สัมภาษณ์: นพ.พลเดช ปิ่นประทีป “ผมจะใช้ประโยชน์จากประชารัฐ”

จับเข่าคุย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ต้นคิด 'ประชารัฐ' คาดการณ์อนาคตมีสิทธิ์ออกทุกหน้าทั้งฟุบหรือกลายเป็นเครือข่ายใหม่ในการครอบงำประเทศ ไม่สน รธน. จะเขียนยังไง เพราะเชื่อมั่นอำนาจภาคประชาสังคมจะเติบโตแข็งแกร่งพอจะรับมือ ตั้งใจใช้ประชารัฐเป็นแค่เครื่องมือพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก

การจับมือประสานกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในนาม ‘ประชารัฐ’ กำลังถูกเฝ้าจับตาดูว่าจะกลายเป็นการประสานประโยชน์ระหว่างรัฐกับเอกชน โดยมีภาคประชาสังคมเป็นเพียงไม้ประดับหรือไม่ ประสบการณ์อันขมขื่นและการปะทะกันระหว่างรัฐ-เอกชนกับภาคประชาชนในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ไม่แปลกที่ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจจะเกิดขึ้น

ขณะที่เครือข่ายภาคประชาสังคมขนาดใหญ่อย่างเครือข่ายตระกูล ส ก็เข้าไปมีบทบาทเกื้อหนุนประชารัฐในด้านต่างๆ ประชารัฐจึงถูกมองอย่างไม่ไว้วางใจอยู่เหมือนกันจากกลุ่มพลังทางการเมืองและผู้ติดตามสถานการณ์การเมืองว่า นี่อาจเป็นการก่อตัวของเครือข่ายใหม่ที่จะเข้ามามีบทบาททางการเมืองในอนาคตและคอยควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยมีกลไกอื่นๆ ช่วยผสมโรงอย่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง

เมื่อคิดว่าใครจะตอบคำถามเหล่านี้ได้ดีที่สุด คงหนีไม่พ้น นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ผู้เป็นต้นคิดประชารัฐเมื่อสิบกว่าปีก่อน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และกำลังจะดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เขากล่าวกับประชาไทว่า การคาดการณ์ข้างต้นนั้นมีโอกาสเป็นไปได้ทุกหน้า แต่เขามองว่าประชารัฐคือโอกาสและเครื่องมือที่เขาจะใช้มันเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานรากของประเทศ

คลิป นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ตอบเรื่องการจัดการตามแนวทาง 'ประชารัฐ' ตั้งบริษัทประชารัฐรักสามัคคี 76+1 บริษัท และตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน

มีคนตั้งคำถามว่า ประชารัฐคือการนำทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของ นพ.ประเวศ วะสี ที่มีองค์ประกอบรัฐ ภาคประชาชน และภาควิชาการมาปรับใช้หรือเปล่า

นพ.พลเดช: ไม่ มันมองคนละมุม คนละเรื่อง สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาเป็นในเชิงทฤษฎีแนวคิดว่า ถ้าเราจะทำเรื่องอะไรยากๆ ต้องอาศัยอย่างน้อยสามพลังจะมีพลังที่สี่ห้าหกย่อมได้หมด แต่อย่างน้อยสามส่วนนี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญคือ หนึ่งต้องมีความรู้ แต่มีความรู้อย่างเดียวไม่พอ เพราะขาดสังคม เครือข่าย ความรู้ถ้าไม่มีการเรียนรู้ของเครือข่าย ของสังคม ก็หมดประโยชน์ ทีนี้การเรียนรู้ทำให้เกิดเครือข่าย เกิดกำลังของสังคม เป็น Soft Power ถูกไหม ตรงนี้สำคัญมีหนึ่งความรู้ สองสังคม ก็ยังไม่พอ เพราะถ้าขาดมุมที่สามคือตัวนโยบาย คือรัฐ เพราะเขาเป็นคนตัดสินใจทางนโยบาย ถ้าเขาตัดสินใจทางนโยบาย มันจะตามมาด้วยทรัพยากร ด้วยแผนงาน ด้วยกำลังคน มันถึงจะทะลุไปได้

แต่ประชารัฐเป็นการประสานพลัง การร่วมมือ การปฏิสัมพันธ์กัน แทนที่จะเป็นปฏิปักษ์ วันนี้ ถ้าใครจะเป็นปฏิปักษ์ต่อใคร ก็ตามอัธยาศัย แต่ผมจะไม่เป็นปฏิปักษ์ด้วย เพราะผมรู้ว่าเป็นปฏิปักษ์แล้วไม่ช่วยอะไรเลย แต่ผมจะปฏิสัมพันธ์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นคุณทักษิณ คุณปู หรือใครต่างๆ ผมพร้อมที่จะปฏิสัมพันธ์ด้วย เพื่อประโยชน์ของสังคม จุดของผมก็มีแค่นี้ ผมมีประสบการณ์มากขึ้นๆ  ผมเรียนรู้ว่าการจะทำงานเพื่อสังคมเป็นเรื่องใหญ่ การจะประคองตัวแล้วทำประโยชน์เต็มที่เท่าที่จะมีสถานะ โดยที่ไม่ทิ้ง โดยยังซื่อสัตย์ ซื่อตรงต่ออุดมคติของตัวเอง ผมว่าน่าจะดีกว่าไหม ตรงนี้เป็นการสรุปบทเรียนของชีวิตนะ วันนี้ใครที่รู้จักผมก็คงจะเห็นบทบาทของผมต่างๆ แต่มีวิจารณ์แบบนี้นะ ผมเปลี่ยนสีไปแล้ว เอ่อ เรารู้จักกันสั้นไปหน่อย ไม่เป็นไรไม่ว่ากันหรอก มันต้องดูกัน

เห็นความเคลื่อนไหวเรื่องกองทุนเริ่มกระจายลงไปแล้ว บ้านประชารัฐ การตั้งบริษัทประชารัฐรักสามัคคีที่จะนำร่อง 5 จังหวัด นี่คือสิ่งที่ปรากฏในสื่อ จึงอยากจะถามคุณหมอว่าขณะนี้ความคืบหน้าของโครงการประชารัฐหรือแพคเกจประชารัฐดำเนินการ ไปถึงไหน

นพ.พลเดช: ต้องแยกระหว่างแนวคิดเรื่องประชารัฐกับนโยบายประชารัฐที่เป็นแพคเกจ เพราะเรื่องแนวคิด ผมเข้าไปเกี่ยว แต่ว่านโยบายประชารัฐ ผมไม่เกี่ยว เป็นอิสระอยู่ข้างนอก ตัวเล็กๆ อย่างนี้ไม่มีโอกาสไปกำหนดนโยบายหรือตัดสินใจนโยบายกับเขาหรอก แต่ว่าแนวคิด แนวทางต่างๆ ทั้งหลายเกี่ยวกับเรื่องประชารัฐ ผมคงมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เมื่อทางฝ่ายตัดสินใจนโยบาย คือฝ่ายนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีทั้งหลาย เขาเอาตรงนี้ไปแล้วเอาไปดำเนินการอะไรของเขา เป็นแพคเกจนโยบายชุดต่างๆ ทั้งหลาย อันนี้ เราไม่มีส่วนไปตัดสินใจอะไรกับเขาเลย เป็นเรื่องของเขาล้วนๆ แต่เมื่อดำเนินการไปแล้ว อันไหนที่เขาคิดว่าเราช่วยได้ เราคงไปช่วยส่วนนั้น แต่ผมก็ต้องเฝ้ามองดู

อย่างเช่นเรื่อง E3 หรือคณะกรรมการเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ที่มีฐาปน สิริวัฒนภักดี (จากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)) ประธานฝ่ายเอกชน กับอนุพงศ์ เผ่าจินดา (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย) เป็นประธานฝ่ายรัฐ ซึ่งรวมประชาสังคมด้วย ผมเข้าไปอยู่ในนั้น ได้คุยกัน ได้เข้าประชุมกัน แลกเปลี่ยนกัน ตกผลึกออกมา กระทั่งกลายเป็นบริษัทประชารัฐรักสามัคคี 76+1 อันนี้ ผมมีส่วนเกี่ยวข้องในการช่วยกันคิด ในที่สุดแล้ว มันตกผลึกว่าอันนี้น่าจะเป็นกลไกสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก เป็นกลไกที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างเศรษฐกิจมหภาคหรือเศรษฐกิจขนาดใหญ่กับเศรษฐกิจของชุมชน ที่ผ่านมามันไม่มีตัวเชื่อมกลไกประชารัฐจังหวัดจึงจัดตั้งเป็นบริษัท จดกับกระทรวงพาณิชย์ เพียงแต่ว่าวัตถุประสงค์การจัดตั้งบริษัท ไม่เอากำไรกลับคืน ไม่มีการปันผล ใครจะเข้ามาร่วมด้วยก็ต้องรับหลักการนี้ บริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดกับระดับชาติ คอนเซปต์อันเดียวกันคือร่วมลงทุนเหมือนบริจาค พอบริจาคปุ๊บ ธุรกิจใหญ่ที่เขาพร้อมก็บริจาคทุนมาก่อน แต่เขาไม่ได้เป็นเจ้าของคนเดียวนะ เขาก็ออกแบบ คนเข้ามาถือหุ้นได้ แต่ต้องรู้ก่อนว่าไม่มีปันผล

“มันตกผลึกว่าอันนี้น่าจะเป็นกลไกสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก เป็นกลไกที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างเศรษฐกิจมหภาคหรือเศรษฐกิจขนาดใหญ่กับเศรษฐกิจของชุมชน ที่ผ่านมามันไม่มีตัวเชื่อมกลไกประชารัฐจังหวัดจึงจัดตั้งเป็นบริษัท”

ทำเพื่อเป็นตัวเชื่อมทำให้เศรษฐกิจข้างล่างเหมือนเป็นการมาทำบุญมากกว่า นั่นข้อที่ 1 ข้อที่ 2 การที่คุณจะเข้ามาถือหุ้นมากหรือน้อยก็ไม่ได้มีสิทธิในการโหวตมากกว่าคนอื่น เขาจะล็อคไว้เป็น 5 กลุ่ม ธุรกิจเป็นหนึ่งในนั้น 1 กลุ่มจะไม่เกิน 20 โหวต เพราะฉะนั้นวิธีการโหวตแบบนี้ ไม่ใช่ว่าใครจะเสียงดังเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง ไม่ต้องรักษาอยู่แล้วเพราะไม่มีการปันผลและไม่สามารถครอบงำการโหวตได้ กว่าจะออกมารูปแบบนี้มีการปรับกันหลายรอบ บริษัทประชารัฐรักสามัคคีจะไม่ทำธุรกิจ จะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาทางธุรกิจ ไม่ทำธุรกิจเองเพราะบริษัทยักษ์ใหญ่จากส่วนกลางกับท้องถิ่นเป็นอริกัน เช่นค้าปลีกกับเซ็นทรัลสู้กันในสมรภูมิอยู่แล้ว บริษัทประชารัฐรักสามัคคีเกิดขึ้นจากทุนใหญ่ทำหน้าที่แค่เป็นที่ปรึกษาธุรกิจชุมชน OTOP ท่องเที่ยวต่างๆ อะไรที่เป็นจุดแข็ง อะไรที่ทำอยู่ บริษัทประชารัฐรักสามัคคีจะไปให้คำปรึกษา รูปแบบนี้คือไม่ได้เป็นการแย่ง แต่เป็นการหนุนเสริมเทคโนโลยี ความรู้ ให้คำแนะนำ

เรื่องทุน บริษัทประชารัฐจังหวัดจะพาเขาไปพบ ธกส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) ไปอบรมทางธุรกิจ เป็นโค้ช แต่การตัดสินใจที่จะให้กู้หรือไม่ขึ้นอยู่กับเขา ขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ที่เสนอกับธนาคารมันโอเคไหม ถ้าได้ หลังจากนี้คุณกับธนาคารก็ดีลกันเองแล้วนะ เป็นเทคนิคที่ทางภาคธุรกิจเข้าไปช่วย แรกๆ ภาคธุรกิจท้องถิ่นเขาก็ไม่เอา เพราะกลัว เพราะสู้กันมาตลอด กลัวฮุบ พอเข้าใจกันอย่างนี้ปุ๊บ มันก็คลายลงไป

บริษัทประชารัฐจังหวัด ผมคิดว่าไม่ทันถึงสิ้นปี ตามแผนคงจะครบทุกจังหวัด มีทุนสองส่วน ส่วนหนึ่งก็เป็นของทุนบริษัทจากส่วนกลางลงขันร่วมด้วย อย่างฐาปนก็ลง เมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็ประชุมบริษัทต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ พวกเพื่อนฝูงเขา นักธุรกิจระดับบน มีการชี้แจง เอาลิสท์มาเลย 76 จังหวัดว่าใครจะไปจังหวัดไหน ขันอาสาไปจังหวัดนั้น เอสซีจีขอสามจังหวัดที่มีฐานโรงปูน ปตท. ขอระยอง ตัวแทนเซ็นทรัลยกมือถามว่ามีลิมิตไหมว่าหนึ่งบริษัทควรลงไปไม่เกินกี่จังหวัด ฐาปนเขาก็ตอบทันที คือ 76 จังหวัด บริษัทใหญ่ๆ ทั้งหลายควรจะลงไป ไม่ควรจะผูกขาดจังหวัดใดเป็นของใคร มันควรจะผสม บาลานซ์กัน ในภาพรวมของจังหวัดต่างๆ จะมีบริษัทระดับจังหวัดเกิดขึ้น จะมีบริษัทตรงกลาง จดทะเบียนเมื่อวันที่ 29 เมษายน ฐาปนเขาก็ลงก่อน 99.6 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 0.4 เขาก็เอาซีพี เอาบริษัทต่างๆ ลงไปก่อน แต่นี่คือจุดเริ่มต้น ต่อมาก็จะมีการขายหุ้นจากคุณฐาปนออกไป หลักการคือหุ้นส่วนกลาง บริษัทจังหวัดทั้งหลายมาลงหุ้นจังหวัดละ 1 ล้าน เช่นผมทำงานกับบริษัทที่พิษณุโลก ทุนจดทะเบียน 6-7 ล้าน ผมก็ทำงานเป็นที่ปรึกษา ไม่ได้ไปทำกิจการ ไม่แข่งกับชุมชน ได้รายได้จากค่าปรึกษา ยังไม่ได้คิดรายละเอียด แต่ต้องสัมพันธ์กับบริษัทลูก

ถ้าเป็นที่พิษณุโลก ผมมีธุรกิจชุมชน 25 กลุ่ม ผมก็ไปให้คำแนะนำ แล้วเขามีผลิตภัณท์ ทำห้ขายได้มากขึ้น จาก 100 ชิ้นต่อเดือน เป็น 5,000 ชิ้นต่อเดือน ส่วนนี้ก็จะตกลงกัน รายได้ที่จะตอบแทนบริษัทจะเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของยอดขาย ซึ่งผมว่ามันก็แฟร์ตามระบบธุรกิจ ไปได้มั้ยไม่มีใครการันตี รายได้มาจากผลประกอบการของธุรกิจที่รับปรึกษา บริษัทมีรายจ่ายทุกเดือนตั้งแต่เริ่มต้น มันสู้ได้แค่ไหน ก็เป็นคำถามที่ถามในที่ประชุม ได้คำตอบว่าสู้แค่หมดสายป่าน แต่ละจังหวัดต้องช่วยในการดูแลกันเอง

การเป็นกรรมการก็ขึ้นอยู่กับพวกเขาเลือก จิตอาสาหมด กรรมการทั้งหลายไม่มีค่าตอบแทน แต่พนักงานผู้จัดการมีเงินเดือน แล้วพยายามเอาคนในพื้นที่เป็นผู้จัดการ ผมยกตัวอย่างเชียงใหม่ เดโช ไชยทัพ ทำเรื่องสิ่งแวดล้อม มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เดโชเข้าไปร่วมตรงนั้น ถูกวางตัวเป็นผู้จัดการ ลองถามดูก็ได้ว่าเป็นบรรยากาศแบบไหน อย่างที่เพชรบุรี สุรินทร์ พิกุลทอง ซึ่งเป็นคนเมืองเพชรมาเป็นผู้จัดการ แต่ถามว่าทั้งเดโช ทั้งสุรินทร์ลงหุ้นด้วยหรือเปล่า ผมว่าเผลอๆ ไม่ได้ลง แต่คณะกรรมการตรงนั้นเขาเลือกเป็นผู้จัดการ เพราะเขาดูแลเป็นตัวประสาน แต่มีค่าใช้จ่าย

เราจะไว้ใจทุนได้อย่างไร ที่ผ่านมาเรามีคำถามกับทุนสามานย์-ทุนน้ำดีมาโดยตลอด ภาคธุรกิจคงไม่ทำอะไรโดยไม่มองเรื่องผลกำไรในอนาคต

นพ.พลเดช: ไว้ใจหรือไม่ไว้ใจก็ตามอัธยาศัย ไม่มีใครไปบังคับให้ใครมาไว้ใจใคร และไม่มีใครการันตีใครได้ ถ้าเรามีประวัติที่ขมขื่นกับภาคทุน มันก็เป็นกรรมของทั้งสองฝ่าย ใครทำกรรมแบบไหนมาก็ต้องรับกรรมแบบนั้นไป จะให้ใครมาฟอกให้ใครไม่ได้หรอก อย่างซีพีคุณทำอะไร การมาช่วยอย่างนี้ มันไม่ฟอกคุณนะ ไม่มีใครเขาเชื่อใจคุณ มันเป็นเรื่องกรรมเก่า ใครทำอะไรก็รับไป ก็ค่อยๆ พิสูจน์ตัวเอง ที่ถามว่าจะไว้ใจได้อย่างไร มันไม่มีใครมาการันตีให้ใครต้องไว้ใจใคร หรือไม่ไว้ใจใคร มันอยู่ที่ใจ ต้องถามใจตัวเราเอง หมายถึงพวกชุมชนก็เหมือนกัน ต้องถามใจตัวเองว่าจะไว้ใจมั้ยและคุณจะมาร่วมมั้ย ถ้าคุณยังไม่ไว้ใจ ก็อย่าเพิ่งมาร่วม ถ้าคุณว่ามันเป็นโอกาส คุณจะได้ประโยชน์ คุณก็ลองดู เสี่ยงมาก เสี่ยงน้อย จะเข้ามาลึก เข้ามาตื้น ก็แล้วแต่คุณ เป็นเรื่องของอิสระเสรี

การไว้ใจอาจจะเป็นเรื่องที่จับต้องยาก แต่ถ้าในมุมธรรมาภิบาล การตรวจสอบ ประชารัฐมีการวางระบบตรวจสอบอย่างไร

นพ.พลเดช: ต้องเริ่มที่การออกแบบเลยนะ การออกแบบบริษัทประชารัฐทั้งในระดับจังหวัดและระดับข้างบน 76+1 เขาใช้หลักบรรษัทภิบาลเป็นสแตนดาร์ดของทางตลาดหลักทรัพย์ แต่ว่าเหนือกว่านั้น มาตรฐานจะเข้มกว่า รายละเอียดเป็นยังไงต้องไปถามดู มันเริ่มต้นจากการออกแบบ ทำไมถึงออกแบบว่า คนที่ถือหุ้นมาก หุ้นน้อย แล้วคุณอยู่คนละส่วน คุณครอบงำกันไม่ได้ อันนี้เป็นการออกแบบเรื่องธรรมาภิบาลตั้งแต่ต้นแล้ว ที่จะควบคุมดูแลกันเอง สองคือไม่มีปันผล และทั้งหมดนี้ข้อมูลมันจะต้องโปร่งใส หลีกเลี่ยงการทำมาค้าขายเอง มีแต่ไปหนุนเสริม งานของเขาคือการให้คำปรึกษาทางด้านการตลาด แปรรูป ขนส่ง สต็อก แพ็คเกจจิ้ง โลจิสติคต่างๆ ไม่ไปทำธุรกิจเด็ดขาด พอออกแบบและวางจุดยืนอย่างนี้ มันก็ป้องกันได้ในระดับหนึ่ง

สื่อมวลชนบางรายประเมินว่า ถ้าตรงไหนมันเวิร์ค บริษัทใหญ่อาจจะเข้าไปเทคโอเวอร์เป็นของตน

นพ.พลเดช: ผมบอกว่าเป็นไปได้ สมมติว่าผมเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ ผมเห็นงานแบบนี้เป็นโอกาสของผม ถ้าผมเป็นเซ็นทรัล เห็นรูปแบบนี้ ผมสามารถเข้าไปสมัครสมานมสามัคคีได้ทุกจังหวัดเลย และทำตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งของซีเอสอาร์ของผม ไม่มีใครที่มาแล้วจะไม่ได้อะไรเลย มันมีอยู่แล้ว แต่ว่าเขาจะไม่ทื่อๆ โต้งๆ ด้วยกรรมเก่าที่เขามีอยู่ ผมว่าวันนี้ภาคชุมชน ภาคประชาสังคมรู้เท่าทันหมด รู้ว่ากำลังจะไปอยู่บนโต๊ะกับใคร ผมค่อนข้างมั่นใจเครือข่ายภาคประชาชน สื่อก็มีสิทธิ์ที่จะคิดอย่างนั้น ผมว่าไม่แปลก ดีด้วยซ้ำ ที่มีคนติติง เหมือนช่วยกันตรวจสอบ เพราะว่าบางทีพวกภาคประชาสังคมชุมชนที่อยู่ในแต่ละจังหวัดกำลังปะมือกับพวกธุรกิจ แต่มีพวกอิสระที่คอยเป็นหมาเฝ้าบ้าน มันก็ยิ่งดี มันช่วยพวกเราที่กำลังอยู่ในสนาม ผมไม่ได้ตำหนิอะไร ผมว่าเป็นเรื่องดีที่ทุกคนห่วงใย

“เอาลิสท์มาเลย 76 จังหวัดว่าใครจะไปจังหวัดไหน ขันอาสาไปจังหวัดนั้น เอสซีจีขอสามจังหวัดที่มีฐานโรงปูน ปตท. ขอระยอง ตัวแทนเซ็นทรัลยกมือถามว่ามีลิมิตไหมว่าหนึ่งบริษัทควรลงไปไม่เกินกี่จังหวัด ฐาปนเขาก็ตอบทันที คือ 76 จังหวัด บริษัทใหญ่ๆ ทั้งหลายควรจะลงไป ไม่ควรจะผูกขาดจังหวัดใดเป็นของใคร”

ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่มีการพูดถึงกันมากก่อนหน้านี้ ตอนที่เริ่มตั้งคณะกรรมการ 12 ชุดปรากฏว่าคณะกรรมการที่เข้าไปนั่งเป็นตัวแทนของภาคธุรกิจใหญ่ทั้งหมด จนเกิดการท้วงติงว่าเป็นประชารัฐ แต่ไม่มีภาคประชาชนเลย

นพ.พลเดช: ผมก็พอเข้าใจเขานะว่ามันเกิดขึ้นจากการที่พวกกลุ่มธุรกิจ ซึ่งจริงๆ แต่ไหนแต่ไรมา ในทุกรัฐบาลกลุ่มธุรกิจพวกนี้ก็เข้าถึงกันตลอด แต่ในโอกาสนั้น 24 บริษัทยักษ์ใหญ่เข้าไปคุยกับนายกฯ กับรองนายกสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ พร้อมกัน พอมีแนวคิดเรื่องประชารัฐ ทั้งนายกฯ ทั้งสมคิดเขาพูดเรื่องนี้ บริษัทพวกนี้ก็ขานรับ ก็อยากจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล แต่ตอนนั้นเขาจะตั้งคณะทำงานของภาคธุรกิจที่จะไปสนับสนุนนโยบายประชารัฐของรัฐบาล จึงเป็นที่มาของ 12 คณะที่เต็มไปด้วยธุรกิจกับราชการ เพราะวันนั้นไม่มีภาคประชาสังคมไปอยู่ด้วย คณะอื่นเป็นเรื่องการพัฒนา เรื่องอุตสาหกรรม เรื่องเกษตรขนาดใหญ่ เลยไม่ได้มีตัวแทนของภาคประชาสังคมเข้าไป

แต่ก็มี E3 เรื่องของงานฐานรากเศรษฐกิจประชารัฐ เศรษฐกิจฐานล่าง ในบรรดาทั้งหมด คุณอนุพงษ์ประเมินเองว่า E3 แอคทีฟที่สุด มีเนื้องานออกมาเป็นรูปธรรมมากที่สุด คณะอื่นๆ ยังเป็นวุ้นอยู่เลย มีแต่ไอเดีย ยังลงไม่ถึงการปฏิบัติ แต่ E3 คิดรูปธรรมชัด คุยกันประมาณ 6-7 รอบก่อนที่จะตกผลึกมาเป็นบริษัทประชารัฐ ผมนั่งอยู่ในนั้น เรามองในด้านของชาวบ้าน ของประชาสังคม เราไม่เข้าใจเรื่องธุรกิจอะไรมาก แต่พอลงมาที่บริษัทประชารัฐจังหวัด ผมมองไปอีกช็อตว่า เอาเข้าจริงๆ ทำให้ดีๆ มันจะกลายเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ที่สามารถมานำราชการได้ ผมมองมุมอย่างนั้น ซึ่งผมจะฝันไปหรือเปล่า มันเป็นเรื่องของผม ถูกไหม

สสส. และ สช. ก็ทำงานชุมชนและสร้างเครือข่ายกันมานาน คำถามคือเมื่อรัฐกับทุนในนามประชารัฐลงไปในสภาวะที่เรียกว่าการเมืองเป็นเช่นนี้ การกระจายอำนาจถูกแช่แข็ง ชุมชนแข็งแรงพอจะรับมือหรือไม่ แล้ว สสส. กับ สช. กังวลหรือเปล่า สิ่งที่ทำมาทั้งหมดอาจจะฟุบลงไป

นพ.พลเดช: ไม่กลัวหรอก ยิ่งจะแข็งแรงขึ้น เพราะคิดว่าตรงนี้เป็นจุดสำคัญในการขับเคลื่อน ในเชิงยุทธศาสตร์ ขอโทษนะ อันนี้อาจเห็นแตกต่าง สื่อบางคนอาจจะมองยุทธศาสตร์แบบนี้ต่างกับผม แล้วผมผิดตรงไหนถ้าผมมีความคิด ความเชื่ออย่างนี้ ผมซื่อสัตย์ต่อตัวผมเอง แล้วผมเป็นอิสระ ผมไปอยู่ตรงนั้น ผมไม่ได้ผลประโยชน์จากใคร แล้วผมคิดว่าวิธีนี้เป็นการขับเคลื่อนภาคประชาสังคมไปข้างหน้า โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าตอนนี้พลังของอำนาจรัฐในการแก้ไขจัดการปัญหา มันตกต่ำลงทุกวันๆ วันนี้อำนาจของรัฐ ซึ่งเป็น Hard Power ศักยภาพในการแก้ไขมีประสิทธิภาพน้อยลงๆ ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่เป็นทั้งโลก ภาคประชาชนที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินมาตลอดค่อยๆ เติบโตขึ้นทั้งเหลือง ทั้งแดง และอะไรต่างๆ ผมว่าต้องมองภาคประชาชนโดยรวม มันมีทั้งตัวแสบ ทั้งตัวประสานงาน มันกลมกล่อมอยู่ในภาคประชาชน พลังอำนาจที่เป็น Soft Power เริ่มปีนขึ้นมา วันนี้กราฟสองเส้นมันกำลังจะตัดกัน ผมประเมินว่าจะตัดกันภายในประมาน 4-5 ปีนี้ ผมอาจจะมองตรงนี้ไม่เหมือนกับใครก็ได้ ผมก็ทำงานมาอย่างนี้ ผมจึงมีวิธีคิดและวิธีการประเมินของตัวผมเอง ตอนนี้ผมคิดว่ามันฝืนกระแสโลกไม่ได้หรอก วันนี้ผมไม่สนใจเลยและก็ไม่ห่วงด้วยว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญอย่างไร จะผ่านหรือไม่ผ่าน ผมไม่ได้สนใจเลย เพราะผมเชื่อมั่นว่าไม่ว่ามันจะเป็นยังไงก็ตาม ขบวนของประชาชนที่เริ่มค่อยๆ แข็งแรงขึ้น Soft Power ที่ค่อยๆ ปีนขึ้นมา หยุดไม่อยู่แล้ว พูดถึงการรวมศูนย์อำนาจ โห พูดกันซะน่ากลัวแต่ผมไม่เห็นกลัวด้วยเลย รวมก็รวมไปเถอะ

“ไม่มีใครที่มาแล้วจะไม่ได้อะไรเลย มันมีอยู่แล้ว แต่ว่าเขาจะไม่ทื่อๆ โต้งๆ ด้วยกรรมเก่าที่เขามีอยู่ ผมว่าวันนี้ภาคชุมชน ภาคประชาสังคมรู้เท่าทันหมด รู้ว่ากำลังจะไปอยู่บนโต๊ะกับใคร ผมค่อนข้างมั่นใจเครือข่ายภาคประชาชน”

แล้ววันนี้คุณไม่ให้พูดเรื่องกระจายอำนาจ ไม่พูดก็ไม่พูด ไม่เห็นเป็นไร เพราะคุณฝืนเรื่องการกระจายอำนาจให้เกิดการจัดการของชุมชนท้องถิ่น คุณฝืนไม่ได้หรอก เขียนในรัฐธรรมนูญหรือไม่เขียน มันก็ฝืนไม่ได้ เพราะอะไร เพราะตั้งแต่ปี 40 มา 20 ปีมานี้เรื่องเหล่านี้ เรื่องประชาธิปไตย เรื่องการจัดการตนเอง เรื่องการกระจายอำนาจ มันอยู่ในจิตสำนึกของสังคมไทยแล้ว เกินกว่าที่คุณจะฝืน แล้วคุณจะเขียนรัฐธรรมนูญมา คุณจะเปลี่ยนอันนี้ ไม่มีทาง มันจะช้าไปบ้างก็เท่านั้น ผมมองอย่างนี้นะ เพราะอย่างนี้ผมจึงมองข้ามหลายๆ เรื่องที่ควรกังวล ซึ่งไม่รู้ ผมเป็นนักปฏิบัติ ไม่ใช่นักทฤษฎี จะให้ผมเถียงยังไงกับใคร ผมแพ้หมด ผมเถียงไม่เป็น ผมไม่เก่ง

มีข้อสังเกต คุณบอกว่า Hard Power ของภาครัฐกำลังลดลง ขณะที่ Soft Power ของประชาชนกำลังเพิ่มขึ้น แต่อำนาจของภาคธุรกิจก็เพิ่มขึ้นๆ เหมือนกัน สุดท้าย อำนาจของภาคประชาชนกับภาคธุรกิจจะไปปะทะกันตรงไหน

นพ.พลเดช: ที่ผ่านมา ระบบของเราเป็นระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี ตรงนี้เราแก้ได้ไหม เรากำหนดได้ไหม ไม่ได้ เมื่อมันเป็นทุนนิยมแบบนี้ แล้วก็เป็นทุนนิยมเสรีที่ออกจะสุดโต่ง ไร้การควบคุม คำถามคือแล้วเราไปบล็อกรัฐกับทุนได้ไหม ไม่เคยบล็อกได้เลยนะ มันก็ควรมีเรื่องให้ควรรังเกียจรัฐ รังเกียจทุนอยู่ แต่ว่าในที่สุดแล้วเราปฏิเสธมันไม่ได้ ต้องอยู่ด้วยกัน ตึกระฟ้าต่างๆ ในกรุงเทพ ตามจังหวัดต่างๆ ทั้งหลาย มันไม่ได้เกิดขึ้นจากเม็ดเงินของรัฐ ภาคธุรกิจเขาก็มีคุณูปการของเขาใช่ไหม แต่ธรรมชาติของเขามันไม่เหมือนเรา ก็คือว่าเขาก็ต้องมีกำไร แสวงกำไร Maximize Profit มันก็เป็นธรรมชาติของเขา ไอ้เราเอาผลประโยชน์ของสังคม มันก็เป็นธรรมชาติของเรา แต่มันต้องอยู่ร่วมกัน

ประเด็นจึงมาถึงจุดที่ว่า คือทุน รัฐ และสังคม การมาร่วมกันทำงานในลักษณะประชารัฐ คือการเปิดโอกาสให้ใช้สิ่งที่เรียกว่าความเป็นปฏิสัมพันธ์กัน เรียนรู้ ปรับตัว ทุกคนก็ปรับตัวของตัวเอง ใครปรับได้มากได้น้อย ใครสร้างกรรมไม่ดีต่างๆ ทั้งหลายก็รับกรรมกันไป อันนี้ไม่มีใครช่วยใครได้ แต่การที่มารวมกัน มีปฏิสัมพันธ์กันแบบนี้ ผมเชื่อมั่นในกระบวนการนี้ว่าการที่ธุรกิจ ประชาสังคม ราชการมาอยู่ในวงนี้ มีโจทย์ที่ชัดเจน เรื่องเศรษฐกิจ เป็นลักษณะไปให้คำปรึกษาแบบนี้ ผมเชื่อว่าจะมีกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และปรับตัวซึ่งกันและกัน

ในกระบวนการนี้ พวกผมสรุปว่าเป็น Transformative Learning อาจารย์ประเวศ วะสี จะเรียกว่าเป็น Interactive Learning Through Action เป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติร่วมกัน ณ ชายขอบของความจริง ณ ตัวอย่างของจริง ปัญหาจริง มันจะนำมาสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รู้ว่าคนอื่นคิดเหมือน คิดไม่เหมือนอย่างไร แล้วในที่สุดก็จะระวังตัวในการอยู่ร่วมกันให้ได้ ผมเชื่อในกระบวนการนี้นะ ถ้าใครไม่เชื่อก็ไม่ต้องมาเถียงกันหรอก ก็จงเชื่อไปตามนั้น แต่ผมเชื่อแบบนี้เพราะผมทดลองจากการทำงานมาตลอด ผมทำงานในลักษณะนี้มาตลอด ผมคิดว่าประบวนการที่เราทำงานมา ทั้งในระดับชุมชนฐานราก ทำงานกับองค์กรปกครองท้องถิ่น กับหน่วยราชการ กับทหาร กับนักการเมือง ผมเห็นการปรับและการเรียนรู้ ผมก็เปลี่ยนตัวเอง เมื่อได้มีปฏิสัมพันธ์กับพวกเขา เขาก็เปลี่ยนตัวเอง เมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับผม คนละนิดคนละหน่อย ได้ประโยชน์คนละนิดละหน่อย

คุณมีบทบาทในองค์กรตระกูล ส และก็กำลังจะไปเป็นเลขาธิการสำนักงานสาธารณสุขแห่งชาติ (สช.) ซึ่งมีเครือข่ายทั่วประเทศ ประชารัฐก็นำงบของ สสส. ไปใช้ องค์กรตระกูล ส จะเข้าไปมีที่ทาง บทบาท และใช้เครือข่ายของตนอย่างไรในประชารัฐ

นพ.พลเดช: ตระกูล ส ถ้าเข้าใจบทบาทตรงนี้แล้วรู้จักใช้ประโยชน์ ตระกูล ส จะได้เต็มๆ ได้ยังไง ก็คือต้องมองว่าขบวนประชารัฐเหมือนรถไฟ ถ้าคุณไม่กระโดดขึ้นรถไฟ ไม่มีใครว่า แต่ถ้าคุณใช้เป็นโอกาสในการทำงาน หมายความว่าคุณสามารถเอื้อมมือไปถึงเครือข่าย สสส. มีเงินตั้งเยอะแยะ ปีหนึ่งสี่พันล้าน ห้าพันล้าน อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัว ใครจะเห็นอย่างนี้แล้วใช้ประโยชน์ ไม่เห็นประโยชน์ก็ไม่มีใครว่า ถ้าเห็นประโยชน์และเข้าไปใช้ได้ประโยชน์ก็น่าอนุโมทนาด้วย แต่แล้วแต่วิสัยทัศน์ ประสบการณ์ของตัวผู้บริหาร ซึ่งผมไม่รู้ว่าองค์กรไหนจะเป็นยังไง แต่เท่าที่ผมดู สสส. โดนมาแล้ว เขาก็อยู่ในระหว่างการปรับตัว

“วันนี้ผมไม่สนใจเลยและก็ไม่ห่วงด้วยว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญอย่างไร จะผ่านหรือไม่ผ่าน ผมไม่ได้สนใจเลย เพราะผมเชื่อมั่นว่าไม่ว่ามันจะเป็นยังไงก็ตาม ขบวนของประชาชนที่เริ่มค่อยๆ แข็งแรงขึ้น Soft Power ที่ค่อยๆ ปีนขึ้นมา หยุดไม่อยู่แล้ว”

กลับมาที่ สช . ผมคิดว่า ผมต้องใช้อยู่แล้ว ผมไม่ใช้ได้ยังไง ผมต้องใช้ให้คุ้มค่าที่สุด ผมคุยกับเครือข่ายทั้งหลายว่า ใครพร้อมไม่พร้อมอย่างไร อันนี้เป็นไปตามอัธยาศัย หมายถึงพื้นที่ไหน จังหวัดไหนจะร่วมหรือไม่ร่วมไม่ว่ากัน แต่สำหรับ สช. เองที่เป็นตรงกลาง เราคิดว่าเรื่องของประชารัฐเป็นเพียงโอกาส ไอเดียประชารัฐมันเกิดขึ้นโดยเป็นอุบัติเหตุ ตั้งแต่ปี 2544 ตอนที่กองทุนหมู่บ้านมันไล่ต้อนกันระหว่างที่นั่งสองฟาก ผมอยู่ทางเอ็นจีโอ แต่ผมอยู่ตรงหัวแถว ฝั่งนี้ก็มีพี่ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรมมีใครต่างๆ ฝั่งนู้นก็มีพวกมหาดไทย มีกระทรวงต่างๆ เถียงกัน ไล่ต้อนกัน บรรยากาศแย่มาก ผมเลยบอกว่า จริงๆ แล้วทุกคนก็มีข้อดีและมีจุดอ่อนด้วยกันทั้งนั้น ทำไมไม่เอาจุดแข็งของแต่ละส่วนมาผนึกกำลังกัน ผมจะเรียกประชารัฐได้มั้ย พอผมหลุดพูดคำว่าประชารัฐมา บรรยากาศในที่ประชุมมันคลายตัวหมดเลย มันเกิดขึ้นโดยบังเอิญ ผมจะหาทางออกในสถานการณ์ต่อหน้า แล้วมันก็หายไป ผมจึงมองว่าประชารัฐมันแค่ชั่วคราว เป็นหน้าต่างโอกาสที่เปิดแว่บขึ้นมาแล้วก็หายไป ไม่จีรังยั่งยืนอะไรหรอก แต่คุณจะใช้ประโยชน์จากมันไหม จะใช้อย่างไร มีสติในการจะเข้าไปใช้หรือเปล่า ก็แค่นั้นแหละ

ผู้เล่นที่หายไปเลยจากเรื่องประชารัฐคือฝ่ายการเมือง นักการเมืองหายไปเลยจากสมาการนี้ ต้องยอมรับว่านักการเมืองหรือพรรคการเมือง คือกลุ่มผลประโยชน์ใหญ่ที่มีผลต่อสังคมสูง ภาคการเมืองหายไปไหน ทำไมไม่อยู่ในประชารัฐด้วยหรือว่ารังเกียจการเมือง

นพ.พลเดช: รังเกียจก็อาจจะรังเกียจส่วนหนึ่ง อันนี้คือคำถามผมส่วนตัวนะ แต่จะไปใช้กับคนอื่นคงไม่ได้ แต่ตัวผมเองผมยอมรับว่าบ้านเมืองต้องมีนักการเมือง มีตัวแทน แต่ที่ไม่มีเพราะมันไม่ใช่เวลา ถ้าสมมติว่าคุณทำอะไร แล้วเอาทุกอาชีพมาทั้งหมดเลยคงไม่ได้ มันต้องมียุทธศาสตร์ มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัด นักการเมืองมีข้อจำกัดของเขาคือ เขาจะต้องมีความเป็นพวก มีคู่ต่อสู้ (มีคะแนนเสียง?) ถูก ถ้าผมไปเอานายกเทศมนตรีคนนี้แล้วสมัยหน้าเขาจะเป็นหรือเปล่า แล้วคู่แข่งของเขาจะมองเรายังไง เพราะฉะนั้นจง เอาไว้ข้างนอกเถอะ ทั้งระดับชาติ ระดับตรงนี้ ไว้ข้างนอกก่อน แต่ราชการยังพอไหว ภาคราชการเหมือนเป็นตัวแทนอำนาจรัฐ แต่นักการเมืองต้องเอาไว้ก่อน ซึ่งราชการเขาก็พูดกันเองว่าอย่างนั้นนะว่านักการเมืองเอาไว้ก่อน เขาขอ ในบริษัทที่เราจดทะเบียนแล้วตั้งกรรมการทั้งหลายจะไม่มีนักการเมือง แต่ถามว่าเขารู้กันไหม ในจังหวัดเขารู้กันนะว่าใครเป็นนักการเมือง เขาก็จะมีมารยาทที่จะบอกกันเอง ไม่มีปัญหาหรอก

แล้วนักการเมือง พรรคใหญ่ๆ ระดับประเทศ ควรจะมีบทบาทเมื่อไหร่

นพ.พลเดช: เมื่อเขามาเป็นผู้แทนหรือว่าเป็นรัฐบาล คุณเล่นตรงนั้นได้เต็มที่เลย คือคุณสนับสนุนทางนโยบาย คุณอย่ามาลงปฏิบัตินะ คุณสนับสนุนทางนโยบายโดยที่ไม่มีอะไรเข้ามาแอบแฝง สนับสนุนทางนโยบายหมายความว่าออกกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับที่เกื้อหนุนสิ ทำแผนงานโครงการที่สนับสนุนขับเคลื่อนแบบนี้สิ นี่คือการสนับสนุนทางนโยบาย ทางงบประมาณ ทางการบริหารจัดการแบบนี้เท่านั้น เมื่อคุณเป็นนักการเมือง คุณรอบทบาทที่คุณมีอำนาจตรงนั้นแล้วคุณมาหนุนแบบนี้พอ ไม่ต้องมาร่วมปฏิบัติการ แต่ว่าไม่รังเกียจหรอก
 

แต่ประชารัฐ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ทั้งสามองค์ประกอบจะเป็นตัวควบคุม ครอบงำ การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่กำลังจะมาใหม่หรือเปล่า

นพ.พลเดช: เช่นเดียวกันกับเรื่องธุรกิจตะกี้ ไม่มีใครการันตีได้ว่าเขาจะไม่หวังประโยชน์ระยาว เราไม่รู้ในใจเขา แต่เราพยายามสร้างกติกาเพื่อป้องกัน ถ่วงดุล ตรวจสอบ รัฐบาลชุดปัจจุบันก็ต้องถือว่าเป็นนักการเมืองแล้ว วันนี้เขาอาจจะคิดอะไรอยู่ในใจว่าเมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว เขาจะหายไปเลย เดินเขาถ้ำไปเลย หรือว่าเขายังอยู่ข้างหลัง หรือเขาจะมาเล่นข้างหน้าเต็มตัว มีความไปได้หมด ภาคประชาสังคมแบบเรา รู้หรือไม่รู้ พูดไม่พูด ก็เข้าใจ ก็อ่านออกเหมือนกันแหละ พวกนักการเมืองปัจจุบันเขาอาจจะได้ประโยชน์จากประชารัฐ เพราะฉะนั้นผมจึงซักซ้อมกับพวกพี่น้องเครือข่ายทั้งหลาย ทั้งชุมชน ทั้งท้องถิ่น ทั้งประชาสังคมทุกจังหวัด ผมบอกว่ามันเป็นแค่โอกาส เราจะใช้ประโยชน์มันมั้ย ถ้าเห็นประโยชน์ก็ใช้ ใช้อย่างมีสติ แล้วคอยดูนะ อันนี้ไม่ยั่งยืนหรอก มันมาชั่วคราว แล้วก็ตรงช่วงเปลี่ยนผ่านประเทศจะมีคนใช้ประโยชน์จากตรงนี้แน่ ไม่ใช่ธุรกิจหรอก ตรงนี้เราไม่รู้ เราไม่รู้ว่าสูตรของเขาคืออะไร เพราะฉะนั้นตัวผมเองไม่ได้ทุ่มตัวสุด อินสุดๆ ปกป้องสุดๆ แต่จะใช้ประโยชน์จากประชารัฐเท่านั้นเอง (หัวเราะ)

คุณอ่านเหมือนกันว่าสุดท้ายแล้วรัฐบาลทหารชุดนี้ ก็อาจจะใช้ประชารัฐ ยุทธศาสตร์ชาติ วุฒิสภาในการครอบงำรัฐบาลในอนาคต

นพ.พลเดช: ก็เป็นไปได้

แต่ว่าคุณแค่จะใช้ประชารัฐเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนฐานรากเท่านั้น

นพ.พลเดช: ผมสร้างความแข็งแกร่งข้างล่าง เพราะผมอ่านสถานการณ์ของ Hard Power มันกำลังลง ผมจะพยายามทำทุกอย่างให้ Soft Power ทะยานขึ้นมาให้ได้เร็วที่สุด ไปให้ไกลที่สุด

สมมติว่าโมเดลประชารัฐเกิดประสบความสำเร็จ มีการคาดการณ์ว่าหรือนี่คือการสร้างโมเดลอีกแบบหนึ่งของฝ่ายอิลีทที่จะสานคนระดับบนและล่างเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างเครือข่ายใหม่ที่จะครอบงำประเทศ

นพ.พลเดช: ก็มีสิทธิคิดอย่างนั้น ผมว่ามีโอกาสเป็นไปได้ เพราะตอนนี้เราไม่รู้ในใจลึกๆ ของใคร เรามองรัฐบาลทหารก็ไม่ได้เป็นเอกภาพไปหมด พลเอกประยุทธ์ก็คอยบาลานซ์ ผมก็ไม่ได้มองว่าเขาเป็นเอกภาพกันทั้งหมด เพราะฉะนั้นจะให้ผมกลัว ผมก็ไม่กลัวหรอก แต่ว่าเราเคารพนับถือกัน ก็ไม่ว่ากัน เขาคิดอะไรเราไม่อาจล่วงรู้ได้ อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางระบวนการทำงานด้วยกัน มีปฏิสัมพันธ์กัน ผมคิดว่าความเชื่อถือ ไว้วางใจ และเคารพต่อกันมันคงเป็นคุ้มกันให้สถานการณ์ข้างหน้า

“สช. 4 ปีผมจะทำตรงนี้ ทำ 2 อันล่างคือเรื่องจิตสำนึก วิธีคิด ส่วนเรื่องกฎหมายปล่อยไปเลย เสียเวลามาก แล้วผมเชื่อว่าวันนี้การเมือง การมีส่วนร่วมมาไกลแล้ว ดึงกลับไม่ได้ คนจะพูดยังไงผมไม่สนใจ”

เราไม่รู้เลยสถานการณ์ข้างหน้าจะเป็นยังไง ใครจะไปยังไงเราไม่รู้เลย ส่วนตัวผมเอง ผมชัดเจนว่าผมไม่เป็นนักการเมืองตัวแทนแน่ สว. ผมก็ไม่สมัคร ไม่อะไรทั้งนั้น ผมจะอยู่ตรงการเมืองภาคพลเมืองและผมจะทำเรื่อง Soft Power ผมเชื่อตรงนี้ และผมคิดว่าถึงจุดหนึ่งแล้ว Soft Power จะมีความแข็งแรงพอและสามารถคานดุลได้ ผมอยู่ใน สปช. (สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ) ที่ผ่านมาเราทุ่มเทเกือบตายทำแผนปฏิรูป ทำงานวิจัยทั้งหลาย สุดท้ายมันได้แค่นั้น เป็นที่ปรึกษา เขาจะเอาหรือไม่เอา เขาจะเขี่ยทิ้ง มันเป็นบทเรียนแบบนี้

ผมเลยคิดว่า 20 ปีที่ผ่านมา ผมทุ่มให้กับงานปฏิรูปไปที่ส่วนยอดคือโครงสร้างส่วนบน เราดูบทเรียนจากการปฏิรูปสักสองสามอย่างเพื่อฉายให้เห็นภาพ ปี 2538 กับปี 2539 อาจารย์ประเวศเสนอปฏิรูปการเมือง แล้วก็มีกระบวนการทำรัฐธรรมนูญธงเขียว เรามั่นใจว่าได้รัฐธรรมนูญที่ดี ผมมีความหวังมากนะ จากนั้นการปฏิรูปการเมืองอยู่ในมือของนักการเมืองตัวแทน เหมือนกับว่าเราได้โครงสร้างส่วนบนก็คือตัวรัฐธรรมนูญ ได้กติกาใหม่ แล้วหวังว่ากติกาใหม่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมความสัมพันธ์ในสังคม เราขาดการทำในสองส่วนหลัง เราทำแต่ส่วนยอดคือโครงสร้างอำนาจรัฐส่วนบน สิ่งที่เราขาดคือเราไม่ได้เรื่องโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมซึ่งยังเป็นสังคมทางดิ่ง คือระบบอุปภัมภ์ตั้งแต่โบร่ำโบราณมาแล้ว

แล้วที่ลึกไปกว่านั้น อยู่ตรงระดับราก รากของต้นไม้ใหญ่ คือลึกที่สุด ยากที่สุด คือการปฏิรูปเรื่องความคิด จิตสำนึก วิธีคิดของคนไทย เพราะตัวนี้เป็นตัวกำหนด ทำไมเราถึงมีโครงสร้างทางดิ่ง เราถึงต้องยอมผู้มีอำนาจเหนือกว่าเรา แข็งแรงกว่าเรา แล้วคอยพึ่งพาเขา ก็เพราะรากความคิดของเรา เพราะดีเอ็นเอทางวัฒนธรรมมาตั้งแต่ปูย่าตายายเรามายังนี้ คิดว่าปฏิรูปโครงสร้างเสร็จ แล้วความสัมพันธ์จะเปลี่ยนไป จิตสำนึกของคนจะเปลี่ยนไป มันไม่เปลี่ยน วันนี้ สช. 4 ปีผมจะทำตรงนี้ ทำ 2 อันล่างคือเรื่องจิตสำนึก วิธีคิด ส่วนเรื่องกฎหมายปล่อยไปเลย เสียเวลามาก แล้วผมเชื่อว่าวันนี้การเมือง การมีส่วนร่วมมาไกลแล้ว ดึงกลับไม่ได้ คนจะพูดยังไงผมไม่สนใจ

“รัฐบาลชุดปัจจุบันก็ต้องถือว่าเป็นนักการเมืองแล้ว วันนี้เขาอาจจะคิดอะไรอยู่ในใจว่าเมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว เขาจะหายไปเลย เดินเขาถ้ำไปเลย หรือว่าเขายังอยู่ข้างหลัง หรือเขาจะมาเล่นข้างหน้าเต็มตัว มีความไปได้หมด ภาคประชาสังคมแบบเรา รู้หรือไม่รู้ พูดไม่พูด ก็เข้าใจ ก็อ่านออกเหมือนกันแหละ”

รัฐบาลใหม่มา ประชารัฐจะถูกล้มหรือเปล่า

นพ.พลเดช: อันแรกก่อนนโยบายประชารัฐอาจจะไม่มี ถ้าเปลี่ยนขั้วไป เพราะว่าธรรมชาติของรัฐบาลใหม่เขาจะมีของตัวเอง เราก็เข้าใจเขา แต่ด้วยลักษณะของกลไกที่เกิดขึ้น บริษัทประชารัฐรักสามัคคีจะมีต่อไป เพราะเป็นบริษัทจดทะเบียน มันไม่เกี่ยวกับรัฐ คนที่มาเป็นกรรมการในบริษัทประชารัฐไม่มีราชการเลย เพราะราชการมาเป็นกรรมการไม่ได้ มันมีแต่ภาคธุรกิจ ประชาสังคม ชุมชน กับวิชาการ 4 ส่วนใหญ่ๆ เป็นเจ้าของบริษัท คุณจะลงหุ้นหรือไม่ลง อย่างผมนะเขาเชิญไปเป็นกรรมการบริษัทประชารัฐตรงกลางนี่ เขาบอกว่าผมเป็นภาคประชาสังคม ผมไม่ได้ออกเงินสักสลึง ไม่ได้ถือหุ้น แต่ผมเป็นกรรมการ แต่เขาก็จะจ้างผู้จัดการในการดำเนินการ ที่นี้จังหวัดต่างๆ ทั้ง 76 บริษัทก็มีเหมือนกัน จะมีกรรมการ มีเงินทุน มาจากไหนก็ได้ แต่ไม่ปันผล ผมมองว่ามันเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัด เพราะใน 76 จังหวัด 76 บริษัทคงมีไม่ต่ำกว่าห้าหกบริษัทที่แข็งแรงขึ้นมา แล้วจะกลายเป็นโมเดลที่สามารถนำราชการในการพัฒนาจังหวัด ถ้าตรงนี้มันแข็งแรงจริง มันจะเสียงดัง เพราะมันจับมือกับธุรกิจ ทำเพื่อข้างล่าง ทำเพื่อสาธารณะ จะเป็นกลไกการขับเคลื่อนการปฏิรูป การพัฒนาอย่างยั่งยืนเคียงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือราชการ หรือต่อไปถ้าคุณไม่มีน้ำยาจริง อันนี้จะสามารถมานำได้ เพราะบริษัทนี้จะกลายเป็นบริษัทที่มีฐานข้างล่างเยอะ อย่าประมาทนะ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท