Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 


ช่วงค่ำวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ชายฉกรรจ์ไม่ทราบฝ่ายกว่า 100 คน ส่วนใหญ่ติดอาวุธและสวมหน้ากากดำ บุกเข้าไปในหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดเลย ทำร้ายร่างกายชาวบ้านทั้งชายและหญิงหลายคน ชาวบ้านกลุ่มนี้คัดค้านการทำเหมืองแร่ทองแดงและทองคำในพื้นที่

จากผลการทดสอบตัวอย่างน้ำเมื่อปี 2550 พบว่ามีการปนเปื้อนสารเคมีในแหล่งน้ำในพื้นที่ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในหกชุมชนรอบเหมืองทองรวมตัวเป็นเครือข่ายกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเพื่อเรียกร้องให้ปิดเหมือง และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ชุมชนถึงขั้นตั้งกำแพงเป็นแนวกั้นถนนซึ่งเป็นเส้นทางเข้าเหมืองเมื่อปี 2557 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ชายฉกรรจ์ติดอาวุธเหล่านี้บุกเข้ามาควบคุมตัวชาวบ้าน จำนวนมากโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ใช้กำลังทำร้ายร่างกายชาวบ้านหลายคนในเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นยาวนานกว่าหกชั่วโมง

แม้ว่าชาวบ้านได้โทรศัพท์ขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาให้ความช่วยเหลือ

ที่ผ่านมามีการฟ้องคดีอาญากับจำเลยเพียงสองคนจากคนร้ายมากกว่า 100 คน ในข้อหาทำร้ายร่างกาย โดยจำเลยเป็นอดีตนายทหารกองทัพบกที่เกษียณอายุราชการกับลูกชายของเขาซึ่งยังคงรับราชการทหารอยู่ เมื่อวันอังคาร (31 พฤษภาคม 2559) ศาลจังหวัดเลยตัดสินว่าเจ้าหน้าที่ทหารทั้งสองนายมีความผิดจริงในข้อกล่าวหาทางอาญาต่าง ๆ รวมทั้งความผิดฐานทำร้ายร่างกาย กักขังหน่วงเหนี่ยว และการใช้อาวุธปืนโดยไม่มีเหตุอันควรในที่สาธารณะ ศาลตัดสินลงโทษจำคุกจำเลยเพียงสองปีและสามปีตามลำดับ และสั่งให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนกว่า 160,000 บาท ให้กับชาวบ้านที่เป็นโจกท์ร่วมทั้งเก้าคน ปัจจุบันจำเลยทั้งสองคนได้รับการประกันตัว

บริษัทซึ่งประกอบกิจการเหมืองแร่ในพื้นที่นี้คือ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งที่ผ่านมาปฏิเสธไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิใดๆ และได้ยื่นฟ้องคดีอาญาและคดีแพ่งอย่างน้อย 19 คดีกับชาวบ้านที่ประท้วงคัดค้านเหมืองแร่ทองคำ รวมทั้งล่าสุดคือการฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญากับเด็กหญิงอายุ 15 ปี ซึ่งเป็นผู้บรรยายรายงานข่าวพลเมืองที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับกิจการเหมืองทองคำและสิ่งแวดล้อมที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นแบบแผน “การพัฒนา” ในประเทศไทย ชุมชนต้องเผชิญกับการข่มขู่ ความรุนแรงและการคุกคามผ่านกระบวนการศาล

เช่นเดียวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในช่วงบ่ายของวันที่ 8 เมษายนปีนี้ มือปืนไม่ทราบชื่อ ลอบยิงนายสุพจน์ กาฬสงค์ แกนนำเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิที่ดิน ระหว่างที่เขาขับรถยนต์กลับบ้านในอำเภอชัยบุรี เป็นเหตุให้เขาได้รับบาดเจ็บสาหัส โชคดีที่เขารอดชีวิต

แต่แกนนำเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิที่ดินคนอื่นไม่ได้โชคดีแบบนี้

นายสุพจน์เป็นสมาชิกคนที่ห้าของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ซึ่งเป็นเครือข่ายชุมชนที่เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิในที่ดินของเกษตรกร และที่ผ่านมามีข้อพิพาทกับรัฐบาลและ บริษัท จิวกังจุ้ยพัฒนา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทปาล์มน้ำมันของคนไทย เป็นเหตุให้ถูกโจมตีทำร้ายตั้งแต่ปี 2553 ที่ผ่านมาสมาชิกสี่คนถูกลอบยิงเสียชีวิต จนถึงปัจจุบันมีการนำตัวชายเพียงคนเดียวเข้ารับการพิจารณาคดีแม้จะมีการสังหารทั้งสี่กรณี แต่ศาลได้ยกฟ้องชายคนดังกล่าว

เมื่อเร็ว ๆ นี้ในเดือนมีนาคม บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ทำเหมืองทองคำในไทยของบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัดของออสเตรเลีย ได้ฟ้องหมิ่นประมาทคดีอาญากับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสองคน ซึ่งคัดค้านการดำเนินกิจการเหมืองแร่ของบริษัทในจังหวัดพิจิตร โดยกล่าวหาว่าพวกเขาโพสต์ความเห็นในทางลบเกี่ยวกับบริษัทผ่านทางเฟซบุ๊ก

ที่จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมปีที่แล้ว ทางการสั่งให้สมาชิกกลุ่มแม่สอดรักษ์ถิ่น ซึ่งเป็นเครือข่ายชาวบ้านในอำเภอแม่สอด ต้องอพยพออกจากที่ดินตามแผนการของรัฐบาลที่จะพัฒนาให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ชาวบ้านบอกกับเราว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้เข้ามาขัดขวางไม่ให้พวกเขายื่นคำร้องต่อทางการเกี่ยวกับการไล่รื้อหลายครั้งด้วยกัน

ในบรรดากรณีเหล่านี้ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เรียกร้องความเป็นธรรม มักถูกผลักให้อยู่ชายขอบและจำกัดสิทธิการแสดงออก

แต่ประเทศไทยมีพันธกรณีตามกฎหมายที่ต้องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคน จากการตอบโต้อันเป็นผลมาจากการใช้สิทธิของตน

ในวันที่ 17 ธันวาคม 2558 ประเทศไทยเข้าร่วมกับอีก 127 ประเทศในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ และให้การรับรองมติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เป็นมติที่เรียกร้องให้รัฐต่าง ๆ งดเว้นจากการคุกคามหรือตอบโต้นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และอนุญาตให้มีการแสดงความเห็นต่างจากรัฐได้อย่างสงบและอย่างเสรี เป็นมติที่เรียกร้องให้ภาคธุรกิจเคารพสิทธิของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และให้จำแนกและแก้ปัญหาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนร้ายแรงที่เกิดขึ้นจากกิจการของตน โดยให้มีการปรึกษาหารืออย่างจริงจังกับกลุ่มที่อาจจะได้รับผลกระทบหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนั้น เมื่อเดือนที่แล้ว ประเทศไทยได้รับพิจารณาข้อเสนอแนะจากรัฐภาคีสหประชาชาติ 6  ประเทศ เรื่องในแง่การคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ระหว่างการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนรอบสองของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Universal Periodical Review) ที่สหประชาชาติ โดยประเทศไทยได้เห็นชอบที่จะดำเนินการสอบสวนโดยทันทีและอย่างรอบด้าน หากมีรายงานการข่มขู่ คุกคาม และทำร้ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และให้นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ การแสดงความสนับสนุนของประเทศไทยต่อหลักการเหล่านี้ในเวทีโลกเป็นสิ่งที่น่ายินดี แต่จะไม่มีความหมายมากนักหากปราศจากการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

ประเทศไทยยังต้องใช้เวลาอีกมากในการดูแลให้มีการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ และให้คุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

ประเทศไทยควรเริ่มต้นจากการคุ้มครองให้บุคคลและชุมชนที่ถูกละเมิดสิทธิ สามารถเข้าถึงการเยียวยาและการชดเชยอย่างเป็นผล โดยรัฐบาลควรจัดทำกรอบกฎหมายอย่างจริงจังและอย่างเป็นผล เพื่อสนับสนุนกระบวนการขอความยินยอมที่เกิดขึ้นอย่างเสรี ล่วงหน้า และเกิดจากความเข้าใจของชุมชนในท้องถิ่น ก่อนจะดำเนินโครงการพัฒนาใด ๆ และควรดูแลให้มีการดำเนินคดีกับบริษัทที่มีส่วนรับผิดชอบต่อความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมและการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนใด ๆ

0000

 

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: สุธารี วรรณศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย องค์กรฟอร์ติไฟไรท์ (Fortify Rights)
คิงสลีย์ แอบบอต (Kingsley Abbot) ที่ปรึกษาอาวุโสด้านกฎหมายระหว่างประเทศประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists)

หมายเหตุ ต้นฉบับตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 5 มิถุนายน 2559

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net