Skip to main content
sharethis

 

18 มิ.ย.2559 โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) และสมาคมติดตามการพัฒนาสตรีในประเทศไทย (ตพส.ไทย) รวมทั้งองค์กรอื่นๆ จัดเวทีระดับชาติขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ “ขบวนผู้หญิงร่วมกำหนดอนาคตประเทศไทย” ณ ห้องประชุมสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ทุ่งสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร

มาลี พฤกษพงศาวลี ผู้ประสานงานร่วมขบวนการผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย และรองประธารโครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดการเสวนาว่า จุดยืนของกลุ่ม WeMove ในการพูดคุยและจัดงานเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เป็นไปในทางวิชาการ เพื่อพูดคุยถกเถียง ศึกษาประเด็นต่างๆ ในร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นการชี้นำว่าจะให้รับหรือไม่รับร่างดังกล่าว อำนาจอธิปไตยของประเทศเป็นของประชาชนทุกคนจึงต้องตัดสินใจเอง นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับผู้หญิงในที่จะนำไปสู่การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น 

ไพโรจน์ ชี้ร่างรธน.เพิ่มอำนาจรัฐ ลดความสำคัญประชาชน

ไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป (ส.ช.ป.) ได้ชี้ให้เห็นโครงสร้างอำนาจของรัฐบาลที่จะต้องถูกจำกัดจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมไปถึงที่มาของนายกรัฐมนตรี และสมาชิกวุฒิสภา รวมถึงความไม่เป็นอิสระของการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้มีนายกฯคนนอกที่ไม่ได้มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และที่มาของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งตามที่ระบุไว้ในบทเฉพาะกาล

ไพโรจน์ ยังระบุถึงการใช้คำที่เขียนลงไปในร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นการเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้แก่รัฐ ที่จะมอบสิทธิต่างๆ ให้แก่ประชาชน โดยสิทธิต่างๆ นั้น ไม่ได้เป็นของประชาชนตั้งแต่ต้น หากแต่มาจากการที่รัฐมอบให้ เป็นการลดสิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีการลดความสำคัญการปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้ในอนาคต แนวคิดมหานครจะไม่มีอีกต่อไป

สิริพรรณเสนอประชาชนต้องการผ้าห่ม ไม่ใช่ฮีทเตอร์

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง  คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังเป็นปัญหาอยู่มาก เนื่องจากใจความของร่างรัฐธรรมนูญขัดแย้งกันในส่วนของบทเฉพาะกาล นอกจากนี้ยังมีส่วนที่ให้คงคำสั่งที่เกิดจากมาตรา44ในปัจจุบันไว้อีกด้วย 

สิริพรรณชี้ให้เห็นสิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญที่น่าถกเถียงคือ สิทธิของประชาชนที่จะได้รับสวัสดิการจากรัฐหายไป กลายเป็นแค่ผู้ยากไร้เท่านั้น  หรือในกรณีสิทธิการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ในร่างรัฐธรรมนูญระบุไว้แค่ 12 ปี แต่ใช้คำสั่ง มาตรา 44 เพิ่มให้เป็น 15 ปี

“รัฐให้ฮีทเตอร์ สมมติห้องนี้มันหนาว เปิดฮีทเตอร์ให้ทั้งห้อง ทำไมประชาชนถึงไม่พอใจ ทำไมอยากจะได้ผ้าห่ม ดิฉันบอกไปว่า ก็เพราะว่าผ้าห่มมันอยู่ที่ตัวเรา เราหนาวเราก็เอามาห่ม ร้อนก็เอาออก แต่ถ้าเรารอให้รัฐเปิดฮีทเตอร์เนี่ย เราไม่รู้ว่าจะเปิดปิดเมื่อไหร่ เราไม่ได้เป็นคนควบคุม อันนี้คือความต่างกันระหว่างสิทธิที่เราพึงมีกับหน้าที่ของรัฐ” สิริพรรณกล่าว

จุดยืน WeMove เกาะติดรัฐธรรมนูญบอกข้อดีและข้อเสีย

สุนี ไชยรส  ผอ.ศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวว่า จุดยืนของ WeMove คือการเกาะติดรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ ต้องเกาะติดนำเอาสิ่งที่เคยมี ไม่ให้หายไป เช่น สิทธิแรงงานที่หายไปหมดทั้ง 2 มาตราในเรื่องหลักประกันการจ้างงาน การมีสวัสดิการของแรงงานนอกระบบ นอกจากนี้องค์กรอิสระต่างๆ เช่นองค์กรอิสระที่คุ้มครองผู้บริโภค ที่ประชาชนต้องรวมกลุ่มจัดตั้งกันเองก็หายไป อีกทั้งยังมีเรื่องแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่ตัดมาตราการแถลงนโยบายของรัฐบาล ทำให้ไม่เกิดความผูกพันธ์กับรัฐบาลในการจัดทำนโยบาย

สุนี กล่าวถึงอีกด้านของรัฐธรรมนูญว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มีข้อดี คือการนำเอาการไม่ถูกเลือกปฎิบัติ 12 ประการกลับมาบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้มีความเท่าเทียมกันทางเพศมากขึ้น

หมอนิรันดร์ระบุรัฐธรรมนูญอาจไม่ได้รับการยอมรับ

นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติระบุว่า ในปัจจุบันที่มีมาตรการปิดกั้นการแสดงออกเกี่ยวกับการรับไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้บรรยากาศในสังคมดำมืดและเงียบ เนื่องจากสังคมหวาดกลัวอำนาจรัฐ ส่งผลให้ไม่มีการถกเถียงศึกษาร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุนี้แม้เมื่อผ่านประชามติก็อาจจะเกิดการไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นจากต่างชาติหรือประชาชนในประเทศ

นิรันดร์ ยังระบุอีกว่า ในปัจจุบันต้นตอของปัญหาความขัดแย้งต่างๆ มาจากความเหลื่อมล้ำ ถ้าไม่สามารถกำจัดปัญหาที่ว่านี้ได้ ความขัดแย้งก็จะไม่หมดไป คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมองรัฐธรรมนูญไม่ตรงกับประชาชน

เรืองรวี พิชัยกุล กล่าวว่า บ้านเมืองในปัจจุบันมีปัญหา แต่ร่างรัฐธรรมนูญที่ออกมาไม่ได้เป็นการค้ำยันบ้านเมืองเลย ประชาชนในประเทศต่างหากที่เป็นผู้กำหนดทิศทางของประเทศ ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ ประเทศก็ต้องเดินหน้าต่อไป

รัชฎาพร แก้วสนิท ให้ความเห็นไว้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านหรือไม่ผ่าน หรือไม่อย่างไร ก็ไม่ได้ส่งผล ไม่ได้ก่อให้เกิดความแตกต่างมากมายเท่าใดนัก เนื่องจากสถาบันที่มีอิทธิพลสูงในสังคม อย่างระบบราชการยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงใดๆ ราชการมีผลต่อสังคมไทยอย่างมาก เรื่องบางเรื่อง แม้ไม่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ พวกเราก็ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้สิ่งนั้นมา 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net