Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เวลาเราเสนอความเห็นอะไรต่อสาธารณะ ความเห็นนั้นย่อมไม่อยู่ในอำนาจควบคุมของเราอีกต่อไป เป็นไปได้เสมอที่มันจะถูกสร้างให้มีความหมายใหม่ไปตามบริบทการตีความ ตัดความ เติมความ ฯลฯ ของคนอื่น เช่นที่มติชนออนไลน์นำความเห็นในเฟซบุ๊กของผมมาเผยแพร่ตรงตามต้นฉบับว่า

“ในฐานะ “คนอีสาน” ผมรู้สึก “เจ็บปวดมาก” นะครับ เมื่อได้ฟังเนื้อเพลงนี้ คุณยกย่องคนใต้ว่ารักประชาธิปไตย รักความเสรี ร่วมสร้างประวัติศาสตร์นำอนาคตประเทศชาติอะไรแบบนี้ แล้วพูดถึงคนอีสาน คนเหนือเชิงสั่งสอน(ดูแคลน)ว่าอย่าให้เขาหลอก อย่าให้เขาชี้นำ…

การปกป้องการเลือกตั้งอันเป็นกระบวนการที่ขาดไม่ได้ของระบบประชาธิปไตยของคนอีสาน คนเหนือ นอกจากไม่สามารถจะนับได้ว่า “รักประชาธิปไตย” แล้ว ยังถูกเหยียดว่านั่นเป็นเพียงถูกหลอก ถูกชี้นำงั้นหรือครับ และตอนนี้อย่าให้เขาหลอก อย่าให้เขาชี้นำได้อีก บลา บลา

จะกดเหยียดคนไทยด้วยกันเองไปถึงไหนกันครับ? “

(ดูที่นี่)

ต่อมาเฟซบุ๊กรายการทุบโต๊ะข่าว อมรินทร์ทีวี ได้นำไปเผยแพร่ต่อโดยจงใจตัดให้เหลือ เฉพาะข้อความตามภาพข้างล่าง พร้อมกับเขียนว่า “เพลงนี้เจ็บปวด”


(ดูที่นี่)

ถ้าอ่านข้อความทั้งหมดจะเห็นว่าผมไม่ได้บอกว่าผมเจ็บปวดเพียงเพราะเนื้อเพลงยกย่องคนใต้รักประชาธิปไตย แต่เจ็บปวดตรงที่เนื้อเพลงสามารถตีความได้ว่ามีความหมายในเชิง “กดเหยียด” คนอีสานและคนเหนือ ผมไม่ได้บอกว่าผู้แต่งเพลงและ กตต.ตั้งใจจะให้มีความหมายในเชิงกดเหยียด แต่ถึงคุณจะไม่ตั้งใจเมื่อคุณโยนเพลงนี้ลงไปใน “บริบท” ความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นอยู่จริงซึ่งดำเนินต่อเนื่องมากว่า 10 ปี มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่คนอื่นๆจะเข้าใจความหมายไปอย่างนั้น

เป็นความจริงว่าในความขัดแย้งทางการเมืองกว่า 10 ปี คนอีสาน คนเหนือ “ถูกกล่าวหา” ว่าถูกชักจูง ถูกหลอก ถูกซื้อ ถูกมอมเมาด้วยนโยบายประชานิยม โดยชนชั้นนำ นักวิชาการ สื่อ ชนชั้นกลางในเมือง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ฝ่ายการเมืองฟากตรงข้าม

ความประหลาดของปรากฏการณ์นี้ก็คือ ขณะที่คนอีสาน คนเหนือหลายล้านคน ไม่คิดว่าพวกเขาถูกหลอก แต่พวกเขาเลือกนักการเมือง พรรคการเมืองจากนโยบายที่ตนเห็นว่ามีประโยชน์ และการที่พวกเขาเลือกพรรคการเมืองพรรคเดียวอย่างต่อเนื่องก็ไม่ใช่เรื่องผิดในตัวมันเอง เพราะคนใต้ก็เลือกพรรคการเมืองพรรคเดียวมาก่อนหลายทศวรรษแล้ว ทว่านอกจากฝ่ายที่กล่าวหาว่าคนอีสาน คนเหนือถูกหลอกจะไม่ฟังเหตุผลใดๆพวกเขาแล้ว ยังละเมิดสิทธิเลือกตั้งของพวกเขาด้วยการทำให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นไม่ได้และสนับสนุนอำนาจรัฐประหารให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

ความหมายของการกระทำเช่นนั้นมันคือการ “สื่อสาร” ว่า “พวกคุณไม่เชื่อพวกฉันว่าพวกคุณเองถูกหลอกเหรอ ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องเลือกตั้ง ไม่ต้องมีสิทธิเสรีภาพแสดงออกทางการเมือง ต้องเดินตามกระบวนการปฏิรูปที่ไม่เป็นประชาธิปไตยที่พวกฉันสนับสนุนเท่านั้น” นี่คือปรากฏการณที่เจ็บปวด ไม่ใช่เรื่องของการ “อ่อนไหวง่าย” แต่การไม่อ่อนไหวกับปรากฏการณ์เช่นนี้ต่างหากที่อธิบายไม่ได้

ยิ่งกว่านั้น ยังมีการ “ผลิตซ้ำ” วาทกรรมกล่าวหาคนอีสาน คนเหนือถูกหลอกง่าย โดยกลุ่มคนที่แสดงออกว่าพวกตนมีวิจารณญาณที่ดีกว่าเสมอๆ ผ่านหน้าสื่อต่างๆ จนกระทั่งผลิตซ้ำผ่านเพลงรณรงค์ประชามติที่จงใจเตือนสติคนอีสานคนเหนือไม่ให้ถูกหลอก ถูกชี้นำ นี่ต่างหากที่ทำให้ผมรู้สึกเจ็บปวด  

ผู้แต่งเพลงแย้งว่าอย่าโยงไปอย่างนั้น “เนื้อเพลงบอกชัดเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ คำตอบอยู่ที่คุณจะใช้วิจารณญาณ จริงไหมล่ะประชามติครั้งนี้มีการชี้นำ ทำสงครามประชาชนกัน คสช.ชี้นำให้รับ ฝ่ายตรงข้ามชี้นำให้ไม่รับ ประชาชนอยู่ตรงกลาง กกต.และผมจึงพยายามชี้ว่าอย่าให้ฝ่ายใดมาชี้นำ ให้ศึกษาเนื้อความหลักการของรัฐธรรมนูญดีหรือไม่ดีแล้วตัดสินใจเองจะรับหรือไม่รับ” เพื่อให้แฟร์ ผมควรนำเนื้อเพลงที่พูดถึงคนอีสาน คนใต้ และคนเหนือมาให้ดูทั้งหมด

“พี่น้องอีสานบ้านเฮา อย่าให้ใครเขาชี้ซ้ายชี้ขวา ใช้สติพิจารณา เนื้อหาถ้อยความหลักการสำคัญ ออกไปใช้เสียงใช้สิทธิ์ ร่วมรับผิดชอบบ้านเมืองนำกัน ให้ฮู้เขาฮู้เฮาเท่าทัน เฮาคนอีสานอย่าให้ไผมาตั๊วได้”

“ปักษ์ใต้คนใต้แหลงใต้ รักประชาธิปไตยรักความเสรี ไปลงประชามติ เป็นพลเมืองดีหน้าที่ของชาวไทย ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ ช่วยนำพาชาติให้เจริญก้าวไกล ดอกไม้ประชาธิปไตย หกสิบห้าล้านใจคนไทยบานสะพรั่ง”

“ปี้น้องชาวเหนือหมู่เฮา อย่าหื้อใครเขาชักจูงจี้นำ ต้องหมั่นเฮียนฮู้ติดตาม ศึกษาเนื้อความฮื้อมันกระจ่าง บ้านเมืองจะค้ำจะจุน รัฐธรรมนูญต้องเป็นที่ตั้ง หนึ่งเสียงหนึ่งใจหนึ่งพลัง ฮ่วมกันสรรค์สร้างบ้านเฮาเมืองเฮา”

เห็นได้ชัดว่าเนื้อเพลงพูดถึงคนอีสาน คนเหนือต่างจากคนใต้แน่นอน แต่เอาล่ะ สมมติเราตัดการตีความของผมข้างบนทิ้งหมดเลย และเชื่อว่าความหมายของเพลงเป็นไปตามคำอธิบายของผู้แต่งและ กกต.จริง ยิ่งกว่านั้นให้เราตัดชื่อภาค 4 ภาค ทิ้งไปเลย ให้เหลือเนื้อเพลงที่พูดถึงใจความสำคัญว่า “คนไทยทุกคนรักประชาธิปไตย รักความเสรี แล้วมาร่วมลงประชามติด้วยวิจารณญาณของตนเองโดยไม่ถูกใครชี้นำ...”

เมื่อเรานำความหมายที่ผู้แต่งและ กกต.ต้องการสื่อดังกล่าวนี้มาสัมพันธ์กับการลงประชามติ “ภายใต้กติกาที่ไม่เสรีและเป็นธรรมตามหลักสากล” ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กกต.เราก็จะเห็น “สาร” ที่ผู้แต่งเพลงและ กกต.สื่อออกมาจริงๆว่า “ขอเชิญไทยทุกคนที่รักประชาธิปไตย รักความเสรี มาลงประชามติด้วยการตัดสินใจอย่างอิสระภายใต้กติกาที่ไม่เสรี” 

ฉะนั้น ในบริบทการเลือกตั้งที่ไม่เสรีและเป็นธรรมตามหลักสากล ความหมายของเพลงนี้จึงไม่ใช่ความหมายอย่างที่ผู้แต่งและ กกต.อ้างว่าต้องการจะสื่อ หากแต่ความหมายที่แท้จริง หรือ “สาร” ที่ “ปรากฏเป็นจริง” ของเพลงนี้คือความ “ไม่ make sense” เพราะขณะที่คุณยกย่องประชาชนว่ารักประชาธิปไตย รักเสรี และแนะนำให้พวกเขาใช้วิจารณญาณอย่างอิสระ การการกระทำของคุณคือการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกอันเป็นเงื่อนไขจำเป็นของใช้วิจารณญาณอย่างอิสระ

พูดอีกอย่างว่าเพลงไม่ได้ function ตามที่ผู้แต่งและ กตต.พยายามอธิบายกับสังคม แต่เพลงมัน function ในการแสดงถึง “ความไม่มีความหมาย” ของตัวมันเอง หรือแสดงถึงการที่คุณนั่นเองคือผู้ที่ทำให้ความหมายของเพลงเพี้ยนไปจากความหมายที่คุณพยายามอธิบายกับสังคม

ภายใต้การลงประชามติที่ไม่เสรีและเป็นธรรมตามหลักสากล การแสดงออกทางการเมืองใดๆที่ “ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย” เช่นยืน เดิน เต้น ร้องเพลง หรือการแสดงออกทางการเมืองใดๆอย่างสันติวิธีที่ “ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน” กลายเป็นสิ่งที่ “ผิด” การแต่งเพลงยกย่องประชาชนว่ารักประชาธิปไตย รักเสรี และแนะนำให้ใช้วิจารณญาณอย่างอิสระจึงไม่มีความหมายใดๆ

ตัวเนื้อเพลงรณรงค์ประชามติ มันจึงสะท้อน “ตัวตน” ของคนบางกลุ่มที่ถือว่า การกระทำที่มีความหมายถูกหรือผิดในทางสังคมการเมืองขึ้นอยู่กับ “เจตนาดี” หรือ “เจตนาบริสุทธิ์” ที่ตัวเองใช้อ้างกับสังคมเท่านั้น โดยที่ความถูก ผิดนั้น ไม่จำเป็นต้องวางอยู่บนฐานของความถูกต้องชอบธรรมตาม “หลักการและกติกาประชาธิปไตย” แต่อย่างใด

เท่ากับว่า ถ้าอ้างเจตนาดี เจตนาบริสุทธิ์ต่อส่วนรวมก็ถือว่าตนเองเสียสละทำประโยชน์เพื่อชาติ โดยที่การทำเพื่อ “ชาติ” นั้นไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้กติกาที่เคารพอำนาจและสิทธิเสรีภาพของประชาชน

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net