Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทความนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตการดำเนินคดีของดีเอสไอที่ดำเนินงานในห้วงเวลานับตั้งแต่ที่มีการควบคุมบริหารราชการแผ่นดินภายใต้อำนาจการปกครองของ คสช. โดยเฉพาะบทบาทของดีเอสไอกับกรณีมีผู้กล่าวโทษต่อพระเถระชั้นผู้ใหญ่ซึ่งเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา รวมถึงการดำเนินคดีทางอาญาต่อพระภิกษุรูปอื่นมาเป็นระยะแล้วนั้น ทั้งนี้ ผู้เขียนขอเรียนท่านผู้อ่านว่า ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นนักกฎหมายผู้หนึ่งและเป็นประชาชนภายใต้รัฐไทย จึงขอใช้สิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็นในทางวิชาการเพื่อให้ผู้อ่านได้รับรู้มุมมองอันเป็นข้อสังเกตในทางคดี  โดยยึดหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามความรู้และข้อเท็จจริงที่ได้รับจากข่าว สื่ออินเทอร์เน็ตเท่านั้น  หากมีข้อเท็จจจริงและข้อกฎหมายใดอันเกิดจากความคลาดเคลื่อน ผิดหลงหรือข้อจำกัดอื่นๆ ผู้เขียนขอน้อมรับในความผิดพลาดไว้แต่เพียงผู้เดียว ทั้งนี้ผู้เขียนมิได้มีเจตนาที่จะปกป้องหรือกล่าวหาผู้หนึ่งผู้ใดทั้งสิ้น

จากกรณีที่พนักงานอัยการท่านหนึ่งซึ่งเป็นคณะทำงานของสำนักงานอัยการสูงสุด ในการเข้าร่วมการสอบสวนกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรณี "พระธัมมชโย"และบุคคลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อสารมวลชนรายการหนึ่ง เป็นการเหมาะสมหรือเป็นหน้าที่หรือไม่ในการให้ข้อมูลด้านเดียวต่อสังคมนั้น ท่านผู้ชมรายการดังกล่าวต้องพิจารณากันเอง แต่ผู้เขียนเห็นว่า เพื่อประโยชน์อันควรมีควรได้และสร้างการรับรู้รับทราบให้แก่ประชาชน มิได้มีเจตนาสร้างความแตกแยกหรือเข้าใจผิดแก่ผู้ใด จึงขอตั้งสังเกตจากเนื้อหาการสนทนาในรายการดังกล่าว ดังต่อไปนี้

1.การขอเปลี่ยนหัวหน้าพนักงานสอบสวนหรือพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี ไม่ใช่ "การตั้งเงื่อนไข"ของการจะต้องถูกดำเนินคดีจากผู้ถูกกล่าวหา แต่เป็นการเรียกร้องคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่อาจมีอคติ ไม่เป็นกลาง ปฏิบัติหน้าที่ไม่เที่ยงธรรม ล้วนเป็นเหตุแห่งการคัดค้านได้ {1} การบอกว่าเป็นการสร้างเงื่อนไขของฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา จึงอาจจะทำให้สังคมเกิดทัศนคติในทางลบกับผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องหา  ทั้งที่ทุกการสอบสวนไม่ว่าหน่วยงานใด เมื่อมีเหตุที่ต้องเปลี่ยนพนักงานสอบสวน  (ในที่นี้รวมถึงอัยการที่ร่วมสอบสวนด้วย) ผู้บังคับบัญชาหรือผู้ถูกคัดค้านก็อาจต้องพิจารณาเปลี่ยนตัวหรือถอนตัวจากการสอบสวน แล้วแต่กรณี

2.พนักงานอัยการกล่าวว่า "ตนพร้อมจะปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาในการทำหน้าที่" จึงขอตั้งข้อสังเกตอย่างน้อย 2 ประการ คือ

2.1 ) การปฏิบัติตามผู้บังคับบัญชาสั่งการ ต้องมิใช่ทำตามความประสงค์ของผู้บังคับบัญชาจนเสียความยุติธรรม เพราะอัยการต้องตรวจสอบพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาจริง   และต้องมีความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ของตน  มิใช่เชื่อฟังผู้บังคับบัญชาในการใช้ดุลพินิจโดยอ้างอำนาจตามกฎหมาย

2.2) การยอมปฏิบัติตามผู้บังคับบัญชา หากผู้บังคับบัญชาให้พ้นจากหน้าที่คดีนั้น เพราะถูกผู้ถูกกล่าวหาคัดค้านไว้ด้วยเหตุใดๆ แม้ในทางบริหารงานบุคคลผู้บังคับบัญชา อาจจะอ้างว่า คำคัดค้านของผู้ถูกกล่าวหาไม่มีเหตุผลก็ตาม แต่หากอัยการท่านนั้นเห็นว่าตนถูกคัดค้านและอาจสร้างความไม่ยุติธรรมในการสอบสวนคดี เพื่อให้เกิดความเที่ยงธรรม เกิดความโปร่งใสและปราศจากความเคลือบแคลงในการทำหน้าที่ ก็ควรต้องแจ้งผู้บังคับบัญชาว่า ตนขอถอนตัวออกไปเองก็ยังทำได้ ในสำนักงานอัยการสูงสุดก็อาจมีกรณีตัวอย่างของการเปลี่ยนชุดทำงานของอัยการมาแล้วหลายชุดในบางคดีก็เป็นได้ แต่สังคมไม่เคยรับรู้หรือไม่

3. ความเป็นมืออาชีพของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ ถูกนำมากล่าวเป็นบทนำในการสนทนา ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี   ทั้งนี้ การเป็นมืออาชีพเป็นเพียงนามธรรมหรือเพื่อยืนยันถึงประสบการณ์ในการทำงาน  แต่นั่นไม่ได้พิสูจน์ว่าเจ้าหน้าที่นั้นๆ จะมีคุณธรรม จรรยาบรรณและรักษาความเที่ยงธรรมได้หรือไม่

4. การจัดสถานที่แจ้งข้อหาที่เหมาะสมกับสถานะของผู้ต้องหาไม่ว่าจะมีเหตุเจ็บป่วย เป็นพระภิกษุ หรือประการอื่นใด  ในอดีตก็เคยปฏิบัติมาแล้ว อัยการอธิบายทางปฏิบัติไว้เอง  มิใช่การขุดบ่อล่ออะไร  เพราะมิได้จะทำให้พนักงานสอบสวน ผิด ปอ.ม.157 ซึ่งในทางกลับกัน ถือเป็นการใช้วิธีการที่เหมาะสมและมีกาละเทศะเสียด้วยซ้ำ

การยก ป.วิ.อ.ม.64 ที่มีการแก้ไข พ.ศ.2547  บัญญัติว่า"ถ้าบุคคลที่มีชื่อในหมายอาญาถูกจับ หรือบุคคลหรือ สิ่งของที่มีหมายให้ค้นได้ค้นพบแล้ว ถ้าสามารถจะทำได้ก็ให้ส่งบุคคลหรือสิ่งของนั้นโดยด่วนไปยังศาลซึ่งออกหมาย หรือเจ้าพนักงานตามที่กำหนดไว้ในหมาย แล้วแต่กรณี  เว้นแต่จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น" ในบทบัญญัตินี้  ถือว่ากฎหมายให้ทำตามความเหมาะสมที่  "สามารถทำได้"   รวมถึงการที่ผู้ถูกกล่าวหาไปยังเจ้าพนักงาน  หรือเจ้าพนักงานไปพบที่แห่งใดก็ได้  การอ้างว่าเพื่อมิให้เกิดข้อครหาว่าป้องกันการนำตัวไปสอบสวนในเซฟเฮ้าส์นั้น  เป็นการนำกรณีตัวอย่างมาอธิบายที่ไม่ตรงกับกรณีนี้ จึงไม่สมเหตุสมผล เพราะความจริง พระธัมมชโยเป็นพระภิกษุท่านอยู่ที่วัด การอธิบายเช่นนั้นเป็นคนละประเด็นกัน

นอกจากนี้ หมายจับก็ระบุไว้ชัดเจนว่าให้พนักงานสอบสวนผู้ใดมีอำนาจรับตัว และดำเนินการแจ้งข้อหา ตลอดจนมีอำนาจพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวได้เองด้วย เวลาอธิบายต้องอธิบายให้ชัดตามหลักกฎหมาย พนักงานอัยการอาจช่วยทำให้เรื่องที่ดูยากกลายเป็นเรื่องง่ายได้ตามอำนาจของท่าน

ดังนั้น การแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาสามารถแจ้งนอกสถานที่ของที่ทำการพนักงานสอบสวนได้ ทั้งนี้ ป.วิ.อ.มาตรา 134 มีถ้อยคำวางหลักเอาไว้ว่า "..ปรากฎว่าผู้ใดซึ่งมาอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนเป็นผู้ต้องหา.."  จึงเป็นการให้อำนาจพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาได้หากปรากฎต่อหน้า ณ ที่ใดๆก็ได้ อัยการก็ยืนยันในรายการว่าสามารถทำได้ ซึ่งต้องแยกออกจากขั้นตอนการสอบสวน เช่นสอบปากคำ การโต้แย้งพยานหลักฐาน ซึ่งขั้นตอนนั้นสามารถมอบหมายทนายความเข้าชี้แแจงได้

5. การพูดว่า  "การเจรจาต่อรองให้ทำการสอบสวนในวัดทำไม่ได้" นั้น เป็นการพูดที่ผิดต่อธรรมชาติ เนื่องจากขั้นตอนเริ่มต้นของการสอบสวนคือการแจ้งข้อหา สอบปากคำเบื้องต้นว่าจะรับสารภาพหรือปฏิเสธ  และพิมพ์นิ้วมือทำทะเบียนประวัติเท่านั้น การสอบสวนทุกประเด็นเป็นรายละเอียด ทางปฏิบัติจะนัดหมายและให้โอกาสแก่ผู้ต้องหาให้หาหลักฐานพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนได้อย่างเพียงพอและเหมาะสม ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจหรือพนักงานสอบสวนที่ปฏิบัติงานส่วนใหญ่มีการเจรจาต่อรองแทบทั้งสิ้น เพราะถือเป็นการลดความสูญเสียหรือการตอบโต้ที่รุนแรงจากการจับกุม และยังเป็นทางออกที่ปฏิบัติได้มิใช่การปฏิบัติที่มิชอบแต่อย่างใด

ในอดีต ก็พบว่ามีกรณีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วจากกรณีพระภิกษุที่ถูกกล่าวหาว่ายึดสถานที่ราชการ แต่มีการแจ้งข้อหาและนัดพบกันนอกสถานที่ทำการของพนักงานสอบสวน นั่นคือ การเจรจาต่อรองหรือไม่ ?

6. มีการใช้คำว่า "ยืดหยุ่น" จากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ เสมือนหนึ่งว่าเป็นบุญคุณมาก ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่สร้างภาพลักษณ์ที่ดี แต่หารู้ไม่ว่านั่นคือการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานตามหลักธรรมาภิบาลและต้องเป็นตามหลักความชอบด้วยกฎหมาย มิได้เป็นความดีความชอบที่ดูพิเศษแต่อย่างใด

การอธิบายและตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการขุดบ่อล่อ..  จึงเป็นโต้กลับให้เห็นว่าการจะแจ้งข้อหาในที่แห่งอื่นนอกจากดีเอสไอไม่ได้เท่านั้นเอง

7.การตั้งวงเจรจาว่าเป็นการกระทำในทางปกครอง  แต่ไม่ผูกพันพนักงานสอบสวน  เริ่มต้นคงจะลืมไปว่าเป็นข้อเสนอจากฝ่ายผู้กล่าวโทษหรือมาจากเจ้าหน้าที่รัฐมิใช่หรือ  แต่อย่างไรก็ตามการดำเนินการตาม ป วิ อาญา ก็ถือเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างหนึ่ง ซึ่งหากกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงให้ประชาชนได้รีบความเสียหายหรือถูกกระทบกระเทือนสิทธิอย่างรุนแรง ก็ถือว่าไม่ชอบการทางปกครองด้วย เมื่อ ป วิ อ.ให้อำนาจไว้ เจ้าหน้าที่ก็ต้องใช้อำนาจตามกฎหมายเท่านั้น  การใดๆ ทำได้ในอำนาจก็ทำไป  มิใช่ว่าจะไม่ผูกพันพนักงานสอบสวน การอธิบายว่าไม่ผูกพันคล้ายกำลังส่งสัญญาณว่าไม่เอาใครทั้งนั้นนอกจากตนเองใช่หรือไม่ ?

8.  การใช้ช่องทางของคดีประเภทสำนวน ส.2 (คือ สำนวนปรากฏตัวผู้ต้องหาที่ไม่ได้ส่งตัวมา*ดูเชิงอรรถ{2} )    เป็นการสั่งฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลประเภทหนึ่ง บางคนอาจมองว่าเร่งรัดสรุปสำนวนหรือสั่งฟ้องคดีบางรายไปก่อนก็ได้  แต่สาระสำคัญในทางกฎหมายคือ คดีอาญาเรื่องใดหากทราบผู้กระทำผิดและมีจำนวนหลายคน ซึ่งได้ตัวมาสอบสวนบางคน พนักงานสอบสวนก็จะใช้วิธีการส่งสำนวนสรุปความเห็นสั่งฟ้องเฉพาะรายที่ได้ตัวมาสอบสวนแล้วให้พนักงานอัยการไปฟ้องต่อศาลก่อน  สำนวนคดีลักษณะนี้เรียกว่า  สำนวนคดีที่เรียกหรือจับตัวยังไม่ได้   ( หลบหนี ) พนักงานสอบสวนจะทำความเห็นควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปพร้อมกับสำนวนยังพนักงานอัยการ ( ป.วิ.อ. ม.141 ) ในคำฟ้องก็จะระบุว่า "จำเลยที่ 1  กับพวกที่หลบหนีและยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง  ได้บังอาจสมคบร่วมกัน..."  ในทางคดีเมื่อฟ้องต่อศาลก็อาจเป็นประเด็นทั้งทางคดี และข่าวสาร   จากนั้นผู้ใดจะหยิบฉวยไปขยายผลอนย่างไรก็ได้เรียกว่า "เอาที่สบายใจ"

9. ตอนท้ายของการสนทนา สามารถสะท้อนและตอกย้ำได้ในตัวแล้วว่า ประเทศไทย ใช้หลักนิติรัฐ คือการปกครองโดย กฎหมาย ซึ่งกฎหมายที่นำมาใช้นั้นจะต้องมาจากประชาชน ไม่ใช่มาจากบุคลลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง
*หลักนิติรัฐ"  มีหลักการดังนี้ คือ

1) รัฐและฝ่ายปกครองจะต้องใช้กฎหมายที่ประชาชนหรือตัวแทนของประชาชนบัญญัติเป็นหลักในการปกครอง

2) การดำเนินกิจการใดๆก็ตามของรัฐและฝ่ายปกครองจะต้องดำเนินไปตามกฎหมายให้อำนาจไว้และต้องเป็นไปตามหลักแห่งความยุติธรรม

3) รัฐและฝ่ายปกครองจะกระทำการใดๆนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่ได้

4) การใช้อำนาจของฝ่ายปกครองต้องตรวจสอบและควบคุมได้

ในการปกครองประเทศตามระบอบประชาธิปไตยนี้  เป็นหลักของการปกครองที่ถือว่า "คนทุกคนมีความเท่าเทียมกัน และมีความเสมอภาคกัน"

ดังนั้นผู้ที่มาปกครองประเทศจึงเป็นเพียงตัวแทนของประชาชน แต่อย่างไรก็ดี  ต้องทำการปกครองประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ จะต้องมีกฎหมายให้อำนาจและกำหนดหน้าที่ไว้

หลักการปกครองที่สำคัญที่สุดคือ ประชาชนจะต้องไม่ถูกละเมิดจากการใช้อำนาจของผู้ปกครองโดยขาดความยุติธรรมเว้นเสียแต่จะบอกว่าเวลานึ้ไม่ใช่การปกครองระบอบประชาธิปไตย!

 

 

เชิงอรรถ

{1} จรรยาบรรณพนักงานสอบสวน
จรรยาบรรณของพนักงานสอบสวน ที่ต้องประพฤติปฏิบัติควบคู่ไปกับอุดมคติของตำรวจ เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนและสังคมส่วนรวม มีดังนี้
1. พนักงานสอบสวน ต้องเคารพในสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามบทบัญญัติ แห่งรัฐธรรมนูญ
2. พนักงานสอบสวน ต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริต และยึดมั่นในศีลธรรม
3. พนักงานสอบสวน ต้องอำนวยความยุติธรรม ด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง โปร่งใส และเป็นธรรม โดยปราศจากอคติ
4. พนักงานสอบสวน ต้องกล้ายืนหยัดกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง
5. พนักงานสอบสวน พึงปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ เสียสละ และอดทน เพื่อประโยชน์แห่งการอำนวยความยุติธรรม
6. พนักงานสอบสวน พึงมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี ด้วยความสุภาพ อ่อนโยน มีไมตรีจิต และเต็มใจให้บริการประชาชน
7. พนักงานสอบสวน พึงหมั่นศึกษาหาความรู้ และพัฒนาตนเองตลอดเวลา
8. พนักงานสอบสวน พึงสำนึกและยึดมั่นในวิชาชีพการสอบสวน มีความภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีและวิชาชีพของตนเอง
(ข้อมูลเทียบเคียงจาก ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยจรรยาบรรณของพนักงานสอบสวน พ.ศ.2544 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2544)

{2} ความหมายของการรับสำนวนคดีของสำนักงานอัยการสูงสุด
ส.1 คือ สำนวนปรากฏตัวผู้ต้องหาที่ส่งตัวมา
ส.1 ฟ คือ สำนวนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด
ส.2 คือ สำนวนปรากฏตัวผู้ต้องหาที่ไม่ได้ส่งตัวมา
ส.2 ก คือ สำนวนปรากฏตัวผู้ต้องหาที่ไม่ได้ส่งตัวมาเฉพาะคดีเปรียบ
เทียบ)
ส.3 คือ สำนวนไม่ปรากฏตัวผู้กระทำความผิด
ส.4 คือ
ส.4วาจา คือ สำนวนปรากฏตัวผู้ต้องหาที่ส่งตัวมา (แขวง)
ส.5 คือ สำนวนแก้ต่างคดีอาญา
ส.5 ก คือ สำนวนความแพ่ง
ส.6 คือ สำนวนอุทธรณ์
ส.7 คือ สำนวนฎีกา
ส.11 คือ สำนวนที่มีความเห็นแย้งผู้ว่าฯ
ส.12 คือ สำนวนตายในความควบคุมของเจ้าพนักงาน
ส.12 ก คือ สำนวนตายโดยผิดธรรมชาติ
ประเด็น คือ สำนวนรับประเด็น.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net