Skip to main content
sharethis

17 มิ.ย. 2559 จากกรณีแกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคนโพสต์เฟซบุ๊กไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามตินี้ พร้อมเหตุผลประกอบ สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หากเห็นว่ามีความผิด ก็ดำเนินการตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ส่วนจะขัดต่อคำสั่ง คสช.57/2557  ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองหรือไม่  ทางคสช.ได้ให้อำนาจ กกต. ไปแล้ว  หากเห็นว่ามีการกระทำความผิดจริง ก็จะดำเนินการตามกฎหมาย

พล.อ.ประวิตร กล่าวถึง กล่าวถึงกรณีที่แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จะยื่นหนังสือต่อองค์การสหประชาประชาชาติ ให้เข้ามาสังเกตการณ์การจัดตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ ว่า ยื่นก็ยื่นไป เป็นเรื่องของ นปช. แต่ตนบอกแล้วว่า ไม่สามารถเปิดศูนย์นี้ได้ เพราะจะเกิดความขัดแย้งขึ้นในประเทศ จึงขอร้องไม่ให้เปิดศูนย์ดังกล่าวขึ้น หากยังจะเปิดศูนย์ จะใช้กฎหมายบังคับ และใครรู้จัก จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ฝากไปบอกด้วย 

กกต.-ปอท.-ไอซีที จับมือส่องโพสต์ผิด กม.ประชามติ

วันเดียวกัน สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง เป็นประธานการประชุมร่วมกับ พ.ต.อ.ดร.นิติพัฒน์ วุฒิบุณยสิทธิ์ ผู้กำกับสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และ พงษ์ธร วนสุคณ ผอ.กลุ่มงานเทคนิคและเฝ้าระวังการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีและสารสนเทศ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการเผยแพร่ข้อมูลที่หยาบคาย เป็นเท็จ และปลุกระดม ในการออกเสียงประชามติ
 
สมชัย เปิดเผยภายหลังประชุม ว่า มีมติตั้งคณะทำงานร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ กกต. บก.ปอท. และไอซีที เพื่อสร้างกลไกในการติดตามการกระทำผิดผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ร่วมกัน โดยจะมีการติดตามการกระทำในลักษณะดังกล่าวที่ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างเคร่งครัด เนื่องจากเห็นว่าจากนี้ไปแนวโน้มการกระทำความผิดผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์จะเป็นสนามรบหลักของการออกเสียงประชามติในครั้งนี้มากกว่าการกระทำผิดบนพื้นดิน
 
“คณะทำงานชุดนี้เป็นการทำงานร่วมกัน แต่ละฝ่ายจะมีคณะทำงานคอยติดตามการกระทำผิดผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อพบเหตุการณ์เผยแพร่ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่ปรากฎคำพูดที่หยาบคาย เป็นเท็จ ปลุกระดมนำไปสู่การลงคะแนนทางใดทางหนึ่งของการออกเสียงประชามติ เราจะดำเนินการตามกฎหมายทันที” นายสมชัย กล่าว

ย้อปชช.แสดงความเห็นได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย 

สำหรับประชาชนที่ต้องการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญในการออกเสียงประชามติ สมชัย กล่าวว่า ไม่ต้องกังวล เพราะยังสามารถทำได้ เนื่องจากเป็นสิทธิเสรีภาพอยู่แล้ว แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย ไม่หยาบคาย ปลุกระดม หรือบิดเบือนเป็นเท็จ
 
สำหรับกรณีโพสต์เฟซบุ๊กไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิกพรรคเพื่อไทย หากพบข้อเท็จจริงว่าพรรคเพื่อไทยอยู่เบื้องหลัง ถึงขั้นยุบพรรคใช่หรือไม่ สมชัย กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องมีการร้องมายังนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งประธาน กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองต้องรับเรื่องไว้เพื่อสอบสวน หากนายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดถึงขั้นยุบพรรค ก็จะเสนอต่อที่ประชุม กกต.รับทราบ เพื่อขอความเห็นชอบ ก่อนส่งให้อัยการสูงสุดส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net