Skip to main content
sharethis

เดือนกรกฎาคมนี้ ‘พ.ร.บ.แม่วัยรุ่น’ กำลังจะบังคับใช้ คนทำงานชี้ข้อดีให้สิทธิวัยรุ่นเต็มที่ แนะจับตาดูการบังคับใช้ พร้อมแสดงความกังวลช่องโหว่หลายจุด ชี้ ‘พ่อวัยรุ่น’ หรือการมีส่วนร่วมของผู้ชายคือจุดด้อยสำคัญของกฎหมาย

ในแต่ละปีวัยรุ่นทั่วโลกอายุระหว่าง 15-19 ปี คลอดบุตรเฉลี่ยราว 14 ล้านคนต่อปีหรือ 65 รายต่อ 1,000 คนในแต่ละประเทศ โดยร้อยละ 90 อยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา สถิติสูงสุดอยู่ในกลุ่มประเทศแถบแอฟริกาใต้ เอเชียใต้ และลาตินอเมริกา ขณะที่กลุ่มประเทศรายได้ระดับกลางในโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมาเลเซียหรือจีน ตัวเลขที่พบกลับต่ำเพียง 6-9 รายต่อ 1,000 คนเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกใจมากว่าเหตุใดประเทศไทยจึงมีจำนวนอัตราแม่วัยรุ่นสูงถึง 55 ราย ต่อ 1,000 คน ซึ่งมากกว่าประเทศใกล้เคียงถึงหลายเท่าตัว

จากสถิติพบว่าหญิงไทยที่คลอดลูกในช่วงอายุต่ำกว่า 19 ปี มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยพบว่ากว่าร้อยละ 40 มีเพศสัมพันธ์ขณะเรียน ปวช.ปีที่ 2 (อายุระหว่าง 17-18 ปี) และพบว่ามีแนวโน้มที่จะอายุน้อยลงเรื่อยๆ ตามข้อมูลของของกรมอนามัย

จริงอยู่ที่การมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาอย่างการตั้งท้อง แต่แท้จริงแล้วปัญหาของการมีเพศสัมพันธ์ที่เพิ่มมากขึ้นหรือการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงอายุที่น้อยลงเรื่อยๆ นั้น ไม่ได้เป็นสาเหตุหลักของการตั้งท้องในวัยรุ่น

จิตติมา ภาณุเตชะ ผู้อำนวยการมูลนิธิสร้างความเข้าใจสุขภาพผู้หญิง (สคส.) ให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า หากมองในมุมประชากรและการสาธารณสุขแล้ว เรื่องเหล่านี้สะท้อนคุณภาพชีวิตของประชากรในอนาคต หากคนในสังคมยิ่งมองว่า ปัญหาการท้องวัยรุ่นเป็นเพราะพฤติกรรมอันแหลกเหลวของพวกเขาเหล่านั้น หรือมองว่าการมีเพศสัมพันธ์เป็นสิ่งที่ผิดและไม่ให้คำแนะนำ ก็จะยิ่งทำให้กลุ่มหญิงที่ถือว่าด้อยโอกาสในตัวเองอยู่แล้ว ยิ่งหมดที่ยืนในสังคมไปโดยปริยาย เธอจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ‘พ.ร.บ.แม่วัยรุ่น’ ซึ่งกำลังจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคมจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้การทำงานด้านสุขภาวะทางเพศของวัยรุ่นมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ภาพรวม พ.ร.บ.แม่วัยรุ่น

กลุ่มคนทำงานที่พยายามเสนอร่างกฎหมายเพื่อหวังลดปัญหาและเพิ่มความรู้ให้กับวัยรุ่น ต้องพบกับความผิดหวังเมื่อเนื้อหาของ พ.ร.บ.ร่างแรกในหมวดที่ 4 กลับมีทิศทางกำกับควบคุมพฤติกรรมทางเพศและความเป็นส่วนตัวของเยาวชนเสียมากกว่า โดยกำหนดให้เจ้าหน้ามีอำนาจถึงขนาดเข้าไปสอดส่อง แทรกแซง ห้ามปราม หรือควบคุมตัวเด็กเมื่อเกิดความสงสัยว่าจะเกิดเหตุล่อแหลม แต่ไม่มองว่าปัญหาที่แท้จริงคือ ความล้าหลังของทักษะทางความคิดและทักษะในชีวิตทางเพศที่ดีพอ เครือข่ายภาคประชาสังคมจึงร่วมยื่นหนังสือเพื่อคัดค้านแสดงความไม่เห็นด้วยกับหมวดดังกล่าวเพราะมีความล้าหลังด้านสิทธิอย่างเห็นได้ชัด

นั่นจึงนำมาสู่ ‘พ.ร.บ.แม่วัยรุ่น’ ปี 2559 ซึ่งอาศัยกลไก ‘คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น’ ทำหน้าที่กำกับควบคุมทุกหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องในการบังคับใช้ พ.ร.บ.นี้ โดย พ.ร.บ.แม่วัยรุ่นมีการระบุถึงสิทธิของวัยรุ่นอายุระหว่าง 10-19 ปี เช่น สิทธิในการตัดสินใจ สิทธิในการรับข้อมูลข่าวสาร การรักษาความลับ สวัสดิการทางสังคมที่เสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติ ตามมาตรา 5

ในมาตรา 7 และ 8 ได้ระบุรวมไปถึงบทบาทของสถานบริการและสถานประกอบกิจการในการให้ข้อมูลการป้องกันการตั้งครรภ์อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และเพียงพอ รวมทั้งต้องสนับสนุนให้ลูกจ้างหรือผู้ใช้บริการเข้าถึงการให้คำปรึกษาและบริการอนามัยเจริญพันธุ์ที่ได้มาตรฐานอีกด้วย

อย่างไรก็ดี กลไกในการคัดเลือกคณะกรรมการยังคงคลุมเครือ กฎหมายกำหนดเพียงให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการ โดยมีอำนาจชี้ขาดในการแต่งตั้งกรรมการโดยไร้รายละเอียดในกระบวนการสรรหา ซึ่งทำให้กลุ่มคนทำงานที่เกี่ยวข้องไม่มั่นใจว่าจะสามารถหาคนที่มีคุณสมบัติ ความเข้าใจ และมีมุมมองเรื่องนี้ได้ดีเพียงพอ

มีเพียง ‘แม่วัยรุ่น’ จริงๆ หรือ

แม้ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีการกล่าวถึงสิทธิที่วัยรุ่นจะได้รับอย่างชัดเจน แต่คำว่า ‘ท้อง’ ทำให้มุมมองทางเพศตกไปอยู่ที่วัยรุ่นหญิงเป็นส่วนมาก จนอาจมองข้ามบทบาทของวัยรุ่นชายเสียสนิท ตรงกับที่ณัฐยา บุญภัคดี เจ้าหน้าที่โครงการระดับชาติเพื่อเยาวชน กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอฟฟีเอ (UNFPA: United Nations Population Fund) ได้ให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า การมีส่วนร่วมของผู้ชายเป็นจุดด้อยสำคัญที่ พ.ร.บ.นี้ไม่ได้กล่าวถึง

ณัฐยา บุญภัคดี เจ้าหน้าที่โครงการระดับชาติเพื่อเยาวชน กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ

ณัฐยากล่าวว่า แนวคิดเรื่องการระบุบทบาทของแต่ละเพศเข้าไปใน พ.ร.บ. นั้นเคยถูกเสนอมาแล้ว แต่เพราะปัจจัยความหลากหลายของมิติทางเพศที่เกิดขึ้น เช่น ในบางกรณีผู้หญิงไม่ต้องการที่จะเปิดเผยตัวของผู้ชาย ฯลฯ จึงน่าจะทำให้การจัดการเป็นไปอย่างยากลำบากและตกไปในที่สุด

“หากคนทำงานหลับตาลงแล้วเห็นแต่ภาพของเด็กผู้หญิงท้อง แสดงว่าคุณมาผิดทาง ฉะนั้น การบริการเรื่องเนื้อหาของเพศศึกษาจึงไม่ใช่การบอกว่า ‘ทำอย่างไรไม่ให้ท้อง’ แต่มันคือกระบวนการรอบด้าน ตั้งแต่เรื่องพัฒนาการทางเพศ สัมพันธภาพทางเพศ สังคมวัฒนธรรม กระบวนการและความเข้าใจเรื่องเพศ ฯลฯ ที่สำคัญคือต้องให้มุมมองอย่างรอบด้านทั้งความเป็นเพศหญิงและชายลงไปด้วย” จิตติมากล่าว พร้อมเสริมว่า เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว ก็ไม่ควรใช้กระบวนการตัดสินด้วยการบอกว่านี่ถูกหรือผิดเพราะเรื่องนี้มีความซับซ้อนมากกว่านั้น

“ปัจจุบันผู้ชายเข้ามามีส่วนร่วมในหลายระดับ ตั้งแต่ไม่รับผิดชอบอะไรเลยหรือพยายามเข้ามาช่วยเหลือ แต่เพราะยังเป็นเด็กและเยาวชน เมื่อเกิดปัญหาคนรอบข้างก็มักไม่เข้าใจ พร้อมกับหยิบยกกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดทางเพศเข้ามาแก้ปัญหาเสมอ และอาจถึงขั้นจับแต่งงานกันเพื่อรักษาหน้าผู้ใหญ่ ซึ่งอาจสร้างความรู้สึกผิดต่อตัวเด็กได้” จิตติมาเพิ่มเติม

หญิงสาวรายหนึ่งให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า ตั้งแต่รู้ว่าท้อง เพื่อนและคนรอบข้างก็ต่างตกใจ แต่ก็พยายามที่จะช่วยหาทางออกทั้งในเรื่องการเรียน อนาคตของเธอ และลูก รวมทั้งช่วยคิดวิธีการคุยกับที่บ้าน กลับกันพ่อของเด็กพยายามตีตัวออกห่างและไม่สนใจ หนำซ้ำยังบอกให้เธอไปเอาเด็กออก เธอจึงต้องการที่จะตัดขาดกับเขา โดยไม่ต้องการรับรู้หรือเรียกร้องให้ฝ่ายชายเข้ามามีบทบาทหรือไปมาหาสู่กับลูกอีก ซึ่งนี่สะท้อนให้เห็นว่า การจัดการปัญหาที่เกี่ยวโยงกับเรื่องเพศนั้นมีความซับซ้อนมากกว่าการให้ผู้ชายเข้ามาร่วมรับผิดชอบดูแล

“ตอนที่รู้ว่าท้องรู้สึกงง ตกใจ เหมือนตัวเองฝันอยู่ มีคำถามในใจมากมาย นี่เรื่องจริงเหรอ มันเกิดกับตัวเราเหรอ เพราะคิดว่ามันไม่น่าจะเกิดเรื่องแบบนี้กับตัวเราได้

“ไม่เคยมีความคิดจะเอาเด็กออกเพราะเราส่งตัวเองเรียน จะลาออกหรือพักการเรียนไว้ก็ได้ อาจารย์และเพื่อนส่วนใหญ่ก็คอยช่วยเหลือ แต่ก็มีเพื่อนบางคนบอกว่าให้เอาออกเพราะเด็กจะติดตัวเราไปตลอดชีวิต ส่วนตัวคิดว่าถึงแม้จะเอาออกหรือไม่เอาออกก็รู้สึกติดตัวไปตลอดเช่นกัน” เธอกล่าว

เรื่องราวของเธอได้รับความสนใจจากเพื่อนและครูในมหาวิทยาลัย ซึ่งได้ให้ความช่วยเหลือ ดูแล ซื้อของใช้ให้ รวมไปถึงอนุญาตให้เธอเข้าเรียนได้ปกติ อย่างไรก็ดี เงินกลายเป็นปัญหาที่หนักหนาสำหรับเธอ เมื่อไม่มีมาตรการที่ดีพอมารองรับ จึงทำให้เธอถูกบีบให้ออกจากงานและไม่สามารถหางานใหม่ได้  

ณัฐยาแลกเปลี่ยนว่า ทัศนคติของสังคมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องได้รับการแก้ไขและเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องลงทุนระยะยาวในการปรับทัศนคติ โดยอาศัยการรณรงค์ในกลุ่มต่างๆ เพื่อให้สังคมมองเห็นคำว่า ‘พ่อวัยรุ่น’ ด้วยเช่นกัน

 

ความสำเร็จในเนเธอแลนด์และการเริ่มต้นในไทย

ในเนเธอร์แลนด์เคยประสบปัญหาท้องวัยรุ่น รวมทั้งมีการขายบริการทางเพศและทำแท้งอย่างกว้างขวาง จนในปี 2012 งานวิจัยชิ้นหนึ่งกลับพบว่า วัยรุ่นหญิงครึ่งหนึ่งและชายหนึ่งในห้าไม่ต้องการที่จะมีเพศสัมพันธ์ในขณะอายุยังน้อย ซึ่งนี่ย้อนแย้งกับปัญหาท้องในวัยรุ่นที่พวกเขาเจอ จึงทำให้รัฐบาลขบคิดและพยายามหาว่าอะไรอยู่ท่ามกลางความย้อนแย้งที่ทำให้เนเธอร์แลนมีจำนวนพ่อแม่วัยรุ่นมากดังเช่นที่ผ่านมา นโยบายการศึกษาแบบใหม่จึงถูกผลักดันโดยรัฐบาล แบบเรียนเรื่องเซ็กส์และอนามัยเจริญพันธุ์ถูกกำหนดเป็นบทเรียนตั้งแต่ชั้นประถม อีกทั้งวิธีการปฏิเสธหากไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์ ควบคู่ไปกับการสอนให้ทั้งชายและหญิงเคารพในการปฏิเสธของอีกฝ่าย ฯลฯ

นอกจากการสอนแล้ว เนเธอร์แลนยังทำให้การบริการสาธารณสุขแก่วัยรุ่นนั้นเข้าถึงได้ง่าย ราคาถูก หรือไม่ต้องเสียเงินโดยใช้หลักประกันสุขภาพเข้ามารองรับ พร้อมกับการรณรงค์สื่อสารทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องโดยแฝงการให้ความรู้เรื่องเพศไปในสื่อทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต วิทยุ ภาพยนตร์ ป้าย บาร์ ร้านขายยา ฯลฯ รวมทั้งสื่อเองก็ทำงานบนพื้นฐานของสิทธิและความเข้าใจ งานรณรงค์ที่ออกมาจึงมีอารมณ์ขัน สนุกสนาน และตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการให้ความรู้แก่วัยรุ่นทุกเพศเป็นเรื่องที่สำคัญเท่าๆ กัน การที่ พ.ร.บ.แม่วัยรุ่นไม่ระบุอย่างชัดเจนและเน้นโฟกัสที่ผู้หญิงน่าจะเป็นจุดอ่อนที่สำคัญที่ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลือกที่จะละเลย ภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งจึงจะเป็นส่วนสำคัญในการมอนิเตอร์การบังคับใช้กฎหมายทุกจุด โดยเฉพาะมาตรการปลีกย่อยที่ พ.ร.บ.ไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจน

 

‘สถานศึกษา’ ไม่ใช่พื้นที่สีขาวบริสุทธิ์-‘เพศศึกษา’ ไม่ใช่พื้นที่สีดำโดยสิ้นเชิง

ณัฐยา เจ้าหน้าที่ยูเอ็นเอฟพีเอแสดงความกังวลว่า ปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 1 ของโรงเรียนทั้งหมดที่สอนเรื่องเพศศึกษาอย่างจริงจัง ในหลายๆ โรงเรียนหลีกเลี่ยงวิชา ‘เพศศึกษา’ เพื่อกันปัญหาความไม่เข้าใจของผู้ปกครอง นั่นจึงทำให้เด็กไทยมีโอกาสเรียนรู้เรื่องเพศน้อยมากผ่านแบบเรียนที่เป็น ‘ภาพตัดขวาง’ ที่ไร้การเรียนรู้ หรือปฏิบัติจริง จนเด็กอาจมองว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ไม่ควรพูดถึง

ที่ไต้หวัน แบบเรียนเรื่องเพศศึกษาในระดับชั้นอนุบาลจะใช้การ์ตูนชาย-หญิงที่ดูเป็นมิตรเป็นตัวเล่าเรื่อง ไม่ใช้ภาพตัดขวาง ไม่ใช้คำอธิบายทางวิชาการให้ยุ่งยาก ตัวละครสองตัวแสดงอิริยาบถต่างๆ เพื่อเล่าเรื่องตั้งแต่ระบบอวัยวะสืบพันธุ์แบบง่ายๆเช่น ไข่คืออะไร อสุจิคืออะไร หรือเด็กเกิดมาได้อย่างไร รวมถึงมีภาพของอวัยวะเพศขณะร่วมเพศโดยไร้การเซ็นเซอร์ใดๆ และที่สำคัญแบบเรียนยังแสดงให้เห็นว่า การมีเซ็กส์เกิดขึ้นจากความรักของทั้งชายและหญิง

ตัวอย่างแบบเรียนเรื่องเพศศึกษาของใต้หวัน (ที่มาภาพ: http://health.campus-star.com/)

 

ขณะที่แบบเรียนเพศศึกษาของไทย มุ่งสอนแต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเมื่อเข้าสู่วัยหนุ่ม-สาวผ่านภาพตัดขวางของอวัยวะเพศหญิง-ชาย การตั้งครรภ์ และภาพอันสยดสยองของผู้ป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เท่านั้น ซ้ำร้ายในหลายๆ โรงเรียนยังกีดกันอีกเพศไม่ให้รับฟังขณะสอนอีกเพศหนึ่ง

นี่สะท้อนถึงมุมมองเรื่องเพศในระบบการศึกษาไทยที่ยังถูกเน้นและตีกรอบด้วยการทำให้กลัว เพื่อมุ่งควบคุมไม่ให้เด็กมีเพศสัมพันธ์เพราะกลัวที่จะท้องหรือกลัวที่จะติดโรคทางเพศสัมพันธ์ โดยไม่ได้ทำได้คำนึงว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมชาติที่เด็กต้องเรียนรู้ ซึ่งรวมไปถึงวิธีการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างการใช้ถุงยางอนามัย ฯลฯ ความพยายามปกปิด ซ่อนเร้นเช่นนี้ ทำให้เรื่องเพศยิ่งดูเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ยาก

นี่จึงนำมาสู่มาตรา 6 ของ พ.ร.บ.แม่วัยรุ่น ที่กำหนดไว้ชัดเจนถึงหน้าที่ของสถานศึกษาใน 3 เงื่อนไขคือ สถานศึกษาต้องจัดการสอนเพศศึกษาให้เหมาะกับทุกช่วงวัย, พัฒนาครูผู้สอนเพื่อให้คำปรึกษาแก่วัยรุ่น และจัดระบบการดูแล ช่วยเหลือ รวมไปถึงการคุ้มครองวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ด้วยรูปแบบที่เหมาะสม โดยหน้าที่ในการออกนโยบายเป็นของกระทรวงศึกษาธิการที่จะต้องจัดทำแผนที่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ทั้งในแง่ของสิทธิที่วัยรุ่นพึงได้รับและหน้าที่ของสถานศึกษา

อย่างไรก็ดี แม้ตลอด 10 ปีที่ผ่านมามีความพยายามที่จะผลักดันหลักสูตรการสอนเรื่องเพศศึกษาจากทั้งกลุ่มเอ็นจีโอและคนทำงานที่เกี่ยวข้องแต่ก็ไม่สามารถขยายผลได้จริง จึงยิ่งทำให้เกิดความกังวลใจว่า พ.ร.บ.แม่วัยรุ่นจะสามารถผลักดันองค์ความรู้ไปได้ถึงระดับใด หนำซ้ำตลอดระยะเวลาที่ผ่านมายังมีการ ‘บังคับออก’ จากโรงเรียนหากตั้งท้อง นี่เองที่สะท้อนถึงความไม่เข้าใจในการจัดการกับปัญหาโดยสิ้นเชิง

“นโยบายของโรงเรียนก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องประกาศชัดว่าการท้องไม่ใช่เรื่องถูกหรือผิด และเป็นเพียงสถานการณ์ของชีวิตที่ทุกคนสามารถเผชิญได้ การสร้างพื้นที่ที่ทำให้พวกเขาสบายใจ มันต้องเกิดขึ้นและพยายามดึงเขาเข้ามา โดยไม่มองว่าเขาคือตัวปัญหา ตราบใดที่เรายังกำหนดว่าโรงเรียนไหนเด็กท้องเยอะจะตกเกณฑ์ กระบวนการมองเด็กที่ประสบปัญหาเป็น ‘ตัวปัญหา’ ก็จะมากขึ้น และกระบวนการเบียดขับก็จะมากขึ้น

“หากเราปรับมุมมอง บอกว่าต่อจากนี้จะให้รางวัลกับโรงเรียนที่มีระบบการช่วยเหลือเด็กเมื่อเด็กมีปัญหา ชุดความคิดแห่งการไล่ออกก็จะขยับเป็นการมองเชิงบวกมากขึ้น” จิตติมาแลกเปลี่ยน

ณัฐยาแสดงความกังวลว่า ถึงแม้จะมีกลไกการร้องเรียนหากวัยรุ่นไม่ได้รับสิทธิใดๆ ตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ. แต่กระนั้นกลไกการร้องเรียนยังเป็นกลไกที่หละหลวมและไม่ได้ถูกระบุไว้อย่างชัดเจนในกฎหมาย นี่จึงอาจเป็นช่องโหว่สำคัญที่ทำให้ไม่สามารถควบคุมคุณภาพการสอนในสถานศึกษาได้เท่าที่ควร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net