ยังไม่คืบ 'สมานฉันท์แรงงาน' ทวงถามความคืบหน้า 6 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล วันแรงงานปี 59

ที่มาภาพ Nok Voice Labour

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา จิระพัฒน์ คงสุข โพสต์วิดีโอคลิป พร้อมรายงานว่า วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และ มานพ เกื้อรัตน์ รองเลขาธิการ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พร้อมองค์กรเครือข่ายต่างๆ ยื่นหนังสือติดตามความคืบหน้าข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากลปี 59 ต่อผู้แทนรัฐบาล ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ของรัฐบาล ตึก กพ. ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ

ผู้สื่อข่าวได้สอบถาม วิไลวรรณ เพิ่มเติม ซึ่ง วิไลวรรณ กล่าวถึงความคืบหน้าว่า ทางตัวแทนรัฐบาลแจ้งว่าได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อนำข้อเรียกร้องทั้ง 6 ข้อ มาพิจารณา โดยจะมีการเชิญตัวแทนของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เข้าร่วม ซึ่ง วิไลวรรณ กล่าวว่า ก็เป็นเหมือนปีที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ วิไลวรรณ เปิดเผยด้วยว่า ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จะหารือเพื่อหาแนวทางเคลื่อนไหวเรียกร้องตาม 6 ข้อที่เคยเสนอต่อรัฐบาลไป โดยเฉพาะข้อเรียกร้องเฉพาะหน้าอย่างการขอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ต้องเร่งขับเคลื่อน 

สำหรับข้อเรียกร้องในวันแรงงานแห่งชาติ ของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย นั้น เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา วิไลวรรณ เคยกล่าวว่า ข้อเรียกร้องเดิมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขจากรัฐบาล เพราะมองว่าที่ผ่านมาร่างกฎหมายต่างๆ ของผู้ใช้แรงงานถูกมองข้ามจนไม่นำเข้าสู่การพิจารณาของสภา จึงยังมีความจำเป็นที่จะต้องเคลื่อนไหวและประกาศเจตนารมณ์เพื่อเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลจำนวน 6 ข้อ คือ การเรียกร้องให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการวมตัวและเจรจาต่อรอง เรียกร้องให้ยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบและผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยการพัฒนารัฐวิสาหกิจ ที่ได้ยื่นต่อรัฐบาล เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา เรียกร้องการกำหนดค่าจ้างที่เป็นธรรม โดยกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ 360 บาทเท่ากันทั้งประเทศ เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา และวางมาตรการอย่างเข้มข้นต่อการละเมิดสิทธิแรงงานปฏิรูปประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และ ให้จัดตั้งธนาคารแรงงาน ให้เป็นของผู้ใช้แรงงาน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมด้านเศรษฐกิจและสังคม สำหรับข้อเรียกร้องที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 เนื่องจากจะเป็นส่วนช่วยให้คนงานเข้าถึงสิทธิและสามารถป้องกันไม่ให้คนงานถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม และการกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมและปรับโครงสร้างค่าจ้างทุกปี โดยคำนึงถึงค่าครองชีพ ทักษะฝีมือ ให้อยู่วันละ 360 บาท

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท