็ตั้งแต่เด็ก ๆ  

คนเดือนตุลาที่ต่อสู้ในฐานะนักวิชาการเริ่มอายุมากขึ้น บางคนก็เริ่มทยอยออกนอกประเทศไป คนรุ่นผมก็เริ่มต่อสู้ในฐานะนักกิจกรรมเต็มตัวมากขึ้น ส่วนบางคนก็เริ่มทยอยออกนอกประเทศไปเรียนต่อเช่นกัน น่าสนใจว่า การเปลี่ยนผ่านของชั่วอายุคนที่ว่านี้จะดำเนินไปในทิศทางใด ทั้งนี้ ต้องตั้งข้อสังเกตด้วยเช่นกันว่า ด้านหนึ่ง เนติวิทย์เกิดอยู่ทันคนเดือนตุลาและคนรุ่นผมที่ต่อสู้ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมาหลายคน ขณะเดียวกัน เนติวิทย์ก็ได้ใช้เทคโนโลยีสังคมออนไลน์ตั้งแต่เด็ก ๆ แต่กระนั้นก็เผชิญกับสภาวะกดขี่ภายใต้ระบอบเผด็จการเช่นกัน จึงน่าสนใจว่า เนติวิทย์ได้รับวาระและสำนึกทางการเมืองมาจากคนเดือนตุลาและคนยุคใหม่ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมาด้วย ความเป็นไปในชีวิตของเนติวิทย์ในช่วงนี้จึงเป็นรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านแห่งยุคสมัย แต่คำถามที่เกิดขึ้นมาก็คือการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจากนี้ไปจะทำให้คนอย่างเนติวิทย์เกิดเพิ่มขึ้นหรือไม่

ลมหายใจเฮือกสุดท้าย (?)

รัฐประหาร 2557 เป็นโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นอย่างไม่เหนือความคาดหมายนัก แต่ก็เป็นเส้นแบ่งช่วงเวลาที่สร้างความบอบช้ำให้คนรุ่นใหม่ในยุคผมอย่างมาก คนรุ่นผมหลายคนไม่ชอบทักษิณ เป็น กปปส. แต่ไม่ต้องการรัฐประหาร คนรุ่นผมหลายคนเชื่อในความหลากหลายมากกว่าเผด็จการผูกขาด แต่คนรุ่นผมกลับต้องเผชิญกับทั้งรัฐประหารและเผด็จการผูกขาด บางคนไม่ได้ต้องการแต่แรก และหลายคนก็เริ่มกลับมาเสียดายทีหลังแล้ว อันที่จริง คนที่ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหารมากที่สุด ก็คงเป็นนักเรียนรัฐศาสตร์อย่างผมนั่นเอง เพราะนักเรียนรัฐศาสตร์ได้รับการเรียนการสอนมาในลักษณะเป็นวิชาการมากกว่าวิชาชีพ จบมาแล้วหางานยาก เมื่อเศรษฐกิจแย่ลงนักรัฐศาสตร์เป็นหนึ่งในกลุ่มที่บอบช้ำที่สุด อาจจะโชคดีหน่อยที่เมื่อเกิดรัฐประหารแล้ว ระบบราชการจะต้องขยายตัว เป็นโอกาสให้นักเรียนรัฐศาสตร์ได้สอบเข้าทำงาน แต่หลายคนที่ไม่อยากทำงานในระบบราชการภายใต้ระบอบทหารก็พยายามดิ้นรนหางานกับเอกชนอย่างยากลำบาก ส่วนกรณีที่ทำงานราชการหลาย ๆ คนที่ไม่ได้ชอบระบอบทหารก็ต้องฝึก “อยู่ให้เป็น” ทนรับสภาพความผิดหวังที่เกิดขึ้นในสังคมและเอาชีวิตรอดให้ได้

คนรุ่นผมที่ความสนใจทางการเมืองพุ่งถึงขีดสุดในช่วงระหว่างการรัฐประหาร 2 ครั้งในปี 2549 และ 2557 ต้องเผชิญกับความผิดหวังเพราะโจทย์ปัญหาทางสังคมที่เคยฝึกตอบเอามาใช้ได้เฉพาะในความฝัน สังคมของเราถูกปกครองในระบอบ “ชราธิปไตย” กล่าวคือ ปกครองโดยคนชรา สภาพเช่นนี้ทำให้สำนึกทางการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างสุดขีดในช่วงที่ผ่านมาสามารถแสดงออกมาได้เพียงประปราย หากแสดงออกมาก ๆ เข้าก็จะต้องโดนจับเข้าคุก หรือโดนข่มขู่ ความผิดหวังไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับรัฐบาล แต่กับสถาบันทางสังคมต่าง ๆ ทั้งหมดที่ไม่รับฟัง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว โรงเรียน หรือ มหาวิทยาลัย เพราะวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมอยู่ในลักษณะลดหลั่น สำนึกทางการเมืองที่เกิดขึ้นจึงค่อย ๆ ดับลง ไม่เช่นนั้นก็แปรผันกลายเป็นความโกรธแค้น ไม่นานนัก ความสนใจทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ยุคหลังผมจึงมีแนวโน้มจะลดลงไปด้วยตามบริบทสังคมการเมืองที่ปิดกั้นการแสดงออกความคิดเห็น และเอาวิกฤติการใหญ่ ๆ ซุกไว้ที่ใต้พรม

ช่วงที่ผ่านมา น้องเพนกวินสร้างปรากฏการณ์ออกมาวิพากษ์ประเด็นต่าง ๆ ในสังคมได้อย่างแหลมคม และเป็นภาพสะท้อนของสำนึกทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากวิกฤติการทางการเมืองต่าง ๆ ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เช่นกัน แม้ว่าจะมีอะไรหลายอย่างที่ผมฟังน้องแล้วยังแปร่ง ๆ อยู่ แต่เมื่อเทียบกันแล้ว สมองของผมยังโง่กว่าน้องเพนกวินมากตอนที่ผมอายุเท่ากับน้องเพนกวิน ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่สุด คือ ผมสอบไม่ติดเตรียมอุดม ผมสามารถเทียบกับเนติวิทย์เช่นกัน สมัยที่ผมยังอายุเท่ากับเนติวิทย์ ผมไม่ได้อ่านหนังสือเป็นร้อย ๆ เล่มแบบเนติวิทย์ เป็นเพียงเด็กคนนึงที่วิ่งหนีไปเล่นเกมเท่านั้น ตอนนี้ผมก็ยังอ่านหนังสือไม่ได้เท่าเนติวิทย์แม้ว่าจะเรียนปริญญาโทแล้วก็ตาม น่าเสียดายที่สังคมยุคนี้ไม่ได้เปิดรับศักยภาพของคนรุ่นใหม่ ทำให้กำลังประสบกับปัญหาสมองไหล หลาย ๆ คนต้องการออกไปจากประเทศนี้ให้ได้เร็วที่สุด จะได้ไม่ต้องทนกับปัญหาสังคมและความบอบช้ำ[1]

คำถามที่น่าสนใจ คือ น้องเพนกวินซึ่งเป็นรุ่นน้องเนติวิทย์และตั้งใจจะสอบเข้าธรรมศาสตร์ในปีหน้า จะเป็นลมหายใจเฮือกสุดท้ายของยุคสมัยของผมหรือไม่ สำนึกทางการเมืองที่เริ่มต้นตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมาจะจบลงที่น้องเพนกวินหรือไม่หลังการรัฐประหาร 2557 รัฐจะจัดการกับคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับเทคโนโลยีสังคมออนไลน์ตั้งแต่เกิดอย่างไร ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่น่าสนใจ

สำนึกทางการเมืองในอนาคต (?)

ว่าไปแล้ว วิกฤติการทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี 2549 ถึง 2557 นั้น คล้ายคลึงกับวิกฤติการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2516 ถึง 2519 หลายประการ แม้ว่าช่วงระยะเวลาจะต่างกัน บวกกับเหตุการณ์ 14 ตุลาฝ่ายประชาธิปไตยเป็นผู้ชนะ แต่รัฐประหาร 19 กันยาฝ่ายเดียวกันเป็นผู้พ่ายแพ้ กระนั้น หากสังเกตดี ๆ จะเห็นความคล้ายคลึงที่น่าสนใจ ประการแรก วัฒนธรรมปัญญาชนและสำนึกทางการเมืองในช่วงหลัง 14 ตุลา เฟื่องฟูขึ้น ไม่ต่างจากที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ประการต่อมา วัฒนธรรมปัญญาชนที่ว่านี้ก็ถูกล้มล้างลงในช่วงวิกฤติการ 6 ตุลา ไม่ต่างจากที่เกิดขึ้นในช่วง 2557 หากกระแสธารประวัติศาสตร์ดำเนินไปตามแบบแผนที่ว่านี้ ยุคต่อไปก็จะเกิดยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ และการประนีประนอมทางการเมืองที่พยายามนำนักคิดนักเขียนกลับมาร่วมพัฒนาประเทศอีกครั้ง ที่น่าสนใจ คือ คนยุคใหม่รุ่นเราจะกลับเข้ามามีส่วนร่วมในสังคมการเมือง แบบที่คนยุคเดือนตุลาเคยกลับมามีส่วนร่วมทางการเมืองหรือไม่ หากใช่ ปรากฏการณ์คนเดือนตุลากลับออกจากป่า และสภาวะสมองไหลกลับจะเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

แม้ว่าระดับความรุนแรงที่เกิดกับคนเดือนตุลาจะไม่อาจเทียบได้กับความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่ในยุคเรา แต่กระนั้นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็มีลักษณะเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ทำลายศักยภาพของปัจเจกบุคคลได้แยบยลมากกว่าเก่า ขณะเดียวกัน อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ก็ทำให้นักคิดในเดือนตุลาหลายคนกลับใจกลายเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอยู่ในปัจจุบัน แต่หลายคนก็ผันตัวไปเป็นผู้สนับสนุนเผด็จการอย่างตกขอบเช่นเดียวกัน คำถามที่น่าสนใจจากการเปรียบเทียบที่ว่านี้ คือ ความรุนแรงที่แยบยลกว่าเก่าจะทำให้เรามีสำนึกทางการเมืองที่ทรงพลังเหมือนคนเดือนตุลาหรือไม่ และความรุนแรงที่ว่านี้จะส่งผลต่อเราในลักษณะใดหากเราได้กลับมามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของประเทศอีกครั้ง อีกคำถามหนึ่ง คือ ถ้าหากปรากฏการณ์คอมมิวนิสต์กลับใจหลาย ๆ แบบที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นปัญหาของขนบความคิดที่รากฐานไม่แข็งแรงพอที่จะทำให้เราสร้างและธำรงรักษาสังคมประชาธิปไตยให้คงอยู่ได้ในยุคต่อ ๆ มา คนในยุคของเราจะพัฒนารากฐานทางความคิดภูมิปัญญาให้เข้มแข็งพอที่จะสร้างสังคมประชาธิปไตยขึ้นได้จริง ๆ ได้หรือไม่ และอย่างไร หรือที่จริงแล้ว เราจะทำให้ความหมายของคำว่า “คนเท่ากัน” ลึกซึ้งกว่าได้หรือไม่ ในระดับวิถีชีวิต เพศสภาพ และมิติอื่น ๆ ทั้งนี้ คำถามที่ว่านี้จะต้องวางอยู่ในบริบทของการเปลี่ยนผ่านในยุคสมัยของเรา ที่เด็กรุ่นใหม่กำลังเกิดขึ้นในอัตราน้อยลง และเด็กรุ่นใหม่หลังจากเรา รวมไปถึง ตัวเราจะต้องอยู่ในสังคมที่เผด็จการมากขึ้นทุกวันโดยไม่รู้ว่าการบีบรัดสังคมจะคลายตัวลงเมื่อไหร่ อย่างไรก็ตาม เด็กคนใหม่เหล่านี้จะได้อยู่กับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ตั้งแต่เกิด ทำให้มีศักยภาพในการเปิดรับอะไรใหม่ ๆ เช่นกัน ไม่ต่างจากรุ่นเราที่ใช้สมาร์ทโฟนได้คล่องแคล่วและไม่ได้แชร์แค่รูปอวยพรสวัสดีวันจันทร์ถึงวันอาทิตย์ในกรุ๊ปไลน์กับสมาชิกครอบครัวที่สูงอายุกว่าเราเท่าไหร่นัก

กระนั้น สิ่งที่ผมหวาดกลัวที่สุด ก็คือ ในช่วงรอยต่อแห่งยุคสมัยนี้ เพนกวินและเนติวิทย์จะเป็นเพียงลมหายใจเฮือกสุดท้ายของคนรุ่นใหม่ยุคผมหรือไม่ หรือจะเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ยุคหลังจากผม ผลจะออกมาอย่างไรผมก็อับจนปัญญาที่จะตอบได้ แต่ผมพอจะคาดการณ์ได้ว่า หากเพนกวินและเนติวิทย์เป็นคนยุคสุดท้ายของรุ่นผม คนรุ่นใหม่รุ่นหลังจากผมที่เป็นหมันทางการเมืองอาจจะกลายเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมกลุ่มใหม่ที่ทำให้เกิดวงจรณ์อุบาทว์ขึ้นซ้ำอีก ไม่เช่นนั้น คนรุ่นผมก็อาจจะต้องทำงานหนักหน่อย ทั้งที่รากฐานทางความคิดเรื่อง “คนเท่ากัน” ยังไม่ได้ฝังรากลึกและเปิดกว้างมากพอจะสร้างแนวร่วมสังคมประชาธิปไตยขึ้นมาได้ แต่หากเนติวิทย์และเพนกวินสามารถสร้างเครือข่ายใหม่ขึ้นมาได้กลายเป็นขบวนการของคนรุ่นใหม่อย่างเข้มแข็ง ผมก็เห็นว่าคนรุ่นเราก็อาจจะต่อสู้สบายขึ้นในระยะยาว หรือไม่เช่นนั้น เราก็อาจกลายเป็นอนุรักษ์นิยมที่ขัดขวางการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่เสียเอง เพราะฝ่ายหนึ่งในยุคเราก็เป็นอนุรักษ์นิยมถึงราก (radical conservative) อีกฝ่ายหนึ่งก็เป็นกลุ่มถอนรากถอนโคนที่เป็นอนุรักษ์นิยม (conservative radical)[2]

แม้ผมยังมีหวังว่าจะได้เห็นสังคมประชาธิปไตยในประเทศไทยอย่างน้อยก็ในช่วงวัยกลางคนหรือบั้นปลาย และได้มีส่วนร่วมทางการเมืองมากกว่านี้ในฐานะพลเมืองหลังจากที่รัฐบาลเผด็จการออกไปแล้วหรือยอมประนีประนอมเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบหลังจากรัฐธรรมนูญใหม่คลอดออกมาและมีผลบังคับใช้ แต่อนาคตก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนตราบที่การเมืองเป็นเรื่องของมนุษย์ที่มีความแตกต่างหลากหลายอยู่ในตัว ฮันนาห์ อาเรนท์ นักคิดทางการเมืองคนที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งในศตวรรษที่ 20 เสนอไว้ในหนังสือเรื่อง Human Condition ว่าพหุสภาพหรือความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์แต่ละคน (plurality of human) เป็นแก่นที่สำคัญที่สุดในการทำความเข้าใจการเมือง และเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์สามารถทำสิ่งที่เหนือความคาดหมายได้เสมอ แม้ว่าจะให้โทษก่อเกิดเป็นสังคมเผด็จการเบ็ดเสร็จอย่างระบอบนาซีเยอรมนีและระบอบสตาลินที่โหดเหี้ยมทารุณอย่างเหนือความคาดหมายได้ แต่มนุษย์ก็สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมทั้งหมดไปในทางตรงข้ามได้จากประกายไฟเล็ก ๆ เพียงที่ปลายเส้นฟางเช่นเดียวกัน[3]

 

 

เชิงอรรถ

[1] จันจิรา สมบัติพูนศิริ, ‘ ‘ออกจากบ้าน’: สังคมไทยกำลังเผชิญภาวะสมองไหล?’, มติชนออนไลน์, 25 เมษายน 2559 (http://www.matichon.co.th/news/116653)

[2] เป็นถ้อยคำของอาจารย์ชัยยันต์ รัชชกูล อ้างจากสเตตัสของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เข้าถึงได้ที่ (https://www.facebook.com/somsakjeam/posts/818530571533557)

[3] Margaret Canovan, ‘Introduction’, in Hahnah Arendt, Human Condition (Chicago : University of Chicago Press, 1998), pp. viii, xvii - xviii

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท