Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

          

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ปรากฏข่าวที่สร้างความไม่สบายใจให้แก่สังคมไทยก็คงจะหนีไม่พ้นการที่สังคมออนไลน์ของกัมพูชาต่อต้าน/คัดค้านฝ่ายไทยในการขึ้นทะเบียน “โขน” เป็นมรดกโลกโดยอ้างว่า “โขน” เป็นศิลปะการแสดงที่ไทยลอกเลียนแบบนาฏกรรมของกัมพูชา ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่นานทั้งไทยและกัมพูชาต่างก็อ้างว่า “มวยไทย/เขมร” เป็นของตน

แน่นอนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวย่อมจะทำให้เกิดการตอบโต้กันไปมาระหว่างสองสังคมออนไลน์ แม้ว่าจะสื่อสารกันคนละภาษา แต่นั่นก็คงมิใช่อุปสรรคสำหรับคนไทยผู้รักชาติ (?) ที่ร่างกายพร้อมปะทะเสมอ ทั้งนี้หากย้อนกลับไปทบทวนเหตุการณ์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก็จะพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชาดูไม่ค่อยจะราบรื่นเท่าไรนัก เริ่มตั้งแต่ข้อพิพาทเกี่ยวกับโบราณสถานรอบเขาพระวิหาร หรือข้อพิพาทเกี่ยวกับเส้นเขตแดน ความขัดแย้งเหล่านี้เคยลุกลามจนนำไปสู่การปะทะกันด้วยกำลังทหารอยู่ระยะหนึ่ง หลายฝ่ายจึงเป็นกังวลว่าความขัดแย้งครั้งใหม่นี้อาจจะนำไทยและกัมพูชากลับไปสู่สถานการณ์ตึงเครียดด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคำรบใหม่

อย่างไรก็ดี เราเคยถามตัวเองบ้างหรือไม่ว่าทำไมเราถึงต้องมาแย่งชิงศิลปวัฒนธรรมเหล่านี้กับกัมพูชา และเราจะโทษกันไปมาว่าใคร “แท้” ใคร “เทียม” ไปเพื่ออะไร กล่าวให้ถึงที่สุดก็คือ เราเคยสงสัยหรือไม่ว่า “เรามาถึงจุดนี้กันได้อย่างไร ?”

ดังนั้น ก่อนที่เลือดความรักชาติของคนทั้งสองประเทศจะพุ่งพล่านไปมากกว่านี้ เราจึงควรสงบจิตใจและลองย้อนกับไปทบทวนบริบททางประวัติศาสตร์ ทั้งนี้นักวิชาการคนสำคัญคนหนึ่งสามารถช่วยเรา “คลี่คลาย” ปมเงื่อนนี้ได้ก็คือ เบน แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) โดยแอนเดอร์สันมองว่า “ชาติ” ที่เรารับรู้และคิด (ไปเอง) ว่ามีอยู่จริงเป็นเพียง “ชุมชนจินตกรรม” (Imagined Communities) “ชาติ” ไม่เคยมีอยู่จริงตราบจนกระทั่งศตวรรษที่ 18 ในยุโรปการปฏิวัติวิทยาศาสตร์-อุตสาหกรรมส่งผลให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ “เครื่องพิมพ์” ความเจริญของเทคโนโลยีการพิมพ์ช่วยให้ผู้คนในดินแดนต่างๆ รับรู้การมีอยู่ของผู้คนจำนวนมหาศาลที่มีภาษาพูด อ่าน เขียน หรือมีอัตลักษณ์อย่างอื่นร่วมกัน ส่งผลให้ผู้คนเหล่านี้เริ่มเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับผู้คนจำนวนมากที่อยู่ห่างไกลนับร้อยกิโล แม้จะไม่เคยเห็นหน้าค่าตากันมาก่อน แต่พวกเขาก็สามารถ “จินตนาการ” ได้ว่าเป็นพวกเดียวกัน

ดังนั้น ชาติจึงเกิดขึ้นจากการสร้างมโนสำนึกของผู้คนที่มีอัตลักษณ์ร่วมกันและด้วยการพิมพ์ที่เจริญก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง การรับรู้เรื่องชาติของชาติจึงปรากฏอยู่ทุกหนทุกแห่งและทุกเวลา ผ่านสื่อที่สามารถผลิตซ้ำได้อย่างไม่จำกัด เช่น หนังสือพิมพ์ หนังสือเรียน หรือเอกสารราชการต่างๆ ก่อเกิดเป็นจินตนาการของผู้คนที่เชื่อมโยงตัวเองเข้าด้วยกันจนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “ชาติ”[1]

อย่างไรก็ดี เมื่อแนวคิดเกี่ยวกับ “รัฐชาติ” (Nation State) แพร่มายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระลอกใหญ่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ถึงต้นศตวรรษที่ 19 แนวคิดดังกล่าวได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไพศาลไปทั่วทั้งภูมิภาค แน่นอนว่าจินตนาการเรื่อง ชาติ, อาณาเขต, เส้นเขตแดน และความเป็นหนึ่งเดียว ไม่เคยอยู่ในสำนึกของคนพื้นเมืองในภูมิภาคนี้ อาณาเขตของรัฐ/อาณาจักรไม่เคยมีความแน่นอนตายตัวขึ้นอยู่กับความสามารถของกษัตริย์ ผู้คนทั่วทั้งภูมิภาคสามารถเดินทางไปมาหาสู่/อพยพโยกย้ายถิ่นฐานข้ามอาณาจักร/เมือง/หมู่บ้านกันได้อย่างกลมกลืน ชาวพม่าเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนอยุธยา ชาวอยุธยาเข้าไปตั้งถิ่นฐานในพม่า  หรือชาวเขมรเข้ามาอยู่ในอยุธยา ชาวอยุธยาย้ายไปอยู่ในเขมร ฯลฯ การอพยพโยกย้ายถิ่นฐานไม่ได้ถูกรัฐมองว่าเป็นเรื่องผิด หากแต่เป็นบุญญาธิการของกษัตริย์ทำให้มีผู้เข้ามาพึ่ง “พระบรมโพธิสมภาร”

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคก่อนการมาถึงของ “รัฐชาติ” เต็มไปด้วยการเคลื่อนย้ายถ่ายเท การแลกเปลี่ยน และการปะทะสังสรรค์กันทางวัฒนธรรมของคนพื้นเมืองอยู่ตลอดเวลา

การมาถึงของความคิดเกี่ยวกับ “รัฐชาติ” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้รัฐ/อาณาจักรต่างๆ ถูกแบ่งแยกออกจากกันอย่างชัดเจนมากขึ้นผ่านองค์ประกอบของรัฐสมัยใหม่ ได้แก่ รัฐบาล อำนาจอธิปไตย ประชากร และอาณาเขตที่แน่นอน  อย่างไรก็ตาม การที่ชาติจะตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคงและแข็งแกร่งก็ด้วยเหตุผลสำคัญเพียงประการเดียวเท่านั้นนั่นคือ ผู้คนจำนวนมหาศาลในอาณาเขตที่เรียกว่า “ชาติ” จินตนาการได้ว่าตนเองมีลักษณะร่วมกันทางวัฒนธรรม เช่น ภาษา เชื้อชาติ ศาสนา ฯลฯ  ชาติจึงจำเป็นต้องสร้าง “วัฒนธรรมแห่งชาติ”[2] เพื่อหล่อเลี้ยงจินตนาการของผู้คนในชาติ เพราะเมื่อใดก็ตามที่ผู้คนในชาติไม่สามารถจินตนาการ/เชื่อมโยงตัวเองเข้าด้วยกันได้ เมื่อนั้นชาติก็ย่อมจะล่มสลายลง ดังนั้น ชาติจึงต้องสรรหา/สร้างสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมแห่งชาติขึ้นมาและสิ่งนั้นจะต้องเป็นสิ่งที่ทุกคนในชาติสามารถเชิดชูให้ชาวโลกนับพันล้านประจักษ์ได้ว่าสิ่งนั้นดีเลิศ/ไม่มีใครเหมือน/ไม่เหมือนใคร

ด้วยเหตุนี้ การที่วัฒนธรรมแห่งชาติหนึ่งไปเหมือน/คล้ายคลึงกับอีกวัฒนธรรมแห่งชาติหนึ่ง หรือการที่ชาติหนึ่งกล่าวว่าวัฒนธรรมตนเองเป็นของ “แท้” ส่วนวัฒนธรรมชาติอื่นเป็นของ “เทียม” จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่กระทบกระเทือนอารมณ์/ความรู้สึกของคนในชาติได้อย่างง่ายดาย ความรู้สึก “พร่อง” ทางวัฒนธรรมจึงมิใช่เรื่องเล็กๆ หากแต่เป็นการทำลายรากฐานของ “ชาติ” ได้ทีเดียว

ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลให้ “วัฒนธรรม” ที่ครั้งหนึ่งเคยมีการแลกเปลี่ยน/ปะทะสังสรรค์/ใช้ร่วมกันระหว่างรัฐหรืออาณาจักรต่างๆ ถูกปิดกั้นและจำกัดอยู่ในอาณาเขตของแต่ละชาติ แน่นอนว่าหากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงมีลักษณะสังคมการเมืองแบบ “รัฐจารีต” ข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการซ้อนทับและการช่วงชิงทางวัฒนธรรมอย่างกรณี “โขน” หรือ “มวยไทย” ก็คงจะไม่เป็นประเด็นสำคัญเท่าใดนัก และหากจะกล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว “วัฒนธรรมแห่งชาติ” หลายอย่างของรัฐแถบนี้ก็ล้วนมีพื้นฐานมาจากวัฒนธรรม “อินเดีย” และ “จีน” แถบทั้งสิ้น นักประวัติศาสตร์และโบราณคดีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คนสำคัญอย่าง ดี.จี.อี.ฮอลล์ (D.G.E. Hall) ก็มองวัฒนธรรมในภูมิภาคนี้ได้รับอิทธิพลส่วนใหญ่มาจาก “อินเดีย” และ “จีน” ก่อนที่ชาวพื้นเมืองจะนำไปผสมกลมกลืนเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นของตน[3]

ดังนั้น การกล่าวอ้างว่าวัฒนธรรมชาติเราเท่านั้นที่เป็นของ “แท้” ส่วนวัฒนธรรมชาติอื่นซึ่งมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเราเป็นของ “เทียม” ดูจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการรักษาความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างประเทศท่ามกลางบรรยากาศแห่งการเปิด “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” (AEC)

สิ่งที่เราควรเร่งทำความเข้าใจก็คือ การมี “วัฒนธรรมร่วม” ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือในระดับใหญ่กว่านั้น ทั้งนี้หากกล่าวกันตามจริงแล้ว “สงกรานต์” ที่คนไทยภาคภูมิใจว่าเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงระดับโลกก็เป็นวัฒนธรรมร่วมในภูมิภาคไปจนถึง “อินเดีย” ในขณะที่กรณีของ “โขน” ก็เป็นวัฒนธรรมร่วมกันทั้งไทย กัมพูชา ลาว และพม่า ซึ่งรับอิทธิพลมาจากรามายณะของอินเดียผสมผสานกับวัฒนธรรมภายในภูมิภาค และถ้าหากยังต้องการหาว่าวัฒนธรรมใครเป็นของ “แท้-เทียม” กันอยู่ต่อไป เราอาจจะต้องคืนลิขสิทธิ์วรรณกรรม “รามายณะ” ให้แก่ชาวอินเดียกว่าพันล้านคนก็เป็นได้

0000

 

เชิงอรรถ

 

[1] ดู เบน แอนเดอร์สัน, ชุมชนจินตกรรม บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม, บรรณาธิการแปลโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2552)

[2] พระไพศาล วิสาโล, พุทธศาสนาไทยในอนาคตแนวโน้มและทางออกจากวิกฤติ, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์, 2546), หน้า 105.

[3] ดู ฮอลล์, ดี.จี.อี, ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : สุวรรณภูมิ-อุษาคเนย์ภาคพิสดาร, บรรณาธิการแปลโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, 2557)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net